Name and Grammar II
เราเขียนชื่อตัวเอง เป็นภาษาอังกฤษว่า "Nitchawan" ตามคำอ่าน "นิด-จะ-วัน" โดยสะกดตามหลักการถ่ายทอดตัวหนังสือจากไทยเป็นอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน จำไม่ได้แล้วหละว่าเราไปเจอหลักที่ว่านี้ที่ไหน แต่จำได้ว่า เขาจะให้เขียน จ. จาน ที่เป็นตัวสะกดโดยใช้ ตัว T ส่วนตัว จ. จาน ที่เป็นตัวนำหน้าจะให้ใช้ CH ซึ่งจะต่างจากที่คนส่วนใหญ่คิดว่า น่าจะใช้ตัว J ทั้ง ๒ กรณี และคิดต่อไปว่าชื่อเราน่าจะสะกดว่า "Nijjawan" หรือ Nijawan

พูดถึงเรื่องสะกดชื่อเป็นภาษาอังกฤษเนี่ย ขอนอกเรื่องนิดนึง ตอนเรายังเรียนชั้นประถม เก๋เล่าให้ฟังว่า เพื่อนของเขาชื่อ "พวงเพ็ญ" บอกว่าสะกดชื่อตัวเองว่า "Pvngpen" เก๋ก็บอกเขาไปว่าสะกดแบบนั้นมันไม่ถูก จะต้องสะกดว่า "Puangpen" ตะหาก แต่พวงเพ็ญก็ยืนยันว่า ตัวเองสะกดถูกแล้ว ถ้าจะไม่สะกดแบบนี้ ก็อาจจะสะกด ว่า "Pwngpen" ก็ได้ เก๋มาเล่าเพื่อที่จะหาพวก โดยถามเราว่า เราเห็นด้วยไหม ว่า พวงเพ็ญผิด เราก็บอกว่า "เห็นด้วยๆ ๑๐๐% เลยจ้ะ" คือ เขาสะกดตามการเขียนภาษาไทย (ไม่ใช่ตามการออกเสียง) เป็นภาษาอังกฤษ “พ-ว-ง-เ-พ็-ญ” ก็เลยกลายเป็น “P-V-NG-P-E-N” ไป ฟังดูแล้วอาจจะขำ แต่เราว่าเมื่อก่อน (เหตุการณ์นี้คือสมัยเราอยู่ประถม อย่างต่ำๆ ก็ ๑๗–๑๘ ปีมาแล้ว) มีคนเข้าใจแบบนั้นเยอะ สมัยนี้คงไม่มีแล้ว เด็กสมัยนี้เก่งๆ ภาษาอังกฤษกันทั้งนั้น เพราะสิ่งแวดล้อมส่งเสริม (ตามกระแสโลกาภิวัฒน์) และเขาก็กล้าพูด กล้าใช้ภาษาอังกฤษกันด้วย

ก่อนที่เราจะไปเรียนที่อังกฤษ เราเคยไปหารองอธิการบดี เพื่อขอหนังสือรับรองสำหรับใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ถามว่า "ชื่ออะไร" เราบอกว่า “นิจวรรณ ค่ะ สะกด N-I-T-C-H-A-W-A-N ค่ะ” ท่านรองอธิการบดีชมว่า “สะกดถูกหลักนี่” ทำเอาเราหน้าบาน เพราะนานๆ จะมีคนบอกว่าสะกดอย่างที่เราสะกดน่ะถูก ความจริงมีคนบอกว่า ชื่อ น่ะ เป็นของเฉพาะตัว อยากจะสะกดอย่างไรก็สะกดได้ ถึงไม่ถูกหลักตามราชบัณฑิตฯ ก็เถอะ แต่เราเป็นคนบ้าหลักการ ก็เลยทำตามนั้นไป เราว่ามันก็เรียบร้อยดีเป็นมาตรฐานเดียวกันดี

เราไม่ค่อยชอบเขียนชื่อภาษาอังกฤษของเราด้วยชื่อเล่น (หรือที่จริงคือชื่อย่อเพราะเราไม่มีชื่อเล่น ^_^) ปกติจะเขียนเต็มตลอด เพราะถ้าเขียนชื่อเล่นจะเป็น "Nit" ซึ่งแปลว่า “ไข่เหา” ใครจะอยากชื่อไข่เหากันล่ะ ใช่มะ... นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง คือ คนที่ได้ยินคำว่า nit มักโยงไปถึงคำอื่นๆ อย่าง nitwit (คนประสาทไม่เต็มเต็ง) nitpick (จุกจิกจู้จี้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ) ซึ่งพวกเพื่อนๆ ฝรั่งที่เราสนิทด้วยก็จะบอกว่า "ก็ไม่เห็นจะน่าต้องบ่นอะไรเลยนี่นา มันก็เป็นคำที่ค่อนข้างจะบรรยายเกี่ยวกับตัวเธอได้ใกล้เคียงดีนี่นา" ฮึ่มม...ฝากไว้ก่อนเถอะ :-(

