Energy concern
หายไปหลายวัน โดนเพื่อนปิฯ ตามจิก เลยต้องรีบมาเขียน ก็ไม่มีอะไรมาก พอดีงานก็ยุ่งๆ แล้วก็ต้องไปลงทะเบียนที่ลาดกระบัง (อาทิตย์นี้เปิดเทอมอีกแล้ว) แล้วก็แถมมีเทศกาลหนัง มีการนัดกินข้าวกับพี่ๆ เพื่อนๆ กิจกรรมตอนเย็นเยอะมาก จนรู้สึกว่าพักผ่อนไม่พอ

มีคนถามเราว่า ทำไมอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย) ถึงไฟฟ้าไม่พอใช้ เขารู้สึกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาน่าจะมีการวางแผนที่ดี แต่เรากลับไม่ได้มองว่าเป็นความผิดพลาดในการวางแผนเป็นหลัก แต่เราว่าเป็นที่ attitude ของคนอเมริกันเกี่ยวกับการบริโภค เขารู้สึกว่าเขาอยู่ใน free world ที่จะทำอะไรก็ได้ และควรที่จะได้บริโภคในสิ่งที่ดี (ในทางวัตถุ) ที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นๆ อย่าง สิ่งแวดล้อมหรือ ทรัพยากรที่มีจำกัด

เรารู้สึกว่า คนอเมริกาฟุ่มเฟือย ซึ่งเดาเอาว่าเกิดมาจากการปลูกฝังของพวกทุนนิยมเสรี เราจะเห็นมีคนอเมริกาใช้ของต่างๆ เกินความจำเป็น ทิ้งของต่างๆ เพียงเพราะมันไม่ทันสมัย และไม่ค่อยมีการรีไซเคิล หรือ reuse ลองเปรียบเทียบกับพวกยุโรป หรืออังกฤษพวกนี้จะรู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ากว่า อย่างคนอังกฤษถ้าอะไรยังใช้ได้ จะไม่ค่อยเปลี่ยน (ตอนเราไปเรียน มีเครื่องมือ อุปกรณ์รุ่นโบราณๆ ให้นักเรียนใช้เต็มเลย ก็มันยังไม่พังจะเปลี่ยนทำไม)

หมูเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไฟฟ้าที่ LA ไม่พอใช้ ต้องมีการดับไฟบางเวลา ยังมีพวกดีเจรายการวิทยุมากระตุ้นให้คนไม่ต้องประหยัดไฟ และให้ใช้ไฟมากกว่าปกติ เพราะคิดว่าการที่ไฟไม่พอใช้เป็นแผนของบริษัทผลิตไฟฟ้าที่จะพยายามหาเหตุขึ้นค่าไฟ ความจริงเขาอาจจะอยากขึ้นค่าไฟจริงๆ ก็ได้ (ใครทำธุรกิจแล้วไม่อยากได้กำไรเยอะๆมั่งละ) แต่การจะประท้วงหรือห้ามไม่ให้เขาขึ้นค่าไฟด้วยการใช้ไฟมากๆ มันไร้สติสิ้นดี ไม่รู้คิดได้ไง ไม่รู้ว่าเขาได้คิดไหมว่า เขากำลังพยายามจะเผาผลาญพลังงานของโลกที่มีจำกัดไปเพื่อการประท้วงแบบโง่ๆ

วันก่อนอ่านเรื่องที่ปิฯบ่นว่าไม่เข้าใจว่าทำไมยังไม่มีรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันเสียที ถ้ามองในแง่ของเทคโนโลยี เรายังมีปัญหาในการทำให้แบตเตอรี่มีน้ำหนักเบาพอที่จะใส่ใว้ในรถ ในขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนรถไปได้ และต้องออกแบบเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงความเร็วได้เหมือนเครื่องยนต์สันดาปภายใน ลองนึกถึงเตาในห้องครัวที่ใช้ไฟฟ้า เทียกับเตาแกสก็แล้วกัน เตาไฟฟ้า กว่าจะร้อนต้องรอพักใหญ่ ถ้าจะเบาให้ร้อนน้อยลงก็ต้องรอ กว่าความร้อนจะลดลง แต่เตาแกส จุดติดปั๊บก็ร้อนเลย จะให้ร้อนน้อยลงก็หรี่แกส ได้เลย อันนี้เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ

