นินทาแม่
วันก่อนแม่บอกว่า “นิจวรรณ คราวหน้าซื้อไอ้นี่ให้หน่อยสิ มุดซะอี อ่ะ” เราก็งง “อะไรนะแม่” แม่ก็ “มุดซะอี มุดซะอี อะไรเนี่ย ที่ล้างหน้าอ่ะ” สมองเรายังไม่ทันจะได้ process ว่าแม่อยากได้อะไร แม่ไอโกะก็พูดขึ้นมาว่า “สมูธอี มั้งแม่” แม่ก็ “เออ.. นั่นแหละ”

แม่บอกว่า ตอนที่ไปเที่ยวคราวที่แล้ว (นั่งรถไฟไปทางใต้แล้วนั่งรถทัวร์ต่อไปเที่ยวสิงคโปร์ มาเลเซีย ปีนัง) ขึ้นรถไฟตอนเย็น แล้วไปถึงที่สถานีปาดังเบซาร์หรืออะไรซักอย่างทางใต้ตอนเช้า แม่ลืมเอาสบู่ออกมาไว้ในกระเป๋าเล็ก ตอนไปเข้าห้องน้ำ คนที่ไปด้วยเขามีโฟมล้างหน้า แม่ก็เลยขอเขาใช้ ใช้แล้วก็รู้สึกว่ามันล้างสะอาดเกลี้ยงเกลาดี ก็เลยถามเขาว่า ยี่ห้ออะไร เขาบอกมาแม่ก็จำได้แค่ว่ายี่ห้อ มุดซะอี... มุดซะอี นี่แหละ เราก็เลยบอกว่า อ๋อได้ๆ เดี๋ยวจะซื้อมาให้

พออีกวันหนึ่งแม่โทรมาคุยกับเรา แล้วก็บอกว่า “เออ นิจวรรณ... ไอ้มุดซะอีนั่นไม่ต้องซื้อแล้วนะ ฉันซื้อมาแล้ว” เราก็ถาม “อ้าว แม่ไปซื้อที่ไหนล่ะ” คือแม่ไม่ค่อยได้ไปซื้อของตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอ่ะนะ ก็เลยจะหาอะไรต่ออะไรไม่ค่อยเจอ แต่ถ้าที่ตลาดศรีเมืองแม่จะเชี่ยวมาก อะไรอยู่ตรงไหนรู้หมด (ตลาดศรีเมืองคือตลาดสดขายส่งที่ราชบุรี แม่ไปซื้อผักซื้อหมูซื้อไก่มาทีละเยอะๆ มาขายให้คนงาน)

แม่บอกว่า “วันนี้ไปแม็คโครกะคุณเส ก็เลยซื้อมา” เราก็ยังสงสัย “แล้วแม่หาเจอได้ไงอ่ะ” แม่บอกว่า “คุณเสเขาหาให้” เรายิ่งงงไปกันใหญ่ คุณเสนี่เขาเป็นคุณสารพัดช่างนะ ให้ซ่อมให้แก้อะไรเขาทำได้หมด ทีวีเราเสียภาพไม่มีจอ... เอ้ย จอไม่มีภาพ เราก็ยกกลับบ้านไป กะจะให้ก๊อใหญ่จัดการหาร้านซ่อมให้ ปรากฏว่าก๊อบอกว่า “อ๋อ... พอดีคุณเสเพิ่งไปเรียนซ่อมทีวีมา ให้เขาลองซ่อมแล้วกัน” ก็ซ่อมจนเสร็จ (นี่ตอนนี้จะพังอีกแล้ว เดี๋ยวเอากลับไปให้เขาซ่อมอีกดีกว่า) ราวตากผ้าที่คอนโดคุณเส ก็มาติดให้ เรื่องช่างน่ะต้องยกให้คุณเส แต่ว่าโฟมล้างหน้าสมูธอีเนี่ยนะ...

ในที่สุดแม่ก็ไขความกระจ่างให้เราว่า “คุณเสรู้เพราะเขาเคยใช้ เขาว่ามันดี” เราก็ถามว่า “เอ๊ะ... เคยใช้แล้วตอนนี้ไม่ใช้แล้วเหรอ” แม่บอกว่า “เขาบอกว่ามันแพงน่ะ เลยไม่ใช้แล้ว” เราก็สงสัยว่าแพงนี่เท่าไหร่ แม่บอกว่า “เขาบอกว่า ถ้าซื้อข้างนอกมันสี่ร้อยมั้ง แต่ที่แม่ซื้อนี่มันสามร้อยกว่าบาทอ่ะ” เราเลยถามว่า “อ้าว แล้วแม่ไม่ซื้อให้เขาใช้ซักหลอดหนึ่งด้วยล่ะ” แม่ร้องฮึ่ย... เราก็หัวเราะ แม่เลยรู้ว่าโดนเราแซว

