ซ่อมถนน
เมื่อวานซืนกลับบ้านที่แม่กลองก็เจอว่าถนนพระรามสองยังทำไม่เสร็จ เราก็นึกด่าๆ อยู่ในใจว่าจะซ่อมถนนไปหาบรรพบุรุษมันหรือไง เสียอารมณ์เพราะถนนขรุขระแล้วก็มีฝุ่นตึมเลย เราขับไปได้ซักพักก็มองไปที่รถกระบะคันข้างหน้า มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่กระบะท้าย เขาทำหน้านิ่วคิ้วขมวด แล้วก็เริ่มดึงเสื้อขึ้นมาปิดจมูก ทำให้เราหายหงุดหงิดที่ขับไปรถสะเทือนไป รถวิ่งได้แค่ช้าๆ แล้วก็ฝุ่นฟุ้งไปหมด หันไปสงสารพ่อหนุ่มที่นั่งรถกระบะนั่นแทน เพราะยังไงๆ เราก็ยังอยู่ในรถแอร์ อากาศสะอาดสบายหายใจสะดวก ส่วนตาคนที่นั่งท้ายรถกระบะนั่น ฝุ่นฟุ้งเข้าไปในตาหูจมูกปากอึดอัดพิลึก

เราขับไปเรื่อยๆ จนพ้นช่วงที่ซ่อมถนนไปแล้ว ก็นึกว่าคนในรถกระบะข้างหน้าคงสบายแล้ว แต่กลับมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะฝนเริ่มตกปรอยๆ แล้วก็ตกหนักขึ้น รถกระบะคันหน้าก็ยังขับต่อไปเรื่อยๆ จนเราก็นึกสงสัยว่า คนในรถเขาจะปล่อยให้คนที่ท้ายรถตากฝนไปจนถึงที่หมายหรือไง (เห็นทะเบียนรถเป็นจังหวัดเพชรบุรี ถ้าฝนตกไปตลอดทาง ก็คงต้องตากฝนไม่ต่ำกว่าชั่วโมง) แต่สุดท้าย เราเห็นรถกระบะเขาเบี่ยงเข้าข้างทางไป ไม่แน่ใจว่าจะหลบฝนหรือจะให้คนที่อยู่ท้ายกระบะเข้าไปนั่งเบียดๆ กันในรถ แต่อย่างน้อยก็หายห่วงไปหน่อย

เรากลับไปบ้านก็ไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่ออฟฟิศ เปิ้ลก็ถามว่า ถนนพระรามสองซ่อมเสร็จหรือยัง เราบอกว่ายังไม่เสร็จแล้วก็เลยได้โอกาสบ่นต่อว่า ไม่รู้มันจะซ่อมไปทำไม เพราะสภาพถนนก็ยังพอวิ่งได้ ไม่ได้พังเป็นหลุมเป็นบ่อขนาดนั้น (สมควรแล้วที่เขาเรียกถนนนี้ว่าถนนเจ็ดชั่วโคตร คือสร้างเจ็ดชั่วโคตรไม่เสร็จ) ยุพินก็เลยบอกว่า คงซ่อมเพราะวันก่อนไฟไหม้ถนน เราก็เลยนึกได้ว่า สัปดาห์ที่เราไม่ได้กลับบ้าน (ไปเที่ยวเขื่อน) เห็นข่าวในทีวีว่า มีรถน้ำมันเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระรามสอง ทำให้ไฟไหม้และรถติดยาวมากๆ (นับเป็นโชคดีหนึ่งในไม่กี่ครั้งของเรา ที่ไม่ต้องไปติดอยู่บนถนนกับเขาด้วย) เลยได้สำนึกว่า เราด่าเขามากไปหน่อย จริงๆ แล้วเขามีเหตุผลที่เหมาะสมในการซ่อมถนนเหมือนกัน

