2001 = Two Zero Zero One
เรารู้สึกว่าคนในสื่อมวลชนเดี๋ยวนี้เขาใช้ภาษากันแปลกๆ ได้ยินข่าวเรื่องการจับกุมพวกลักลอบขายสินค้าทางเพศทางไปรษณีย์ (วิดีโอโป๊ และอุปกรณ์ต่างๆ) เขาบอกว่า บางที่มีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศด้วย อืมม… ต้องเสริมให้สมรรถนะดีขนาดไหนล่ะ เขาเรียกว่า “สมรรถภาพ” ทางเพศ จ้ะ ไม่ใช่ “สมรรถนะ” ทางเพศ แหม… นี่พูดถึงคนนะ ไม่ใช่รถยนต์

ว่าเรื่องภาษาทางสื่อมวลชนแล้ว ก็ต้องว่าต่อเรื่อง การอ่านคำต่างๆ ความที่ช่วงนี้เป็นยุค Millennium ตัวเลข ค.ศ. ก็เลยมาแรง เวลาตั้งชื่องานอะไร ก็จะเป็น ๒๐๐๐–๒๐๐๑ กัน แทนที่จะเป็น ๒๕๔๓–๒๕๔๔ ทีนี้เจ้าตัวเลข ๒๐๐๑ เนี่ยมันเป็นปัญหา ความจริงต้องบอกว่าตัวเลข ๐๑ เป็นตัวปัญหาถึงจะถูก ตามหลักภาษาไทย ตัวเลข ๑ ที่ลงท้ายหลักอื่นที่ไม่ใช่หลักหน่วย เขาให้อ่านว่า “เอ็ด” เช่น ๑๑ อ่าน สิบเอ็ด ซึ่งอันนี้ใครๆ ก็รู้และใช้ตรงกัน คงไม่มีใครอ่าน ๑๑ ว่า สิบหนึ่ง ยกเว้นพวกทหาร แต่อันนั้นเขาเอาไว้ป้องกันความสับสนระหว่าง หนึ่ง (เอ็ด) กับเจ็ด อันนี้เหมือนกับที่เราเรียกเลข ๒ ของเบอร์โทรศัพท์ ที่เรียกเป็น “โท” แทน เพราะอาจจะสับสนกับ “สาม” เราสงสัยว่า ทำไม “สอง” ต้องเป็นฝ่ายเสียสละ ไปถูกอ่านเป็นภาษาแขก (บาลีสันสกฤต) ทำไมไม่เป็น “สาม” ที่ต้องถูกเปลี่ยนไปเรียก “ตรี” หรือ “ไตร” ล่ะ (คิดแปลกๆ อีกแล้วเนอะ)

อ้าว นอกเรื่องไปอีกแล้ว กลับมาที่เลข ๐๑ ดีกว่า เลขหลักร้อย เช่น ๑๐๑ ต้องอ่านว่า หนึ่งร้อยเอ็ด อันนี้คนที่มาจากร้อยเอ็ดน่าจะคุ้นเคย ส่วนคนจังหวัดอื่นบางทีไม่ทันนึก คิดว่า คำว่า ร้อยเอ็ด แปลว่า จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ (หา.. อะไรนะ.. อ๋อ ร้อยเอ็ดอยู่ภาคอีสานเหรอ… โอเคๆ เผอิญเราคุ้นแต่แอลเอน่ะ โฮะๆๆ) ก็เลยอ่าน ๑๐๑ ว่า “หนึ่งร้อยหนึ่ง” หรือ “ร้อยหนึ่ง” กันบ่อยๆ ส่วนหลักพัน อย่าง ๒๐๐๑ เรามักจะอ่านว่า “สองพันหนึ่ง” (คิดว่าคนทั่วๆ ไปก็น่าจะอ่านเหมือนเรา) แต่ที่ถูกตามหลักภาษา เขาต้องอ่านว่า “สองพันเอ็ด” เราคิดว่า จำนวนที่ใหญ่ขึ้นไป ก็ต้องอ่านทำนองเดียวกัน คือ หนึ่งหมื่นเอ็ด (๑๐,๐๐๑) หนึ่งแสนเอ็ด (๑๐๐,๐๐๑) หนึ่งล้านเอ็ด (๑,๐๐๐,๐๐๑) ฟังแล้วแปลกๆ ดีชะมัด

เราได้เห็นตามบทความในนิตยสาร ที่มีการวิจารณ์การอ่านข่าวของนักข่าวตามโทรทัศน์หรือวิทยุ เขาจะเอ็ดนักข่าวเรื่องไม่ยอมอ่านเอ็ดนี่บ่อยมาก (เอ็ด แรกหมายถึง ว่ากล่าว ตำหนิ เอ็ด หลัง หมายถึง จำนวน ๑ นะ อย่าสับสน) เพราะคนอ่านข่าวมักจะไปอ่านตามที่คนส่วนใหญ่เคยชินแทนที่จะอ่านตามหลักภาษา แต่เราฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกผิดประหลาดอะไร เราว่ามันฟังรื่นหูกว่าด้วย (พันเอ็ด หมื่นเอ็ด แสนเอ็ด จะเอ็ดกันไปถึงไหน) คนทั่วๆ ไปก็คงคิดเหมือนกัน ก็ดูง่ายๆ อย่างเพื่อนเรา มีบ้านอยู่ซอยสุขุมวิท ๑๐๑ ไม่เห็นเคยเรียกว่า ซอยร้อยเอ็ดซักที บอกว่าอยู่ ซอยร้อยหนึ่ง ตลอด จะมียกเว้นคือ บางทีเพื่อนๆ จะแซวว่า อ๋อ บ้านอยู่ร้อยเอ็ดละซี แต่นั่นเป็นกรณียกเว้น ส่วน ๒๐๐๑ นี่แทบไม่ต้องพูดถึงเลย แทบจะร้อยละร้อยเวลาพูดจะบอกว่า สองพันหนึ่ง

ความจริงจะว่าไป เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า ถ้าคนที่เขียนเขาตำหนิเพราะเขาฟังแล้วขัดหู ก็น่าจะตำหนิ (เช่น ถ้ามีคนอ่านข่าว มาอ่านว่า บ้านเลขที่สิบหนึ่ง ถนนงามวงศ์วาน หรือ วันที่สิบหนึ่ง กันยายน เราก็คงอยากจะว่าเขาเหมือนกันว่าอ่านอะไรแบบนั้น ผิดปกติ) แต่หนึ่งร้อยหนึ่ง หรือ สองพันหนึ่ง ไม่รู้สึกว่าขัดหู เราก็เลยมาคิดว่า ในกรณีนี้ ทำไมไม่อนุโลมว่า ให้อ่านได้ทั้ง ๒ แบบ ความจริงคำภาษาไทยก็มีหลายๆ คำ ที่คำอ่านที่ถูก คนไม่นิยม ตอนหลังก็อนุโลมให้คำอ่านที่คนนิยม (ซึ่งตอนแรกถือว่าผิดหลักภาษา) กลายเป็นการอ่านที่ถูกต้อง ก็อย่างที่ ปิยธิดาเคยพูดเอาไว้ ตราบใดที่ภาษามันยังไม่ตาย ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