Go Inter
เราเขียนเรื่องไปเที่ยวปรากไป 2 ตอนแล้ว ก็ยังไม่ได้ไปถึงไหน พยายามจะเขียนต่อให้จบ แต่เท่าที่เขียนไว้ก็ดูท่าทางจะยืดยาวเกินกว่าที่ตั้งใจ เราเป็นคนที่เล่าอะไรแบบสั้นๆ กระชับได้ใจความไม่ค่อยเป็น เล่าทีไรก็จะกลายเป็นน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงเสียทุกทีไป แถมเขียนๆ ไปก็ออกอาการสับสน แบบว่าจะเขียนสนองความตั้งใจของตัวเองก็ยาวเกินกว่าที่คนอื่นจะอ่านจบโดยไม่หลับซะก่อน จะเขียนสั้นๆ ก็แหม… มีเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่อยากเขียนเก็บไว้เตือนความทรงจำตัวเอง เขียนๆ ลบๆ แก้ๆ อยู่หลายรอบ ไม่ได้ดั่งใจเสียที (ไม่รู้จะพยายามมากเกินไปหรือเปล่า เพราะบางทีคนที่มาอ่านๆ เขาก็คงจะชินกับเรื่องยาวๆ ที่เราเขียนกันหมดแล้ว ถ้ามันน่าเบื่อมากๆ ก็คงอ่านข้ามๆ กันไป ก็เท่านั้น) ความที่เรายังรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับมันซักเท่าไหร่ ตอนนี้เลยคิดว่าจะเลยมาเขียนเรื่องอื่นคั่นเวลาไปก่อน

วันก่อนอยู่ๆ เราก็นึกถึงเรื่องอาหารขึ้นมาอีกแล้ว (สงสัยเป็นเพราะคุยกับพี่ปุ๊ก) ก่อนหน้าที่เราไปเรียนที่อังกฤษ เราไม่เคยทำอาหารอะไรเกินไปกว่าไข่เจียว ต้มมาม่า ตอนเด็กๆ แม่สอนให้หุงข้าวบ้าง ทอดปลาทูบ้าง หรือไม่ก็ให้เฝ้ากับข้าวหน้าเตา คอยดูไม่ให้ไหม้ไม่ให้เดือดจนล้นเวลาที่แม่ต้องไปทำอย่างอื่นบ้าง ไม่เคยได้ลงมือทำจริงๆ จังๆ แต่ก็เห็นแม่ทำกับข้าวอยู่บ่อยๆ พอตอนไปเรียน ช่วงเรียนภาษาไปเจอพี่คนไทยที่ชอบทำอาหารมาก และชอบให้คนอื่นมาช่วยกินด้วย เราก็เลยสบายไป แถมเราก็ดูๆ พี่เขาทำก็เลยได้เคล็ดการทำอาหารไทยต่างแดนมาพอสมควร เช่น การทำแกงโดยใช้เครื่องแกงสำเร็จรูปเป็นซองๆ (อย่าเชื่อคำแนะนำข้างซองเป็นอันขาด) การดัดแปลงเครื่องปรุงอย่างอื่นทดแทนเครื่องปรุงแบบไทยๆ

ตอนเราย้ายไปที่ Sheffield เราทำกับข้าวกินเองแต่เป็นแบบที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก (อาศัยสามัญสำนึกเป็นหลัก คือ กินมาตลอดชีวิต เห็นแม่ทำมานับครั้งไม่ถ้วน) เช่น ข้าวผัด ผัดผักรวม ไก่กระเทียม ไก่ผัดขิง (และแน่นอนไข่เจียว) เราเป็น Herbivore เพราะฉะนั้นอาหารอะไรๆ ที่พอมีผักๆ เราก็กินได้แล้ว สำหรับอาหารที่ต้องการทักษะมากหน่อย เช่น พวกแกงเผ็ด แกงส้ม ต้มยำ พะโล้ ก็ทำกินเป็นครั้งคราว อาหารที่ลองทำบางครั้งก็ประสบความสำเร็จเลย แต่บางทีก็รสชาติประหลาด (ไม่เหมือนที่แม่เคยทำให้กิน แต่ก็ "พอแหลกล่าย" ไม่เคยต้องเททิ้ง) ต้องลองทำหลายๆ ครั้ง รสชาติถึงจะ "เป็นสับปะรด" ขึ้นมา ก็ใช้ถามแม่บ้าง ถามคนอื่นๆ บ้าง

