Palindrome & Foreigner

Palindrome (n.) A word or phrase that reads the same backward as forward.
พี่หนึ่งเป็นคนพูดถึง (ที่จริง "พิมพ์" ตะหาก) คำๆ นี้ขึ้นมาในระหว่างที่เราคุยกันทาง ICQ เป็นคำที่เราไม่รู้จักมาก่อน ก็แปลอย่างคำนิยามข้างบนที่เราลอกมาจาก WordWeb Dictionary น่ะแหละ คือ คำที่อ่านจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้า ได้ความหมายเหมือนกัน เราไปค้นในต่อ Dictionary คู่ใจ (Cambridge International Dictionary of English ใครที่มองหา Dictionary ดีๆ ขอแนะนำเล่มนี้เลย ดีมากๆ มีทั้งคำอธิบายและตัวอย่างการใช้) เขายกตัวอย่างของ palindrome ให้ฟัง มีคำว่า refer level แต่ที่เท่มากคือ "Straw? NO, too stupid a fad. I put soot on warts" ก็เป็น palindrome ด้วย ไม่เชื่อลองค่อยๆ ไล่อ่านจากข้างหลังไปโดยเปลี่ยนการเว้นวรรคเล็กน้อย ก็จะได้ประโยคเหมือนเดิมเป๊ะ… เจ๋งมะ? :-)

ก็แปลกดีที่ภาษาอังกฤษมีคำเฉพาะสำหรับคำแบบนั้น เราว่าภาษาไทยไม่มีคำเฉพาะที่ใช้เรียก palindrome แน่ๆ เลย (เหมือนอย่างที่ภาษาอังฤษไม่มี "คำผวน") แต่ลองมานึกว่าในภาษาไทยมี palindrome ไหม? ปรากฏว่ามีเพียบเลย โดยเฉพาะคำพยางค์เดียว อย่างเช่น นอน (คำนี้เราชอบมาก) ดอด กนก (เอ๊ะ กนก มัน ๒ พยางค์ตะหากเนอะ) แต่ถ้าเป็นคำยาวๆ หรือเป็นประโยคคงหายาก เอ๊ะ น่าจะมีการประกวดให้คนคิด palindrome ที่ยาวที่สุดในภาษาไทยดู เราจะลองไปคิดๆ ดู ใครคิดอะไรได้มาบอกๆ กันมั่งก็ดีนะ

อ้อ ย้อนกลับไปที่ คำผวน นิดนึง เราไม่แน่ใจว่า ภาษาอังกฤษจะมีคำผวนอย่างที่ภาษาไทยมีหรือเปล่า เพราะลักษณะของการใช้ภาษาไม่เหมือนกัน จะลองพยายามถามนาย หรือเพื่อนๆ ชาวต่างชาติดูว่า มีหรือเปล่า แต่เราเคยมีประสบการณ์ที่อันนึงที่เหมือนกับจะทำให้คิดว่าฝรั่งก็อาจะมีคำผวนเหมือนกัน เรื่องนี้มันเกิดขึ้นอาจเป็นเพราะความรีบพูดน่ะนะ คือที่บริษัทเรา เขามีโครงการอยู่อันนึง ใช้สำหรับการประเมินผลและวางแผนจัดการเกี่ยวกับอนาคตในหน้าที่การงานของพนักงาน เขาเรียกโครงการนี้ว่า PeopleFirst คือประมาณจะคุยโม้ หลอกให้พนักงานตายใจว่า Management เอาใจพนักงาน พนักงานต้องมาก่อน แต่พวกเราก็รู้กันดีว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว People (หรืออีกนัยหนึ่งคือพนักงานระดับต๊อกต๋อยอย่างเรา) น่ะมักจะ Last เสมอ Management ตะหากที่ First

อ้าว… ออกนอกเรื่องไปอีกแล้ว กลับมาเรื่องเดิมก่อน ทีนี้มีอยู่ครั้งนึงเราคุยกับเพื่อนร่วมงานฝรั่งเรื่อง PeopleFirst เขาก็พูด PeopleFirst ๆ อยู่ดีๆ พอชักรีบๆ พูดเข้า เขาพูดออกมาว่า "Purple Feet" เราได้ยินปั๊บก็ขำ เฮ้ย ฝรั่งมีคำผวนเหมือนกันแฮะ ตอนแรกเขาก็ไม่รู้ตัวหรอกนะว่าพูดว่า Purple Feet พอเขารู้ตัวก็ขำตัวเองที่พูดผิด

มีฝรั่งที่มาทำงานที่เมืองไทย เขามาคุยกับเราว่า เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย เขาบอกว่า คำว่า "ฝรั่ง" ที่คนไทยใช้เรียก "ฝรั่ง" มันเป็นคำที่เรียกเพี้ยนมาจาก Foreigner เราก็บอกว่าถ้าในสมัยก่อนมันก็คงใช่หรอก แต่ถ้าในสมัยนี้ ความหมายจริงๆ ที่คนไทยใช้กัน ฝรั่ง ไม่ได้แปลว่า Foreigner (ชาวต่างชาติ) หรอกนะ น่าจะแปลว่า Caucasian (คนผิวขาว) มากกว่า เพราะไม่เห็นมีใครเรียกคนผิวดำ คนจีน คนญี่ปุ่น ฯลฯ (ซึ่งเป็น Foreigner ในเมืองไทย) ว่า ฝรั่ง ซักที ในขณะเดียวกัน ถึงแม้มีคนผิวขาวที่เกิดเมืองไทย ถือสัญชาติไทย เราก็เรียกเขาว่า ฝรั่ง อยู่ดี เราพยายามจะอธิบายซะยาวยืด ฝรั่งคนที่มาคุยกับเราเขาก็ฟังๆ ไป (คงนึกในใจว่า ตอบยาวชะมัด ไม่น่ามาคุยกับมันเลย) แต่เลือกที่จะเชื่อตามหนังสือ (แทนที่จะเชื่อเจ้าของภาษาอย่างเรา สงสัยเราไม่มีเครดิตพอ) ว่ามันมาจากคำว่า Foreigner อยู่นั่นแหละ

พอตอนที่บริษัทส่งเราไปทำงานที่อเมริกา เราก็ได้ไปเจอฝรั่งคนนี้ที่โน่น เขาก็ทักทายถามทุกข์สุขเรา แล้วอยู่ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า "Now you are "Farang" here, like I was when I was in Thailand, you know?" เราเกือบจะเล็กเชอร์ เรื่องการใช้ภาษาไทยไปอีกรอบ แต่พอเห็นว่าเขาทำหน้ายิ้มๆ ก็เลยรู้ว่าเขาแกล้งแซวเรา

อ้อ ไหนๆ ว่าถึงคำว่า ฝรั่ง แล้ว เราว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า บางที ฝรั่ง เขาไม่ชอบให้เราเรียกเขาว่า ฝรั่ง เขารู้สึกว่ามันเหมือนออกไปในแนวเป็นการดูถูก ไม่เชิงดูถูกสิ มันเหมือนเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติชนชั้น มัน polically incorrect น่ะ ไม่รู้จะอธิบายยังไง เราอยากจะบอกว่า เขาเข้าใจผิดแล้ว ที่จริงคนไทยบูชาฝรั่งจะตายไป แล้วถ้าไม่ให้เรียกว่า ฝรั่งจะให้เรียกว่าอะไร (ฟะ) "ชาวต่างชาติที่เป็นคนผิวขาว" เหรอ? นั่นยิ่งแบ่งแยกเชื้อชาติชนชั้นกันไปใหญ่ เฮ้อ… ภาษาหนอ ภาษา!!