พอสัปดาห์ก่อนเรากลับบ้านไป แม่บอกว่า “เออ... ไอ้มุดซะอีที่ฉันซื้อมา มันไม่ใช่โฟมล้างหน้า มันเป็นครีมบำรุงตะหาก ทีแรกฉันก็เอามาทาๆ แล้วก็ไปล้างน้ำ ก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับที่เคยใช้ เลยเอามาให้พวกไอ้พิน ไอ้เปิ้ล (เด็กในออฟฟิศ) ดู มันบอกว่า นี่มันครีมบำรุงผิว ไม่ใช่ใช้ล้างหน้า” เราก็ขำๆ ก็ถึงว่าสิ ตอนแรกเราก็ว่าจะถามแม่แล้วเชียว ว่าทำไมโฟมล้างหน้าอะไรมันแพงจัดขนาดนั้น ตั้งสามร้อยกว่าบาท เราว่าโฟมล้างหน้าเนี่ยซักสองร้อยก็หรูแล้ว...

ความจริงแม่เคยซื้อของผิดอย่างนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ตั้งใจจะซื้อครีมอาบน้ำ ได้โลชั่นทาผิวมา มันเป็นขวดแบบปั๊มอ่ะนะ ตอนใช้ทีแรกแม่กดแค่ครั้งเดียว เอาไปฟอกตัวมันก็ไม่มีฟอง ครั้งต่อมาก็เลยกดออกมาเยอะๆ ก็ยังไม่มีฟองอีก พอเอาขวดมาอ่านใกล้ๆ ถึงเห็นว่าเขาเขียนว่า “โลชั่น” นี่คราวนี้ซื้อผิดอีกแล้ว สรุปว่าเดี๋ยวเราก็ต้องเป็นคนซื้อมุดซะอีไปให้แม่ นี่ว่าจะโมเมให้เป็นของขวัญวันเกิดแม่ซะเลย หุหุหุ

พับเสื้อ

ตั้งนานแล้ว พี่ที่ออฟฟิศฟอร์เวิร์ดวีดีโอคลิปที่คนญี่ปุ่นแสดงการพับเสื้อยืดอย่างเรียบร้อยและรวดเร็วให้ เราดูแล้วก็ทึ่ง... โห...เข้าใจคิดหวะ มันช่วยตอกย้ำความเข้าใจว่าทำไมญี่ปุ่นเจริญกว่าไทย ก็เขาช่างคิดไง ขนาดแค่เรื่องเล็กๆ น้อยอย่างการพับเสื้อ เขายังหาวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว แล้วมันได้ผลออกมาดีสวยงาม

เราก็จำวิธีที่เขาพับแล้วมาลองฝึกกับเสื้อที่บ้าน ก็พับได้สวยงามรวดเร็วเหมือนเขา พอตอนที่ไปเที่ยวเรือโอเชียนพรินเซส เราก็เรียกแม่ไอโกะมาเลย “นี่ๆ ฉันจะโชว์อะไรให้แกดู” เราเอาเสื้อออกมาปู จับตรงบ่าเสื้อ จับตรงกลาง ตลบบ่าไปชนกับชายเสื้อ ดึงกลับมาสะบัด แล้ววางทบกลับอีกที ทะดา... เสื้อยืดพับเรียบร้อยในเวลาสองสามวินาที แม่ไอโกะก็ชมพอเป็นพิธีว่า “เออดี”

เรามาโชว์ให้แม่ดูอีกรอบ ได้รับการตอบรับที่ดีกว่าหน่อย แม่ให้เราสอนพับมั่ง แต่แม่ก็ทำได้แบบทุลักทุเล แถมบ่นว่า “เนี่ย... เดี๋ยวฉันก็ลืม” (เหมือนตอนที่แม่ไปเห็นคนที่โรงเจพับกระดาษเงินกระดาษทองที่เอาไว้ไหว้เจ้า เขาพับเป็นรูปทองก้อนสวยดี แม่ไปหัดพับแล้วก็ลืม ตอนหลังต้องขอตัวอย่างเขามาเก็บไว้อันหนึ่ง ถ้านึกไม่ออกจะได้แกะออกมาดู แล้วพับเข้าไปใหม่ตามรอย แต่อย่างพับเสื้อนี่เก็บตัวอย่างไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่วิธีการใช้มือ)