เราเป็นคนกินอะไรง่ายๆ (ลิ้นจระเข้) ก็เลยกินอาหารที่ตัวเองมั่วๆ ขึ้นมาได้ และกินอาหารที่มีขายตามโรงอาหารได้ ก็เลยไม่รู้สึกว่าการทำกับข้าวกินเองเป็นเรื่องจำเป็น จะทำตามอารมณ์และความขยันมากกว่า (ที่จริงไม่ได้ขี้เกียจทำอาหาร แต่ขี้เกียจล้างเก็บตอนทำเสร็จแล้วมากกว่า ยิ่งทำกินแค่คนเดียวไม่ค่อยคุ้มกับแรงงานที่เสียไปเท่าไหร่ เวลาทำกับข้าวทีหนึ่ง ก็เลยจะทำเยอะ แล้วแช่ตู้เย็นไว้กินหลายๆ วัน ประมาณว่าวันนี้ทำแกงเขียวหวาน เก็บไว้กินได้อีก 2 วัน วันรุ่งขึ้นทำพะโล้เก็บได้ 3 วัน วันถัดไปก็เอาแกงเขียวหวานที่เก็บไว้มากิน คือไม่ได้กินอย่างเดียว 2-3 วันติดกัน เพราะกลัวหน้าเป็นแกงไก่หรือพะโล้) เวลามีใครทำอะไรอร่อยๆ ที่ดูไม่ยุ่งยากมากเราก็จะพยายามจำๆ ว่าทำอย่างไร พอครึ้มๆ ก็จะลุกขึ้นมาลองทำกินเองบ้าง

จบจาก Sheffield เราได้เมนูเด็ดน้ำพริกอ่องจากพี่คนหนึ่งมา ตอนนี้ไม่แน่ใจแล้วว่ายังทำกินได้ เพราะไม่ได้จดสูตรไว้ แต่ก็อย่างที่บอก อาหารส่วนใหญ่ที่เราทำก็ใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก อีกเมนูหนึ่งคือ สปาเก็ตตี้คาร์โบนารา (ที่ใช้ซ๊อสสำเร็จรูปที่ขายเป็นขวดๆ แต่เอามาปรุงรสเพิ่ม โดยเติมนมและเพิ่มแฮมกับเห็ด… อาหร่อย!!) และมีหมูมะนาวที่เราลองๆ ทำเอง ไม่เหมือนหมูมะนาวคนอื่นๆ เพราะเราเอาหมูหมักไปย่าง เอามาหั่นแล้วราดด้วยน้ำจิ้มมะนาวพริกกระเทียม (อาหร่อยอีกเหมือนกัน)

พอย้ายมาอยู่ที่ Warwick เรายิ่งทำกับข้าวน้อยลงไปอีก เพราะมหาลัยมีแคนทีนที่มีอาหารขายตลอดเวลา คนไทยอื่นๆ เขาไม่ค่อยไปกินกัน เพราะเขาบอกว่ามันแพงแถมไม่ค่อยอร่อย แต่อย่างที่บอกว่าเราเป็นลิ้นจระเข้ บวกกับความขี้เกียจ ก็เลยอาศัยฝากท้องกับแคนทีน หรือไม่ก็ทำอะไรที่ต้องปรุงน้อยมากๆ เช่น ทำสลัด ทำแซนด์วิชกิน ขยันขึ้นมาหน่อยถึงจะหุงข้าวทำผัดผัก ทำข้าวผัด คนไทยคนอื่นๆ เขาสงสัยว่าเราทนกินได้ไง ไม่มีต้มยำไม่มีแกงเผ็ดแก้เลี่ยน เราคิดว่าคนเรามีความอดทนไม่เหมือนกัน คือ เราไม่ได้รู้สึกว่าการกินอาหารที่แคนทีนหรืออาหารที่ง่ายๆ ที่เราทำเองต้องการความอดทน มากไปกว่าการต้องทำอาหารเองแล้วต้องล้างเก็บจานชามหม้อไหกะทะ แต่บอกไปเขาก็คงไม่เข้าใจ

