Bloody Day II
พูดถึงการบริจาคเลือดแล้ว ก็น่าจะพูดถึงตอนที่เราไปบริจาคเลือดที่แคนซัสด้วย การบริจาคเลือดเนี่ย เรียกว่า donate blood หรือ give blood ก็ได้ ส่วนคนที่บริจาคเลือดประจำก็จะเรียกว่า regular donor แต่เวลาที่เขาจะเจาะเอาเลือดเราไปเนี่ย เขาจะเรียกว่า draw blood

เหตุที่เราคิดจะไปบริจาคเลือดที่โน่นก็เพราะ มีอยู่ครั้งนึงเขามีหน่วยเคลื่อนที่มารับบริจาคเลือดที่บริษัท เราก็อุตส่าห์ไป แต่เขาไม่ยอมเอา ไม่ใช่ว่า เลือดชั่วหรอกนะ แต่ว่าเลือดมันจางไป คือมีระดับฮีโมโกลบินไม่ถึง ๑๒.๕ มก. วันนั้นที่เขามรับบริจาคน่ะ คนที่บริจาคแล้วเขาจะติดสติ๊กเกอร์รูปหัวใจให้แล้วก็แจกเสื้อให้ด้วย ส่วนคนที่มีเลือดคุณภาพต่ำอย่างเรา เขาก็ให้สติกเกอร์เหมือนกัน รู้สึกจะเขียนว่า "I tried" หรือไงเนี่ยแหละ แล้วก็ได้เสื้อด้วยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้บริจาคเลือดเลย แต่พอมาตอนหลังๆ เราก็สามารถปรับปรุงตัวจนคุณภาพของเลือดดีขึ้นจนเขายอมรับบริจาคจนได้

การบริจาคเลือดที่อเมริกาที่เราเคยเจอมาต่างจากเมืองไทยหลายอย่างเหมือนกัน เขาจะรับบริจาคทุกๆ ๘ อาทิตย์ ถี่กว่าเมืองไทยมาก ที่เมืองไทยคือ ๓ เดือน และแต่ละครั้งเขาจะเอาเลือดไป ๑ ไพน์ (ประมาณ ๔๕๐ ซีซี) ในขณะที่เมืองไทยมีทั้ง ๓๐๐ และ ๔๐๐ ซีซี เดาเอาว่าน่าจะเป็นเหตุผลทางกายภาพมั๊ง คือ ฝรั่งตัวโตกว่า สามารถบริจาคเลือดได้มากกว่าและถี่กว่า

เวลาไปบริจาค เขาก็จะถามคำถามเยอะกว่ามาก เจ้าหน้าที่จะเป็นคนอ่านให้เราตอบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ มีคำถามที่เมืองไทยไม่ได้ถามด้วย อย่างเช่น คุณเคยติดคุกหรือไม่ คุณเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อเงินหรือไม่ คุณเคยมีสัมพันธ์ทางเพศกับคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อเงินหรือไม่ เราก็ตอบได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาคือ คุณเคยอยู่หรือไปท่องเที่ยวในประเทศที่มีความเสี่ยงของโรคมาลาเลียหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยเนี่ย ฝรั่งจะเชื่อว่ามีเชื้อมาลาเรียชุกชม

เวลาเราบอกว่ามาจากต่างประเทศ เขาจะต้องเปิดคู่มือซึ่งก็จะมีรายชื่อเมืองที่มีความเสี่ยง ยูมาจากประเทศอะไรนะ ไทวัน ใช่ไหม... ไม่ใช่ๆ ไทยแลนด์ แบ็งค็อก ไทยแลนด์... อ๋อๆ ไอซีๆ... แต่ที่จริงน่ะไม่ซีหรอก มีการออกไปปรึกษาหัวหน้า ว่ายัยหน้าเหลืองเนี่ย มาจากแบงคอก ไทยแลนด์ จะให้เขาบริจาคไหม ในที่สุดก็บริจาคได้ เราคิดว่ามันจะลำบากแค่ครั้งแรก แต่ทุกครั้งก็จะเป็นแบบนี้ตลอด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเขามีความยึดมั่นต่อกฎระเบียบหรือความอะไรกันแน่ เราคิดเอาเองว่าการที่เราบริจาคครั้งแรกได้ ก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีพอว่า ประเทศที่เรามาจากนั้นปลอดภัย แต่ก็นั่นหละ เขาอาจจะกลัวโดนฟ้องถ้าไม่ทำตามขั้นตอน

นอกจากความลำบากยากเย็นในการตอบคำถามแล้ว อุปสรรคของเราอีกอย่างนึงคือ การวัดระดับฮีโมโกลบิน เลือดเราจะมีค่อนข้างต่ำ บางทีจะตรวจไม่ผ่าน เขาจะเจาะเลือด ๒ ครั้ง ครั้งแรกตรวจกับสารละลายอะไรซักอย่างที่ตอนนี้นึกชื่อไม่ออก สีฟ้าๆ ถ้าไม่ผ่านก็จะเจาะครั้งที่ ๒ ตรวจกับเครื่องซึ่งจะอ่านออกมาได้เลยว่ามีระดับฮีโมโกลบินกี่มก. ถ้าไม่ผ่านอีก ก็ต้องมาบริจาคใหม่วันหลัง ถือว่าไปเก้อ ซึ่งเราก็ไปเก้อหลายครั้งเหมือนกัน (แล้วพอมาใหม่ก็ต้องผ่านขั้นตอนการหาประเทศไทยในคู่มืออีก ยุ่งยากขนาดนี้เราก็ยังจะดื้อรั้นไปบริจาคอยู่นั่นแหละ สงสัยเลือดบ้ามันเยอะ เลยต้องเอาออกเสียบ้าง)

