Internet Veteran

วันก่อนคุยกับปิยธิดา เธอก็พูดขึ้นมาว่าในบรรดาคนที่เขียนไดอะรี่บนอินเตอร์เน็ตเนี่ย ท่าทางพวกเราคงจะเจริญวัยที่สุด (โปรแกรมกรองคำแสลงทำงาน ทำให้ต้องเลี่ยงคำว่า “แก่” อ่ะนะ) จากที่เรามองๆ ดูรอบๆ ตัวก็น่าจะเป็นความจริง (ที่ไม่ค่อยอยากจะยอมรับเท่าไหร่) แต่เราก็บอกปิไป (พร้อมกับปลอบใจตัวเองไป) ว่าที่จริงแล้วการไม่ค่อยมีคนอายุมากกว่าเราในแวดวงไซเบอร์ไดอะรี่ ไม่ได้เป็นเพราะเราแก่ แต่เป็นเพราะว่า คนอายุประมาณเรานั้นถือเป็นแนวหน้า เป็นคนยุคแรกยุคบุกเบิกของการใช้อินเตอร์เน็ต คนที่อายุมากกว่านั้นก็เป็นคนที่เกิดก่อนอินเตอร์เน็ต

First Experience with Computer

ตอนสมัยที่เราเรียนปริญญาตรี เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าบันเทิงหรือจำเป็นกับชีวิตมากนัก หน้าจอดำๆ ตัวหนังสือเขียวๆ ไม่เห็นจะทำอะไรได้ เวลาเราจะสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ ก็ด้วยการพิมพ์คำสั่งที่เป็นเหมือนภาษามนุษย์ต่างดาวที่ DOS Prompt (บางคนอาจจะยังคงพอจำคำสั่งประเภท dir a: หรือ copy *.* a: b: กันได้) เวลาที่เราพิมพ์อะไรที่เราพอจะเข้าใจเข้าไป เครื่องมันก็มักจะไม่เข้าใจเรา แล้วก็ตอบกลับมาซ้ำๆ ซากๆ ว่า “bad command or file name” เมาส์เมิ้วอะไรนี่ไม่รู้จัก Graphic User Interface เป็นยังไงนึกไม่ออก

มีเพื่อนคนหนึ่งเขาต้องทำการบ้านวิชาคอมพิวเตอร์ส่งอาจารย์ แล้วทำไม่ได้ ก็มาขอให้พี่คนหนึ่งซึ่งเรียนภาคคอมฯช่วย ก็ไปบอกพี่แกว่า “มันขึ้นว่าอะไร แบดๆ เนี่ยแหละ” พี่แกก็ถามกลับไปว่า “อ๋อ... Bad Commander or ฟายเนม ใช่ไหม” เจ้าเพื่อนเราก็พาซื่อ บอกว่า “เออๆ ใช่แล้วพี่ ใช่เลย จะทำยังไงถึงจะหายอ่ะ”

เครื่องคอมพิวเตอร์ในปี ๒๕๓๖-๓๗ จะมีประโยชน์กับเราก็แค่การใช้พิมพ์งาน (ใครจำจุฬาเวิร์ด กับ ราชวิถีเวิร์ด ได้ ยกมือขึ้น) กับเล่นเกม (รู้สึกจะเป็นประมาณแพ็คแมน กับอีกเกมหนึ่งที่ฮิตมากในหมู่เด็กภาคคอม ที่เราไม่เคยเล่นเลย คือเกมสามก๊ก ตอนนี้ไม่รู้ว่าล้มหายตายจากไปไหนแล้ว) เกินจากนี้ไปก็นึกไม่ออกว่าจะเอามันไปทำอะไรได้

First Generation E-mail

พอตอนที่เราไปเรียนที่ Sheffield ช่วงปี 1993 นับเป็นยุคเริ่มของอินเตอร์เน็ต สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกต้องใจกับอินเตอร์เน็ตในตอนนั้นก็คือ... อี-เมล์!!! เรามีอีเมล์ เป็นครั้งแรก และสามารถส่งอีเมล์คุยกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในมหาลัยเดียวกัน ต่างมหาลัย ต่างเมือง หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ แต่แน่นอนว่าสมัยโน้นคนที่เรารู้จักในประเทศไทยยังมีไม่กี่คนที่สามารถจะมี E-mail Account ได้ เพื่อนที่เราคุยด้วยก็เลยเป็น เพื่อนที่เรียนอยู่ต่างประเทศกันซะเป็นส่วนใหญ่