ตอนที่เราได้ไปทำงานที่อเมริกา มีคนไทยคนอื่นๆ ไปด้วยหลายคน เขาก็ช่วยกันทำอาหารไทยกินด้วยกัน แรกๆ เราก็ไปร่วมทำร่วมกินกับเขา แต่หลังๆ เราก็เข้าอีหรอบเดียวกับสมัยอยู่วอร์ริค คือขี้เกียจ ก็เลยทำแต่อาหารง่ายๆ หรือไม่ก็กินอาหารที่แคนทีนหรือตามร้านอาหาร คนไทยคนอื่นๆ เขาก็สงสัยอีกแล้วว่าเราทนกินอาหารพวกนั้นได้ไง เหะๆ ก็บอกแล้วไงว่าไม่ได้ทน หรือที่ถูกคือ กินอาหารฝรั่งหรืออาหารง่ายๆ ใช้ความอดทนน้อยกว่าการต้องทำอาหารและภาระเก็บล้างจานชาม ยิ่งหลังๆ นี้เรากินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับไปทำงานก็เลยมีเงินไปกินตามร้านอาหารต่างๆ ได้ ก็เลย enjoy eating out พอสมควร

เล่ามาเสียยืดยาวที่จริงจะเล่าว่า ตอนที่อยู่อเมริกา เราได้ไปกินอาหารที่เรารู้สึกว่าอร่อยหลายๆ ร้านเหมือนกัน ก็เลยว่าจะลองรวบรวมเอามาเขียนไว้บ้าง ไหนๆ ก็เคยทำหน้าที่เขียนเล่าเรื่องอาหารอร่อยแถวๆ บ้านมาหลายตอนแล้ว วันนี้ขอ Go inter ซักวันหนึ่ง

1. พาสต้าที่ Olive Garden ร้านอาหารนี้เป็นร้านแบบแฟรนไชส์ พาสต้าที่เป็นซอสขาวจะอร่อยแทบทุกแบบ เพราะเขาจะใส่พวกพริกหยวก หอมใหญ่ และเครื่องเทศอะไรที่เราไม่รู้จักเยอะแยะ ก็เลยไม่เลี่ยน ตอนนี้เราลืมชื่ออาหารไปหมดแล้ว จำได้แต่ว่าจานโปรดที่เราชอบสั่งบ่อยๆ เป็นซีฟู้ด ร้านนี้เขาจะเสิร์ฟสลัดฟรี มาเป็นชามใหญ่เติมได้ไม่อั้น น้ำสลัดก็อร่อยสุดยอด เขามีน้ำสลัดขายเป็นขวดๆ ด้วย ตอนเรากลับมาเมืองไทยยังหิ้วกลับมาด้วยขวดหนึ่ง แบบว่าชอบมากกกกก

2. พิซซ่าที่ Old Chicago ร้านนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นแฟรนไชส์หรือเปล่า เพราะเราเคยเห็นแต่ที่แคนซัสซิตี้ที่เราไปทำงาน เป็นพิซซ่าแบบปิดหน้าสไตล์ชิคาโก (รู้สึกจะเรียกว่า Stuffed Pizza ใช่ไหม) ครั้งแรกที่ไปกินเห็นแล้วตกใจ เพราะมันหนามาก นิ้วกว่าๆ ได้ ดูแล้วเหมือนพายมากกว่าพิซซ่า แต่ที่หนาก็เพราะไส้นะไม่ใช่เพราะแป้ง กินกับซอสมะเขือเทศ (จริงๆ นะ เรียก Tomato Sauce ไม่ใช่ Ketchup ทำจากมะเขือเทศบดๆ สับๆ ใส่เครื่องเทศอะไรไม่รู้อีกแล้วหละ) รสชาติอร่อยเหาะ แต่จะกินได้แค่ชิ้นเดียว ถ้ากิน 2 ชิ้น จะอิ่มเกิน ส่วนใหญ่ไปกินแล้วจะต้องเอาใส่กล่องกลับมากินบ้านทุกครั้ง

3. โดนัทร้าน Krispy Kreame (คิดว่าสะกดประมาณนี้อ่ะนะ) ไม่รู้ว่าที่ออฟฟิศที่อื่นๆ เขามีกฏแบบออฟฟิศที่เราไปทำงานหรือเปล่า คือเวลามีเรื่องอะไรฉลองเขาจะซื้อโดนัทมาแจกเพื่อนร่วมงาน เช่น วันเกิด สอบได้ใบอนุญาตวิศวกร ได้ลูกชาย/ลูกสาว ฯลฯ หนึ่งในโดนัทที่เป็นที่นิยมคือของร้านคริสปี้ครีม ร้านนี้เป็นแฟรนไชส์เหมือนกัน ก็เป็นโดนัทกลมๆ หน้าตาธรรมดามาก เพราะ ทอดเสร็จเขาก็เอาไปชุบน้ำตาลเคลือบบางๆ แล้วทิ้งให้แห้ง แต่รสชาติหวานมัน แป้งนุ่มเนียนกำลังดี ความจริงเขามีโดนัทแบบอื่นๆ ขายด้วย แต่ที่ซื้อง่ายขายคล่องที่สุดก็คือแบบเบสิคนี้แหละ เขาใส่กล่องเป็นโหลๆ ซื้อมากี่โหลๆ ก็หมดทุกที

