Toll Fee

เดือนนี้ทางด่วนขึ้นราคาอีก ๒ บาท จากเดิม ๔๐ บาทเป็น ๔๒ บาท มีผลบังคับใช้ ๑ กรกฎคม ๒๕๔๓ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เขาออกมาประกาศว่า ไม่ได้เป็นการขึ้นค่าทางด่วน แต่เงิน ๒ บาทที่ต้องจ่ายเพิ่ม เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ๗% ที่เดิมการทางฯ เป็นผู้ออกให้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี การทางฯ ไม่สามารถรับภาระภาษีได้ จึง"คืนภาระภาษีให้กับประชาชน" เราอยากบอกว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง “เราไม่อยากรับคืน” คำว่า “คืน” มันน่าจะเป็นอะไรที่เป็นสมบัติ ที่มีคนยืมเราไป แล้วพอเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็นำมาคืน แต่กรณีนี้มันไม่ใช่ ความจริงคำที่น่าจะใช้มากกว่า คือ “ผลักภาระภาษีให้กับประชาชน”

การทางฯ เขาออกมาแก้ตัวต่างๆ นานา ว่า เขาจ่ายภาษีให้กับประชาชนมานานแล้ว ในขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นๆ อย่าง การไฟฟ้าฯ การประปาฯ เขาไม่ได้จ่ายให้ ประชาชนต้องรับผิดชอบภาษีเอง เป็นค่าบริการที่ประชาชนต้องจ่ายจริง แต่ไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนี้มีคนออกมาถกเถียงกันใหญ่ว่า การทางฯมีสิทธิขึ้นค่าทางด่วนหรือไม่ (การทางฯ ยังยืนยันต่อไปว่า ค่าบริการเท่าเดิม แต่ที่เพิ่มคือภาษี) หรือ การทางฯ มีสิทธิเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ (เพราะการทางได้จ่ายภาษีโรงเรือนในฐานะผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประกอบกิจการให้ผ่านทาง) มีการยื่นฟ้องศาลปกครองให้สั่งให้การทางฯยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เขาบอกว่า ถ้ามีการสั่งการจริงๆ การทางฯจะต้องคืนเงิน ๒ บาทที่เก็บจากประชาชนไป ในระหว่างนี้ก็ให้ประชาชนเก็บใบเสร็จไว้ เพื่อเอามาแสดงถ้ามีการสั่งให้คืนเงินได้จริงๆ แถมยังมีคนออกมาชักชวนให้ประท้วงการทางฯโดยไม่ใช้ทางด่วนเป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อให้การทางฯ ได้สำนึกว่าต้องขาดรายได้ไปเท่าไหร่ เพื่อแลกกับเงิน ๒ บาทที่อยากได้เพิ่ม

เราเป็นคนที่ใช้ทางด่วนเป็นประจำ คือ ทุกเช้าจะขึ้นทางด่วนไปทำงาน เพราะทำให้เราใช้เวลาในการเดินทางแค่ ๒๕ หรือ ๓๐ นาที แทนที่จะเป็น ๑ ชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงครึ่งถ้าไปทางราบ ส่วนขากลับนี่ก็แล้วแต่อารมณ์ ถ้าอยากถึงบ้านไวๆ ก็ใช้ทางด่วน ถ้ามีอารมณ์เสียดาย ๔๐ บาทก็ไปทางราบ ถามว่าเราเดือดร้อนไหมกับการขึ้นค่าทางด่วน เราไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ เพราะ เราจะใช้คูปองที่ซื้อเป็นเล่ม (เมื่อก่อน เล่มละ ๙๕๐ บาท มี ๒๕ ใบ นั่นคือ เราได้ประหยัดไปครั้งละ ๒ บาท พอมาตอนนี้เขาขายเล่มละ ๑,๐๐๐ บาท ก็ประหยัดไปได้ครั้งละ ๒ บาทเหมือนเดิม แต่เรายังไม่ได้ซื้อคูปองรุ่นใหม่ เพราะยังมีคูปองเก่าเหลืออยู่ ก็ยังใช้ได้ตามปกติ) ไม่ได้หยิบเงินจ่าย เพราะฉะนั้นเราเลยไม่มีการรับรู้ว่ามีการเพิ่มราคาซักเท่าไหร่ เพราะก็ยังหยิบคูปอง ๑ ใบเท่าเดิม แต่ที่บอกว่าไม่ค่อยเดือดร้อน คงเป็นเพราะ เราก็ยังคิดว่าการจ่ายเงิน ๔๐ หรือ ๔๒ บาท มันยังคุ้มกับการที่เราจะไม่ต้องเผชิญกับรถติดเป็นชั่วโมงๆ ถ้าให้เลือกได้ เราก็เลือกว่าไม่ขึ้นราคาดีกว่า แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ (และยังมีเงินจ่ายอยู่) ก็จ่ายไป ไม่ได้คิดจะไปประท้วงงดใช้ทางด่วนให้การทางฯ "รู้สึก" แต่อย่างใด