โปรแกรมที่ใช้อ่านอีเมล์ตอนนั้นก็คือ Pegasus Mail ซึ่งเป็น Text-Based ที่มีเมนูให้เลือก (โดยใช้การ Tab ไปหาคำสั่งที่ต้องการทำหรือพิมพ์คำสั่งย่อๆ อย่าง N สำหรับ New Message หรือ S สำหรับ Send) แค่นี้เรารู้สึกว่า โก้มากๆ แล้ว เพราะอีกโปรแกรมหนึ่งที่ใช้อ่านเมล์รู้สึกจะชื่อว่า Pine อันนั้นเป็น Text ล้วนๆ จะทำอะไร ใช้พิมพ์คำสั่งที่ Command Prompt ตลอด ขนาดไม่ User Friendly ขนาดนั้น ก็ทำเอาเราเป็น E-Mail Addicted ทุกวันต้องคอยเช็คอีเมล์ว่ามีใครส่งจดหมายอีเล็คทรอนิคมาคุยกันบ้าง

WWW, Internet, and Web Browser

ปีต่อมาปี 1994 เราย้ายมาเรียนที่ Warwick เราได้ทำความรู้จักกับ Browser ที่เป็น Graphic และ World Wide Web เป็นครั้งแรก ความจริง Browser ตัวแรกที่เราเคยเห็นเขาเรียกว่า Lynx เป็น Text-Based Browser ซึ่งใช้ลำบากลำบน การท่องเว็บไม่ได้อยู่ที่ปลายเมาส์คลิกอย่างทุกวันนี้ เพราะแต่ละเว็บเพจจะมีแต่ตัวอักษร การจะ Navigate ไปบนแต่ละหน้าก็ใช้แค่ลูกศรซ้ายขวาขึ้นลงหรือกด Tab ไป ตรงไหนที่เป็นลิงค์ (ที่ปัจจุบันเราสามารถใช้เมาส์คลิกไปที่อื่นได้) จะเป็นตัวหนังสือที่มีแรเงา เราก็เลื่อน Cursor ไปตรงนั้นแล้วก็กด Enter เราก็จะไปยังลิงค์นั้นได้ (มานึกๆ ดู Concept ของ เนี่ยออกจะใกล้เคียงกับการใช้ Internet ในโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนะ เราไม่เคยใช้จริงหรอก แต่เห็นแวบๆ รู้สึกว่ามันก็เป็น Text Based เหมือนกัน) ฟังดูแล้วมันไม่สะดวกเลยใช่ไหม ช่วงแรกเราก็เลยไม่ได้ติดใจอะไรกับแนวความคิดของ WWW ซักเท่าไหร่

แต่พอเราได้มาเจอกับ Mosaic ที่ Warwick (เราหลงอ่านว่า โมเสคๆ อยู่เป็นนาน... เพิ่งมาตาสว่างเอาเมื่อไม่นานนี้เอง เขาอ่านว่า โม-ซา-อิค จ้ะ >>แก้ไข>> คุยกับหน่อง หน่องบอกว่ารุ่นพี่หน่องอ่านว่า โม-เส-อิค ชักเอะใจ เลยไปเปิดดิกชันนารีดู อ้าว...คำตรงกลางต้องเป็นเสียงสระเอจริงๆ แฮะ แต่ถ้าจะให้ใกล้เคียงกับคำอ่านที่เขาเขียนจริงๆ ก็น่าจะเป็น โม-เซ-อิค มากกว่า คำนี้มันเป็นคำๆ เดียวกับกระเบื้องโมเสคที่เราเรียกกันนั่นหละนะ แสดงว่าเรียกผิดมาตลอด) ก็รู้สึกว่า อืมม์ ...อย่างนี้ค่อยน่าสนใจหน่อย เพราะหน้าตาการทำงานของ Mosaic ก็จะคล้ายๆ กับ Browser ปัจจุบันที่เราใช้ๆ กันนี่แหละ คือใช้เมาส์คลิกที่ลิงค์ เราใช้ Mosaic ได้ไม่นานก็หันมาหา Netscape Navigator ซึ่งมีใช้แพร่หลายมากกว่า Mosaic ที่รู้สึกว่าจะมีใช้กันมากเฉพาะในวงการศึกษา

