ร้านจ๊อบ
วันนี้เราขับรถผ่านร้านจ๊อบ (ความจริงไม่ใช่เฉพาะวันนี้หรอกที่เราผ่านร้านจ๊อบ ทุกครั้งที่เราขับรถจากบ้านที่แม่กลองไปราชบุรี เราก็ต้องผ่านร้านจ๊อบทุกครั้ง แต่ที่เขียนแบบนี้ก็เพราะจะเล่าเรื่องหนะ) ร้านจ๊อบเป็นร้านขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย อยู่ริมถนนสายวัดเพลงราชบุรี แถวๆ ตรงข้ามโรงเรียนวัดเพลง ซึ่งไม่ได้อยู่ในตลาดหรือทำเลที่เป็นชุมชนอะไร ตลาดที่ใกล้ที่สุดเป็นตลาดเล็กๆ อยู่ที่วัดแก้ว ห่างออกไปซัก ๒–๓ กิโล ส่วนตลาดที่เป็นที่ที่คนส่วนใหญ่ไปจับจ่ายซื้อของกันจริงๆ จังๆ จะอยู่ที่ตัวจังหวัดราชบุรีห่างจากอำเภอวัดเพลงไปประมาณซัก ๑๔–๑๕ กิโล

วันนี้เราขับรถผ่านมา เราก็พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า “เออ... ไอ้ร้านจ๊อบนี่มันก็อยู่นานเหมือนกันเนอะ” แม่ก็ตอบกลับมาว่า “อ้าว... ก็แล้วแกจะให้มันย้ายไปอยู่ที่ไหนล่ะ มันก็ต้องอยู่ตรงนี้แหละ” เราก็บอกว่า “ไม่ช่าย... ไม่ได้ว่าเขาจะย้ายไปไหน แต่ว่าอยู่นานคือหมายถึงว่า เปิดมาแล้วก็ยังอยู่ได้ ขายของได้ ไม่ได้เจ๊งไปน่ะ” (อย่างร้านขายอาหารที่ตึกแถวตรงข้ามที่ทำงานเราเนี่ย ไม่เห็นมีใครอยู่ได้นานซักคน มาขายแผล็บๆ แล้วก็เปลี่ยนไป ก็คือเจ๊งอ่ะนะ)

แม่ก็บอกว่า “เออ ก็เขาก็ขายได้เรื่อยๆ หนิ บางทีแม่ยังมาซื้อของเขาเลย” พอคุยกันแล้วเราก็เลยว่า ถ้าดูสภาพทั่วๆ ไปร้านจ๊อบไม่น่าจะอยู่ได้ หรือถ้าเป็นเราเราคงไม่คิดว่าเราจะมาเปิดร้านขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยตรงนี้ คิดว่าคงต้องไปเปิดในตลาดมากกว่า แต่เขาเปิดมาแล้วก็ขายได้ แล้วก็อยู่มาได้หลายๆ ปีแล้ว เราก็จำจำนวนปีที่แน่นอนไม่ได้ แต่คิดว่าไม่น้อยกว่า ๔–๕ ปีแน่ๆ

แม่บอกว่า เขาก็คงต้องขายได้เรื่อยๆ คนซื้อเขารู้ว่ามีของขายอยู่ตรงนี้ ก็ซื้อตรงนี้ก็ได้ไม่ต้องไปถึงตลาด แสดงว่าที่คนซื้อของที่ตลาด เพราะมันไม่มีที่อื่นให้ซื้อ ถ้ามีที่อื่นและคนเขารู้ว่ามีของขาย เขาก็มาซื้อกันเอง อย่างร้านจ๊อบเนี่ยเขาก็เขียนป้ายอย่างชัดเจนว่าเป็นร้านขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย คนผ่านไปผ่านมาก็เห็นก็จำได้ คราวไหนต้องการอะไรก็แวะมาได้เลย

เราว่าร้านจ๊อบเป็นการกลับลอจิกกับที่เราคิดทีแรกว่า ถ้าเราจะเปิดร้านขายของน่าจะไปเปิดในตลาดเพราะมีคนซื้อเยอะ ต้องคิดนอกกรอบหน่อยๆ นะเนี่ยถึงจะออกมาเป็นแบบนี้ได้ แต่เราว่าเจ้าของร้านจ๊อบเขาก็อาจจะไม่ได้คิดอะไรลึกล้ำขนาดนั้น หรือคนที่คิดลึกล้ำขนาดนั้นก็อาจอยู่ไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จ ที่จริงแล้วก็คือ “มันไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับความสำเร็จ” หรอก

พอคุยเรื่องนี้แล้วแม่ก็พูดไปถึงร้านขายของทั่วไปว่า เตี่ยของแม่เคยบอกว่า ตอนจะเปิดร้านขายของเนี่ย เรายังไม่รู้ว่าจะขายอะไร ก็อาจไม่มีของที่คนต้องการ แต่ถ้ามีคนมาถามหาของ เช่น ถามว่า มีเข็มเย็บผ้าขายไหม แล้วเราไม่มี ก็อย่าไปบอกเขาว่า ไม่มี เพราะถ้าบอกอย่างนั้น คราวหน้าคนนั้นเขาก็จะไม่มาที่ร้านเราอีก แต่ให้บอกไปว่า อ๋อ... พอดีเข็มหมดน่ะ แล้วเราก็ไปเอามาขาย คราวหน้าถ้าเขาอยากได้เข็ม เขาก็ยังมาร้านเราอยู่ เพราะเรามีขาย เขาคงไม่ดวงซวย มาเจอของหมดถึงสองครั้งสองครา (อันนี้เป็นความคิดของคนซื้อนะ ส่วนคนขายก็รู้อยู่แล้วว่าของไม่ได้หมดจริงๆ)

เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าเป็น CRM (Client Relation Management – ขอใช้ศัพท์หรูๆ มั่ง เห็นพวกบริษัทใหญ่ๆ โตๆ เขาถึงกับต้องตั้งแผนกมาคอยดูแลความต้องการของลูกค้าอ่ะ) ขั้นคลาสสิกสำหรับพวกร้านโชห่วยเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้ร้านโชห่วยก็จะล้มหายตายจากกันไปหมด ไอ้วิธีการแบบนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครอยากเอาไปใช้กับร้านสะดวกซื้อที่เป็นแฟรนไชส์หรือเปล่า เราว่าความจริงเทคโนโลยีสมัยใหม่น่าจะช่วยให้เขาจัดการได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเขาสามารถเก็บบันทึกความต้องการของลูกค้าได้เป็นระบบมากกว่า แต่เท่าที่เราเห็นเวลาเราไปซื้อของตามห้างตามร้าน ก็ไม่เห็นเขาตอบแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็บอกว่า ไม่มีหรอก แล้วก็สะบัดหน้าพรืดไป