๑ เปอร์เซ็นต์
วันก่อนเราไปกินข้าวกับยิ่งกับพี่อ๋อง ยิ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกาหลังจากไปเรียนโท แล้วก็ทำงานอยู่หลายปี มาหยุดเอาเมื่อเกือบๆ สองปีก่อน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทที่จ้างไม่ยอมต่อสัญญา มองหางานที่อื่นแต่ไม่ได้ซักที พอยิ่งบอกว่าจะกลับเมืองไทย เราก็ว่าดีเหมือนกัน เพราะถ้ายิ่งไม่ได้ทำงานนานๆ ก็ยิ่งหางานยาก แถมเงินทองที่เก็บได้สะสมได้ก็จะร่อยหรอไปเรื่อย ถ้าจุดมุ่งหมายหลักคือในที่สุดแล้วจะกลับมาอยู่เมืองไทย ก็ควรจะรีบๆ กลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่เร็วๆ แถมพ่อแม่ก็อายุเยอะแล้ว กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ก็อบอุ่นใจดี

พอยิ่งกลับมาก็เลยนัดกินข้าวกัน ยิ่งก็ไปชวนพี่อ๋องมาด้วย เพราะเราก็ไม่ได้เจอแกมานานแล้ว ประมาณว่าไม่มีเรื่องนัดเจอกันก็ไม่ได้นัด เราก็เอาสะดวกนัดแถวที่ทำงานเรา ทีแรกก็คิดว่าจะกินฟูจิ แต่ยิ่งบอกว่ากินอะไรก็ได้ยกเว้นฟูจิ (มารู้ภายหลังว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามันไปกินฟูจิกับเพื่อนกับแม่สี่ครั้ง ถ้ากินกับเราอีกจะกลายเป็นว่าเจ็ดวันกินไปฟูจิไปซะห้าวัน ถ้าเรารู้งี้แต่แรก เราแกล้งบังคับให้กินฟูจิดีกว่า อิอิ) เราก็ค่อนข้างเห็นด้วยเพราะวันที่นัดกันเป็นวันศุกร์สิ้นเดือน เราเดาว่าคิวคงยาวเหยียดเหมือนคราวที่แล้วที่พวกเราอุตส่าห์ตั้งใจจะไปกินฟูจิแล้วต้องยอมแพ้ไป นัดไปนัดมา สุดท้ายก็จบที่ Sizzler

ความที่เป็นวันศุกร์สิ้นเดือน รถก็ติดวินาศอีกตามเคย นัดกันแค่ ๓ คนแต่กว่าจะมาครบก็เกือบทุ่ม ไม่ได้เจอกันนานก็คุยกันมันส์ นอกจากถามสารทุกข์สุกดิบอัพเดทข่าวคราวแล้ว ก็มีการบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์ตามประสาคน (แก่) อยู่ไม่สุข เราเคยบ่นเรื่องงานให้ยิ่งฟังว่า เบื่อที่ต้องเป็นหัวหน้าคนอื่น เพราะไม่รู้จะทำยังไงให้ลูกน้องตั้งใจทำงาน เด็กสมัยนี้มันทำงานเหมือนทำการบ้านส่งครู ผิดถูกไม่ต้องสนใจทำๆ ไปก่อน เดี๋ยวให้ครูตรวจ ถ้าถูกก็ดีไปถ้าผิดก็แก้ ถ้าไม่รู้ว่าแก้ยังไง เดี๋ยวก็มีคนบอก ยิ่งมันพูดโพล่งออกมาว่า “เธอก็เลยเซ็งเพราะมีลูกน้องปัญญาอ่อนใช่ปะ”

พอยิ่งกลับมาก็คุยกันทางโทรศัพท์เราก็เล่าให้ฟังว่าตอนที่ทอมเรียกเข้าไปคุยว่าปีนี้เราดูเนือยๆ ไม่ค่อยกระตือรือร้น แล้วเราบอกว่าไม่อยากทำงาน Management เพราะมันเหนื่อยใจต้องให้คนอื่นทำงานให้ บริหารคนมันยากสำหรับเรา ทอมก็ถามว่าแล้วเทียบกับสมัยทำไอทีแล้วเป็นไง เหมือนเป็นนัยๆ ว่าถ้าสนใจจะย้ายกลับไปทำไอทีก็อาจจะมีโอกาส แต่เราไม่สนใจอ่ะนะ ยิ่งก็บอกว่า ทำงานไอทีก็เจอลูกน้องปัญญาอ่อนเหมือนกัน แต่ปัญญาอ่อนคนละแบบ เราฟังแล้วก็ขำๆ คือเราเหนื่อยหน่ายใจกับลูกน้อง แต่ก็ไม่ได้คิดจะว่าลูกน้องเราขนาดนั้น แต่ยิ่งมันพูดตรงๆ ไง

พอวันที่นัดเจอกัน เราก็บ่นกับพี่อ๋อง (แกเป็นอาจารย์มหาลัยนะ) ว่าเด็กสมัยนี้มันแย่นะ ไม่มีความรับผิดชอบ คิดอะไรเองไม่เป็นต้องให้คนคอยบอก ทำงานเหมือนส่งการบ้านอาจารย์ ทำไม่พี่ไม่สอนมันให้เก่งๆ ดีๆ นะ พี่อ๋องบอกว่า “เด็กสมัยนี้เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ แต่ขอบอกหน่อย เธอเคยคิดไหมว่าเด็กพวกที่ฉันสอน หรือเด็กอย่างที่เธอรับเข้าไปทำงานแล้วบ่นๆ ว่ามันแย่เนี่ย เด็กพวกนี้เป็น ๑ เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศไทยเลยนะ” แล้วพี่อ๋องก็พูดต่อ “ก็คิดดูคนไทยมี ๖๐ ล้านคน เฉลี่ยแล้วแต่ละรุ่นอายุก็มีซักประมาณ ๑ ล้านคน คนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐชั้นแนวหน้าได้มีซักกี่คน หมื่นกว่าคนใช่ไหม หมื่นคนคือ ๑ เปอร์เซ็นต์ของ ๑ ล้าน เป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกแล้วนะที่เราได้มา ส่วน ๑ เปอร์เซ็นต์ต่อไปก็เป็นพวกมหาลัยของรัฐที่รองๆ ไป ๑ เปอร์เซ็นต์ต่อไปก็เป็นพวกราชภัฎ แล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ”

เราฟังแล้วก็คิดตาม... “นี่ขนาดเธอเจอแค่เด็กเปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ เธอยังบ่นขนาดนี้ ถ้าเธอไปเจอเด็กเปอร์เซ็นต์ที่ ๕ หรือที่ ๑๐ เธออกแตกตายแน่” เราฟังแล้วก็ไม่รู้ว่ามันเป็นการช่วยปลอบใจให้เรารู้สึกดี หรือว่าจะหดหู่หมดกำลังใจว่า ขนาดเปอร์เซ็นต์แรกของประเทศยังได้แค่นี้ แล้วอนาคตประเทศชาติจะเป็นยังไง