Letter from a friend
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วได้รับจดหมายจากปิยธิดา รู้สึกว่าจะเป็นจดหมายจริงๆ ฉบับแรกที่ได้รับในปีนี้ (ไม่นับบรรดา Postcard ที่เพื่อนๆ ส่งมาให้ เวลาได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ที่จะได้รับประปราย แต่ปีนึงๆ นับยังไงก็ไม่เกินจำนวนนิ้ว ๒ มือ) ตอนเปิดอ่านก็มีอาการมือไม้สั่นเล็กน้อย ทั้งดีใจทั้งลุ้น (ไม่รู้จะลุ้นอะไร เพราะความจริงเราก็รู้จากปิ ก่อนหน้านั้นแล้วว่าปิเขียนจดหมายมาหาเรา) ใจหนึ่งก็อยากจะรีบๆ อ่าน เพราะอยากรู้ว่าเพื่อนเขียนอะไรมา อีกใจหนึ่งก็อยากจะอ่านช้าๆ เพราะนานๆ จะได้รับจดหมายซะที ดีใจ… อยากได้ดีใจนานๆ พออ่านจบแล้วก็อ่านซ้ำอีกรอบ… อีกรอบ… เนื้อความที่ปิเขียนมาก็เป็นการเล่าสารทุกข์สุขดิบไม่ต่างจากที่เราจะสามารถคุยกันทาง E-mail แต่อารมณ์มันผิดกันเยอะ ไม่รู้สินะ เห็นตัวหนังสือมันเรียงเป็นแถวๆ บนหน้ากระดาษแล้วรู้สึกดี

อ่านจดหมายปิ แล้วก็คิดต่อไปไกล คิดว่า คนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตจริงๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือ เพื่อนเราลายมือเปลี่ยนไป (ลายมือเราก็เปลี่ยน… มากด้วย เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง จากแย่มากกลายเป็นแย่มากที่สุด ซึ่งเป็นเหตุผลอันนึงที่เรามาเขียนอะไรๆ ที่ Diaryland มากขึ้น จากเดิมที่จะเขียนใน Diary ที่เป็นสมุดจริงๆ เพราะบางทีตัวเองยังอ่านไม่ออกว่าเขียนอะไรไป) อย่างอื่นๆ ก็เปลี่ยน อย่างเนื้อหาที่คุยกัน ถ้าเป็นตอนเด็กๆ เราก็คงคุยกันถึงความสนุกสนาน อนาคตอันสดใส แต่พอตอนนี้จะออกแนวปรับทุกข์ บ่นปัญหามากกว่า (ตอนเด็กๆ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าพวกคนแก่ๆ เอ้ย.. คนที่โตๆ แล้วเขาคุยอะไรกันมีแต่เรื่องชีวิต)

มองลึกๆ ลงไปกว่าเรื่องลายมือหรือเนื้อหาของจดหมาย เรารู้สึกว่ามุมมอง ความคิด การตัดสินใจ หรือการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตของปิก็เปลี่ยนไปจากปิคนที่เราเคยรู้จักเมื่อ XX ปีก่อน (XX ไว้ ให้คิดเล่นๆ ว่าเรารู้จักกันมานานขนาดไหน ความจริงคือมันนานมากจนน่าตกใจ ว่าเรา “เป็นผู้ใหญ่ขึ้น” ขนาดนี้แล้วเหรอ??) อันนี้ไม่ได้ดูจากจดหมายที่เพิ่งได้รับอย่างเดียว แต่ว่าสังเกตจากที่ได้คุยกันทางตัวหนังสือในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วย

จริงๆ จะว่าเปลี่ยนไปก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะเมื่อก่อนที่เรายังเจอหน้ากันบ่อยๆ เราก็ยังเด็กๆ กันอยู่ ความสนใจก็อย่างที่บอกแหละ มีแต่เรื่องสนุกสนาน ไม่ได้สนใจลึกซึ้งว่า เพื่อนเราจะมีแนวความคิด มีมุมมอง มีทัศนคติต่อชีวิตอย่างไร มารู้ตัวอีกทีหนึ่งเราก็แยกย้ายกันไปตามที่ตามทางที่แต่ละคนต้องไป

