ดิสเล็กสิก – ออทิสติก
วันก่อนอ่านคอลัมน์ของไมเคิล ไรทในมติชน เขาเขียนเรื่องดิสเล็กสิก (dyslexic เป็น adjective ถ้าเป็นคำนาม คือ dyslexia) ว่าตัวเขาเองเป็นดิสเล็กสิกมาตั้งแต่เด็ก ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อ เพราะไมเคิล ไรทเป็นชาวอังกฤษที่ไม่รู้ว่าจับพลัดจับผลูยังไงมาอยู่ในเมืองไทย แต่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของไทย (และของเอเชียอาคเนย์) ดีกว่าคนไทยหลายๆ ล้านคน (ฟังดูเหมือนเวอร์ แต่ถ้าได้อ่านเรื่อง ๑ เปอร์เซ็นต์ ของเราแล้วจะรู้ว่า หลายล้านอาจจะเป็นตัวเลขที่น้อยไป อาจจะต้องพูดว่าหลายสิบล้านคน)

ตัวอย่างเช่น เขามีความรู้เรื่องหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ดีพอขนาดคิดเคลือบแคลงสงสัยว่า อาจจะไม่ใช่หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นการทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง (รายละเอียดเราก็ไม่ค่อยรู้ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในคนหลายล้านคนที่มีความรู้เรื่องไทย น้อยกว่าไมเคิล ไรท) นอกจากความรู้ศิลปวัฒนธรรม ไมเคิล ไรทเขียนภาษาไทยเป็นน้ำ (ใช้คำว่า “เป็นน้ำ” กับการเขียนได้ไหมนะ) คือไม่ได้เป็นฝรั่งที่พูดไทยได้เฉยๆ นะ แต่เป็นฝรั่งที่เขียนภาษาไทยได้ อืมม์... ไม่ใช่แค่ “เขียนได้” สิ ต้องบอกว่า “เขียนเป็น” ตะหาก เขียนได้ดีมากๆ ขนาดเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่าทักษะในด้านภาษาของไมเคิล ไรทอยู่ในขั้นเยี่ยมยุทธ์ ซึ่งในความรู้สึกเราเราว่ามันค่อนข้างจะขัดกับการเป็นดิสเล็กสิก

อาการดิสเล็กสิก คืออาการมีปัญหาในการที่สมองจะแปรภาพที่มองเห็นให้เป็นความหมายที่ควรจะเป็น (เอ๊ะ... เรื่องนี้เคยเล่าไปแล้วครั้งหนึ่งนะ แต่ไม่เป็นไร ฉายหนังซ้ำมั่งจะเป็นไรไป อิอิ) คนเป็นดิสเล็กสิกจะมองภาพกลับซ้ายเป็นขวาโดยไม่รู้ตัว (เช่น ดูนาฬิกาจากเก้าโมงเช้า เป็นบ่ายสามโมง มองเห็นเลข 3 เหมือนเป็นตัว E) อ่านหนังสือสลับตัว เช่น “น้อย” นึกว่า “ย้อน” อ่านหนังสือข้ามบรรทัด ฯลฯ

เด็กที่เป็นดิสเล็กสิก มักถูกมองว่าเป็นเด็กโง่เง่า ทั้งๆ ที่ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา พ่อแม่ครูอาจารย์ อาจสงสัยว่าทำไมเด็กโง่จังเลยที่สะกดคำแค่นี้ก็สะกดไม่ได้ซะที บวกเลขทีไรก็บวกผิด เพราะเขามองผิดไง คำว่า arm ก็นึกว่า mar บวกลบตัวเลขเป็นแถวๆ ก็มองข้ามไปข้ามมา เด็กเกิดความลำบากสุดท้ายก็หมดความสนใจในการเรียน นอกจากการเรียน คนที่เป็นดิสเล็กสิกอย่างรุนแรง จะมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต อย่างเรื่องการดูเวลาที่ว่าไปหรือแม้แต่การขับรถเพราะมีปัญหาในการอ่านแผนที่ การมองระยะผิดพลาดหรือเห็นภาพสับสนกับความเป็นจริง

คนที่เป็นดิสเล็กสิก แก้ไขได้โดยใช้ความอดทนและเข้าใจของตัวเองและคนรอบข้าง ไมเคิล ไรท บ่นว่าอาการนี้เป็นปัญหาในระบบการเรียนการสอนมาก ถ้าบรรดาครูอาจารย์และคนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่ามีคำว่า ดิสเล็กสิก อยู่ เด็กที่เป็นดิสเล็กสิกก็คือเด็กโง่ ปัญญาอ่อนในสายตาครู แล้วเขาก็บ่นว่า ต่างประเทศรู้จักว่า ดิสเล็กสิก มาสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนในวงการศึกษาไทย มีกี่คนที่รู้จักและเข้าใจความหมายของคำคำนี้

เราเอาคอลัมน์ของไมเคิล ไรทให้แม่ไอโกะอ่าน แม่ไอโกะก็บอกว่า จริง ไม่ค่อยมีคนรู้จักหรอก ดิสเล็กสิกเนี่ย แต่เรารู้จักมันมาหลายปีแล้วหละ บังเอิญรู้จักมันได้ไงก็จำไม่ค่อยได้แล้ว จำได้แต่ว่าเสิร์ชเจอเว็บไซต์ข้อมูลแล้วก็อ่านๆ จนเข้าใจ เขามีรายชื่อคนดังๆ ที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่เป็นดิสเล็กสิก ประมาณว่าเป็นการพิสูจน์ว่า ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญาและความสามารถ

