Markets
หายไปหลายวัน แอบไปไอให้สะใจ ตอนนี้ก็ยังไออยู่ แต่ความถี่น้อยลงและไม่ทรมานเท่าไหร่แล้ว เรากลับมาบ้านที่แม่กลอง พอเจอหน้าเตี่ย เตี่ยถามว่าเป็นไง หายหรือยัง เราบอกว่า ก็ยังไออยู่ เตี่ยบอกว่า โอ้ย มันหายยากนะ ไอเนี่ย เตี่ยไอคราวที่แล้ว เดือนหนึ่งหนะ กว่าจะหาย เราก็เลยไม่เดือดร้อนอะไรกับมันแล้ว แบบว่ามันอยากจะไอก็ปล่อยให้มันไอไป เดี๋ยวเดือนหนึ่งมันก็หายเอง

อาทิตย์ที่แล้ว เราไม่ได้กลับบ้านที่แม่กลอง เพราะไปทำการบ้านกับเพื่อน วันศุกร์แม่โทรถามเราว่าจะกลับหรือเปล่า เราบอกว่าไม่กลับ ดูเหมือนกว่าแม่จะงอนๆ เหมือนกัน ทำเอาเราลังเลจะเปลี่ยนใจกลับ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้กลับ พอวันเสาร์แม่โทรมาอีกทีหนึ่ง คราวนี้เสียงดีขึ้น (ไม่งอนแล้ว) บอกว่าต้นชมพู่มะเหมี่ยวที่บ้านออกลูกเยอะเลย มันแก่จัดจนร่วงลงมาเอง แม่เก็บมากินแล้ว เนื้อฟูนุ่ม หวานนน อร่อย เลยอดไม่ได้ต้องโทรมาเล่าให้ฟัง เราฟังไปก็น้ำลายไหลไป ก็ชมพู่มะเหมี่ยวนี่ก็เป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่งของเราหนะ (เราชอบผลไม้รสอมเปรี้ยวๆ นะ ได้กินแล้วมันชื่นใจ…) แม่บอกว่า จะเก็บใส่ตู้เย็นไว้ให้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ทนถึงหนึ่งอาทิตย์หรือเปล่า

พออาทิตย์นี้กลับมาบ้านปรากฏว่าความมี “ลาภปาก” ของเรายังไม่เสื่อม (ปกติเป็นคนที่มีลาภปากนะ คือ ถ้านึกว่าอยากจะกินอะไร ก็มักจะได้กินในเวลาอันไม่ช้า อย่างนึกๆ ว่าอยากกินส้มโอ เดี๋ยวซักวันสองวันก็มีคนเอาส้มโอมาให้ อยากกินอย่างอื่นๆ ก็จะมีคนซื้อมา เป็นแบบนี้บ่อยๆ) ชมพู่มะเหมี่ยวที่แม่เก็บไว้ให้ยังสดดีอยู่ แม่บอกว่า มันทยอยกันสุก ก็เลยมีให้เราได้กิน ส่วนรสชาติก็เป็นไปตามที่แม่บรรยายเป๊ะเลย อืมม์… อร่อย

วันนี้ไปซื้อกุ้งกับเนื้อปูกับแม่ที่ตลาดแม่กลอง เราคิดว่าต่อไปตลาดสดแบบนี้คงจะหมดไปจากเมืองไทย แล้วกลายไปเป็นตลาดติดแอร์ที่มีคนต่างชาติเป็นเจ้าของ เพราะถ้าหมดจากคนรุ่นแม่เราไปแล้ว เราว่าคงไม่ค่อยมีใครอยากจะมาเดินท่อมๆ ตามตลาดที่มีน้ำเฉอะแฉะแบบนี้เป็นแน่ เราเดินตลาดซื้อกับข้าวกับแม่มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนคนไปจ่ายกับข้าวจะหิ้วตะกร้า (เรายังจำตะกร้าหวายของแม่ได้ ไม่รู้ว่าตอนนี้มันไปอยู่ที่ไหนแล้ว) เวลาซื้อผักซื้อปลาแม่ค้าเขาก็จะเอาใบตองห่อให้ เราก็รับมาใส่ตะกร้า สมัยนี้ไม่มีคนหิ้วตะกร้ากันแล้ว เขาใช้ถุงพลาสติกกันหมด มันสะดวกดีไง แต่เราไม่ชอบเลย เพราะมันกลายเป็นขยะเยอะแยะเกลื่อนไปหมด