ที่อเมริกานี่เวลาตรวจระดับฮีโมโกลบิน เขาจะให้เลือกว่าจะเจาะเลือดจากนิ้วหรือจากติ่งหู ตอนแรกๆ เราก็เจาะจากนิ้วตลอด เพราะที่เมืองไทยเจาะที่นิ้ว แต่พอมาตอนหลังถามเขา เขาบอกว่าเจาะที่หูเนี่ยมันจะวัดได้ความเข้มข้นสูงกว่า หลังๆ ก็ให้เขาเจาะที่หูตลอด ก็จั๊กจี๋เล็กน้อย

นอกจากนี้เขาจะมีการวัดความดัน วัดอุณหภูมิร่างกาย และขอดูแขนทั้งสองข้าง ตอนแรกคิดว่า เขาจะดูว่าเส้นเลือดเห็นชัดดีไหม แต่หลังจากที่ดูรายการเจาะใจตอนที่เด็กติดยาเสพติด ถึงได้รู้ว่าเขาจะดูว่าเราเป็นคนที่ใช้ยาเสพติดโดยฉีดเข้าเส้นหรือเปล่า เพราะถ้าใช่มันจะมีรอยแผลเป็นเห็นชัด หลังจากผ่านทุกขั้นตอนเรียบร้อย สุดท้ายเขาจะให้เราอยู่ในห้องคนเดียว และให้เราตอบคำถามว่า เราคิดว่าเลือดของเราจะมีความปลอดภัยที่จะให้คนอื่นเอาไปใช้หรือไม่ โดยมีสติกเกอร์เป็น Yes กับ No ให้เอาไปติดในกระดาษที่เราตอบคำถามและเซ็นชื่อไว้ สงสัยว่าเป็นอีกขั้นตอนนึงที่เอาไว้ป้องกันการโดนฟ้อง เราก็ตอบ Yes ทุกครั้งไป เพราะคิดว่าถึงแม้จะเลือดเราจะไม่ค่อยดี อาจมีเชื้อบ้าเล็กน้อย แต่ก็น่าจะปลอดภัย : )

เสร็จจากขั้นต่างๆ ตอนนี้ก็ถึงการบริจาคจริงๆ ที่นี่เขาจะไม่ได้ให้นอนราบเหมือนที่เมืองไทย แต่จะเป็นเก้าอี้คล้ายๆ กับเก้าอี้ทำฟันที่เอนได้ เขาจะมีการทำเครื่องหมายตำแหน่งที่จะเจาะก่อนโดยใช้หลอดกดให้เป็นรอย แล้วค่อยเจาะจริง (อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นความรอบคอบหรือว่าความอ่อนหัด เพราะที่เมืองไทย ไม่ต้องทำเครื่องหมายอะไรก่อน เจาะจริงๆ เลย) เขาจะมีการจับเวลาที่บริจาคด้วย โดยจดเวลาที่เริ่มเจาะและเวลาที่เลือดเต็มถุงด้วย

ที่เมืองไทยจะมีเครื่องที่คอยแกว่งถุงเลือด (เดาเอาว่าช่วยไม่ให้เลือดตกตะกอน แต่เราอาจจะผิดก็ได้) แต่ที่อเมริกานี่ไม่มี ที่นี่เขาจะแขวนถุงเลือดเอาไว้กับแขนที่คล้ายๆ กับตาชั่งที่มีน้ำหนักแขวนอีกด้านนึงพอเลือดครบหนึ่งไพน์มันก็จะถ่วงน้ำหนักลงมาเอง

พอเลือดเต็มถุง เขาก็จัดการดึงเข็มออก ให้เราเอามือกดตรงที่โดนเจาะ พร้อมกับยกแขนสูงๆ ให้เลือดหยุด พอเลือดหยุดแล้วเขาก็จะติดพลาสเตอร์ให้ แล้วก็ให้ไปนั่งพักกินน้ำกินขนม เป็นอันเสร็จพิธี ที่อเมริกาเขาจะมีการตรวจระดับคลอเรสเตอรอลให้ด้วยทุกครั้ง โดยจะส่งผลมาให้ที่บ้านประมาณ ๑-๒ อาทิตย์หลังจากบริจาค และมีบริการโทรศัพท์หรือส่งไปรษณียบัตรมาเตือนเมื่อถึงเวลาบริจาคครั้งต่อไปอีกด้วย ที่เมืองไทยถ้าจะให้ตรวจคลอเรสเตอรอลให้ ต้องไปบริจาควันธรรมดา และเตรียมตัวล่วงหน้าโดยการอดอาหารมาก่อนตรวจ