ส่วนเรื่องออทิสติกนี่ เมื่อประมาณสี่ห้าปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่มีให้อ่านให้ความรู้กันค่อนข้างเยอะ ในเมืองไทยมีเด็กที่เป็นออทิสติกเขียนหนังสือออกมาขายด้วย ถ้าจำไม่ผิดเขาชื่อ นัฐ เราไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาเขียน แต่ตอนโน้นเราได้อ่านเรื่องออทิสติกจากบทความในไทม์ เขาจะบอกลักษณะของคนที่เป็นออทิสติกว่า เป็นคนที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของคนรอบข้างที่แสดงออกทางสีหน้าหรือน้ำเสียงได้ เช่น มีคนออทิสติกคนหนึ่งอายุสามสิบกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ มาบอกว่าเขาบอกว่าเขาเพิ่งรู้ (จากการอ่านหนังสือ) ว่า เวลาที่คนนิ่วหน้า หมายความว่าเขาไม่พอใจ

เราเคยพูดเล่นๆ ว่าการที่ “อดีตหัวหน้าเรา” เขาไม่สนใจคนอื่นเลยว่าจะคิดยังไง ทำร้ายความรู้สึกหรือทำให้คนรอบข้างไม่พอใจ เพราะเขาเป็นออทิสติก เขารับรู้อารมณ์คนรอบข้างไม่ได้ เขาคิดว่าถ้าการกระทำของเขามันไม่ทำให้ตัวเขารู้สึกว่ามันแย่ คนอื่นก็คงไม่รู้สึกว่ามันแย่ แต่ในมุมมองเดียวกันนี้ บางทีตัวเราเองก็เป็นออทิสติกด้วยเหมือนกัน เพราะบ่อยครั้งเราก็ทำตัวทื่อมะลื่อ พูดจาขวานผ่าซาก โดยไม่รับรู้ความไม่พอใจของคนรอบข้างเหมือนกัน

นอกจากนี้คนที่เป็นออทิสติกจะไม่ชอบการสัมผัสกอดรัด เพราะรู้สึกเหมือนโดนบุกรุกความเป็นส่วนตัว เด็กเป็นออทิสติกจะกรีดร้องโวยวายเวลามีคนมากอดรัดหรือสัมผัส น่าสงสารพ่อแม่ของเด็กออทิสติก เพราะกอดลูกตัวเองไม่ได้ เพราะการกอดคือการทำร้ายจิตใจลูกตัวเอง คนเป็นออติสติกไม่สามารถจินตนาการเป็นคนอื่นหรือมองภาพจากมุมมองของคนอื่นได้ และสาเหตุต่อเนื่องไปว่าคนเป็นออทิสติกโกหกไม่เป็น เพราะถ้าเขารู้เห็นอะไร เขาจะคิดว่าคนอื่นก็ต้องรู้เห็นเหมือนที่เขารู้ด้วยเช่นกัน

และเช่นเดียวกันกับดิสเล็กสิก ออทิสติกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา มีเรื่องซับซ้อนทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์หรือศิลปะมากมายที่คนที่เป็นออทิสติกเข้าใจได้ แต่เขาไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น มีเรื่องปลีกย่อยอีกมากมายของคนที่เป็นออทิสติกที่เรารับรู้จากการอ่านแล้วก็เลือนๆ ไป แต่ที่มาพูดถึงออทิสติกอีก ก็เพราะได้อ่านเรื่องของคนเป็นออทิสติกที่ชื่อ “ฆาตกรรมหมาในยามราตรี” เป็นเรื่องแต่งที่คนเขียนเขาทำเป็นเหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่เด็กที่เป็นออทิสติกเป็นคนเขียน เขาอธิบายระบบความคิดและพฤติกรรมของเด็กที่เป็นออทิสติกออกมาในรูปของนิยายสืบสวนสอบสวนของเด็ก

เราอ่านฆาตกรรมหมาฯอย่างสนุกสนานและจบในเวลาอันรวดเร็ว แต่แม่ไอโกะ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ (ให้ยืมหนังสือเล่มนี้) กลับบอกว่าหนังสือเล่มนี้ก็ดี แต่ไม่ได้รู้สึกว่าวางไม่ลง คือว่างเมื่อไรก็หยิบมาอ่านไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าต้องหยุดอ่าน ก็ไม่ได้เดือดร้อนกระวนกระวายอยากรู้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่า วางไม่ลง แต่เราก็อ่านจบอย่างเร็ว เพราะว่ามันสนุกดี ในขณะที่เรายังอ่านหนังสือเกี่ยวกับออทิสติกค้างอยู่อีกเล่มหนึ่ง หนังสือที่ว่าเป็นหนังสือแปลชื่อ “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” คนเขียนเป็นออทิสติกจริงๆ และเขียนเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง

เขาว่าหนังสือเล่มนี้ดังเพราะคนค่อนข้างแปลกใจกับการที่คนเป็นออทิสติกสามารถเขียนเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นเข้าใจได้ เพราะอย่างที่บอกว่า คนเป็นออทิสติกไม่เข้าใจว่าคนอื่นต่างจากเขา เขาจึงไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจความแตกต่างของตัวเองได้ (ยิ่งเขียนก็ยิ่งงงเว้ย) แต่เอาเป็นว่า คนเขียน “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” เป็นออทิสติกที่เข้าใจตัวเองแล้ว แล้วก็พยายามถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจด้วย แต่ความที่มันเป็นเรื่องเล่าของตัวเขาเอง มันจึงไม่ได้มีพล็อตที่ขมวดปมตรงนี้ แล้วไปคลายเอาตอนจบ เราก็เลยอ่านแบบเรื่อยๆ ไม่จบซะที นับเป็นหนังสือที่อ่านแล้วก็ได้ความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นหนังสือที่สนุกจนวางไม่ลงสำหรับเรา เพราะไม่งั้นก็คงอ่านจนจบไปนานแล้ว