Dyslexia

ไม่รู้ว่ามีใครเป็นอย่างเราบ้าง คือ จะชอบอ่านตัวหนังสือตามที่ต่างๆ แบบผิดๆ อย่างวันก่อน ไปกินอาหารบุฟเฟท์ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ห้องที่เราไปกินชื่อ “Bon Vivant” แต่วูบแรกที่เราเห็น เราอ่านว่า “Bon Jovi” หรือ ที่แม็คโดนัลด์ เราอ่านว่า ของแจกเดือนกันยายน รับฟรี “ยางลม” (ที่จริงมันคือ "ยางลบ" น่ะ) ที่คอนโดเราเขาเอาตู้ขายน้ำมาตั้ง เป็นตู้ให้เอาขวดน้ำมาใส่เอง จะราคาถูกกว่าพวกน้ำโพลาริส เขาติดโฆษณาไว้ว่า "ปั้นน้ำให้เป็นลม" นี่คือตามที่เราอ่านนะ ที่จริงเขาเขียนว่า “ปั๊มน้ำให้เป็นเงิน” (อ่านไปได้ยังไงเนี่ย) หรืออย่างที่ร้าน Boots เขาเอาผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ FCUK มาขาย เราผ่านไปเห็น คงพอเดาได้นะ ว่าเราอ่านผิดเป็นอะไร.. :-)

เมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ถ้าอ่านอะไรไปแล้วรู้สึกว่ามันทะแม่งๆ ขัดต่อสามัญสำนึก ก็จะย้อนกลับไปอ่านใหม่ ก็จะรู้ว่า อ๋อ… อ่านผิดน่ะ แต่ตอนหลังเราได้มาอ่านบทความ (จำไม่ได้อีกแล้ว ว่าจากที่ไหน ระบบความจำของเรานี่มันไร้ระเบียบสิ้นดี) และหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ล (The Vicar of Nibbleswicke) ถึงได้เริ่มสงสัยตัวเองว่า การที่เราอ่านผิดบ่อยๆ มันอาจจะไม่ได้เป็นแค่ความเลินเล่อหรือรีบร้อนในการอ่าน แต่มันอาจเกิดจากความบกพร่องของการแปลภาพ (ตัวหนังสือ) ที่เราเห็นไปเป็นความหมาย (คำอ่านที่เข้าใจได้) ที่เรียกว่า Dyslexia ซึ่งจะมีทั้งการที่ไม่สามารถสะกดคำได้ อ่านกระโดดข้ามคำหรือบรรทัด อ่านคำหรือบรรทัดซ้ำ ฯลฯ

ถึงแม้ Dyslexia จะเกิดจากความผิดปกติในสมอง และมีผลแต่กับความสามารถในการอ่านเขียนเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อสติปัญญาของคน คือ คนที่เป็น Dyslexia อาจมี IQ สูงและประสบความสำเร็จก็ได้ นอกจากนี้ เราได้อ่านบทความใน Time มีนักวิจัยออกมาพูดว่า เขาคิดว่าลักษณะของภาษาอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการอ่านของคนที่เป็น Dyslexia ด้วย คือ ถ้าภาษาที่มีความซับซ้อนในการเขียน คนที่เป็น Dyslexia จะมีปัญหาในการอ่านมากขึ้น

เขาได้ทำวิจัยกับคนที่พูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และ อิตาเลี่ยน พบว่า คนพูดอังกฤษหรือฝรั่งเศส มีอัตราของคนที่เป็น Dyslexia มากกว่าคนที่พูดภาษาอิตาลีถึง ๒ เท่า เพราะ ลักษณะของคำอ่านของภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสมีความซับซ้อนมากกว่า เขาแจกแจงออกมาว่า ภาษาอังกฤษมีวิธีการสะกดถึง ๑,๑๒๐ แบบ สำหรับเสียงสระและพยัญชนะ ๔๐ เสียง ในขณะที่ ภาษาอิตาเลียนมีเพียง ๓๓ วิธีการสะกดสำหรับ ๒๕ เสียง ดังนั้นมันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่เป็น Dyslexia ในการจะอ่านคำว่า Pint (ไพนท์) หรือ Mint (มินท์) ให้ถูก ถ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

