ฮีโร่กับสารบัญชีวิต
วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่ดีมากๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่ว่าดีมากๆ เพราะเป็นคนที่เราชื่นชมมากๆ คนหนึ่ง คือพี่เก้ง จิระ มะลิกุล เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ที่พี่เก้งจะทำ คือเรื่อง “เหมืองแร่” บทประพันธ์ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ

พี่เก้งบอกว่า เขาอ่านเรื่องชุดเหมืองแร่ตั้งแต่ยังเด็กๆ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่จำได้และประทับใจ และต่อมาตอนโตได้มาอ่านอีก ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อยากจะเอามาทำเป็นหนังมากๆ แต่ในหนังสือคุณอาจินต์เคยเขียนไว้ประมาณว่า เขามองเห็นภาพของ “เหมืองแร่” เป็นแอ็คชั่นที่ผ่านการอ่านผ่านตัวหนังสือไม่ใช่ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งแบบนี้ก็เป็นการบอกกลายๆ ว่า ไม่ขาย

ตอนหลังพี่เก้งก็ไปรอคุณอาจินต์ในงานเปิดตัวหนังสือของ “เชิด ทรงศรี” เรื่อง “นั่งคุยกับความตาย” (เขียนเป็นตอนๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ก่อนจะเอามารวมเล่มขาย) พอเข้าไปก็คุยกับคุณอาจินต์ว่าประทับใจหนังสืออย่างไร มองว่าเรื่องราวในหนังสือมีความเป็นแอ็คชั่นที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นหนังได้อย่างไร (ซึ่งเรื่องราวที่เขายกขึ้นมา เป็นประมาณว่าแสดงความเป็น “แฟนนานุแฟน” และ “อิน” กับเรื่องเหมืองแร่เอามากๆ)

คุณอาจินต์ฟังจบแล้วพูดมาสั้น ๕ คำว่า “ผมขายให้คุณ” (อ้าว... นี่มันแค่ ๔ คำเองอ่ะ คำพูดจริงๆ ว่าอะไรจำไม่ได้อ่ะ จำได้แต่ว่า ๕ คำ และตกลงว่าคุณอาจินต์ขายเรื่องเหมืองแร่ให้พี่เก้ง :P) หลังจากได้เรื่องเหมืองแร่มา พี่เก้งก็ทำบทขึ้นมาแล้วก็ไปคุยกับคุณอาจินต์ คุณอาจินต์บอกว่า ผมขายเรื่องให้คุณแล้วคุณจะไปทำอย่างไรเป็นสิทธิ์ของคุณ ผมขอดูบทแรกอย่างเดียว อยากรู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง

พี่เก้งมีความประทับใจกับเรื่องราวการเรียนรู้ของตัวละคร (คุณอาจินต์) มาก ในการที่ต้องไปใช้ชีวิต ๔ ปีที่เหมืองแร่ในจังหวัดพังงา หลังจากโดนรีไทร์จากคณะวิศวะ เป็นเหมือนกับการถูกส่งไปดัดสันดาน เป็นยุคสมัยที่จังหวัดพังงามีความกันดารพอๆ กับเมืองจีน (คนที่ถูกส่งไปพังงา เกิน ๓ ปี เมียมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะมีสามีใหม่ กันดารประมาณนั้น) เป็นยุคสมัยที่ลูกผู้ชายพิสูจน์ด้วยการกระทำ และ เกียรติยศ เป็นเรื่องที่คุณต้อง “ขุด” ขึ้นมาเอง

เรื่องเหมืองแร่ก็มีแค่นี้ แต่ที่อยากจะเล่าคือมีคำถามอื่นๆ ที่คนสัมภาษณ์ถามพี่เก้ง แล้วพี่เก้งตอบถูกใจเรา อย่างคำถามเรื่องประมาณว่า มีใครเป็นฮีโร่ที่คิดว่าจะเอาเป็นแบบอย่างหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ในการทำงาน พี่เก้งเล่าว่า เขาเคยมีคนที่เป็นฮีโร่ในใจเขา แล้วไปเจอคนนี้ตัวเป็นๆ ก็แอบไปด้อมๆ มองๆ ส่องเข้าไปในรถเขา ดูว่าฮีโร่ของตัวเองฟังเพลงอะไร อ่านหนังสืออะไร แต่ปรากฏว่า พี่ฮีโร่ไม่ได้ฟังเพลงแบบที่เขาชอบ ไม่ได้อ่านหนังสือประเภทที่เขาอ่าน ก็บอกว่า ฮีโร่ ไม่ได้มีไว้ให้เขาปฏิบัติตัวตาม แต่มีไว้เป็นคำเรียกคนที่เขารู้สึกชื่นชอบชื่นชมในผลงาน อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นการชื่นชมฮีโร่อย่างมีสติโดยแท้จริง

