Bangkok Tour
04/07/01 ::Note:: มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบ้านของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปอ่านได้ที่นี่

ในที่สุดก็ได้ไปเยี่ยมชมบ้านของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะอาทิตย์นี้ไม่ได้กลับบ้าน มีเรียนทั้งวันเสาร์ และวันอาทิตย์ (สอนชดเชยอาทิตย์ที่แล้วที่ไปงานรับน้อง) เราเรียนเสร็จเที่ยงครึ่ง ก็มากินข้าวกับพวกพี่ๆ ที่ลาดกระบัง เนื่องในโอกาสที่พี่หนิงจะกลับไปอยู่บ้านที่ยะลาเป็นการถาวร และจะรับปริญญา MBA กินกันเสร็จประมาณบ่ายสาม เราอยากไปดูหนัง แต่เวลามีจำกัด ระหว่างขับรถกลับบ้านมาทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เลยนึกได้ว่า น่าจะและไปบ้านหม่อมฯคึกฤทธิ์ดีกว่า เพราะยังพอมีเวลา เขาเปิดให้ชมวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ๑๐ โมงเช้า ถึง ๕ โมงเย็น เก็บค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท โดยเขาก็จะมีมัคุเทศก์ที่เป็นนักศึกษาอาสาสมัครมาพาเดินชมและบรรยายประวัติต่างๆ

ในบริเวณบ้านของหม่อมฯคึกฤทธิ์มีเนื้อที่ ๕ ไร่ (ตอนที่มัคุเทศก์เขาบอก เรารู้สึกว่าไม่น่าเชื่อ เพราะมองดูจากด้านหน้าแล้วเล็กมาก) แบ่งเป็น ๓ ส่วนหลักๆ คือส่วนหน้า เป็นศาลาไทยหลังใหญ่ ส่วนตรงกลางเป็นหมู่เรือนไทยที่ใช้อยู่อาศัย และ ส่วนที่เป็นสวนด้านหลัง เขาพาเราชมโดยเริ่มจากศาลาไทย เป็นเรือนโล่งไม่มีผนัง ตรงกลางมีแท่นยกขึ้นมาเหมือนเป็นรูปตัว T ตรงปีกซ้ายขวามีตู้กระจกใส่หัวโขนวางแสดงอยู่ ตรงกลางเป็นโต๊ะหมู่บูชาและมีรูปหม่อมฯคึกฤทธิ์ติดอยู่ที่ผนัง เรือนนี้จะใช้เป็นที่รับรองลูกศิษย์ลูกหา และใช้ทำพิธีการไหว้ครูโขน นาฏศิลป์และดนตรี ทั้งสมัยที่หม่อมฯคึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน รอบๆ มีป้ายที่เขียนชีวประวัติ และของต่างๆ อย่างตู้ลายรดน้ำ ตั้งแสดงให้ชม

จากศาลาไทยด้านหน้าจะเป็นทางเดินผ่านสวนเล็กๆ ที่มีสระน้ำพุ และประดับด้วยต้นบอนไซ และไม้พุ่มเล็กๆ ต่างๆ ด้านข้างจะมีกำแพงศิลาแลงเตี้ยๆ ก่อขึ้นมาทั้งซ้ายและขวา ลักษณะการจัดวางแผนผังจะจำลองมาจากปราสาทหินแบบเขมร สวนนี้แต่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างศาลาไทยกับเรือนที่อยู่อาศัย ให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

ส่วนที่เป็นเรือนที่อยู่อาศัยเป็นเรือนยกสูง ใต้ถุนก็ใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ตามแบบบ้านไทยสมัยก่อน พอเราเดินมาถึงใต้ถุนของเรือนที่อยู่อาศัย ถึงได้เชื่อว่ามีเนื้อที่ ๕ ไร่จริงๆ เพราะมองไปด้านหลังเห็นบ่อปลา และเลยไปเป็นสวน สนามหญ้ากว้าง มีเรือนรับแขกที่เป็นศาลาหลังเล็ก เรียกว่า หอนก ที่ใต้ถุนตรงใกล้บ่อปลานี้มีโต๊ะเหมือนโต๊ะอาหารตั้งอยู่ซึ่งใช้เป็นที่อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ นั่งเล่น

จากใต้ถุนเรือน เดินขึ้นบันไดไปด้านบน จะมีเรือนแยกกัน ๕ หลัง เรือนที่อยู่ส่วนหน้า (ขึ้นไปจะอยู่ขวามือของบันได เพราะบันไดทางขึ้นอยู่ด้านข้าง) ตรงกลางเป็นเรือนที่เรียกว่า เรือนคุณย่า เป็นเรือนที่หม่อมฯคึกฤทธิ์ซื้อมาจากเสาชิงช้าในราคา ๒,๗๐๐ บาท ตอนที่เอามาประกอบเสร็จใหม่ๆ จะมีคนขับสามล้อ มาเคาะประตูขอเงิน โดยบอกว่า มีสุภาพสตรีชราเรียกให้มาส่งที่นี่ แต่ไม่ได้จ่ายสตางค์ เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ แล้วพอตอนที่มีการทำบุญเรือนหลังนี้ ก็มีคนเห็นสุภาพตรีชรามานั่งฟังพระสวดด้วย ก็เลยเล่าลือกันว่า เป็นเจ้าของเดิมที่มีความผูกพันกับเรือนนี้มากก็เลยตามมาอยู่ด้วย นี่เป็นที่มาว่าทำไมถึงเรียกเรือนนี้ว่า “เรือนคุณย่า” (กุ๊ก… กุ๊ก… กุ๊ก… กู๋… ) เรือนหลังนี้ใช้เป็นห้องสำหรับรับแขกพิเศษ (วีไอพี) เรือนที่ขนาบซ้ายขวาของเรือนคุณย่า ด้านหนึ่งจะเป็นหอพระ ซึ่งปัจจุบันนี้มีอัฐิของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เก็บอยู่ที่นี่ด้วย อีกด้านหนึ่งเป็นเรือนที่ใช้นั่งเล่น

