Books
a day story

ไปงานหนังสือมติชนแล้วก็ซื้อหนังสือมาเพิ่มอีกทั้งๆ ที่เล่มเก่าๆ ก็ยังอ่านไม่จบ หนึ่งในหนังสือที่ได้มาคือ a day story คนที่เป็นคนทำนิตยสาร a day เขียนเล่าความเป็นมาเป็นไปเกี่ยวกับการทำหนังสือของเขา เราเคยได้ยินชื่อคนคนนี้มาพักใหญ่ๆ แล้ว เขาชื่อวงศ์ทนง (จำนามสกุลไม่ได้) เขาเคยเขียนคอลัมน์ชื่อ “เรื่องเล็ก” (หรืออะไรคล้ายๆ แบบนี้ จำไม่ได้อีกแล้ว) ในมติชนสุดสัปดาห์อยู่พักใหญ่

ก่อนหน้าที่จะทำ a day วงศ์ทนงมีโครงการทำนิตยสารที่ต้องพับไปเพราะนายทุนเปลี่ยนใจไม่ให้ทุนทำ เขาเลยมาเปิดโครงการทำ a day โดยการส่งจดหมายไปขอระดมทุนจากแฟนนิตสารที่เขาทำมาก่อนหน้านั้น (ประมาณเทรนดี้แมนหรือไงเนี่ยแหละ เป็นนิตยสารผู้ชายที่ปิดไปแล้ว เพราะขาดทุน แต่คนอ่านเหนียวแน่นมาก) ไอเดียของเขาคือให้ผู้อ่านเป็นคนถือหุ้น เขาได้แรงบันดาลใจมาจากคนในอังกฤษที่ทำหนังสือในรูปจดหมายเวียนแจกให้คนร่วมแฝลตเดียวกันอ่าน ต่อมาทุนหมดก็เลยขอบริจาคจากผู้อ่านว่าถ้าใครอยากอ่านก็ให้ส่งเงินมาช่วย ปรากฏว่าทุกคนก็ส่งเงินมาให้ “เขาว่ากันว่า” เรื่องนี้เป็นตำนานจุดเริ่มต้นของนิตยสารชื่อดังของอังกฤษที่ชื่อ Idea

วงศ์ทนงเขียนจดหมายพร้อมส่งเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับ a day ไปหาแฟนนิตยสารเก่าๆ ของเขา บอกขายหุ้นนิตยสารที่ยังไม่มีตัวตนในราคาหุ้นละ 1,000 บาท เป้าหมายคือให้ได้เงินหนึ่งล้านบาท (อันนี้เป็นตัวเลขที่เขาได้จากประสบการการทำนิตยสาร และการพูดคุยกับคนในวงการ) ในที่สุดเขาก็ได้เงินหนึ่งล้านบาท และนิตยสาร a day ก็ปรากฏตัวบนแผงหนังสือประมาณปี 2544 ผ่านไป 3 ปีได้ข่าวว่า a day คืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นของเขาไปหมดแล้ว และยังมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง

เราอ่านพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ นี้จบภายในวันเดียวด้วยความที่เขาเขียนแบบเรื่องเล่า ถึงแม้หนังสือจะดูค่อนข้างโอ้อวดไปซักนิด (คนคนหนึ่งที่เขียนเรื่องตัวเอง แล้วเอา Quote แต่คำพูดดีๆ เจ๋งๆ เกี่ยวกับตัวเองมาโปรยช่วงต้นบทเป็นระยะๆ เราว่าออกแนวหลงตัวเองนิดๆ) แต่อ่านจบแล้วก็ต้องยอมรับว่าเขามีดีให้อวด แนวคิดหลายๆ อย่างของเขาเป็นเรื่องที่ดีมากๆ (เขาเคยไปพูดวันปฐมนิเทศน์นักศึกษาใหม่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าถ้าเริ่มเก็บเงินวันละยี่สิบบาทตั้งแต่ปีหนึ่ง จบปีสี่จะมีเงินหลายหมื่น พอที่จะเป็นจุดตั้งต้นทำอะไรเล็กๆ ที่อยากทำได้โดยไม่ต้อแบมือขอพ่อแม่) ความสำเร็จของเขาไม่ใช่ได้มาด้วยโชคชะตาหรือฟ้าบันดาล (เขาเป็นบก.บห.ไฮ-คลาสตั้งแต่อายุ 26-27 ตอนนั้นลูกน้องของเขาอายุมากกว่าทั้งนั้น ตอนที่เขาเริ่มทำงานใหม่ๆ หัวหน้าเขาบอกว่า “คุณเป็นคนหนุ่มที่กระตือรือร้นมากที่สุดที่ผมเคยเจอ”)