เขาพูดเรื่องผลงานหรือความสำเร็จว่า เป็นเหมือนกับสารบัญของชีวิต ถ้าสิ่งไหนอันไหนที่เขาตั้งใจทำแล้ว ประสบความสำเร็จก็น่าภูมิใจ แต่ถ้าอันไหนที่ทำได้ไม่ดี หรือไม่ได้ตั้งใจทำให้ดี เราก็ไม่ค่อยอยากจะเอ่ยถึง อยากจะเปิดข้ามบทนั้น–ตอนนั้นไป ดังนั้นในการ ทำงานก็ตั้งใจว่า จะให้มีแต่บทที่อยากจะเปิดไปอ่าน อยากจะบันทึกไว้ในสารบัญ มากกว่าที่จะให้มีบทที่เราอยากเปิดข้ามมันไป มานึกถึงชีวิตเราเอง ก็มีบางช่วงบางตอนที่เรารู้สึกไม่ภูมิใจ รู้สึกพ่ายแพ้ล้มเหลว และไม่อยากจะเอ่ยไม่อยากจะจำเหมือนกัน แถมไอ้ส่วนที่ประสบความสำเร็จภูมิใจเสนอก็ไม่ค่อยมี สารบัญชีวิตเราสั้นน่าดูเลย

สูตรสำเร็จของความสำเร็จ

วันนี้ขับรถกลับบ้าน ฟังรายการไอทีทางช่อง ๑๐๐.๕ อย่างเคย ทันได้ฟังสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทซีทีเอเชีย เป็นบริษัทที่ขายซอฟท์แวร์ (ไม่แน่ใจว่าขายฮาร์ดแวร์ด้วยหรือเปล่า) ที่จัดการเกี่ยวกับ Multimedia Messaging Control (อะไรประมาณนั้น) เท่าที่ทันฟัง เขาบอกว่า จะเป็นการจัดการทั้งข้อความที่เป็นเสียง (คนโทรศัพท์เข้ามาหาเรา ฝากข้อความได้) ที่เป็นอีเมล และที่ภาพ ที่ต่างจากระบบฝากข้อความทั่วไปคือ ข้อความเสียงจะมาปรากฏบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเราต้องการฟอร์เวิร์ดข้อความให้คนอื่น ก็ส่งเป็นไฟล์เสียงผ่านอีเมลไปหาคนอื่นได้ (อะไรประมาณเนี้ย)

คอนเซ็ปต์นี้ เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้แล้วตอนที่ยังทำหน้าที่ไอทีโคฯ มีบริษัทที่เราใช้ตู้ PBX (สลับสายโทรศัพท์+จัดการ Voice Mail) มาพรีเซนต์ให้ฟังเหมือนกัน (ก่อนหน้านี้รู้สึกจะเป็นของ AT&T แล้วตอนหลังโดน Lucent ซื้อไป ตอนนี้ตู้ก็เลยติดโลโก้ของ Lucent) แต่บริษัทเราไม่ได้ใช้เพราะต้องอัพเกรดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อีกหลายแสน ก็เลยใช้แค่ระบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่เราฟังคุณเฉลิมพล (ผู้บริหารซีทีเอเชีย) เล่าให้ฟังว่าทำอะไร เราว่าเขามีแนวความคิดที่น่าสนใจมาก

เขาบอกว่า บริษัทของเขาเป็นคนไทยล้วน แต่ต้องพรีเซนต์ตัวเองให้เหมือนไม่ใช่คนไทย เพราะลูกค้าคนไทยเห็นแล้วไม่ค่อยเชื่อถือคนไทยด้วยกัน พวกโบรชัวร์ต่างๆ ต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นบริษัทฝรั่ง เขาบอกว่าเขาเคยไปทำโร้ดโชว์ตั้งบูธตามงานคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในต่างประเทศ ก็ล้มเหลวไม่ได้เรื่อง เพราะภาพพจน์ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ส่งออกข้าว ส่งออกผลไม้อาหารการกิน ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ขายซอฟท์แวร์ ตอนหลังเขาต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเปิดตลาดจากบริษัทในไทยที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ พิสูจน์ให้บริษัทในไทยเห็นว่าซอฟท์แวร์ใช้งานได้ดี ระบบใช้งานได้ดี ราคาถูก แล้วขยายไปขายต่อให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ

คนจัดรายการให้เขาแนะนำว่าทำยังไงถึงสร้างชื่อได้ ทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ คำตอบของเขาคือ คือ “อดทน มุ่งมั่น และพึ่งตัวเอง” คำตอบนี้เก่าจริงๆ ได้ยินจนเบื่อแล้วอ่ะ ไปถามคำถามนี้กับเจ้าสัวใหญ่ที่ในอดีตมีแค่เสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ก็ได้คำตอบแบบนี้เหมือนกัน เหมือนไม่ใช่ของใหม่ น่าจะก็รู้ๆ กันหมด แต่ทำไมทำไม่ได้อย่างเขา ก็คงเป็นประมาณว่า ที่ว่า “อดทน” ต้องอดทนแค่ไหน ขีดจำกัดของคนมันก็ไม่เท่ากัน ที่ว่า “มุ่งมั่น” ต้องมุ่งมั่นแค่ไหน (คุณเฉลิมพล บอกว่า คนไทยฉลาดมีไอคิวสูง แต่ไม่มุ่งมั่นพอ ทำให้เวลาเจออุปสรรคเจอปัญหา ก็เลือกไปทางง่าย ไปทางสบาย)