น่าประหลาดเหมือนกัน ที่พอกลับมาคุยกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากเวลาผ่านไปนานขนาดนั้น แต่เรารู้สึกว่ายัง"พูดภาษาเดียวกัน"อยู่ทั้งๆ ที่เรานึกไม่ออกว่าได้"พูด"กับปิจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่… (น่าจะเป็นตอนไหนซักตอนนึงสมัยที่เรายังเรียนที่ลาดกระบัง ซึ่งเราเดาว่า เราก็คงคุยกันไม่เกิน ๒-๓ ประโยค) โอกาสอย่างนี้มันไม่ได้เกิดบ่อยๆ ปกติมักจะเป็นว่า เพื่อนๆ ที่เคยอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ถ้าปล่อยให้ความสัมพันธ์ขาดช่วง มันมักจะกลับมาต่อกันยาก

เคยอ่านที่ไหนไม่รู้เขาบอกว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะ "ความขี้เกียจ" คือ คนเราถ้าไม่ได้คุยหรือติดต่อกับใครนานๆ พอกลับมาเจอกันใหม่ มาคุยกันใหม่ เราก็จะต้องเล่าเรื่องต่างๆ ให้เขาฟังมากมาย เพื่อ Update ว่าชีวิตเราไปถึงไหนแล้ว จะพูดถึงอะไรทีหนึ่ง ก็ต้องเกริ่นนำกันพอสมควร คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดอาการขี้เกียจเล่า แถมบางทีคนที่ฟังก็ขี้เกียจฟังด้วย นอกจากนี้ในชีวิตประจำวันที่รีบเร่ง เราก็มักจะมีข้อจำกัดที่เป็นสากลมากๆ คือ เวลา ไปๆ มาๆ ก็ตัดปัญหาโดยการไม่เล่า พอไม่เล่าก็กลายเป็นว่าไม่มีเรื่องจะคุยกัน พอไม่มีเรื่องจะคุย แล้วก็ห่างหายกันไป

นี่เป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนเรามักจะหันไปสนิทกับคนที่อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันมากกว่าพยายามจะรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนกลุ่มเดิม มีการเปลี่ยนคนสนิทไปเรื่อยๆ ตอนเรียนก็สนิทกับเพื่อนที่เรียน ตอนทำงานก็สนิทกับเพื่อนที่ทำงาน ตอนย้ายงานใหม่ก็สนิทกับเพื่อนที่ทำงานใหม่ เพราะเห็นกันทุกวัน จะปรับทุกข์อะไร ปล่อยมุขอะไร ไม่ต้องเกริ่นกันยาว มันง่ายกว่ากันเยอะ

เราไม่แน่ใจว่า ทำไมเรากับปิถึงกลับมาต่อกันติดได้ อาจจะเป็นเพราะเราไม่ขี้เกียจที่จะเล่าเรื่องต่างๆ (ทางตัวหนังสือ) และปิไม่ขี้เกียจที่จะฟัง(อ่าน) อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรจากปิมากไปกว่า การได้คิดถึงกันบ้างเป็นระยะๆ มีการโวยวายบ้างเวลาหายหน้าไป แต่ก็โวยไปตามนิสัยขี้บ่นมากกว่าจะเอาจริงเอาจังอะไร เรามานึกๆ ดูแล้วเหตุผลหลักจริงๆ น่าจะเป็นเพราะเราเป็นมนุษย์พันธุ์เดียวกัน (อย่างน้อยเราก็เกิดราศีเดียวกันแหละนะ) คิดอะไรคล้ายๆ กัน (นี่เราอาจจะคิดไปเองคนเดียวก็ได้ ปิอาจจะบอกว่า อะไร… อะไร… ใครว่าชั้นคิดคล้ายเธอ?) พอได้กลับมาคุยกันก็เลย… บิงโก!!!

เราว่ามันเป็นทั้งความบังเอิญและทั้งความโชคดี(ของเรา) ที่เราได้อีเมล์จากปิตอนที่เราอยู่ในอารมณ์อยากอวดไดอะรี่ของเรา ทำให้ปิ ได้มาอ่านเรื่องที่เราเขียน และทำให้เราได้ไปอ่านเรื่องที่ปิเขียน ทำให้ได้กลับไปพูดคุยกับเพื่อนคนเก่า… ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการค้นพบเพื่อนคนใหม่…



:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:
When someone didn't give you all you want, it doesn't mean that s/he didn’t give you all s/he could.
การที่ใครซักคนไม่ได้ให้ทุกอย่างที่เราต้องการ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ให้เราทั้งหมดเท่าที่เขาสามารถจะให้ได้
:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-: