Keyboard...
อารมณ์ดีขึ้นแล้วหละ ต้องขอบคุณหลายๆ คนที่ถามไถ่ และแนะนำวิธีต่างๆ มาให้ แค่ได้ยินว่ายังมีคนที่ปรารถนาดีต่อกันอยู่ ก็รู้สึกดีขึ้นมาตั้งเยอะแล้ว… :-)

สองวันที่ผ่านมา ไปดูหนังมา ๓ เรื่อง หายบ้าไปเลย (ชักเริ่มสงสัยว่า เป็น Filmaholic หรือ Movie Addict หรือเปล่า พอไม่ได้ดูหนังหลายๆ วันเข้า เลยลงแดง พาลเห็นอะไรๆ ขวางหูขวางตาไปหมด) สรุปว่า เวลาเซ็งๆ เนี่ยไปดูหนังดีที่สุด (ไปชอปปิ้งก็เปลืองตังค์ แถมอาจหลงซื้ออะไรโง่ๆ กลับมาอีก Impulse Buying ไง หรือถ้าจะหันไปหาชอคโกแลตหรือไอติม ก็อาจต้องมากลุ้มกะตัวเลขบนหน้าปัดตาชั่งอีก)

ไปดู Duets, Moulin Rouge แล้วก็ Memento มา ชอบทุกเรื่องเลย สนุกสนานต่างกันไปคนละแบบ (แต่หลังจากหนังเรื่องสุดท้ายที่เราดู คือ Tomb Raider หนังเรื่องไหนๆ ที่ดูต่อมาก็เป็นหนังดี ดูสนุกได้ทั้งนั้นหละ) Duets กับ Moulin Rouge ก็สนุกๆ ซึ้งๆ และไม่ทำให้ผิดหวัง ส่วน Memento เนี่ยแปลกดี… ดูออกมาแล้วยังต้องมานั่งคิดต่อว่าตกลงเรื่องจริงมันคืออะไรกันแน่

ปิยธิดาส่งอีเมล์มาขอความช่วยเหลือ บอกว่า ทำ Keyboard ภาษาไทยหาย… ซึ่งที่จริงหมายถึงว่า จากที่เคยพิมพ์ภาษาไทยได้ อยู่ๆ ก็พิมพ์ไม่ได้ เป็นเพราะพลาดไปทำอะไรไม่ถูกใจเจ้าคอมพิวเตอร์ที่ที่ทำงานเข้าให้ (ใครๆ ก็รู้ว่าคอมพิวเตอร์มันเอาใจยาก) ต้องบอกก่อนว่า ปิยธิดากับเรานั้นหัวอกเดียวกัน คือ ที่ทำงานใช้ Windows NT ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมันไม่ (จำเป็นต้อง) support ภาษาไทย เพราะงานที่ต้องทำมันเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ที่ต้องการใช้ภาษาไทยก็เพื่อเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า

การจะทำให้ Windows NT รู้จักภาษาไทยได้ เราต้องเข้าไป set ค่าบางค่าซึ่งคนที่จะทำได้จะต้อง log-in เป็น administrator เท่านั้น เราเป็นแค่ user กระจอกๆ แต่สามารถไปเสาะหา password ของ administrator มาได้ ก็เลยสามารถ set ให้เครื่องทำอะไรๆ เป็นภาษาไทยได้ ส่วนปิยธิดาน่ะเป็น THE administrator อยู่แล้ว ก็ set ได้เองเลยไม่มีปัญหา แต่ตอนที่ทำ Keyboard ภาษาไทยหายเนี่ย คงไปพลาดเปลี่ยนค่าอะไรไปโดยไม่รู้ตัว ปิคงคิดว่าเราจะช่วยได้ อุตส่าห์ e-mail ข้ามทวีปมาขอความช่วยเหลือจากเรา แต่ขอโทษทีเถอะ ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็แค่หางอึ่งเท่านั้นหละ

เรายังไม่ทันได้ตอบอีเมล์ ปิก็บอกมาว่าสามารถกู้ Keyboard ภาษาไทยกลับมาได้ แต่ปัญหาคือมันเป็น Keyboard ที่มี Layout แบบปัตตะโชติ Keyboard ภาษาไทยที่ใช้ๆ กันแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ เป็น Layout แบบที่เรียกว่า เกษมณี เราไม่รู้เหมือนกันว่า Layout แบบปัตตะโชติ มีการเรียงตัวอักษรบนแป็นยังไง แต่ปิไปหามาได้จากทาง internet บอกว่าลองใช้แล้ว ไม่ถนัด ไม่ชอบ แถมบอกว่าสงสัยต้องเลิกทำไดอะรี่ เพราะพิมพ์ภาษาไทยไม่ได้แล้ว ทำเอาเรากลุ้มไปด้วย โชคดีที่ในที่สุดปิก็สามารถเอา Keyboard แบบเกษมณีกลับมาได้ (ด้วยความสามารถของตัวเอง ส่วนนิจวรรณไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรเลย นอกจากรับฟังเธอบ่น…) ทำให้เรายังมีไดอะรี่อ่านต่อไปเรื่อยๆ :-)

เราเคยอ่านจากหนังสือหัดพิมพ์ดีดไทย (ที่ซื้อมาเพราะคิดว่าจะหัดพิมพ์สัมผัสภาษาไทยให้คล่อง ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังจิ้มดีดอยู่) เขาบอกว่า เขาคิดการวาง Layout แบบเกษมณีขึ้นมาก่อน และใช้กันมาหลายสิบปี แล้วก็มีคนทำวิจัยแล้วพบว่า การวาง Layout แบบเกษมณีมีข้อบกพร่อง และคิดปรับปรุงจนได้ Layout ที่เรียกว่า ปัตตะโชติ ซึ่งจะสามารถทำให้พิมพ์ได้เร็วกว่าเดิมถึง ๒๕% ช่วงนั้นประมาณปีพ.ศ. ๐๘–๑๖ เลยมีการให้พนักงานพิมพ์ดีดทั้งของเอกชนและของรัฐต้องไปฝึกหัดเรียนพิมพ์ดีดแบบปัตติโชติ แต่ความที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองช่วงนั้น ทำให้นโยบายนี้ถูกยกเลิกไป และการที่จะพิสูจน์ว่าพิมพ์ด้วยปัตตะโชติจะเร็วกว่าจริง ก็ต้องใช้ระยะเวลาฝึกให้ชำนาญเป็นระยะเวลานาน คนก็เลยหันกลับไปหา Layout แบบเกษมณี ทำให้เป็นที่นิยมถึงปัจจุบันนี้ และปัตตะโชติก็เลยไม่เป็นที่นิยมทั้งๆ ที่เป็น Layout ที่(น่าจะ) ดีกว่า

เราเคยได้อ่านเรื่องทำนองคล้ายๆ กันนี้กับ Keyboard ภาษาอังกฤษเหมือนกัน Keyboard แบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ เรียกว่า แบบ QWERTY (เรียกตามตัวหนังสือ ๖ ตัวแรกด้านซ้าย ของแป้นพิมพ์ที่เป็นตัวหนังสือแถวแรกของ Keyboard) ซึ่งเป็น Layout ที่จัดตามข้อจำกัดของการเคาะแป้นพิมพ์ดีดของเครื่องพิมพ์ดีดในสมัยก่อน เพื่อไม่ให้แป้นพิมพ์ที่ถูกดีดขึ้นมาเวลาพิมพ์เร็วๆ เกิดการชนกันหรือขัดกัน แต่พอเป็นยุค Electronic แล้วข้อจำกัดตรงนี้ก็จะหมดไป จะเห็นว่าหลังๆ นี้มีพวก Electronic Organiser อันเล็กๆ บางรุ่นที่ไม่ได้ใช้ Layout แบบ QWERTY แต่ใช้เรียงตามตัวอักษร (A B C D E…) แต่พอเป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย หรือเป็น Keyboard ของคอมพิวเตอร์ ก็จะต้องเป็นแบบ QWERTY อยู่ดี เพราะว่า คนส่วนใหญ่ได้หัดเรียนรู้ที่จะจำตำแหน่งของ Key และสามารถพิมพ์สัมผัสได้โดยไม่ต้องมองหา Key แล้ว ทั้งที่ความจริงการเรียง Keyboard แบบ QWERTY ก็คงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการพิมพ์เท่าไหร่

สรุปว่า คนเรามักจะชอบสิ่งที่ตัวเองเคยชินมากกว่า และไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนแปลงไปหาสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งใหม่ๆ นั้นอาจจะดีกว่าของที่เคยชินก็ตาม