ตอนเราไปเรียนแล้ว คนอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับการออกเสียงชื่อเราเท่าไหร่ คือเขาก็อ่านยากน่ะนะเพราะไม่คุ้น แต่พอออกเสียงให้ฟัง เขาก็ออกเสียงตามได้ค่อนข้างใกล้เคียง เวลาเขียนก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร นอกจากต้องตั้งสติเล็กน้อย ตอนกลับมาทำงาน เราทำงานกับบริษัทอเมริกัน เอกสารต่างๆ ในบริษัทใช้ภาษาอังกฤษ (แบบอเมริกัน ที่สะกด realise ว่า realize, organise ว่า organize) เป็นหลัก เช่น e-mail หรือ เอกสารแจ้งเรื่องต่างๆ ในที่ทำงานจะเป็นภาษาอังกฤษหมด ป้ายชื่อที่ติดหน้าบูธก็จะเป็นภาษาอังกฤษด้วย ทุกคนก็จะรู้จักชื่อกันในรูปตัวสะกดภาษาอังกฤษ ถ้าชื่อธรรมดาๆ ก็แล้วไป จะสะกดยังไงก็เดากันได้ว่าชื่ออะไร แต่คนที่ชื่อเแปลกหรือกำกวมเนี่ย จะโดนเรียกชื่อผิดไป ตอนแรกๆ คนจะเรียกเราว่า “นิด-ชา-วัน“ เพราะเขาไม่เคยเห็นเราเขียนชื่อเป็นภาษาไทย อยู่นานๆ ไปก็จะเรียกกันถูกมากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ยังมีคนที่เรียกแบบนั้นอยู่ คือ มันเป็นธรรมชาติของคนน่ะนะ ตอนแรกตัดสินใจเรียกว่ายังไงก็มักชินปาก เปลี่ยนยาก มีพี่อีกคนนึงชื่อ "Kanit" เราก็เรียกเขาว่า "พี่คณิตๆ" อยู่เป็นนาน จนมีคนมาบอกว่า พี่เขาชื่อ "กนิษฐ์" เราถึงได้รู้ตัว แต่แหม… พี่เขาก็ไม่ท้วงกันเลย (แต่มานึกๆ ดู เราก็ไม่ได้ท้วงคนที่เรียกเราว่า นิด-ชา-วัน เหมือนกัน ขี้เกียจน่ะ พี่เขาก็คงคิดยังงั้นเหมือนกัน) แต่พี่เขาก็สะกดถูกตามหลักราชบัณฑิตฯ นะ ก.ไก่ นำหน้าให้ใช้ตัว K แต่ตัว ค.ควาย ก็ให้ใช้ K เหมือนกัน บังเอิญว่า ชื่อ คณิต ฟังดู Common กว่า เราก็เลยพลาด

พูดถึงคนอังกฤษไปแล้ว คนไทยไปแล้ว ที่นี้คนอเมริกันมั่ง เขาก็ออกเสียงชื่อเรา OK นะ แต่เวลาเขียนนี่สิ ถ้าให้เขียนเองจากการออกเสียง หรือเห็นตัวสะกดแว๊บๆ แล้วให้เขียน ร้อยละ ๙๙ จะเขียนเป็น Nitchiwan หรือ Nichiwan คือพยางค์กลางเนี่ย ใช้ตัว I ตลอด ไม่ใช้ตัว A เราก็เป็นงง เอ... มันกลายเป็น "นิท-ชิ-วัน" ไปได้ยังไง แต่หลังจากคลุกคลีกันนานๆ ก็เข้าใจ เราว่าเขาต้องนึกว่าชื่อเราเป็น "นิท-ไช-วัน" แน่ๆ เลย เพราะคนอเมริกันเขาจะออกเสียงตัว I ที่ไม่มีตัวสะกดเป็น"สระไอ" ไม่ใช่ "สระอิ" เช่น vitamin ออกเสียงว่า ไวตามิน ในขณะที่คนอังกฤษออกเสียงว่า วิตามิน หรือ อย่าง มัลไทมีเดีย (อเมริกัน) กับ มัลติมีเดีย (อังกฤษ) เป็นต้น เคยมีพี่คนนึงเขาไปทำงานที่อเมริกา เขาชื่อ "วิกรม" สะกดว่า "Vikrom" ฝรั่งอเมริกันอ่านปุ๊บ ทักเลย “เฮลโล ไว-กรม” ถ้าเป็นคนอังกฤษเขาคงอ่านถูกเป๊ะตามเสียงภาษาไทยไปแล้ว

เคยมีเพื่อนเราคนนึ่ง บอกว่าชื่อเรา ผิดหลักไวยกรณ์ เราก็นึกว่า "เฮ้ย อุตส่าห์เขียนตามราชบัณฑิตฯ แล้วยังผิดอีกก็ไม่มีหลักการอะไรถูกแล้ว" เขาบอกว่า “ไม่ใช่ๆ ที่ว่าผิดเนี่ย มันผิด tense น่ะ -- นิจ จะ แล้ว วัน ได้ไง... ต้อง นิจ จะ วิน ถึงจะถูก” เราต้องใช้เวลาคิดแป๊บนึงถึงจะถึงบางอ้อ คือ เขาหมายถึงว่า "นิจ will won" ไม่ได้ ผิดไวยกรณ์อังกฤษ เพราะ verb ที่ตามหลัง "จะ" ต้องเป็น verb ช่อง ๑ เพราะฉะนั้นที่ถูกต้องเป็น "นิจ will win" แล้วแปลงกลับมาเป็น "นิจจะวิน" เราก็ขำ แหม… เข้าใจคิด พอมาเมื่อวานนี้ได้ e-mail จากพี่ที่ทำงาน เขาจะขอให้เราช่วยทำงานให้ ขึ้นต้นมาถึงก็ “Nitchawin” มาเลย เราเห็นแล้วหัวเราะกิ๊กออกมา คิดในใจ “แหม พี่... เห็นชื่อนิจผิดไวยกรณ์เลยแก้ให้ซะเลยใช่ไหมเนี่ย” ซักพัก พี่เขาเดินมา บอกว่า ขอโทษทีที่เขียนชื่อเราผิด :-)