Why we have to walk?
ทุกครั้งต้องใช้บริการของสนามบิน เครื่องที่เราจะโดยสารไปด้วยมักจะจอดอยู่ที่ประตูสุดท้ายยยย.. เป็นประจำ จนเราสงสัยว่า ต้องเดินทางไป เมืองไหน หรือประเทศไหนหนอ ถึงจะได้ใช้ไอ้เจ้าประตูที่อยู่ใกล้ๆ ทางเข้า แบบที่ว่าเดินเข้าไปปุ๊บก็ อ๋อ ของเรา Gate 14 อยู่ตรงนี้เอง เดิน ๑๐ ก้าวถึง

จนเมื่อครั้งที่แล้วที่เราไปภูเก็ต ไปดำน้ำ ถึงได้คิด (Eureka!!) หลักการ (ที่เราเดาเอา) มันเป็นแบบนี้ คือ การกำหนดว่าเครื่องบินลำไหนจะออกจากประตูไหนหรือเข้าจอดที่ประตูไหน จะกำหนดจากประตูที่อยู่ไกลที่สุดเข้ามา ถ้าเป็นช่วงเวลาที่ว่างๆ คนที่เดินทางก็จะต้องเตรียมข้าวของขนมให้พร้อม เพราะอาจต้องเดินมาราธอนเป็นกิโลๆ

แต่ถ้าเวลาที่มีเครื่องบินเข้า-ออก เยอะๆ ก็จะเดินระยะทางสั้นลง เพราะประตูที่อยู่ไกลๆ ก็จะไม่ว่าง ก็ต้องไล่เข้ามาหาประตูใกล้ๆ (แต่แน่นอน ก็จะต้องมีคนบางคนที่โชคร้าย ต้องได้ใช้บริการของประตูสุดท้ายหรือรองสุดท้าย ซึ่งเราก็มักจะได้เกียรติอันนี้อยู่บ่อยๆ ให้ตายสิ)

ทีนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมสนามบินเขาถึงจะต้องมีการจัดการแบบนั้น จะให้เราได้ออกกำลังกายก่อนเดินทาง (ช่วย warm-up จะได้ เหนื่อยๆ แล้วก็หลับสบาย ไม่กวนใจพนักงานบริการบนเครื่อง) หรือหลังจากการเดินทาง (ช่วยลดความเมื่อยขบที่เกิดจากการนั่งในที่แคบๆ นานๆ ลดโอกาสการเป็นโรค Economy Syndrome) เป็นบริการเสริมยังงั้นเหรอ?

ความจริงคือว่า เขาไม่ได้ห่วงใยรักใคร่อะไรเราหรอก หน้าที่ของเขาคือให้เราได้ไปขึ้นเครื่องบิน การที่เราจะเอาคนกับเครื่องบินมาเจอกันน่ะ ไม่เอาเครื่องบินมาหาคน ก็เอาคนไปหาเครื่องบิน ง่ายๆ แค่นี้

แต่หัวใจมันอยู่ที่ว่าทำยังจะทำให้การเจอกัน "ประหยัดที่สุด" ทีนี้ลองคิดเทียบกัน เครื่องบินลำใหญ่ๆ มีค่าใช้จ่ายสูงขนาดไหน ค่าดูแลรักษาน่ะ เขาคิดกันเป็นหมื่นๆ แสนๆ ค่าน้ำมันก็คงแพงเช่นกัน ถ้าเขาต้องให้เครื่องบินวิ่งเข้ามาเพิ่มอีก ๑ กม. เพื่อว่าเราจะได้ไม่ต้องเดินไกล? เขาเสียค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นแน่ แต่ถ้าเขาเอาเครื่องไปจอดไกลๆ แล้วให้เราเดิน? เราก็ต้องเดินไปไม่มีบ่น ค่าใช้จ่ายก็ไม่มี บางที่เขาก็ใจดีกับเราหน่อย แทนที่จะให้เราเดินทางไกล เขาก็เอารถวิ่งไปส่งแทน แต่ก็หลักการเดียวกัน คือ ยังไงๆ น้ำมันรถก็ไม่แพงเท่าน้ำมันเรือบิน

สรุปว่าที่เราต้องเดินทางไกลในสนามบิน เพราะ เราไม่ใช่ Boeing เราไม่ได้ใช้น้ำมันมหาศาลในการเคลื่อนที่จาก A ไป B

--จบ : )