พอวันก่อน (วันเดียวกับที่คุยเรื่อง คุณเสพาแม่ไปซื้อมุดซะอีนั่นแหละ) แม่โทรมาถามเราว่า “นิจวรรณ แกสอนฉันพับเสื้อใหม่ซิ” พอดีแม่ซื้อเสื้อยืดจะมาใช้ในงานย้ายที่เก็บศพของกุ๊ง (เตี่ยของแม่) เป็นเสื้อที่พวกเรา (ลูกๆ หลานของกุ๊ง ซึ่งก็ญาติๆ ของเรานั่นแหละ) จะต้องเป็นคนใส่เอง ก๊อใหญ่ก็เลยบอกว่าให้เอาไปซักซะให้เรียบร้อย พอเอาไปแจกจะได้ใส่ได้เลย ทีนี้พอซักเสร็จแล้วต้องพับใส่ถุง ก็พับไม่ได้อย่างที่ซื้อมาตอนแรก แม่บอกว่า “ถ้าต้องพับแบบธรรมดา ฉันพับไม่เสร็จแน่” เราก็เลยต้องพยายามอธิบายการพับเสื้อให้แม่ทางโทรศัพท์

“นี่นะ แม่... แม่เอาเสื้อปูตะแคงๆ นะ เอาคอเสื้อไว้ด้านขวามือ เอาชายเสื้อไว้ด้านซ้ายมือ แล้วแม่ก็เอานิ้วลากเส้นนอนๆ นะ ตรงบ่าเสื้อด้านที่อยู่ไกลตัวเราเนี่ย กะประมาณครึ่งหนึ่งของบ่า แล้วก็ลากแนวขนานไปทางชายเสื้อ แม่จำได้ไหมที่นิจเคยทำให้ดูอ่ะ” เราไม่รู้ว่า แม่จะจัดการยังไงให้หูก็สามารถหนีบโทรศัพท์ไว้ แล้วมือก็พับเสื้อตามคำบอกของเราได้ แต่ก็พยายามค่อยๆ อธิบายไป

“ไหนแม่ลากเส้นนอนๆ แล้วใช่ไหม ทีนี้แม่ก็กะตรงครึ่งหนึ่งของเส้นนอนๆ ที่ลากไว้นะ แล้วแม่ก็กำหนดจุด ๓ จุดบนเส้นนี้นะ จุดที่หนึ่งอยู่ที่ชายเสื้อด้านซ้ายมือ จุดที่สองอยู่ตรงกลาง จุดที่สามอยู่ตรงบ่าเสื้อด้านขวามืออ่ะนะ” เราก็พูดไปมือก็พับเสื้อหลอกๆ ไปด้วย (คนที่นั่งบูธข้างๆ เรา คงอยากลุกขึ้นมาดูว่า อีนี่มันอธิบายอะไรของมันวะ)

“แล้วทีนี้แม่ก็เอามือซ้ายจับตรงจุดที่สองตรงกลางเสื้อนะ แล้วเอามือขวาจับจุดที่สามตรงบ่าเสื้อนะ แล้วแม่ก็ยกเอาจุดที่สามอ้อมไปด้านไกลตัว ไปทบกับจุดที่หนึ่งนะ แล้วแม่ก็ตวัดมืออ้อมกลับมาที่เดิมอ่ะ แบบที่นิจเคยทำให้แม่ดูอ่ะ ทำได้ไหมแม่”

ปรากฏว่าแม่ไม่เข้าใจเราอ่ะ -_-” เราก็พยายามไม่ลดละ อธิบายซ้ำอีก ก็ยังไม่สำเร็จอีก แม่บอกว่าแกรอเดี๋ยวนะ แล้วเรียกคุณเสมาฟัง แต่คุณเสไม่เคยเห็นวิธีการพับเสื้อแบบนี้มาก่อน เราอธิบายไปเขาก็จะนึกไม่ออกอ่ะ เราพยายามอยู่แป๊บหนึ่ง แม่เห็นท่าไม่ได้เรื่องเลยบอกว่า ช่างมันเหอะ เดี๋ยวเกณฑ์คนงานมาพับละกัน แต่เราไม่ช่างมันอ่ะ มันไม่แล้วใจ

“แหม... แม่ นิจอุตส่าห์โชว์ให้แม่ดู แล้วก็สอนแม่พับด้วยนะ ตอนนั้นแม่ก็ยังพับเองได้เลย” ในที่สุดเราก็เลยเอากระดาษมาวาดรูปเสื้อ (ในเวลาทำงาน) เขียนคำอธิบายแล้วส่งแฟกซ์ไปให้ วันรุ่งขึ้นแม่โทรมาบอกว่า “ฉันพับเสื้อได้แล้วนะ” เฮ้อ... นิจวรรณค่อยหายอึดอัดใจหน่อย