คนจัดรายการถามว่า เท่าที่เจอปัญหาที่ต้องต่อสู้ ต้องแก้ไขมากมาย คิดว่าต้องการให้รัฐสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างไร คุณเฉลิมพลบอกว่า ในการจะประสบความสำเร็จในธุรกิจซอฟท์แวร์นี้ มันต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก จะให้รัฐบาลช่วยโน่นช่วยนี่ไม่ได้ ที่รัฐบาลช่วยก็เป็นเรื่องดี (อย่างบริษัทเขาได้บีโอไอก็ได้ส่วนลดทางภาษี) แต่ยังไงก็ต้องพึ่งตัวเอง (เราว่าถ้าทุกคนคิดแบบคุณคนนี้ ประเทศไทยไม่มีคนจน)

เขายังบอกอีกว่า การทำธุรกิจต้องทำเป็นทีม มีพาร์ทเนอร์ที่มีความเป็นมืออาชีพในทุกทาง บริษัทของเขาก่อตั้งกันมากับเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน และไปเรียนต่อที่ USC ด้วยกัน (โรงเรียนเดียวกับหมูหนิ!) เพื่อนเขาเป็นคนดูแลด้านเทคนิค ส่วนเขาดูด้านกลยุทธ์การตลาด ด้านเทคนิคต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ดี แล้วก็ต้องมีด้านการตลาดเพื่อที่จะรู้จักขายรู้จักหาช่องทางนำเสนอไปหาลูกค้า ได้ยินว่าบริษัทเขากำลังไปได้ดี ฟังการพูดการจาของเขา แล้วรู้สึกชื่นชมความมีวิสัยทัศน์ และไม่แปลกใจที่เขาประสบความสำเร็จ

ต้องอดทน มุ่งมั่น และพึ่งตัวเอง

ในรายการเดียวกัน หลังจากเล่าเรื่องบริษัทซีทีเอเชียไปแล้ว เขาเล่าเรื่องดร.หนุ่มๆ จากจุฬา (ที่จริงได้ดร.จากต่างประเทศนะ) รวมตัวกันเปิดโรงเรียนกวดวิชาไอฟาสต์ (คิดว่าประมาณนี้นะ เขาไม่ได้สะกดให้ฟัง เลยไม่รู้ว่าจริงๆ จะสะกดยังไง) โดยเริ่มเปิดตัวจากการสอนฟิสิกส์ในโรงหนัง (อีจีวีลาดพร้าว) ไอเดียก็คือเป็นการสอนแบบกึ่งบันเทิง เอาไอทีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน

พวกดร.ที่ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา เขาบอกว่าที่อยากทำก็เพราะในปัจจุบันคะแนนสอบของเด็กนักเรียนคือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นข้อสอบ Multiple Choice กาคำตอบแบบเดาสุ่มไม่ใช้สมองเลย ก็มีโอกาสถูก ๑ ใน ๔ คือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แสดงว่าระบบการเรียนของเรามีปัญหา เรียนหรือไม่เรียนก็คะแนนเท่ากัน เขาเลยอยากจะนำเสนอแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่คิดว่า (หรือหวังว่า) จะทำให้การเรียนรู้ได้ผลมากขึ้น

เราเห็นด้วยว่า “มีปัญหา” แต่เราสงสัยว่า มันเกิดจากระบบการเรียนการสอนที่น่าเบื่อ เน้นการท่องจำจริงๆ หรือ เราสงสัยว่า ระบบการเรียนการสอนแบบโบราณมันไม่ได้ผลจริงๆ หรือ ถ้ามันจริง ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยโบราณมันเกิดจากอะไร

เรามองแบบคนหัวโบราณ ก็ต้องบอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ค่านิยมของคนสมัยนี้ พ่อแม่สมัยนี้บอกว่า ไม่บังคับลูก ให้ลูกได้เรียนอย่างที่ชอบ ให้เป็นคนดีก็พอแล้ว ชีวิตไม่มีแรงกดดัน ไม่ต้องพยายามอะไรเลย จนกลายเป็นความเฉื่อย รักสบาย ไม่อดทน (อ๋อ เรื่องเรียนมันน่าเบื่อ ยากลำบาก เดี๋ยวมีคนคิดวิธีการเรียนแบบบันเทิงขึ้นมาให้ ชีวิตมันมีจะแต่บันเทิงหรือไง ลำบากกันไม่เป็นแล้ว) แล้วก็เลี้ยงลูกมาแบบพ่อแม่อยู่ค้ำฟ้า จะทำให้มันหมดทุกอย่าง อาหารป้อนให้ถึงปาก เงินทองข้าวของเครื่องใช้หยิบให้ถึงมือ นี่ถ้าความรู้มันฟีดตรงใส่สมองเข้าไปได้ก็คงทำกันไปแล้ว นี่แหละความเจริญและการพัฒนายุคนี้