น่าสนใจ

หลายสัปดาห์ก่อน เราได้อ่านเรื่องของหลานของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (จำชื่อไม่ได้ ประมาณธนากร ธนาธร อะไรประมาณเนี้ย) ในมติชน ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ท่าทางเป็นคนมีความคิดดี อายุยังไม่มาก (แค่ยี่สิบกว่าๆ เขาเรียนรุ่นน้องโอ๊ค ลูกนายก หนึ่งปี แต่อายุเท่ากัน) ตอนเรียนจบก็ไปทำงานเป็นเอ็นจีโอเงินเดือนห้าหกพันบาท แต่ตอนหลังพ่อเขาป่วยหนักเขาก็เลยต้องกลับมาทำธุรกิจของที่บ้าน คือกลุ่มไทยซัมมิท

พอมาสัปดาห์นี้ได้อ่านสัมภาษณ์เขาอีกรอบ จาก A Day Weekly (เพิ่งรู้ว่า A Day ออกนิตยสารใหม่เป็น A Day Weekly ด้วย ก๊อใหญ่เป็นคนซื้อมาวางไว้ในออฟฟิศ เราสงสัยมากๆ ว่าก๊อใหญ่ ขยันซื้อหนังสือต่างๆ ขนาดนี้ ทำไม๊ ทำไม ลูกๆ เขาไม่ติดนิสัยชอบอ่านหนังสือไปมั่งนะ) อ่านการตอบคำถามของเขาแล้วก็ทึ่ง เขาอายุแค่ ๒๖ ปี แต่มีความคิดความอ่านมาก เจอคำถามยากๆ ประมาณกะว่าอัดๆ เขาก็ยังตอบได้ดี

พออ่านๆ ไป รู้ว่าเขาอ่านหนังสือเยอะแค่ไหนก็เข้าใจ (เขาบอกว่าพยายามจะอ่านหนังสือต่างๆ ให้ได้ประมาณเดือนละ ๒ เล่ม ฟังแต่ละเล่มแล้ว เนื้อหาหนักๆ ทั้งนั้น - ไม่รู้จักหรอกนะ เดาเอาจากชื่อหนังสืออ่ะ) นอกจากอ่านหนังสือเยอะก็คงเป็นเพราะสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเขาทำกิจกรรมเยอะ ทำงานกี่ยวกับองค์การนักศึกษา (พวก อมธ. สนนท. อะไรแบบนี้ ประมาณว่าเป็นพวกเรียกร้อง พวกตัวแทนนักศึกษาสุดๆ) แล้วยังได้ไปเพิ่มประสบการณ์เปิดโลกทรรศน์ที่อังกฤษอีก (หลักสูตรที่เขาเรียนเป็นหลักสูตรวิศวอินเตอร์ ๒ มหาลัย เรียนเมืองไทย ๒ ปี เรียนที่อังกฤษอีก ๒ ปี)

เราชอบที่เขาพูดว่า เขาบอกทั้งรุ่นน้องทั้งลูกน้องของเขาว่า อย่าให้ระบบการศึกษาปิดกั้นการเรียนรู้ เราว่าเป็นความคิดที่คมคายมากๆ คือคนเรามักจะมุ่งไปที่การเรียนรู้จากตำราและคาดหวังที่จะได้เรียนรู้จากระบบมากไป จนมองข้ามองค์ความรู้ที่จะได้จากสิ่งรอบตัวและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตัวอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกๆ วันในออฟฟิศก็คือ พวกเด็กที่จบมาใหม่ๆ ด้านหนึ่งก็คิดว่า กูนี่เจ๋งเหลือเกิน เรียนจบปริญญามหาวิทยาลัยดังๆ เลยพาลไปดูถูกกับสิ่งธรรมดาและน่าเบื่อในการทำงาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องเจองานที่ท้าทาย ที่ไม่เคยได้เรียนได้ฟังมาจากห้องเรียน ก็กลับมองไปว่า ผม/หนู ทำไม่ได้หรอก ในมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนมา แล้วก็เลยไม่พร้อมที่จะลองผิดลองถูกหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ออกนอกเรื่องไปอีกและ กลับมาที่เรื่องคุณหลานของสุริยะก่อน ที่เอามาเล่านี้ไม่มีอะไรหรอก แค่จะบอกว่านานๆ จะเจอคนที่รู้สึกว่าน่าทึ่งน่าสนใจขนาดนี้อ่ะนะ