เราว่า a day story เป็นหนังสือที่น่าอ่านเล่มหนึ่ง จะอ่านเอาบันเทิงก็ได้ จะอ่านเอาข้อคิดก็ดีเหมือนกัน

ริง – สไปรัล – ลูป

เราอ่านหนังสือซีรีส์นี้ค่อนข้างจะช้ากว่าชาวบ้านไปเยอะ อ่านริงด้วยความอกสั่นขวัญแขวนทั้งๆ ที่ได้ดูหนังฉบับฮอลลีวู้ดไปแล้ว หนังกับหนังสือต่างกันค่อนข้างเยอะ หนังดูแล้วก็ตื่นเต้นเร้าใจใช้ได้ แต่หนังสือนี่อ่านไปสยองไป ขนาดที่อ่านไปครึ่งเรื่องเราก็เริ่มไม่กล้ามองปกหน้าปกหลังหนังสือ (ปกเป็นหน้าผู้หญิงผมยาวๆ) เวลาไม่อ่านต้องเอาหนังสืออื่นมาวางทับไว้ อ่านสไปรัลจบแบบผิดคาด คิดว่าจะน่ากลัวเหมือนริง แต่กลายเป็นเรื่องลึกลับถอดรหัสอะไรไปโน่น แต่ก็สนุกใช้ได้นะ ไม่ได้อ่านด้วยความทุกข์ทรมานอะไร

หลังจากอ่านสไปรัลจบ เราต้องรออีกพักใหญ่กว่าจะได้อ่านลูปเพราะยืมต่อจากเก๋ ไม่มีโอกาสได้เจอกันจนกระทั่งนัดกินข้าวกับเพื่อนห้องห้า เราอ่านจบไปตอนช่วงวันหยุดปีใหม่ ตั้งแต่ก่อนอ่านก็ได้ยินคนพูดกันหลายคนว่า ลูป เหมือนกับ เมตริกซ์ (หนังฮอลลีวู้ดที่มีนีโอกับเอเจนต์สมิธอ่ะนะ – ต้องเขียนอธิบายไว้นิดหนึ่ง เพราะวันก่อนดูสถิติไดอารี่เรา มีคนหลงเข้ามาอ่านเพราะเสิร์ชหาคำว่า เมตริกซ์ เราว่าเขากำลังหาความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่อ่ะนะ) อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่จริงๆ เรารู้สึกกับลูปคล้ายๆ กับความรู้สึกตอนที่ดูหนังเมตริกซ์ภาคแรก คือ คิดว่าคนเขียนเจ๋งจริงเลยๆ ที่คิดเรื่องแบบนี้ได้ ทำให้เราสงสัยความมีอยู่จริงของชีวิตมนุษย์ เราต้องยอมรับว่าคนเขียนริง/ลูป/สไปรัล นี่เก่งมากๆ นอกจากข้อมูลแน่นแล้วยังจินตนาการสูงอีกตะหาก อ่านไปทึ่งไปแถมได้ความรู้ด้วย

สรุปว่าในสามเล่มนี้ ริง น่ากลัวที่สุด สไปรัล งั้นๆ ลูป ไอเดียดีมากๆ และคนเขียนเก่งมากๆ จ้ะ

