LASIK Part II
ตอนสุดท้ายของเรื่องเลสิกที่เราจะเขียนมาช้าไปหน่อย เพราะหานิตยสารไทม์ฉบับที่เขาเคยลงเรื่องเลสิกไม่เจอ เราจำได้ว่าบทความนั้นเขาเขียนไว้ค่อนข้างจะละเอียดและเป็นกลางดี ก็เลยจะเอามาเล่าให้ฟังเป็นการเตือนใจคนที่อยากจะทำเลสิก แต่หาอยู่พักใหญ่ก็ไม่เจอ ก็เลยไปค้นทางอินเตอร์เน็ตดู นึกว่าเพิ่งอ่านบทความนี้ไปแผล็บๆ ที่จริงคือเขาลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1999 นานขนาดนี้เราคิดได้ว่าคงเอานิตยสารฉบับนั้นทิ้งไปแล้วเป็นแน่แท้

ระหว่างที่ค้นๆ หาบทความทางอินเตอร์เน็ตก็เลยได้เจอเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการทำเลสิกที่เราไม่น่าจะได้รู้จากหมอมากนัก นั่นคือกรณีที่การผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จหรือมีปัญหา จากที่เราเล่าให้ฟังไป 2 ตอนมันเป็นประสบการณ์ของเราเอง และเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จ คนที่ตั้งใจจะไปทำเลสิกเวลาไปคุยกับหมอก็จะได้ยินว่าตัวเลขประสบความสำเร็จสูงมากๆ มากกว่า 99% คนก็จะมักจะลืมนึกถึงตัวเลขที่น้อยกว่า 1% ที่เหลือ (ในบทความที่เราอ่านจากนิตยสารไทม์บอกว่า ถึงแม้ว่าโดยเฉลี่ยจะมีเพียงน้อยกว่า 1% ของคนไข้ ที่ผ่าตัดแล้วไม่ประสบความสำเร็จสมบูรณ์แบบ แต่มีคนไข้อาจจะมากถึง 10-15% ที่ต้องทำการผ่าตัดรอบสองเพื่อให้ได้ผลที่เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ตัวเลข 1% ที่ไม่สำเร็จอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5% ถ้าเป็นหมอที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ) เรารู้สึกว่าตัวเลข 1% เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากกว่า 99% ที่จริงเป็นตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดด้วยซ้ำ คำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคน 1% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นคำถามที่ทุกคนน่าจะต้องได้รู้คำตอบก่อนที่จะตัดสินใจทำเลสิก

กรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างแรกที่คนเป็นห่วงก็คือการแก้ไขสายตาไม่ได้ตามที่ต้องการ บางคนอาจจะต้องรับการผ่าตัดรอบสอง ในขณะที่บางคนก็ต้องยอมรับและทำใจกับสายตาที่ไม่ใช่ 20/20 ปัญหาต่อมาที่อาจจะเกิดจากการทำเลสิก ก็คือ การเห็นแสงกระจายเป็นแฉกๆหรือแสงจ้า (Glare หรือ Halo หรือ Starburst) เวลามองไปที่ดวงไฟหรือแสงสว่าง ลองนึกภาพเวลาที่เรามองไปที่ดวงอาทิตย์แล้วแสงมันจ้ามากๆ จนเราทนมองไม่ได้อ่ะนะ คนที่ไปทำเลสิกจะเห็นแสงจ้าๆ กระจายๆ แบบนั้นแม้แต่กับการมองแสงสว่างจากหลอดไฟตามบ้านหรือตามถนนธรรมดา ทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นตอนกลางคืนแย่ลง อาการนี้จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ที่ไปทำเลสิกในช่วงแรกๆ และจะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติหลังจาก 1-3 เดือนไปแล้ว แต่คนที่ไม่ประสบความสำเร็จอาการนี้จะไม่หายไป ทำให้บางคนไม่สามารถขับรถในตอนกลางคืนได้ หรือต้องเปิดไฟสลัวๆ เวลาอยู่บ้าน

