Universal Language
วันก่อนเห็นป้ายที่ร้านอาหาร เป็นป้ายประมาณว่าได้มาจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอะไรทำนองนั้น คือ เขาต้องการจะรณรงค์ให้คนเข้าร้านอาหารที่รักษาความสะอาด ซึ่งร้านที่มีความสะอาดได้มาตรฐานก็จะมีป้ายแบบนี้มาติดที่ร้าน ป้ายนี้จะมีรูปตัวการ์ตูนที่เป็นวงกลมหน้ายิ้ม ใส่หมวกพ่อครัวสีขาว มือถือช้อนกับส้อม และมีสโลแกนเขียนเป็นวงรอบๆ พ่อครัว ครึ่งวงกลมด้านล่างเป็นภาษาไทยเขียนว่า "อาหารสะอาด รสชาติอร่อย" ส่วนครึ่งด้านบนเป็นภาษาอังกฤษ เขียนว่า "Clean Food Good Taste" เรารู้สึกว่า สโลแกนภาษาอังกฤษอันเนี้ย มันไท๊ ไทย... ด้วย ๒ เหตุผล

เหตุผลแรกคือ มันมีสัมผัสคล้องจองกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคำขวัญไทยๆ ลองพูดประโยค Clean Food Good Taste เร็วๆ ดูสิ มันได้อารมณ์เดียวกับเวลาที่ท่องคำขวัญวันเด็ก (เด็กฉลาด ชาติเจริญ - เด็กดีมีวินัย ใฝ่พัฒนา) หรือ คำขวัญประจำจังหวัด (สุราษฎร์ธานี เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ) อะไรทำนองนั้น ความจริงภาษาอังกฤษมีการใช้สัมผัสคล้องจองเหมือนกัน แต่จะใช้ในบทกวีมากกว่า ไม่ใช่ในคำขวัญหรือป้ายประกาศแบบนี้ และลักษณะของการสัมผัสคล้องจองก็จะต่างจากในภาษาไทย

อีกเหตุผลนึง คือเราไม่คิดว่าฝรั่งจะใช้คำว่า clean กับสิ่งที่เกี่ยวกับอาหารการกิน หรือ สุขอนามัย รู้สึกว่าเขาจะใช้ประมาณคำว่า hygienic, healthy, sanitary อะไรประมาณนั้น ส่วนคำว่า clean น่ะ แปลว่า สะอาด ก็จริงแต่น่าจะใช้กับสิ่งของมากกว่า เช่น Nitchawan's car is very clean (false statement อิอิ) เรารู้สึกว่าคนที่เขียนสโลแกนภาษาอังกฤษแปลจากภาษาไทยไปตามตัวอักษรเป๊ะๆ มากกว่าที่จะถ่ายทอดความหมายไป ถามว่าฝรั่งเข้าใจไหม เราว่าก็คงเข้าใจนะ

พูดเรื่องนี้แล้วก็ทำให้นึกไปถึงภาษาอังกฤษที่เจอเมื่อวันก่อน ตอนที่เข้าไปลงทะเบียนที่ลาดกระบัง ที่เราต้องเดินขึ้นบันได ๑๑ ชั้นนั่นแหละ ตอนรอให้ไฟมา ก็เลยดูโน่นดูนี่ไปตามเรื่อง แล้วสายตาเหยี่ยวจอมจับผิดของเราก็ทำงานอีกแล้ว เราเห็นซุ้มแสดงผลงานการประดิษฐ์นักศึกษาหรืออะไรทำนองนั้น มันมีพวก หม้อ กระทะ ตะหลิว ทัพพี อุปกรณ์ทำครัวแขวนโชว์อยู่ แล้วก็มีป้ายใหญ่พอเห็นได้จากระยะ๑๐ เมตรที่เรายืนอยู่เขียนว่า "Machine Cooking" อืม… อ่านจบเราก็พยาย๊าม พยายามจะแปลประโยคนี้มากเลย แปลได้ความว่า "การปรุงอาหารของเครื่องมือ"

ความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมากกับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษโดยแปลจากภาษาไทยออกไป เนื่องจากโครงสร้างภาษาไทยต่างจากภาษาอังกฤษ ภาษาไทยแปลจากข้างหน้าไปข้างหลัง แต่ภาษาอังกฤษจะแปลจากหลังมาหน้า (อันนี้ในความคิดของเรา เราว่าวัฒธรรมมีส่วนด้วย คือ คนไทยไม่ค่อยมีการวางแผนล่วงหน้าที่ดี ถ้าต้องพูดประโยคที่แปลจากหลังมาหน้า นั่นคือคุณต้องวางแผนไว้คร่าวๆ ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มพูดแล้ว ว่าจะพูดอะไร แต่คนไทยทำไม่เป็น ถ้าให้ทำแบบนั้น ก็พูดไปแก้ไปตลอดเวลา พูดไม่จบแน่ๆ เลย--หรือเปล่า??) ถามว่าพูดภาษาอังกฤษโดยใช้กฏเกณฑ์ของภาษาไทยฝรั่งจะเข้าใจไหม อาจจะไม่เข้าใจในทันที แต่ก็คงไม่เกินความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์

ความจริงก็ไม่ได้มีแต่คนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยถูกเพราะไปเอากฏเกณฑ์ของภาษาตัวเองมาเป็นหลัก และมันก็ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะกับภาษาอังกฤษ (ภาษาอังกฤษเผอิญแพร่หลายไปก่อนเท่านั้นเอง) ปรากกฏการณ์แบบนี้ (รวมทั้งการเอาภาษาต่างๆ ไปใช้ในวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วยความหมายเดิมหรือความหมายใหม่ก็ตาม) เป็นเรื่องของวิวัฒนาการของภาษาและการสื่อสาร เราเชื่อว่าต่อไปในอนาคต (แต่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนนะ) คนทั้งโลกจะใช้ภาษาเดียวกัน โดยเป็นภาษาที่เป็นมีลักษณะที่แตกต่างกันของหลายๆ ผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียว เราอาจจะสื่อสารกันด้วยคำที่สมัยนี้ว่าผิด หรือว่าแปลก แต่เข้าใจตรงกันหมด ซึ่งพอถึงวันนั้น พอพูดถึงคำว่า Machine Cooking ทุกคนก็อาจจะนึกถึงอุปกรณ์ทำครัวทันทีก็ได้ จะว่าไปแล้วตราบใดที่สื่อสารกันเข้าใจ จะใช้ภาษาไหนจะใช้ผิดใช้ถูกก็คงไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะที่ว่าผิดๆ ถ้าทุกคนยอมรับก็กลายเป็นถูกไปในที่สุดอยู่ดี