แต่ช่วงนั้นการท่องเว็บก็มีข้อจำกัดเยอะ การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คยังไม่แพร่หลาย บางทีจะไปบางเว็บไซต์ก็ไปไม่ได้ เพราะไม่ต่อกัน แถมยังไม่มี Search Engine เราจะต้องรู้ URL ถูกเป๊ะทุกตัวอักษร พิมพ์ URL ไปแล้วหาเพจไม่เจอนี่เป็นเรื่องปกติ คนที่จะท่องเว็บต้องมีความมานะพยายามเสาะหา URL กันมาก เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะเป็นของมหาวิทยาลัย Content ก็ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาน่าบันเทิง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียน งานวิจัยซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงขนาดนั้นเราเริ่มหันมาติด Internet เพิ่มอีกอย่าง (โรค Net Addict ที่เริ่มๆ จะมาฮิตๆ กันไม่กี่ปีนี้ นิจวรรณเคยเป็นมาก่อนแล้ว ตั้งกะปู้นโน้น...แถมผ่านมาจะสิบปีแล้วก็ยังรักษาไม่หายด้วย สงสัยต้องไปเลิกที่ถ้ำกระบอก)

สมัยนั้นเวลาหาเว็บไซต์ที่มีอะไรบันเทิงๆ ให้อ่านเจอซักแห่ง ก็ตื่นตาตื่นใจเวียนวนเข้าไปอ่านซ้ำอยู่นั่นแล้ว มีเว็บหนึ่งที่เราเจอตอนโน้นแล้วรู้สึกว่าเจ๋ง ก็คือ Internet Movie Database (IMDB) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ University of Cardiff ปัจจุบันกลายเป็นเว็บ Commercial มีการขายเข้าตลาดหุ้นและย้ายไป Host ที่อเมริกาไปแล้ว แต่ข้อมูลยังแน่นเหมือนเดิม (แถมมีคนเอาไปทำงานวิจัยต่อเหมือนกันนะ ก็อย่างงานวิจัยเรื่อง The Oracle of Bacon ที่เราเคยเล่าให้ฟัง ก็ใช้ Database ของ IMDB เหมือนกัน)

Internet Today

พอเรากลับมาเมืองไทยปลายปี 1995 ช่วงแรกๆ อึดอัดเล็กน้อยกับการไม่สามารถใช้อีเมล์ได้บ่อยเท่าที่เคย เราจำได้ว่าเก๋ (พี่สาว) มี Account ของ Inet อยู่ ก็พยายามต่อโมเด็มเข้าไปเช็คเมล์บ้างเป็นครั้งเป็นคราว พร้อมกับความหวาดใจว่าเราคงหลุดไปจากวงโคจรของ Internet แต่โชคดี (หรือโชคร้ายกันแน่) ที่เราได้งานที่บริษัทที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตค่อนข้างแพร่หลาย รู้สึกจะเป็นบริษัทวิศกรที่ปรึกษาไม่กี่แห่งที่เรารู้จักที่มีคอมพิวเตอร์ให้กับพนักงานแต่ละคน ไม่ต้องมีการแชร์เครื่องกันใช้ มีอีเมล์ให้กับพนักงานทุกคน

