Health and Safety Standard
วันนี้มาทำงานสาย ๑ ชม. เพราะมีอุบัติเหตุบนทางด่วน รู้สึกว่าเหตุการณ์จะเกิดตั้งแต่ตี ๔ ฉันจะขึ้นทางด่วนตอน ๗ โมงครึ่ง เขาไม่ให้ขึ้น บอกว่าให้อ้อมไปขึ้นทางด่วนขั้นที่ ๑ กว่าจะตะลุยรถติดไปขึ้นทางด่วน กว่าจะตะลุยบนทางด่วนที่กลายไปเป็นทางไม่ด่วน มาได้ ก็สายไป ๑ ชม. โชคดีที่โทรมาลานายไว้ก่อน เขาไม่ว่าอะไร แต่นิจวรรณต้องอยู่ทำงานชดใช้ตอนเย็น… เฮ้อ… -_-"

ในระหว่างที่ตะลุยรถติดก็พยายามฟังวิทยุช่องจราจร อยากจะรู้ว่าอะไร(วะ) ที่ทำให้รถติดจนฉันต้องมาทำงานสาย ได้ความว่ามีรถบรรทุกสารเคมีคว่ำในทางด่วนขั้นที่ ๒ ช่วงที่อยู่เหนือบริเวณหน้าโรงพยาบาลรามาฯ ทำให้กีดขวางทางจราจร มีสารเคมีไหลออกมานองพื้นถนน ฉันพยายามเปลี่ยนช่องวิทยุไปมาเพื่อหาข้อมูลให้ได้มากกว่านี้ แต่ปรากฏว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด (อีกตามเคย) ทำให้ได้ความไม่ครบ รู้มาเป็นส่วนๆ

มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาบอกให้ฟังถึงคุณสมบัติของสารเคมีตัวนี้ ว่าเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นสารที่สามารถติดไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งทางการหายใจ สัมผัส และรับประทาน วิธีกำจัดสารนี้คือให้ใช้ทรายดูดซับขึ้นมา แล้วอาจจะเอาไปไว้ในที่โล่งแจ้งมากๆ มันจะค่อยๆ ระเหยออกไป ก็จะไม่เป็นอันตราย ฉันพยายามฟังตั้งนานก็ไม่รู้ว่า สารตัวนี้ ที่เขาพูดถึงมีชื่อว่าอะไร เพราะไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้น และตลอดช่วงที่ฟัง เขาก็พูดแต่ว่า สารตัวนี้ๆ โดยไม่เอ่ยชื่อ…

ฟังต่อมา ก็ได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ไปจัดการในจุดที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บและทำลายสารเคมีตัวนี้ เพราะเขาเอาน้ำไปฉีดล้าง กลายเป็นว่าน้ำที่เปื้อนสารเคมีไหลลงมาตามตอม่อของทางด่วน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว อย่างหน้ากาก ถุงมือ หรือรองเท้ายาง อาจารย์ที่มาให้ความรู้เกรงว่าคนที่เข้าไปในบริเวณนั้นจะได้รับอันตรายจากการสูดไอระเหย และสัมผัสสารเคมี นอกจากนี้น้ำที่ล้างสารเคมีอาจจะไหลไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะ ก็มีการเตือนกันว่า ชาวบ้านที่อยู่แถวๆ นั้นต้องงดใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ

มาคุยกับคนที่ทำงาน มีคนหนึ่งเขาเคยทำงานเกี่ยวกับพวก ISO เขาบอกว่า ความจริงถ้าเป็นไปตาม ISO แล้วคนขับรถจะต้องรู้ว่าสารเคมีที่ตัวเองบรรทุกมามีความอันตรายอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ต้องมีการจัดการกับสารอย่างไร ป้องกันตัวเองและผู้อื่นอย่างไร อย่างง่ายที่สุดคือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องรีบติดต่อบริษัทของตัวเอง ซึ่งบริษัทนั้นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้มาจัดการเก็บและเคลื่อนย้ายสารเคมีออกจากบริเวณเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมาจัดการกับอุบัติเหตุเองก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างไร แต่ปรากฏว่า เราไม่เคยมีกฏเกณฑ์ขั้นตอนอะไรเขียนไว้ ก็เลยกลายเป็นว่าเอาคนที่ไม่มีความรู้มาจัดการ ก็กลายเป็นปัญหาและอันตรายต่อๆ กันมา

สรุปว่าเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเรา ไม่ได้มีความพร้อมในการจัดการกับอุบัติภัยต่างๆ เลย ที่ยังอยู่กันสุขสงบดี ไม่มีหายนะขึ้นเป็นเพราะ ชะตายังไม่ถึงฆาต โชคยังดีอยู่ ไม่ได้เป็นเพราะมีการวางแผนป้องกันหรือแก้ไข เคยได้ยินว่า รถดับเพลิงของเรา สามารถดับเพลิงได้สูงสุดประมาณ ๑๐ กว่าชั้น และเราไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะเข้าถึงชั้นที่สูงกว่านั้น แต่ตึกในกทม. มีเป็นร้อยๆ ตึกที่สูงยี่สิบสามสิบชั้น คิดดูว่าชีวิตพวกเราตกอยู่ในความเสี่ยงขนาดไหน

ฉันไม่ได้คิดว่าเมืองไทยเลวร้ายหรือไม่ดี เกิดที่นี่อยู่ที่นี่ ก็รักและภูมิใจกับที่นี่ ไม่ชอบที่จะได้ยินว่าบ้านเรายังไม่พัฒนาไม่เป็นอารยประเทศ แต่ถ้าวัดจากคุณภาพชีวิต มาตรฐานของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฉันก็ต้องยอมรับว่า บ้านเรายังไม่พัฒนาจริงๆ