จดหมายรัก

เล่มนี้ซื้อมาจากงานมติชนเหมือนกัน เป็นหนังสือรวมเล่มคอลัมน์ที่ ’ปราย พันแสง เขียนเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นงานเขียนของเขาสมัยที่เรายังอ่านเข้าใจอยู่ (หลังๆ นี้เราอ่านคอลัมน์เขาไม่เข้าใจแล้วอ่ะ เขียนอะไรไม่รู้ Over my head จริงๆ เก๋ก็บอกว่าอ่านไม่รู้เรื่องและเลิกอ่านไปนานแล้วเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าก็คงยังมีคนอ่านติดตามคอลัมน์อยู่เยอะ แต่ละเรื่องก็เขียนทีละหลายๆ ฉบับต่อๆ กัน) เป็นซีรีส์เกี่ยวกับจดหมายรักของคนดังอย่างไอน์สไตน์ ยาขอบ ฯลฯ เราเคยอ่านแล้วซะส่วนใหญ่แต่เมื่อวานเอามาอ่านอีกรอบก็เพลินดี อ่านไปพลิกหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ บางคนอาจจะรู้สึกแปลกใจว่าเราชอบอ่านเรื่องแบบนี้ได้ ว่าท่าทางแบบนี้ อายุปูนนี้ ไม่น่าจะยังมี “ดอกไม้บานในใจ” แต่ความจริงเราเป็นคนชอบเรื่องโรแมนติกออก ดอกไม้บานในใจ ได้ตลอดเวลาไม่ขึ้นกับอายุไม่ขึ้นกับรูปลักษณ์อ่ะนะ

บทแรกในหนังสือ “จดหมายรัก” ของ ’ปราย เขาเกริ่นเรื่องโดยอ้างถึงนิยายเรื่อง The Love Letter (ที่เอามาทำเป็นหนังด้วย นางเอกคือ เคท แคปชอว์ ภรรยาของสตีเวน สปีลเบิร์ก) เป็นเรื่องของการที่จดหมายรักฉบับหนึ่งถูกไปโผล่ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยไม่มีที่มาที่ไปไม่รู้ว่าใครเขียนไม่รู้ว่าส่งถึงใคร มีหลายๆ คนได้อ่านจดหมายฉบับนี้แบบลับๆ ทุกคนต่างก็จินตนาการไปว่าเป็นจดหมายลับที่เขียนถึงตัวเองจากใครซักคนที่เดาไม่ถูก เราไม่ได้อ่านนิยาย แต่ได้ดูหนัง ก็เป็นหนังรักน่ารักๆ อีกเรื่องหนึ่ง อารมณ์ประมาณ Message In a Bottle ที่พี่เควิน คอสต์เนอร์เล่น แต่ดูสนุกกว่าเยอะ

’ปรายเขาแปลจดหมายที่เขียนใน The Love Letter เอาไว้ด้วย เป็นจดหมายที่ชายหนุ่มเขียนถึงหญิงสาวอย่างหยาดเยิ้มใช้สรรพนาม “ผม” กับ “คุณ” ตลอดเวลา ทำให้เราสงสัยว่าเขาได้อ่านนิยาย The Love Letter จนจบหรือเปล่า (แต่ที่แน่นอนคือเขาเขียนว่าไม่ได้ดูหนัง) หรือว่าอ่านจบแต่ตอนแปลกลับเผลอไผลไป ในภาษาอังกฤษสรรพนามไม่มีเพศก็ I กับ You ไปตลอด ตัวละครในนิยาย/หนังไม่ว่าหญิงหรือชาย ได้อ่านแล้วก็คิดว่าเป็นจดหมายสำหรับตัวเองกันทั้งนั้น อ่านแล้วเคลิบเคลิ้มอารมณ์หวั่นไหว แต่พอแปลออกมาเป็น ผม กับ คุณ ผู้ชายที่ได้อ่านจดหมายย่อมไม่คิดว่าเป็นจดหมายถึงตัวเอง ถ้าจะให้เวิร์กแบบต้นฉบับ จะต้องเป็น “ฉัน” กับ “เธอ” จะเหมาะกว่า

คนที่ได้ดูหนังหรืออ่านหนังสือ The Love Letter แล้ว คงรู้ว่าจดหมายเขียนจากใครถึงใคร ส่วนคนที่ไม่ได้ดูไม่ได้อ่านคงไม่มีทางเดาได้ เพราะจดหมายเขียนโดยผู้หญิงคนหนึ่งไปหาผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เป็นความรักลึกซึ้งที่ต้องแอบซ่อนจ้ะ