From Pubs and Bars to Discount Stores
เมื่อวานรื้อตั๋วหนังเก่าๆ ที่เก็บไว้ออกมาดู นับจำนวนหนังที่ดูไปเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคมปีที่แล้ว ดูไป ๔๑ เรื่อง (เฉลี่ย ๖ เรื่องต่อเดือน) ตั้งแต่มกราคมปีนี้ถึงปัจจุบัน ดูไป ๕๒ เรื่อง (เฉลี่ย ๖.๕ เรื่องต่อเดือน) เดี๋ยวเอาไว้ว่างๆ จะมาจัดหนังในดวงใจแต่ละเดือน

ช่วงนี้เขากำลังเถียงกันเรื่องนโยบายจัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทย เป็นนโยบายที่ออกมาเข้มงวดกับการปิดสถานบริการบันเทิงต่างๆ ที่ขายเหล้าให้ตรงตามเวลา (ตี ๒) การตรวจสอบไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่ากำหนด (๒๐ ปี) เข้าไปในสถานบริการเหล่านี้ และการตรวจสอบเกี่ยวกับยาเสพย์ติดต่างๆ ใครๆ เขาก็ออกมาชูจั๊กแร้สนับสนุนท่านรัฐมนตรีปุระชัยกันทั้งนั้น แต่พวกเจ้าของสถานบริการกับพวกคนที่ทำงานกลางคืน (นักร้อง ตลกคาเฟ่) ออกมาประท้วง แถมจะให้แก้กฏหมายให้ลดอายุของคนที่จะเข้าไปในสถานที่เหล่านี้จาก ๒๐ ปี เป็น ๑๘ ปี และจะให้ขยายเวลาเปิดบริการออกไป เป็นตีสี่ ตีห้า หกโมง…

เป็นเรื่องของผลประโยชน์อีกแล้ว สงสัยว่าคนพวกนี้เข้าไม่มีลูกไม่มีหลานกันหรือไง ลองนึกดูว่าถ้าถ้าเป็นลูกหลานของตัวเอง อยากจะให้เข้าไปเที่ยวกันไหม จะให้อยู่เต้นรำ ดื่มกินกันให้สว่างคาตาไหม เขาว่าเด็ก ๑๘ ปี มีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว คือโตแล้ว รัฐมนตรีปุระชัย พูดว่า เราจะเอาไปเปรียบเทียบกันต่างประเทศไม่ได้ ว่าเขากำหนดแค่อายุ ๑๘ ปี ที่เมืองนอกเด็กอายุ ๑๔-๑๕ เขาทำงานหาเงินได้แล้ว เด็กบ้านเรา อายุ ๑๘ ยังแบมือขอสตางค์พ่อแม่อยู่เลย (บางคนอายุจะสามสิบแล้วก็ยังขอสตางค์พ่อแม่อยู่บ้างเหมือนกัน... อ่ะนะ)

เขาบอกว่า "นโยบายการจัดระเบียบสังคมที่มีขึ้นก็เพราะ เวลานี้เยาวชนไทย แทบจะไม่เหลือไว้ให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีอีกต่อไป เพราะถูกยาเสพติดทำลายสมอง" โห.. พูดแรงนะเนี่ย แต่เราว่ามันเป็นความจริงมากๆ เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ได้มองการเสพย์ยาเป็นเรื่องน่ากลัวน่ารังเกียจเหมือนสมัยเรา เขามองเป็นเรื่องธรรมดาหรือเท่เสียด้วยซ้ำไป เด็กที่ติดยาไม่ใช่เด็กมีปัญหาครอบครัวแตกแยกอีกต่อไป แต่เป็นเด็กธรรมดาๆ มาจากครอบครัวอบอุ่น คิดแล้วท้อแท้กับอนาคตของชาติ ตอนนี้เขามีรณรงค์ตั้งโต๊ะ เซ็นชื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐมนตรีปุระชัย มีการให้ติดริบบิ้นขาว เปิดไฟหน้ารถเพื่อสนับสนุน (นึกถึงตอนที่เขามีการให้ติดริบบิ้นเขียว กับเปิดไฟหน้ารถ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับสสร. ที่มีท่านอดีตนายกฯ อานันท์เป็นประธาน) เราเห็นจะต้องไปหาริบบิ้นขาวมาติดบ้างเสียแล้ว