ถามว่าเราจะอาลัยอาวรณ์กับการที่ตลาดสดเฉอะแฉะจะหายไปจากสังคมไทยไหม เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เราไม่ได้มีความผูกพันธ์อะไรกับมันซักเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ไปกับแม่เราก็คงไม่ได้ไปเดินตลาด คือเราไม่ใช่คนที่ทำกับข้าวกินเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะเดินซื้อกับข้าว คงเป็นกับข้าวถุงๆที่เขาปรุงสำเร็จแล้วมากกว่า แต่เราว่าที่น่าคิดและเป็นห่วงไม่ใช่การที่ตลาดสดจะหายไป แต่น่าจะเป็นว่าถ้าการค้าต่างๆ มันตกไปอยู่ในมือคนต่างชาติกันหมด แล้วพวกพ่อค้าแม่ค้าเขาจะไปประกอบอาชีพอะไรกันมากกว่า

แถวๆ บ้านเราที่กรุงเทพฯ เขามีห้างซูเปอร์สโตร์มาเปิด แรกๆ เราจะแอนตี้การไปซื้อของที่นั่นมากๆ ด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นของบริษัทต่างชาติ แต่พอหลังๆ เราก็ไปซื้อของที่นั่นบ้าง ด้วยความที่ว่ามันสะดวกกว่าการที่เราจะไปซื้อของที่ท็อปส์ในห้างเซ็นทรัล (เราคิดว่าท็อปส์ เป็นของคนไทย แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจว่ามีบริษัทต่างชาติเป็นหุ้นส่วนหรือเปล่า) แต่ทุกครั้งที่ไปซื้อก็จะแบกเอาความรู้สึกผิดใส่ถุงมาพร้อมๆ กับของที่ซื้อ

วันก่อนเรานัดกินข้าวกับเก๋พี่สาวเราที่ห้างที่ว่านี้ ก็เลยเข้าไปซื้อของใช้ด้วย ตอนเราจะจ่ายเงินคนก็ค่อนข้างเยอะเราก็เลยอดบ่นกับเก๋ไม่ได้ว่า เนี่ยดูสิ เขาเปิดห้างใหญ่โต แล้วก็ขายดีขนาดนี้ เราเองขนาดไม่ค่อยชอบยังอดมาซื้อไม่ได้ แบบนี้ร้านโชห่วย (ร้านขายของชำอ่ะนะ บางคนไม่รู้จักว่าร้านโชห่วยคืออะไร) ของคนไทยจะอยู่ได้ได้ยังไงกัน มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เก๋พูดให้เราคิดว่า บางทีเราต้องอย่าไปยึดติดกับมันมากว่า นี่เป็นของเรา นี่เป็นของคนไทย ทำไมไม่มองว่า มันก็คือโลกเดียวกัน เขาขายของได้แล้วส่งเงินกลับไปประเทศเขา แต่มันก็คือโลกเดียวกัน เรากลัวว่าร้านค้าของคนไทยจะอยู่ไม่ได้จะล้มละลาย แต่ก็มีคนที่เขาต่อสู้ยืนหยัดได้ เรากลัวว่าประเทศเราจะเป็นหนี้ต่างชาติ แต่ท้ายสุดแล้วเขาจะเอาอะไรกลับไปได้ ส่งเงินกลับไปแล้วไงล่ะ สิ่งก่อสร้างอะไรๆ ก็คงขุดคงถอนออกไปไม่ได้ ต้องอยู่บนแผ่นดินไทยนี่แหละ

เราฟังแล้วก็ได้คิดในอีกมุมหนึ่ง เราคงต้านกระแสที่มันเชี่ยวกรากแบบนี้ไม่ไหว เอาเป็นเป็นว่าเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ตรงไหนที่ทำไม่ได้ก็คงต้องทำใจเสียบ้าง ไม่งั้นเครียดตายเลย กะอีแค่ซื้อของใช้เข้าบ้านยังต้องคิดมากขนาดนั้น

ปล. พอกลับจากตลาด แม่เอาของไปเก็บแล้วก็มานั่งพักแป๊บหนึ่ง แล้วก็บอกว่า ไปแกะกุ้งดีกว่า เตี่ยถามทันควันเลย “ใครให้กุ้งมา?” แม่เดินออกจากห้องไปแล้วหละ แต่ก็ตอบมาพอได้ยินว่า ซื้อมา เราเลยบอกเตี่ยว่า นี่กุ้งตัวเล็กแม่ซื้อมาเอง แต่ถ้าเป็นกุ้งตัวใหญ่คนอื่นเอามาให้