Time is changing...

คงจะไม่ช้าเกินไปที่จะเขียนถึงเรื่อง การเปลี่ยนเวลา เมื่อสองอาทิตย์ก่อนมีข่าวออกมาว่า ท่านนายกฯ จอมโปรเจคท์ ของเราได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ไปศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนเวลามาตรฐานของประเทศไทย จากเดิมที่เร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนนิช ๗ ชั่วโมง เป็น ๘ ชั่วโมง เท่ากับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ตามข่าวเขาพูดถึงความหวังในการดึงนักลงทุนจากทางตะวันตกให้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดหุ้นของไทยแทนที่จะไปซื้อขายกันในตลาดหุ้นฮ่องกงหรือสิงคโปร์ เพราะเวลาที่ตลาดทางตะวันตกปิดทำการ นักลงทุนจะย้ายมาซื้อขายกันทางภูมิภาคนี้ แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นของไทยเปิดช้ากว่าเพื่อนบ้าน ๑ ชั่วโมง เขาจึงไปลงทุนกันที่อื่นก่อน

ตอนที่เราได้ยินคำว่า เปลี่ยนเวลาให้เร็วขึ้นไปเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน เรารู้สึกว่าดี เพราะเคยมีคนเล่าให้ฟังว่า ที่ชายแดนไทยมาเลเซีย การที่เวลาไม่เท่ากันสร้างปัญหาให้กับคนที่เดินทางผ่านแดนพอสมควร เพราะต้องเสียเวลารอ และบางครั้งมีคนตกค้างที่ด่าน เพราะเวลาปิดเปิดไม่ตรงกัน เรารู้สึกว่าถ้าเวลาตรงกัน ปัญหาตรงนี้จะหมดไป นอกจากนี้ เราคิดว่าเวลาที่ต้องเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ ก็จะสะดวกดีเหมือนกันถ้าไม่ต้องมาคอยเปลี่ยนเวลากลับไปกลับมา และบริษัทที่ต้องมีการติดต่อธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะสะดวกในการนัดหมายขึ้น เพราะไม่ต้องมาคอยนับเวลาเดินหน้าถอยหลัง อีกอย่างหนึ่ง คือ อาจเป็นเพราะเราเคยใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่มีการเปลี่ยนเวลาเดินหน้าถอยหลังมาบ้างแล้ว เราก็เลยรู้ว่า การเปลี่ยนเวลามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เวลาบนหน้าปัดนาฬิกาเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น ถ้าตกลงได้ตรงกัน ก็ไม่มีปัญหา แต่เราคิดว่าจะต้องมีคนออกมาค้านและไม่เห็นด้วยแน่ๆ เพราะการพูดเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการเสนอข้อดีที่ผิดประเด็น เราคิดว่า คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งเราด้วย) มักคิดว่า การได้ประโยชน์จากตลาดหุ้นเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย การยกประเด็นนี้ขึ้นมาก่อน เสี่ยงต่อการถูกต่อต้านอย่างมาก

แล้วเราก็เดาไม่ผิด มีคนออกมาว่ากันเยอะจริงๆ เราฟังรายการวิทยุที่ให้คนโทรศัพท์มาแสดงความเห็น มีคนหนึ่งพูดว่า ทำไมเราจะต้องเปลี่ยนเวลาไปตามประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง ๕ ล้านคน หรือประเทศที่แม้แต่เอกราชของตัวเองก็รักษาไว้ไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่รักษาเอกราชไว้ได้ เราก็ควรจะเป็นประเทศที่มีเอกราชและเอกลักษณ์ต่อไป ฟังแล้วอึ้งไปเลย ทำไมถึงเป็นคนที่รักชาติได้อีเดียตแบบนี้ ถ้าเขาเอาข้อเสียของการเปลี่ยนเวลามาพูดเราจะไม่ว่าอะไรเลย แบบนี้มันไม่ใช่การรักชาติหรือภูมิใจในชาติ แต่เป็นความหลงชาติและเบาปัญญา แถมมีคนที่ไปไกลว่านั้น เขาบอกว่า ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนเวลาจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุน เขาท้าว่า ถ้ามันจะมีผลดีจริง ทำไม่เปลี่ยนไปใช้เวลาเท่ากับนิวยอร์คไปเลยล่ะ ดูซิว่า ประเทศไทยจะเศรษฐกิจดีเหมือนอเมริกาไหม อีกแล้ว… ฟังแล้วก็ต้องอึ้งอีกรอบ คนหลายๆ คนในประเทศนี้เป็นแบบนี้จริงๆ เวลาจะค้านอะไร ก็สักแต่ว่า ข้าจะค้าน ข้าจะขวางเขาไป ไม่ต้องสนใจว่าเหตุผลมันคืออะไร เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก แล้วก็พูดให้มันสะใจไว้ก่อน