แต่จะว่าไป ปัญหานี้ไม่ใช่ว่าไม่สามารถจะแก้ได้ แต่มันเป็นที่ว่าปัจจุบัน ยังไม่คุ้มที่จะทำ เพราะยังไม่มีตลาดมากพอที่จะผลิตออกมาเยอะๆ ราคาก็เลยยังแพงเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นพฤติกรรมการใช้รถของคนที่อาจจะไม่คิดว่าอยากจะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ถ้าไม่จำเป็น เช่น ถ้ากฏหมายไม่บังคับ ถ้าการตลาดไม่บังคับ (เช่น ราคารถใช้น้ำมันแพงกว่ารถที่ใช้ไฟฟ้า) และถึงแม้จะมีคนใช้รถที่ใช้ไฟฟ้ากันเยอะ ก็ไม่ได้หมายความว่ามลภาวะ จากการเผาไหม้น้ำมันจากรถยนต์จะหมดไป ที่จริงแล้วมันคือการย้ายที่ ถ้าลองนึกดีๆ เราจะเอาไฟที่ไหนมา charge แบตเตอรี่ ก็ต้องมีการผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้า ที่เผาไหม้น้ำมัน แกส หรือ ถ่านหิน โรงไฟฟ้าก็ปล่อยมลภาวะเหมือนกัน เท่ากับว่าแหล่งกำเนิดของมลภาวะเปลี่ยนจากท่อไอเสียรถยนต์มาเป็นปล่องท่อไอเสียของโรงไฟฟ้า และซ้ำร้ายถ้าน้ำมันหรือแกสหมดไปจากโลก ก็ดูเหมือนว่ารถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก็อาจจะต้องมีการคิดใหม่ว่าจะเอาอะไรมาผลิตกระแสไฟฟ้าป้อน

วิธีแก้ปัญหามลภาวะจากรถยนต์ที่แท้จริงที่เรานึกถึง (ซึ่งก็จะสามารถแก้ปัญหาในกรณีที่น้ำมันหมดโลกได้ด้วย) คือ รถที่ใช้พลังงานจาก Fuel Cell ซึ่ง Fuel Cell เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่อาศัยปฏิกริยาเคมีในการรวม H2 กับ O2 (ซึ่งได้ Product เป็นน้ำ นับเป็นการสร้างพลังงานที่สะอาดสุดๆ จริงๆ) โดย H2 จะได้มาจากการแยกโมเลกุลของน้ำมัน แกสธรรมชาติ อัลกอฮอล์ แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้หมดไป แหล่งกำเนิดของ H2 ที่มีอยู่มากมายมหาศาลคือ น้ำ (ซึ่งขบวนการแยกน้ำเป็นขบวนการย้อนกลับของ Fuel Cell ซึ่งต้องการพลังงานส่วนหนึ่งมาทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เราอาจใช้พลังานแสงอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจาก Hydrocarbon อย่างน้ำมันหรือแกสเลย) ส่วน O2 ก็ได้จากอากาศ แต่ปัญหาก็ยังเหมือนกับรถไฟฟ้า ยังไม่มี Fuel Cell ที่มีขนาดเล็กและเบาพอ และราคาถูกพอที่จะเอามาใช้ คาดว่าคงต้องรอให้น้ำมันหมดโลกจริงๆ เวลานั้นไม่มีทางเลือก ก็อาจจะมีการคิดค้นทำให้มันคุ้มที่จะทำ (ที่จริง คำว่า แพง หรือ คำว่า คุ้ม มันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินอีกอยู่ดี) หรือไม่ถึงไม่คุ้มก็ต้องใช้ ถ้ามันเป็นสิ่งเดียวที่เราจะเอามาใช้ทำให้เราคมนาคมได้ คือต้องให้สถานการณ์บังคับนั่นเอง