How to get rich

วันก่อนแม่พูดว่า ใครๆ ก็บ่นว่าตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี แม่มานึกๆ ดูแล้ว ชักสงสัยว่าไอ้ตอนที่เศรษฐกิจดีมันเป็นยังไงกัน เราบอกว่า ตอนเศรษฐกิจดี คนอื่นเขาก็ใช้เงินกันใหญ่เลยนะสิ เพราะมีรายได้เยอะ เงินทองอู้ฟู่ แม่บอกว่าแม่ไม่เห็นเห็นความแตกต่างเลย ก็เลยมานึกว่า อืมม์... มันไม่ต่างจริงๆ แฮะ คือไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ที่บ้านเราก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร จะซื้อของกินของใช้ก็เหมือนเดิม เพราะตอนเศรษฐกิจดีก็ไม่ได้ใช้จ่ายให้มันฟุ่มเฟือยตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตอนเศรษฐกิจแย่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายลดลง แต่ว่าใช้จ่ายในปริมาณเท่าๆ เดิม คือเป็นปริมาณที่พอแก่ความจำเป็น เราก็เลยไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับพิษเศรษฐกิจ

ตอนนี้เตี่ยกับแม่เราเกษียณตัวเองจากการทำธุรกิจแล้ว แต่ว่าทั้งสองคนสามารถมีเงินใช้สบายโดยไม่ต้องแบมือขอลูกๆ แถมบางทีเราไปขอๆ ก็ยังมีให้เราอีกตะหาก (นับว่าเป็นบุญของเรายิ่งนัก อิอิ) เวลาเตี่ยกับแม่จะไปเที่ยว จะซื้อของ จะทำบุญ ฯลฯ ก็มีเงินเป็นของตัวเอง เรายังคิดอยู่ว่า พอถึงเราเกษียณคงไม่ได้มีเงินใช้จ่ายสบายเท่านี้ แต่เราก็คงอยู่ไม่ลำบาก เพราะตอนเด็กๆ เตี่ยกับแม่สอนเราเรื่องการใช้เงินมาดีมากๆ ไม่ใช่แค่บอกๆ เป็นคำพูด แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย

ตอนเด็กๆ แม่จะไม่เคยให้เราใช้เงินฟุ่มเฟือย ทุกๆ วันได้เงินไปกินขนมที่โรงเรียน จะต้องให้มีเหลือกลับมาหยอดกระปุก (กระปุกทำด้วยปูนปลาสเตอร์ เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทาสีสดๆ ซื้อจากเรือที่แล่นผ่านหน้าบ้าน ของเราเป็นรูปหนูทุกทีเลย เพราะเกิดปีชวด ของเก๋ก็เป็นรูปหมา เพราะเกิดปีจอ สมัยนี้ไม่รู้ว่ายังมีขายอยู่หรือเปล่า พวกหลานๆ เราเขาไม่หยอดกระปุกกันแล้ว เด็กสมัยนี้พ่อแม่เขาสอนให้ใช้เงิน ไม่ได้สอนให้ออมเงิน) พอครบปีกระปุกก็จะเต็มพอดี ก็จะทุบกระปุก เอาเงินไปฝากธนาคาร (ส่วนใหญ่เราจะชอบให้ทุบกระปุกตอนตรุษจีน เพราะเวลานับเงินแล้วมีเศษๆ เตี่ยมักจะมักจะแถมเงินให้เต็ม ถือเป็นแตะเอียพิเศษนอกเหนือจากที่ได้เป็นซองๆ)

ด้วยความที่ถูกสอนมาให้เก็บเงินๆๆๆ มาตลอด ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าไม่มีเงินเหลืออยู่ระดับหนึ่ง (ประมาณว่าเป็น Safety Level) จะไม่กล้าใช้เงินซื้อของหรือไปเที่ยว ถ้ารู้สึกว่าใช้แล้วจะทำให้เงินเก็บเราอยู่ต่ำกว่า Safety Level นี้ เพราะฉะนั้นเรามักไม่ค่อยมีปัญหาว่าไม่มีสตางค์เวลามีเพื่อนมาชวนไปเที่ยว (แต่ปัญหาคือ แม่ไม่ให้ไป มากกว่า) หรืออยากซื้อของแต่ไม่มีเงินแล้วต้องไปยืมเงินคนอื่น (ถ้าอยากได้แล้วเงินยังไม่พอ ก็รอไปก่อน ไว้ให้เก็บเงินได้มากพอ ก็ค่อยซื้อ) ทำให้เราค่อนข้างเป็นอิสระทางการเงินในระดับหนึ่ง (อันนี้เป็นศัพท์มาจาก Rich Dad Poor Dad)