ส่วนหลังเป็นเรือน ๒ หลังอยู่ตรงกันข้ามกัน เรือนหนึ่งเป็นห้องสมุดส่วนตัว ที่เก็บหนังสือที่ท่านใช้เรียนสมัยที่ประเทศอังกฤษ และหนังสืออื่นๆ เป็นเรือนเดียวที่ติดแอร์ บางทีก็จะใช้เป็นที่รับแขก หรือพูดคุยสนทนาในเรื่องที่เป็นความลับ อีกเรือนหนึ่งที่เป็นเรือนนอน เป็นลักษณะที่เรียกว่า เรือนกระดาน ๓ ห้อง ห้องซ้ายจะเป็นที่แต่งตัว ห้องกลางเป็นที่ที่เดินเข้าไปเป็นที่แรก ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ส่วนตัว เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังดนตรี มีมุมที่ใช้ชงน้ำชากาแฟ ห้องขวามือเป็นห้องนอน และมีแอบๆ อยู่ในส่วนที่เป็นห้องนอน จะมีห้องน้ำ ที่ทำเป็นแบบสมัยใหม่ มีชักโครก อ่างล้างมือ และ กํ้นเป็นห้องกระจกเล็กๆ มีฝักบัวอาบน้ำ นับเป็นห้องที่ทันสมัยที่สุดที่มีในบรรดาเรือนหลายๆ หลัง

ตรงบริเวณที่เป็นทางเดินเชื่อมเรือนหลังต่างๆ ก็จะมีต้นไม้ประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นไม้ที่มีบรรยายอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เราก็ไม่ค่อยได้ดูละเอียดเพราะอากาศร้อนมาก และ พอดีเจอคนรู้จักก็เลยทักทายกันเล็กน้อย แล้วเราก็เดินลงมา เดินอ้อมบ่อปลาไปนั่งพักที่บริเวณสวนด้านหลัง ก็ไม่ได้ดีขี้นเลย เพราะอากาศอบอ้าวมาก ไม่มีลมเลย แต่พอมองไปบนท้องฟ้าถึงได้รู้ ว่ามันเป็นอากาศอบอ้าวก่อนฝนตก เรางัดเอากล้องถ่ายรูปที่มีฟิล์มค้างอยู่เมื่อชาตืที่แล้วมากดๆ ไป ๓-๔ รูป ไม่ได้หวังว่ามันจะดีเด่นอะไร เพราะเราถ่ายรูปไม่เก่ง แต่อยากถ่ายเก็บไว้ แล้วก็อยากใช้ฟิล์มให้หมดๆ จะได้เอาไปล้างเสียที

เราร้อนจนเหงื่อตกซิกๆ เลยเดินมาที่ศาลาไทย เพราะตอนเข้ามาสังเกตเห็นว่ามีพัดลมเปิดอยู่ตามที่ต่างๆ ก็เลยมานั่งพักตากพัดลม เลยได้คุยกับมัคุเทศก์และได้ฟังเขาคุยกัน ได้เกร็ดความรู้มาว่า ตัวลิงในรามเกียรติ์ มี ๑๘ ตัว เป็นที่มาของคำที่ใช้เรียก พวกหลอกลวงต้มตุ๋นว่า “๑๘ มงกุฎ” และยังได้รู้ว่า หัวโขน ของ หนุมาน มีหลายแบบ ปกติจะเป็นสีเขียว แต่มีหัวสีทองด้วย ใช้สำหรับตอนที่หนุมานดีใจมีความสุข มีหัวที่เป็นตอนหนุมานครองเมือง จะเป็นสีขาว และ อีกหัวหนึ่งเป็นสีขาวเหมือนกัน แต่ไม่มีเครื่องทรงมงกุฏข้างบนเลย แต่แน่นอนว่าทุกสี จะมีแก้วอยู่ในปากเป็นสัญลักษณ์ เราได้ดูหัวโขนแล้วก็รู้สึกว่าสวยดี แต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์ต่างๆ ที่บอกว่า ใครเป็นใคร นอกจากนี้เราก็ได้รู้แล้วด้วย ว่า ไม่มีลิงที่ชื่อว่า นิลวรรณ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหนุมานหรือลิงตัวไหนๆ (ลูกของหนุมานชื่อ ”มัจฉานุ”) แต่มีลิงชื่อ นิลนนท์ (สีส้ม) กับ นิลพัท (สีน้ำเงินเข้ม) สรุปว่า พี่คนนั้นที่เคยเรียกเราว่า “นิลวรรณลูกหนุมาน” มั่วหาเรื่องว่าเราไปเอง ฮ่าๆ ในที่สุดก็หายข้องใจ