4. ไก่ทอด"ปีกควาย" (Buffalo Wings) ที่เมือง Buffalo, NY ตอนเราไปเยี่ยมเพื่อนที่ Ohio เลยชวนกันขับรถไปน้ำตกไนแอการ่า (ได้ไปแค่ฝั่งอเมริกา เพราะไม่มีวีซ่าข้ามไปแคนาดา) ผ่านเมืองบัฟฟาโล เลยแวะกิน"ปีกควาย"ต้นตำรับ (ตอนแรกสงสัยว่าเขาเรียก Buffalo Wing ได้ไง มัน Chicken Wing ชัดๆ ที่แท้เป็นปีกไก่ของเมืองบัฟฟาโลตะหาก) เราขับรถวนตามแผนที่อยู่พักหนึ่งแต่หาร้านไม่เจอ ในที่สุดก็ถามคนแถวนั้นเอา ปีกไก่ที่นี่มีให้เลือกหลายระดับตามความเผ็ด Mild, Hot, Very Hot, และ Suicidal (เผ็ดแทบฆ่าตัวตาย) พวกเรากินแบบ Very Hot เพราะความเผ็ดมันจะมาคู่กับความเปรี้ยว คือยิ่งเผ็ดมากก็ยิ่งเปรี้ยวมาก เพื่อนที่ไปด้วยกินเปรี้ยวไม่ค่อยได้ ก็เลยไม่ได้สั่งแบบ Suicidal มาลอง ที่ร้านนี้มีซอสหมักไก่ขายเป็นขวดๆ ด้วย เราซื้อมาลองทำแต่ไม่อร่อยเหมือนที่กินที่ร้าน ไม่ใช่เราไม่มีฝีมือหรอกนะ แต่เดาว่าเขาทำให้อร่อยน้อยกว่า คนก็จะได้ยังต้องไปกินที่ร้านเขาไง

5. พิซซ่าต้นตำรับชิคาโก ร้านนี้อยู่ในชิคาโก แต่เราจำชื่อร้านไม่ได้แล้ว (เดี๋ยวถ้าไปรื้อเจอในไดอะรี่แล้วจะมาบอก) จำได้แต่ว่ามี 2 สาขา ตอนที่ไปกินก็เดินหากันแทบแย่เหมือนกันกว่าจะเจอ เป็นพิซซ่าแบบ Thick Pan คือ เสิร์ฟมาในถาดหนาประมาณนิ้วกว่าๆ หน้าพิซซ่าเยอะมาก กินชิ้นเดียวอิ่มอีกเหมือนกัน

6. ไอศครีม Ben & Jerry อันนี้ไม่ได้เป็นร้าน แต่เป็นไอศครีมกระป๋องๆ ที่มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต จำไม่ได้ค่อยอีกแล้วว่าแต่ละรสที่เราชอบชื่ออะไรบ้าง เพราะเขาจะตั้งชื่อแปลกๆ ยาวๆ ประมาณ Funky Monkey เป็นไอติมที่มีกล้วย (ก็ลิงชอบกินกล้วยไง get มะ) แต่จะว่าไปก็อร่อยแทบทุกรส (ตอนนี้นึกถึงรสที่มีเชอร์รี่กับช็อคโลแลต… โอย น้ำลายไหล) เวลาที่มีโปรโมชั่น ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งทีไร เราเป็นต้องซื้อมาตุนไว้ในตู้เย็นทุกทีไป เขามีให้เราคิดสูตรไอติมแล้วส่งไปด้วยนะ ถ้าเขาลองทำแล้วอร่อย เขาก็จะทำออกมาขายและมีชื่อเราติดอยู่ข้างกระป๋องบอกว่าเป็นเจ้าของสูตรด้วย

เล่าทางอเมริกาไปแล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาต่อทางอังกฤษให้ฟัง