นอกจากนี้ยังมีคนออกมาพูดในประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนเวลาเป็นการทำให้ผิดธรรมชาติ อาจมีผลต่อสุขภาพ คือ ปกติเที่ยงวัน พระอาทิตย์ก็ต้องตรงศีรษะ แต่ถ้าเปลี่ยนไปเร็วขึ้น ๑ ชั่วโมง ก็กลายเป็นพระอาทิตย์ตรงศีรษะตอนบ่ายโมง อันนี้อาจารย์ระวี ภาวิไล ท่านให้ความเห็นไว้ดีมาก (เก๋เป็นคนดูโทรทัศน์แล้วเอามาเล่าให้เราฟัง) ท่านบอกว่า ที่จริงแล้วชีวิตของคนเราเดี๋ยวนี้ ขึ้นอยู่กับเวลาตามนาฬิกามากกว่าเวลาตามธรรมชาติ คนส่วนใหญ่อยู่ในตึก อยู่กับแสงไฟฟ้ามากกว่าแสงอาทิตย์ การเปลี่ยนเวลาไปสัก ๑ ชั่วโมง แทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะร่างกายเรามีการปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศได้อยู่แล้ว แล้วท่านยังพูดอีกว่า ถ้ามันมีผลต่อสุขภาพจริง คนฮ่องกงสิงค์โปร์มาเลเซีย เขาไม่สุขภาพเสื่อมโทรมกันหมดหรือ คนไทยปัจจุบันนี้มีสุขภาพดีกว่าเขาอย่างนั้นหรือ ขนาดท่านระวีอธิบายขนาดนี้แล้ว ก็ยังไม่เข้าใจ ยังคงยืนยัน (แสดงความเบาปัญญาต่อไป) ว่า มันผิดธรรมชาติ มันผิดธรรมชาติ มันผิดธรรมชาติ อย่างนี้เขาเรียก ดื้อตาใส

แต่มีคนพูดถึงประเด็นนึงที่น่าสนใจ ว่าประเทศเรามีการดูฤกษ์และเลขผานาทีในการตั้งเมือง การจะเปลี่ยนเวลาอาจมีผลต่อดวงเมืองได้ อันนี้เป็นประเด็นที่เราไม่ได้นึกถึงมาก่อน ปกติเราไม่ค่อยเชื่อพวกไสยศาสตร์ แต่พิธีกรรมต่างๆ ของโบราณเกี่ยวกับพวกดวงเมือง โหราศาสตร์ เราคิดว่าไม่ใช่สิ่งงมงายเสียทีเดียว และถึงไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่ เราคิดว่าถ้ามีโหรมาดูแล้วทักว่า ไม่ดี ไม่ควรเปลี่ยน ก็อาจจะต้องเชื่อ แต่เท่าที่ฟังๆ ข่าวดูก็ไม่เห็นมีโหรออกมาทักว่าอะไร