ตอนนี้ผลกระทบที่เรารู้สึกไม่ได้มาจากราคาที่เพิ่มขึ้นมากเท่ากับการที่รถจะติดมากขึ้นตรงด่านเก็บค่าผ่านทาง เมื่อก่อนเราแทบจะไม่ต้องรอคิว เพราะคนส่วนใหญ่มักจะจ่ายแบ๊งค์ที่พอดีกับค่าผ่านทาง หรือถึงแม้จะต้องทอนเงิน ก็ไม่ได้เสียเวลามาก แต่พอเป็น ๔๒ บาท จะต้องมีการทอนเงินเป็นเหรียญๆ ส่วนคนที่จ่ายเงินพอดี เวลาจะจ่ายเงินให้ก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่งั้นเดี๋ยวเหรียญบาทหล่นกระเด็นกระดอน เท่าที่สังเกตจาก ๒-๓ วันที่ผ่านมา มีแถวสะสมที่ด่านพอประมาณ (พอทำให้เราต้องหยุดรอ ในขณะที่ปกติ บางทีเราแค่ชลอรถเพื่อยื่นคูปองให้พนักงาน แล้วก็ไปต่อได้เลย ไม่ต้องหยุดรถ) ไม่รู้ว่านานๆ ไปแล้วจะดีขึ้นหรือเปล่า

ความจริงตอนก่อนที่ค่าทางด่วนจะขึ้นประมาณ ๑ เดือน เราเคยคิดว่าจะซื้อคูปองมาตุนเอาไว้ แต่ปรากฏว่ามัวแต่ “ว่าจะๆ” อยู่นั่นแล้ว จนพอวันที่เราตั้งใจจะซื้อจริงๆ ซึ่งก็คือ ประมาณอีกอาทิตย์กว่าๆ จะถึงกำหนดขึ้นราคา เขาบอกว่าคูปองหมด (ดูเหมือนว่า ทุกๆ คนคงมีความตั้งใจเดียวกัน คือ กะจะประหยัด ๒ บาทที่จะเพิ่มขึ้นให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้) เราไม่ได้หงุดหงิดเรื่องที่การทางพิเศษฯ จะขึ้นค่าทางด่วน เท่ากับที่เราหงุดหงิดเรื่องคูปองหมด เพราะพอถัดมาอีก ๒-๓ วัน เขาก็บอกว่ามีคูปองมาขายแล้ว แต่เป็นราคาใหม่นะ เราว่ามันเป็นการโกงกันชัดๆ เป็นการฉวยโอกาสและเอาเปรียบผู้ใช้บริการ ในเมื่อมันยังไม่ถึงกำหนดการใช้ราคาค่าทางด่วนใหม่ที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางทฤษฎีแล้ว การทางไม่มีสิทธิเก็บเงินค่าภาษีตรงนี้ (เราว่าน่าจะผิดกฏหมายด้วยซ้ำ) และผู้ใช้บริการจะต้องสามารถจ่ายเงินในราคาเดิมรวมทั้งการซื้อคูปองได้จนถึงวันสุดท้ายของเดือนมิถุยายน แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่บ่นให้เก๋ฟังว่า "เนี่ยดูสิ ทางด่วนทำแบบนี้ มันโกงประชาชนชัดๆ" เก๋บอกว่า "ใช่ๆ แกไปโวยเลยสิ" โห... จะให้ไปโวยที่ไหนละเนี่ย :-(

เรารู้สึกว่าหลายๆ ครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเรา ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างนี้เวลาที่มีการขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการต่างๆ ดูอย่าง ราคาน้ำมัน ก็ได้ เวลามีการขึ้นราคา เขาจะปรับราคาขึ้นตั้งแต่เที่ยงคืนเลย คือตั้งแต่ย่างเข้าวันใหม่ของวันที่ราคาใหม่มีผลบังคับใช้ แต่พอมีการลดราคา เขาจะรอไปสายๆ บ่ายๆ เย็นๆ โน่น (แล้วแต่ความงกของเจ้าของปั๊ม) แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มาก ได้แต่บ่นๆ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอะไรอื่น

เฮ้อ จบเรื่องบ่นๆ ดีกว่า มาพูดเรื่องอื่นกันเถอะ วันก่อนเราสังเกตเห็นป้ายห้ามจอดรถซ้อนคันที่ห้างเซ็นทรัล เขาเขียนว่าอย่างนี้

ห้ามจอดรถซ้อนคัน

๑. ท่านอาจมีปากเสียงกับเจ้าของรถคันที่ท่านจอดขวางอยู่

๒. รถของท่านอาจถูกเฉี่ยวชน

๓. รถของท่านอาจถูกล็อคล้อ

อ่านแล้วรู้สึกว่ามันแปลกๆ คือ แทนที่เขาจะเอาบทลงโทษของการฝ่าฝืนมาไว้บรรทัดแรก เขากลับเอาเรื่องของการมีปากเสียงมาก่อน ทำให้เราสงสัยว่า เขาคงไม่ได้ตั้งใจจะล็อคล้อจริงๆ ถ้ามีคนฝ่าฝืน หรือไม่เขาก็คงคิดว่า คนจะรู้สึกไม่อยากจอดรถขวาง เพราะไม่อยากมีเรื่องกับคนอื่น หรือกลัวรถตัวเองโดนเฉี่ยวชนเป็นรอย มากกว่าที่จะกลัวโดนล็อคล้อ ไม่รู้ว่าเราคิดประหลาดไปเองหรือเปล่า