The Wedding Planner

ไม่ได้จะเขียนถึง เรื่อง The Wedding Planner ที่ เจ๊ J. Lo เล่นหรอกนะ แต่จะเขียนถึงละครหลังข่าวน่ะ พอดีตอนนี้ช่อง ๓ มีละครเรื่อง “เจ้าสาวมืออาชีพ” ไม่แน่ใจว่ามีการลอกเนื้อเรื่องกันหรือเปล่า เอาเป็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมากก็แล้วกัน คือ นางเอกเป็นคนรับจัดงานแต่งงาน ส่วนพระเอกเป็นนักการเมืองหนุ่มหล่อ รวย ที่กำลังจะแต่งงานกับคนที่พ่อแม่จะหามาให้ ก็เลยได้มาพบกับนางเอกและรักกัน คิดว่าเรื่องเป็นประมาณนี้นะ เราก็ไม่ค่อยรู้ละเอียดมาก เพราะไม่ได้ดูต่อเนื่อง เปิดมาเจอก็ดู แต่ปกติละครหลังข่าวก็ไม่ค่อยจะต้องดูต่อเนื่องอยู่แล้ว ดูต้นเรื่องก็เดาตอนจบได้แล้ว ต่อให้มีอุปสรรคขวางกั้นยังไงๆ ตอนหลังพระเอกก็ต้องมาแต่งงานกับนางเอกอยู่ดี

ใครๆ ก็รู้ว่า ละครหลังข่าวน่ะมันน้ำเน่าขนาดไหน แต่ไม่เข้าใจเลย น้ำเน่าก็น้ำเน่าไปเถอะ ไม่ว่าอะไรหรอก แต่ทำไมต้องตื้นเขินและไม่ประเทืองปัญญาขนาดนั้น คิดดูสิ ละครแทบทุกเรื่อง พระเอกจะต้องเลือกว่าจะแต่งงานกับใครดี ระหว่าง

ก. นางเอกที่สวย และแสนดีราวกับนางฟ้า ต่อให้ยากจนก็จะเป็นคนมีคุณธรรม ต่อให้อยู่ในสลัมชีวิตเธอก็ไม่เคยเปื้อนฝุ่นมัวหมองเหมือนตัวละครอื่นๆ

ข. ตัวอิจฉาที่มักจะพูดจาด้วย Volume ไม่ต่ำกว่า ๘ (จากสเกลเต็ม ๑๐) และมักจะทำหน้าตาถมึงทึงตาลุกโปนเวลาสนทนากับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระเอก โดยเฉพาะนางเอก

มันเป็นการตัดสินใจที่ยากมากเลยนะเนี่ย เป็นแบบนี้ทุกเรื่อง เขาคงคิดว่า ถ้าให้ตัดสินใจอะไรที่ยากกว่านั้น ให้เลือกระหว่างผู้หญิงแสนดี ๒ คน คงตัดสินใจไม่ได้ ยากเกินไป ต้องอาศัย Lateral Thinking ดีไม่ดีตัดสินใจไม่ได้พระเอกจะเปลี่ยนใจไปเป็นเกย์ซะก่อน เอาแบบนี้ดีกว่าเห็นชัดๆ ชัวร์ๆ แบบเนี้ยแหละ ต่อให้ไม่ใช้สมองยังไงก็เลือกถูก

เราว่าละครไทยมันค่อนข้างจะสะท้อนสังคมได้เหมือนกัน เหมือนเป็นภาพที่คนในสังคมมองชีวิตในอุดมคติ เราจะไม่ค่อยเห็นตัวละครในโทรทัศน์ที่เป็นคนรวยโก้หรูในสังคม ได้ทำงานอะไรจริงๆ จังๆ ถ้าจะมีฉากการทำงานบ้าง ก็จะเป็นตอนนั่งในห้องทำงาน รอให้เลขาเอาเอกสาร (อะไรก็ไม่รู้ ทั้งแฟ้มมีกระดาษอยู่แผ่นเดียวตลอด) มาให้เซ็น มีแต่งานสบายๆ ที่ได้เงินเยอะๆ ตีความได้ว่า คนเราต้องการที่จะมีชีวิตหรูหราร่ำรวย โดยไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครที่รวยขึ้นมาได้จากปาฏิหาริย์ มรดกเจ้าคุณปู่ ถูกล็อตเตอรี่ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจพันล้านที่ไม่ต้องคอยดูแล คนเราต้องทำงานหาเงิน และรู้จักบริหารใช้จ่ายเงิน การมีเงินแล้ว รวยแล้วก็ยังต้องทำงานต่อไป คิดว่าทำยังไงจะไม่ให้มันหมด

เรื่องของการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในละคร ก็สะท้อนความนัยที่น่าเศร้า ตัวร้ายแกล้งพระเอก/นางเอกต่างๆ นานา หวังจะเอาชนะด้วยกลโกงชั่วร้ายไร้คุณธรรม แสดงให้เห็นว่า สังคมของเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ (เช่น การพัฒนาตัวเองให้ดีเหนือคู่ต่อสู้) แต่กลับใช้วิธีสกปรกๆ ต่างๆ นานา ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วพระเอก/นางเอกซึ่งเป็นฝ่ายความดีจะชนะในที่สุด และตัวร้ายจะได้รับบทเรียนว่าความชั่วไม่มีทางชนะความดีได้ แต่มันก็ยังหมายถึงว่า เราไปมุ่งเน้นผลแพ้ชนะ เราอยากเห็นสังคมไทยอยู่กันโดยไม่ต้องแข่งขันกับใครนอกจากกับตัวเอง (Always Striving For the Best) ไม่จำเป็นต้องมีผู้ชนะคนเดียว แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะ นั่นคือ เวลามีปัญหาอะไร ก็พยายามแก้ปัญหาโดยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีฝ่ายใดต้องเดือดร้อน (Think Win-Win)

พูดเรื่องละครอยู่ดีๆ ไหงกลายมาเป็นเรื่องสังคมได้หนอ