สวนดุสิตได้ทำโพลเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาด้วย ปรากฎว่า คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเวลา เหตุผลที่ยกมาคือ จะเกิดความสับสน ส่วนคนที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า ถ้าเวลาเร็วขึ้น จะได้มีเวลาทำหลังเลิกงานเยอะ ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ฟังแบบนี้แล้วรู้เลย ว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า การเปลี่ยนเวลาคืออะไร เขาไม่เข้าใจว่า การเปลี่ยนเวลา มันจะมีผลแค่วันที่เปลี่ยนเพียงวันเดียว คือ พอเราหมุนนาฬิกาไปข้างหน้า ๑ ชั่วโมงแล้วก็จบกัน ต่อจากนั้นเวลามันก็เหมือนเดิม การที่เขาว่าจะได้มีเวลาหลังเลิกงานมากขึ้นมันคือการเปลี่ยนเวลาทำงานมากกว่า (เช่นเปลี่ยนเป็น ทำงาน ๗ โมงเช้า เลิก ๔ โมงเย็น) ไม่ใช่เปลี่ยนเวลามาตรฐานของประเทศ สรุปว่า ผลของโพลที่บอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จริงๆ แล้วก็ยังบอกอะไรไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอ

ความจริงที่เขียนมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะเชียร์ให้เปลี่ยนเวลาหรืออะไร เพียงแต่เราอยากจะให้มีการศึกษาถึงผลดีผลเสียให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจมากกว่า อย่างมีบางคนเสนอว่า ถ้าอยากให้มีนักลงทุนมาลงทุน ก็เปิดตลาดหุ้นให้เร็วขึ้นสิ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนเวลาเลย ถ้านั่นเป็นประโยชน์อย่างเดียวที่เราจะได้จากการเปลี่ยนเวลา เราก็เห็นด้วยว่าเปลี่ยนเวลาทำการของตลาดหุ้นดีกว่าเปลี่ยนเวลามาตรฐานของประเทศ แต่ถ้ามีผลประโยชน์อื่นๆ เราก็อยากให้แสดงออกมาให้เห็นชัด ประเมินออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงินได้เลยยิ่งดี และเปรียบเทียบให้เห็นกันจะๆ ไปเลยว่ามันคุ้มกันหรือไม่กับสิ่งที่เราต้องลงทุนไป

ตอนแรกๆ เราก็คิดว่า แค่ผลดีอย่างความสะดวกในการเดินทางหรือติดต่อสื่อสาร ก็คุ้มค่าพอแล้ว และยิ่งถ้าได้ดึงดูดนักลงทุนเป็นของแถมยิ่งดีใหญ่ แต่พอมานึกดูดีๆ การเปลี่ยนเวลา มันไม่ใช่แค่ว่า เราหมุนนาฬิกาไปข้างหน้า ๑ ชั่วโมงก็เรียบร้อย มันมีการลงทุนที่มากกว่านั้น อย่างน้อยที่สุดเราต้องมีการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้ทุกคนรับรู้ตรงกัน นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ (เช่น ธนาคาร สายการบิน กรมอุตุนิยมวิทยา ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ) อาจต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ หรือต้องมีการประสานงานมากมาย เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้ตามปกติ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่แน่ใจว่า ค่าใช้จ่ายมันจะออกมา มากน้อยแค่ไหน อาจจะเยอะมากๆ หรืออาจจะมีผลไม่มากก็ได้ เราคิดว่าต้องศึกษากันให้รอบคอบ

ตามข่าวเขาบอกว่า ควรจะมีรายงานสรุปผลการศึกษาออกมาในเดือนสิงหาคม ก็อีกไม่กี่วันนี้แล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า รายงานที่ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร และคนที่ตัดสินใจจะตัดสินใจอย่างไร เราก็รู้สึกว่าบ้านนี้เมืองนี้ คนที่มีอำนาจตัดสินใจบางทีก็พึ่งพาไม่ได้ เพราะมีอคติ ใจแคบ และไม่รู้จริง ไม่ได้ใช้สติปัญญาในการตัดสินปัญหา แต่ชอบที่จะดันทุรังเอาชนะคะคานแบบโง่ๆ นับว่าเป็นเวรกรรมและความซวยซ้ำซากของคนไทยจริงๆ