Flowers on the Road
ช่วงนี้ขับรถไปตามถนนนอกกรงุเทพฯ ค่อนข้างจะดูดี ตามถนนนพระราม ๒ หรือ ธนบุรีปากท่อ มีต้นไม้ที่เกาะกลางถนนตลอดสาย ส่วนช่วงจากแยกวังมะนาว (จุดที่พระราม ๒ เชื่อมกับเพชรเกษม) ไปทางใต้ก็จะมีต้นสักไปตลอดทาง ตอนนี้ต้นไม้พวกนี้เริ่มโตแล้วก็จะดูเขียวชอุ่ม หน้าร้อนๆ แบบนี้ ถ้าแอร์ในรถเย็นๆ ขับรถไปมองต้นไม้เขียวๆ ไป ก็สดชื่นดี

ช่วงเดือนมีนา เมษาก็เป็นช่วงที่ต้นไม้หลายอย่างออกดอก ที่เราชอบก็มีต้นคูน จะออกดอกสีเหลืองเป็นช่อๆ เต็มต้น แล้วที่เพิ่งสังเกตเห็นแล้วชอบเมื่อไม่นานนี้ก็คือ ต้นหางนกยูง ที่ออกดอกเป็นสีส้ม ที่ชอบ ๒ ต้นนี้มากเป็นพิเศษก็เพราะว่า เวลาออกดอกมันจะผลัดใบด้วย ทำให้ดอกยิ่งเด่นมากเป็นพิเศษ ช่วงไหนที่มีต้นคูนเยอะ ก็จะเห็นดอกเหลืองๆ พราวไปหมด ช่วงไหนมีต้นหางนกยูงเยอะ ก็เป็นสีส้มๆ เป็นแถบๆ สวยดี

เมื่อวันก่อนขับรถไปสุพรรณฯ กับเก๋ เราก็บอกว่า "ดูสิต้นหางนกยูงนี่ออกดอกสวยดี" เก๋กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ขึ้นมาทันที รีบบอกว่าที่เราเห็นเนี่ย เรียกว่า หางนกยูงฝรั่ง นอกจากสีส้มแล้วยังมีสีเหลืองด้วย ส่วนอีกแบบนึงเรียกว่าหางนกยูงไทย มีสีส้มกับสีเหลืองเหมือนกัน เราก็ "เหรอๆ แล้วหางนกยูงไทยเป็นยังไงล่ะ" เก๋ก็พยายามนิดนึงที่จะอธิบาย แล้วก็เปลี่ยนใจ บอกว่า ถ้าเจอแล้วจะชี้ให้ดู คงสังเกตได้ว่าเราตั้งใจจะกวนมากกว่าอยากรู้คำตอบจริงๆ

เราก็แซวแกมประชดต่อว่า ทำไมอยู่ๆ กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญพันธ์ไม้ได้ล่ะเนี่ย เก๋บอกว่าก็ดูเอาจากหนังสือรวบรวมพันธ์ไม้ที่บ้าน ความจริงเราก็เดาได้แล้วแหละ เพราะเห็นหนังสือนี้อยู่ในห้องน้ำอยู่พักนึง มีการติด post-it ตามหน้าต่างๆ คาดว่าเป็นการศึกษาเพื่อ เลือกต้นไม้สำหรับที่จะปลูกที่เรือนหอ (อิอิ แอบนินทา)

เมื่อวานเราไปเปิดหนังสือเล่มที่ว่าดู ก็เลยได้รู้ว่าต้นหางนกยูงไทยต่างจากหางนกยูงฝรั่งยังไง ข้อแตกต่างของมันก็คือ... อืม..ม.. เดี๋ยวเอาไว้เจอแล้วจะชี้ให้ดูดีกว่านะ... อิอิ ล้อเล่นน่ะ ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ หางนกยูงฝรั่งจะต้นใหญ่กว่า ก้านดอก ช่อดอกจะสั้นกว่า คือ ดูที่ดอกจะเหมือนเป็นพวงๆ ส่วนหางนกยูงไทยจะเป็นเหมือนช่อดอกไม้มากกว่า อืม.. ชักเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเก๋ละความพยายามที่จะอธิบายความแตกต่าง เฮ้อ... คงต้องใช้รูปประกอบซะแล้ว

๑. หางนกยูงไทย poi_pul_mids.JPG (11228 bytes) poi_pul_cus.JPG (9585 bytes)

๒. หางนกยูงฝรั่ง

๓. คูน

Pictures are borrowed from University of Hawii - Botanical Department by Gerald D. Carr ---Million Thanks!!! : )