ปล. ใครยังไม่เคยได้รับวิดีโอคลิปวิธีพับเสื้อแบบญี่ปุ่น และอยากรู้ว่าเป็นยังไง เรามีให้ดาวน์โหลดไปดู ที่นี่ (คลิกขวา แล้วใช้ Save Target As แล้วค่อยไปเปิดบนเครื่องทีหลังจะสะดวกกว่าจ้ะ) แต่เตือนก่อนว่าไฟล์ใหญ่ ๓.๓๒ เม็กนะ จะดูเปรียบเทียบกับรูปวาดที่เราแฟกซ์ให้แม่ด้วยก็ได้นะ

แม่ขายผัก

เกริ่นเรื่องแม่ขายผักไว้หน่อยหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเคยเล่าเรื่องนี้ละเอียดหรือเปล่า แต่ถึงเล่าแล้วก็ไม่เป็นไร (หมู่นี้ฉายหนังซ้ำบ่อยแฮะ) ขี้เกียจอ่านหรือเคยอ่านแล้วก็ข้ามๆ ไปก็ได้นะ

เรื่องแม่ขายผักนี่ พวกเราทุกคนบ่นว่าแม่ขายผักไปทำไม แม่บอกว่าคนงานข้ามไปซื้อที่ตลาดแม่กลอง ของแพงจะตาย พวกมันทำงานกันได้วันหนึ่งไม่เท่าไหร่ สงสารมัน แต่พอตอนที่ต้องรบกับคนงานแม่ก็ “ด่า” เหมือนกันว่า “ฉันเอามาขายถูกๆ มันก็ยังไม่รู้สึก ต้องให้มันไปซื้อที่ตลาดนั่นแหละดี มันคงนึกว่าฉันได้กำไร”

แต่ความจริงคือแม่ไม่ได้ขายผักหากำรี้กำไรอะไรหรอก ดีไม่ดีจะขาดทุนเอา ก็ต้องขับรถจากแม่กลองไปราชบุรี น้ำมันก็แพง เวลาขายก็เอากำไรนิดเดียวแทบไม่พอค่าน้ำมัน (ขายผักขายของสด ถ้าจะให้อยู่ได้เป็นอาชีพ ต้องคิดกำไรเป็นครึ่งๆ เพราะต้องเผื่อของเน่าเสียไว้ด้วย) แถมบางทีแม่ก็ลืมของที่ซื้ออีกอ่ะ เพราะเวลาไปซื้อของที่ศรีเมืองแม่จะเดินไปทั่วตลาด เลือกผักโน่นผักนี่ ต่อราคาจ่ายเงินแล้วก็กองๆ ไว้หน้าแผง พอได้ของครบพอใจแล้วก็เรียกให้คนรับจ้างเข็น เอารถเข็นไปรับของตามแผงแล้วก็มาส่งที่รถ แล้วบางทีแม่ก็ลืมไปรับของไม่ครบ พอกลับมาถึงบ้าน อ้าว... ทำไมไม่มีถั่วฝักยาวกะสะเดาอ่ะ นึกๆๆๆ อ๋อ.... แม่ลืมหยิบมา แบบนี้จะไปเอากำไรตรงไหนเนี่ย

เวลามาขาย ก็ยังจะต้องรบกับคนงานอีก เพราะเวลาซื้อก็ไม่มีใครจ่ายเงินสด (ไม่ได้รับบัตรเครดิตนะ ไม่ต้องตกใจ) แต่เซ็นไว้ก่อน แล้ววันเงินเดือนออกโน่นแหละ ถึงจะคิดบัญชีกันที แล้วก็จะมีการโต้แย้งกันเป็นประจำว่า ไอ้นี่ฉันไม่ได้ซื้อ ไอ้นั่นฉันซื้อซื้อแค่สองขีด ไม่ใช่ครึ่งกิโล ฯลฯ ก็บางทีเขาซื้อแล้วจำไม่ได้ หรือบางทีให้ลูกให้เมียมาซื้อ หรือบางทีลูกมันมาซื้อแล้วก็ไม่บอก เราเห็นเรื่องจุกจิกแบบนี้ก็รำคาญ บอกว่าไม่ต้องขายแล้ว แต่ไม่ได้หรอก เพราะแม่ก็จะไม่มีอะไรทำ