เขาบอกว่า คนอิตาเลี่ยนที่เป็น Dyslexia อย่างอ่อนๆ อาจไม่รู้ตัว ว่าตัวเองเป็น Dyslexia เพราะจะไม่รู้สึกว่ามีปัญหากับการอ่านเขียนแต่อย่างใด แต่ในขณะที่คนอังกฤษที่เป็น Dyslexia ในระดับเดียวกัน (เทียบจากความผิดปกติของสมอง) จะมีความยากลำบากในการอ่านเขียนภาษาอังกฤษมากกว่ามาก เราว่าภาษาไทยน่าจะจัดเป็นภาษาที่มีสร้างความสับสนในการอ่านค่อนข้างน้อย แต่อาจเป็นเพราะมันเป็นภาษาของเราเอง :-)

หลังจากรู้เรื่อง Dyslexia มาคร่าวๆ แล้ว เรามาสังเกตตัวเองมากขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่าเราอาจจะเป็น Dyslexia อย่างอ่อนๆ เพราะเราจะอ่านผิดบ่อยๆ แต่ไม่ใช่อ่านไม่ออก เก๋บอกว่า เราคิดมากไปเอง เราก็พยายามจะเชื่อ แต่วันก่อนเรากำลังเรียนๆ อยู่ เป็นวิชาเกี่ยวกับธรุกิจน่ะ อาจารย์เขาก็สอนไป เราก็จดตามว่า “การระดมทุนสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยม คือ การกู้เงิน เพราะมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้สามารถเอาไปหักษาภีได้…” แล้วก็ร้อง เฮ้ย! ในใจ เราจดไปแบบนั้นจริงๆ เอาไปหัก “ษาภี” ได้ ทำเอาชักจะปริวิตกเล็กน้อย ตกลงนี่เราไม่ได้เป็นเฉพาะอ่านนะเนี่ย ตอนนี้เขียนก็เป็นด้วย เฮ้อ!!! ต่อไปใครยืมเล็คเชอร์เราไปอ่านคงต้องเป็นงงแน่ๆ เลย

มีคนบอกเราว่า อาการอีกอย่างหนึ่งของ Dyslexia คือการมองวัตถุสลับมิติ คือมองความเว้ากับความนูนสลับกัน (คนที่เคยมองรูปปริศนารูปกล่อง ๓ มิติ ที่สามารถมองเป็นกล่องมีช่องบุ๋มลงไปหรือนูนออกมา คงพอจะนึกออก ว่าเราสามารถมองวัตถุให้เว้าหรือนูนได้ ขึ้นอยู่กับการที่สมองจะแปลภาพออกมา) เราลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ Dyslexia ในขณะที่เขียนนี่ แต่ไม่เจอว่าเขา list อาการสลับมิติเป็นหนึ่งในอาการของ Dyslexia มีแต่อาการมองสลับซ้ายเป็นขวา หรือกลับหัวกลับหาง การจำตัวเลขสลับไปมา

ถึงแม้ว่าอาการที่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ Dyslexia หรือไม่ หรือเราจะเป็น Dyslexia หรือไม่ก็ตาม แต่เรารู้สึกว่าการแปลภาพในสมองของเราคงไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ เพราะนอกจากอ่านตัวหนังสือผิดๆ ถูกๆ แล้ว เราเพิ่งมานึกได้ว่า เรามีความผิดปกติในการมองมิติด้วย อย่างเช่นว่าเราจึงไม่สามารถมอง ภาพ 3 มิติ Magic Eye ได้เหมือนคนอื่นๆ เพราะเราสามารถเห็นมันเป็น 3 มิติจริงๆ แต่จะเห็นเป็นภาพที่บุ๋มลงไปแทนที่จะนูนขึ้นมา (or vice versa) แล้วบางทีเราก็จะงงๆ กับรูปร่างของวัตุว่าจริงๆ มัน นูนขึ้นมาหรือเว้าลงไป อย่างเมื่อวานไปดู Pearl Harbor ตอนฉากใกล้ๆ จบมีเครื่องบิน บินไปบินมา เราก็งงๆ ว่ามันบินเข้าหาตัวเราหรือออกจากตัวเรา อะไรทำนองนั้น

เฮ้อ… เขียนมาซะยืดยาวอย่างกับบทความทางวิชาการ ความจริงก็คือ จะหาข้ออ้าง (อีกแล้ว) กับการเป็นคนอ่านหนังสือเขียนหนังสือช้า และเป็นคนตาถั่ว มองอะไรผิดๆ ถูกๆ นั่นเอง :-)