ช่วงแรกที่เราทำงานก็สนุกสนาน (ปนอเน็จอนาถ) กับการใช้คอมพิวเตอร์พอสมควร เพราะสมัยเราเรียนทั้งที่ Sheffield และ Warwick เราอยู่ใน Microsoft Environment คือ Word Processor และ Spreadsheet ที่มหาวิทยาลัยมีให้ใช้ก็คือ Microsoft Word (Version 2.0 ใครเคยใช้ยกมือขึ้น) Microsoft Excel แต่พอมาทำงานเขาใช้ Word Perfect (ซึ่งเป็น Word Processor ที่ฮิตมากในวงการธุรกิจในอเมริกาช่วงนั้น ตอนที่เราใช้รู้สึกจะเป็นเวอร์ชั่น ๕) กับ Lotus 123 คนที่เคยตัวกับ Interface ของ Microsoft อย่างเรา ก่นด่าสาดเสียเทเสียกับทั้งสองโปรแกรม Word Perfect น่ะเหรอ น่าจะเรียกว่า Word Imperfect มากกว่า จะจัด Format อะไรทีกดคีย์บอร์ดทีละ ๓-๔ คีย์ เขย่งนิ้วจนเหมื่อย (เมื่อย + เหนื่อย) ส่วน Lotus ก็ใช้งานยากประมาณกัน

ตอนนี้บริษัทเราไม่ได้ใช้ทั้ง Word Perfect และ Lotus แล้ว (นอกจากพวกพนักงานเก่าๆ แก่ๆ ที่ไม่ยอมเรียนรู้โปรแกรมใหม่ๆ แต่พวกนั้นเขาก็ใหญ่ๆ โตๆ ไปจนไม่ต้องใช้โปรแกรม Labour อย่างนี้แล้วหละ) แต่ถูกครอบงำโดย Microsoft (Everything Microsoft ตั้งแต่ Operating system, Word Processor, Spreadsheet, Browser, E-mail Client, Mail Server, etc) เราก็หันมาด่าความห่วยของ Microsoft แทนตามประสาคนที่ไม่เคยพอใจกับอะไรง่ายๆ

เรามามองย้อนกลับไปตอนนี้ คอมพิวเตอร์ และ Internet มีการพัฒนามาไกลมากเหลือเกิน ในช่วงเวลาไม่ถึง ๑๐ ปีมีการเปลี่ยนโฉมไปขนาดจำหน้ากันไม่ได้ Operating System เปลี่ยนจาก DOS เป็น Windows 3.X เป็น Windows 95, 98, Me ฯลฯ (สมัยนี้เด็กๆ ที่เพิ่งมาใช้คอมพิวเตอร์ จะไม่รู้จักแล้วว่า DOS Prompt เป็นยังไง เพราะเปิดเครื่องขึ้นมามันก็ Boot เข้า Windows ไปเลย การใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยถ้าไม่ใช้เมาส์นี่นึกไม่ออกว่าจะทำยังไง) Browser ก็เปลี่ยนจาก Lynx เป็น Mosaic เป็น Netscape เป็น Internet Explorer (ที่ถูกบังคับยัดเยียดมากับ Windows เพื่อมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจนทำเอา Netscape แทบจะเจ๊งไปเลย) นอกจากนั้นการใช้งานอินเตอร์เน็ตก็เบ่งบานกันสุดๆ เว็บไซต์เพิ่มขึ้นเป็นล้านๆ แห่ง ต้องมี Search Engine มาช่วยหาข้อมูล มีการส่งภาพส่งเสียง เป็นมัลติมีเดีย มีการทำการค้าบนอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา เรามีส่วนร่วมกับหลายๆ อย่างมาตลอดไม่ใช่เป็นการฟังคนอื่นเล่าให้ฟังอย่างเรื่องอื่นๆ ก็เลยอยากจะบันทึกไว้ซักหน่อยนะ (สงสัยว่าเดี๋ยวจะต้องมีคนมาว่าเราเป็นคนแก่เมาธ์เรื่องเก่าอีกแน่เลย)

Update FW Mail

เมื่อวันก่อน เขียนเรื่อง FW Mail ไป ปรากฏว่า มีคนตอบเมล์ เรามากันหลายคน ตอนแรกว่าจะเอามาแปะในไดอะรี่ให้อ่านกัน แต่มันค่อนข้างจะยาว ก็เลยเปลี่ยนเป็นการทำลิงค์ไปให้อ่านดีกว่า เอาเฉพาะอันที่ทำลิงค์ไปได้ตอนนี้ก็มี...
>>FW Mail ของเก๋พีระดา
>>FW Mail ของลอยด์
>>FW Mail ของพร