นอกจากเรื่องคิดบัญชี ก็มีเรื่องของเหลือหรือซื้อมาแล้วขายไม่ได้ ก็ของบางอย่างซื้อมาน้อย มันแย่งกันจะตาย คนโน้นก็อยากได้ คนนี้ก็อยากได้ บอกว่า “อาม่า ทำไมไม่ซื้อมาเยอะๆ หน่อย” พอคราวต่อมาแม่ก็ซื้อมาซะเยอะเลย แต่มันดันไม่อยากได้กันแล้ว พอผ่านไปสองสามวัน ของที่ซื้อมาชักเหี่ยวแห้ง แม่ก็กลัวจะเสียของ เอาไปแจกฟรี แม่บอกว่า “พวกเอ็งเอาไปกินละกัน ดีกว่าปล่อยให้มันเน่าไปเฉยๆ” พอทีนี้บางคนมันก็หัวใส เห็นผักบางอย่างมีเยอะ ก็ไม่ยอมซื้อรอไปซักวันสองวัน เดี๋ยวอาม่าก็เอามาแจกฟรี

แม่บอกว่า พวกคนงานพวกนี้ไม่มีความคิดอะไรเลย ถ้าแม่ไม่ไปซื้อผักมาขาย ก็ต้องข้ามฝั่งไปซื้อที่ตลาดแม่กลองกัน ไหนจะค่ารถค่าเรือข้ามฟาก ไหนจะต้องซื้อของแพง ต้องจ่ายเงินสดก็ไม่เป็นไร ไม่มีเงินก็ไปกู้มาไง จ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ประมาณว่า ทำไปใช้ไปไม่ต้องประหยัดไม่คิดถึงอนาคต ในขณะที่แม่เราเงี้ย... ไม่ได้ลำบาก แต่บางทีก็ไม่วายประหยัดจนเกินเหตุ (มันติดเป็นนิสัย) อย่างเวลาไปซื้อผักเนี่ย ที่ตลาดมันก็ร้อนนะ ขนาดเป็นตลาดในร่ม แต่ก็ทำเอาเหงื่อแตกเหงื่อแตน แม่บอกว่า บางทีฉันเนี่ยหิ๊วหิวน้ำนะ แต่ก็ไม่ยอมซื้อน้ำอัดลมกาแฟเย็นถุงๆ ที่เขาขายหรอก ประหยัดอ่ะนะ

แต่บางทีเราเป็นคนขับรถพาแม่ไปศรีเมือง (แต่แม่ไม่ค่อยชอบไปกับเราหรอก เพราะรถเราขนของได้น้อย ถ้าไปกับคุณเสหรือติ เขาขับรถกระบะไปขนของได้เยอะดี) แม่จะให้เรารออยู่ที่รถ ว่า “แกไม่ต้องไปหรอกมันร้อน รอที่รถนี่แหละ” ส่วนใหญ่แม่เดินกลับมาก็เหงื่อโซม บางทีก็หิ้วถุงกาแฟเย็นมาด้วย แต่ซื้อมาให้เรานะ แม่เห็นว่ามันร้อนกลัวเราหิวน้ำ แต่ถ้าแม่ซื้อกินเองแม่จะไม่คอยซื้อ อดทนไปกินน้ำที่บ้านก็ได้

ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ทันได้นึกว่าแม่จะหิวน้ำ รู้แต่ว่าร้อน พอแม่ขึ้นรถเราก็จะเร่งแอร์ให้เฉยๆ แต่พอทีหลังแม่พูดเรื่องไม่ยอมซื้อน้ำกินเพราะเห็นว่าอดทนไปกินที่บ้านก็ได้ เราก็นึกว่าไม่เห็นต้องทน ทีหลังเราก็เลยใช้วิธีว่า ถ้าแม่ไม่ได้หิ้วถุงน้ำมาด้วย ก่อนจะกลับก็แวะซื้อน้ำ โดยไม่ถามว่าแม่จะซื้อน้ำกินหรือเปล่า เพราะถ้าถามแม่จะบอกว่า ถ้านิจจะกินก็ซื้อสิ ทั้งที่ในความเป็นจริงแม่ต้องหิวน้ำมากกว่าเราอยู่แล้ว แต่แม่กลับทนได้แล้วก็ไม่อยากให้ลูกทน สงสารลูก ทั้งๆ ที่มันก็แค่นั่งรออยู่ที่รถเฉยๆ คนเป็นแม่นี่แปลกเนอะ ตัวเองทนลำบากได้ แต่ทนให้ลูกลำบากไม่ได้อ่ะ (นี่คือ ความรักมหัศจรรย์ของแม่)