เตี่ยจะพูดอยู่บ่อยๆ (พอช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนี่ยิ่งพูดบ่อยมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว) ว่า คนที่ทำงานกินเงินเดือนน่าจะมีเงินเหลือเก็บกันทุกๆ คน เพราะว่าได้เงินแน่ๆ ทุกเดือนไม่มีการขาดทุน (ไม่เหมือนการทำการค้า อาจมีการลงทุนไปแล้วเจ๊งหมดตัว) แต่ก็มักจะมีคนบ่นๆ ว่า ทำงานหาเงินไม่พอใช้ เตี่ยบอกว่า นั่นไม่ได้เป็นเพราะหาเงินได้น้อยแต่เป็นเพราะไม่รู้จักใช้เงิน

หลักการของการจะรวยเป็นเศรษฐี ง่ายนิดเดียว คือ หาเงินให้ได้มาก ใช้เงินให้น้อย ยิ่งหาได้มากเท่าไหร่ ยิ่งใช้น้อยลงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเหลือเก็บมากขึ้น ยิ่งรวยเร็วขึ้น แต่ตัวอย่างที่เราเห็นๆ อยู่ อย่างคนงานที่บ้านเรา มีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท แต่มีรายจ่าย ๑๒๐ บาท (จ่ายไปเป็นค่าเหล้า เบียร์ บุหรี่ แทงหวย – ทั้งๆ ที่รู้ๆอยู่ว่าเขาล็อกหวยกันโครมๆ – แต่พอจะซื้อข้าว ซื้อกับข้าว อ้าว... สตางค์หมดแล้ว) อย่างนี้ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ ยิ่งทำยิ่งจน แต่ถ้าเรามีรายได้ ๑๐๐ บาท ใช้สัก ๘๐ บาท ใช้ในสิ่งที่จำเป็นก่อน วันหนึ่งเหลือเก็บ ๒๐ บาท เดือนหนึ่งก็ได้ ๖๐๐ ปีหนึ่งก็ได้ ๗๒๐๐ ค่อยๆ เก็บค่อยๆ ออม ไม่นานก็มีเก็บเยอะๆ ทีนี้อยากจะได้อะไรที่มันเป็นของฟุ่มเฟือยบ้างก็ ค่อยหาซื้อเอา แบบว่า มีเก็บก่อน แล้วค่อยใช้ ไม่ใช่จ่ายไปก่อน แล้วค่อยทำงานหาเงินมาใช้

ทีนี้มีบางคนบ่นว่า ก็มันมีรายจ่ายวันละ ๑๒๐ บาทนี่นา แบบว่า ภาระเยอะน่ะ ต้องเลี้ยงครอบครัว จะทำยังไง ก็ง่ายๆ อีกเหมือนกัน ถ้าลดรายจ่ายไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มรายได้ ถ้าหาได้แค่วันละ ๑๐๐ บาท ก็ต้องมองหาว่า ทำยังไงจะให้ได้มากขึ้น ให้ได้มากกว่าค่าใช้จ่าย อาจจะต้องทำงานมากชั่วโมงขึ้น หรือทำงานหลายๆ ที่ ก็จะมีบางคนบ่นอีกว่า อย่างนั้นก็เหนื่อยน่ะสิ ก็ขอบอกว่าต้องเหนื่อยนั่นแหละ ถูกแล้ว ถ้ามันไม่เหนื่อย ไม่ยากลำบาก ก็คงไม่มีใครจน มีแต่คนรวยกันทั่วประเทศ

สรุปว่า วันนี้แนะทำวิธีรวย (ทางไม่ลัด)ให้ ช่วยๆ กันเอาไปทำตามกันหน่อยนะ เศรษฐกิจเมืองไทยจะได้ฟื้นเสียที :-)