นอกจากการเห็นแสงจ้าหรือแสงกระจายแล้ว บางคนอาจจะมีอาการเห็นภาพซ้อนหรือเห็นขอบภาพไม่ชัดเจน (Ghosting) ซึ่งมีคนรู้จักเราคนหนึ่งที่ไปทำเลสิกที่คลีนิกเดียวกับที่เราไปทำเราเขาก็มีอาการแบบนี้ ซึ่งเขาตัดสินใจไปทำเลสิกเพราะเราแนะนำไปนี่แหละ คือเขาก็มาถามเราว่า ไปทำเลสิกแล้วดีไหม เราก็บอกว่าเราทำมาแล้วดี เห็นชัดเหมือนได้ตาใหม่ การใช้ชีวิตโดยปราศจากแว่นและคอนแท็คเลนส์มันเหมือนเกิดใหม่ สะดวกขึ้นเยอะ (ที่จริงต้องบอกว่า กลับไปสะดวกเหมือนเมื่อตอนก่อนใส่เลนส์น่าจะถูกกว่า) ตัวเขากับพี่สาวและพี่ชายเขาก็เลยไปทำกันทั้งสามคนในเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏว่าตัวเขามีปัญหาเรื่องเห็นภาพซ้อน ส่วนพี่ชายกับพี่สาวมองเห็นปกติดี ฟังจากที่เขาอธิบายตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันเป็นยังไง คือเขาบอกว่าเวลาเขาดูตัวหนังสือหรือรูปภาพที่มันมีสีตัดกัน ตรงขอบๆ ของตัวหนังสือหรือรูปภาพมันจะไม่ชัด จะมีเงารางๆ เราเพิ่งมาเข้าใจและรู้ว่าอาการนี้เขาเรียกว่าอะไรตอนที่เห็นรูปนี้นี่เอง โชคยังดีที่อาการเห็นภาพซ้อนของเขาไม่รุนแรงมาก ไม่งั้นเราคงรู้สึกผิดมากๆ เพราะตอนเขาไม่ได้ไปทำกับหมอคนเดียวกับที่เราทำ เพียงแต่ทำในคลีนิกเดียวกัน พอเขาไปทำมาแล้วมีปัญหานี้ เราก็ยังคิดอยู่ว่าไม่น่าปากหนักเลย น่าจะบอกว่าให้ระบุว่าจะทำกับหมอคนเดียวกับเรา (ตอนนี้ก็ยังรู้สึกผิดอยู่เล็กๆ)

ปัญหาจากการทำเลสิกอีกกรณีหนึ่งคืออาการแสบตาระคายเคือง อักเสบน้ำตาไหลตลอดเวลา (รู้สึกจะเรียกว่า Sand หรืออาการที่เหมือนมีทรายเข้าไปอยู่ในตา) ซึ่งเราก็ไม่ได้อ่านละเอียดมากนัก แต่รู้สึกว่าจะเกิดจากการที่เยื่อหุ้มลูกตา (ส่วนที่ถูกเปิดออกมาเหมือนฝามะพร้าวที่เราอธิบายไปวันก่อน) ปิดกลับไปไม่สนิท มีรอยย่นเกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการที่คนไข้เผลอเอามือไปขยี้ตา หรือมันปิดไม่สนิทเอง ซึ่งเหมือนกรณีนี้เขาอาจจะทำการผ่าตัดรอบสองเพื่อแก้ไขได้ แต่ก็มีบางคนที่ผ่าตัดรอบสองแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากปัญหาต่างๆ ที่ว่ามาก็ยังมีปัญหาลักษณะอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งทั้งหมดนี้มีคนไข้ที่ทำเลสิกประมาณ 1% กำลังประสบอยู่แล้วในปัจจุบัน ความจริงอีกข้อหนึ่งที่น่าคิดคือ เทคโนโลยีการทำเลสิกเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ มีการทำเลสิกกันจริงๆ จังมาแค่ประมาณไม่ถึงยี่สิบปี จึงยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงผลกระทบในการทำเลสิกที่มีต่อดวงตาในระยะยาว ไม่มีใครรู้ว่าสุขภาพของดวงตาและสายตาของคนไข้ที่ทำเลสิกจะเป็นอย่างไร มันอาจจะไม่มีผลอะไรที่แตกต่างจากคนที่ไม่ทำเลสิกเลย หรืออาจจะมีผลร้ายแรงอะไรในภายหลัง เรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้

ที่มาเขียนตอนสุดท้ายนี้ ก็เพื่ออยากจะเตือนว่า การทำการผ่าตัดทุกอย่างไม่แต่เฉพาะการทำเลสิก มันมีความเสี่ยง อย่าลืมรวมเอาความเสี่ยงที่มีนี้ไปชั่งน้ำหนักกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ หลายๆ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จบอกว่าถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้ ก็คงไม่คิดที่จะทำเลสิก อย่างคนหนึ่งที่เราได้อ่านจากเว็บไซต์เกี่ยวกับหายนะของการทำเลสิก (LASIK Disaster ทำใจกับความล้มเหลวไม่ได้ โกรธแค้นหมอคนที่ทำเลสิกให้เขามากๆ ไม่ได้โกรธแค่ว่าการผ่าตัดของเขาล้มเหลวเท่านั้น แต่โกรธหมอไปถึงขั้นที่ว่าในเมื่อหมอรู้ว่ามันมีกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ทำไมถึงยอมทำการรักษาแบบนี้ต่อไป เพราะกรณีที่มันไม่ประสบความสำเร็จมันแย่มากๆ มันเหมือนทำลายชีวิตของเขา เขารู้สึกทรมานมากจนอยากฆ่าตัวตาย เราอ่านแล้วไม่ได้คิดว่าหมอผิดอย่างที่ถูกกล่าวหาเสียทีเดียว ถ้าหมอวินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีโอกาสทำแล้วไม่สำเร็จ แต่ยังทำให้เพราะอยากได้สตางค์ หมอก็ผิดจริงๆ แต่ถ้าหมอวินิจฉัยด้วยใจเที่ยงตรงแล้วคิดว่ามีโอกาสสำเร็จมาก หมอก็ไม่น่าจะผิด เพราะก็อย่างที่บอกว่ามันมีโอกาสประสบความสำเร็จ 99% ก็แสดงว่ามีโอกาสล้มเหลว 1% คนส่วนใหญ่ก็หวังจะเป็นหนึ่งใน 99% ไม่ค่อยใครเผื่อใจไว้ว่าตัวเองจะเป็น 1% ที่เหลือ เพราะถ้าคิดว่าตัวเองจะเป็น 1% ที่เหลือ ก็คงไม่ตัดสินใจทำ

ในขณะที่มีบางคนรับไม่ได้และโกรธแค้น ก็ยังมีบางคนที่ถึงผลที่ได้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบหรืออาจจะถึงขั้นที่เรียกว่าล้มเหลวแต่ยังอยู่ได้และพยายามจะมองโลกในแง่ดี ทุกๆ คนต่างก็หวังว่าผลที่ได้จากการผ่าตัดจะดีที่สุด แต่อย่าลืมคิดว่าเราจะทำอย่างไรถ้าผลมันออกมา “ไม่ดีที่สุด” เราจะทำอย่างไรถ้าผลออกมา “แย่ที่สุด” อยากให้ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนส่วนน้อย 1% ที่ไม่สำเร็จ เราจะยังมองโลกในแง่ดีและทำใจได้หรือเปล่า เราต้องคิดและตัดสินใจเองอย่างรอบคอบ เพราะในไทม์เขาก็เขียนเตือนไว้ เขาบอกว่า "ในตอนที่คุณจะตัดสินใจทำใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด อย่าลืมว่าคุณกำลังตัดสินใจทำการผ่าตัดกับดวงตาคู่เดียวที่คุณมีอยู่”