เมื่อวานไปซื้อของที่เทสโกโลตัสเป็นครั้งแรกในรอบ…อืมม์... นานจนไม่รู้ในรอบกี่เดือน… อาจจะเป็นปีด้วยซ้ำ เดินหยิบของไปก็รู้สึกผิดไป เหมือนกลืนน้ำลายตัวเอง พี่เต่า (รุ่นพี่ลาดกระบังที่เป็นอาจารย์สอนเราตอนป.ตรีด้วย) เคยพูดให้ฟังว่า โลตัสโดนซื้อโดยเทสโก และมีนโยบายค่อยๆ รุกคืบ จากตอนแรกที่ยี่ห้อเป็นโลตัส ก็มีเทสโกโผล่มา ๑/๔ เทสโกอยู่ข้างบน ค่อยๆ เบียดโลตัสลงมาเรื่อยๆ ตอนนี้เป็นเทสโกกับโลตัสอย่างละครึ่ง ต่อไปก็จะเหลือแต่เทสโกอย่างเดียว นั่นคือบริษัทตกไปอยู่ในมือต่างชาติทั้งหมด เราก็รู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่แฟร์ คือผู้มีอำนาจรุกรานผู้ไม่มีทางสู้

ตอนนี้ยิ่งมีพวกบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิด Discount Store Superstore กันให้ฮึ่ม คนก็ชอบไปซื้อเพราะราคาถูก (แต่หารู้ไม่ว่าบางทีมันก็ทำให้เราซื้อของเกินความจำเป็น อย่างกรณีที่เขาขายขนาดใหญ่ๆ หรือขายยกแพ็ค) พวกร้านค้าย่อยๆ ก็เจ๊งกันหมด เราก็เลยรู้สึกต่อต้านร้านค้าพวกนี้ เราพยายามที่จะไม่เข้าร้านพวกนี้ แต่ในที่สุดความตั้งใจก็ล้มไป

เมื่อวานจึงเดินซื้อของด้วย ๒ ความรู้สึก หนึ่งคือผิดหวังตัวเองที่ดันกลืนน้ำลายตัวเอง สองคือสงสารและหมดหวังแทนผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคนไทย เห็นสภาพร้านและการจัดวางของแล้ว (ใหญ่โตโอ่โถง ความรู้สึกไม่ต่างจากตอนเดินในซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษหรืออเมริกา) บอกตามตรงว่าไม่ต้องคิดจะไปสู้กับเขาเลย ไม่มีทาง ไม่เจ๊งวันนี้ วันหน้าก็ต้องเจ๊ง ไม่มีทุนหนาๆ มาสู้กับเขา มันเหมือนมดจะสู้กับยักษ์น่ะ แล้วดูจาก Operation แล้วยิ่งหมดกำลังใจ ห้างใหญ่ๆ เขาขายกันโครมๆ วันนึงยอดเป็นแสนๆ ล้านๆ ร้านโชห่วยปากซอยขายได้วันหนึ่งกี่สตางค์กันเชียว ต่อไปก็ต้องเลิกขาย เซ๊งร้านให้คนอื่นมาเปิดเป็นเซ่เวนอีเลฟเว่น(ซึ่งก็เป็นแฟรนไชส์ของต่างชาติอีกนั่นแหละ)หรือร้านอินเทอร์เน็ท

เคยอ่านที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในมติชนว่า คนสมัยนี้เขาซื้อของไม่เหมือนสมัยก่อน เขาซื้อกันที่ราคา เอาถูกที่สุด ไม่ได้คิดถึงการไปจ่ายของที่ตลาดในฐานะของกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง สมัยก่อนไปตลาดก็จะได้รู้ข่าวคราวของคนในชุมชน การซื้อขายก็ไม่ได้ตีแค่ราคา หรือจ่ายกันเป็นเงินอย่างเดียว เราถูกใจใครก็ซื้อกับคนนั้น บางทีก็ได้ของฟรีติดไม้ติดมือกลับไปเพราะชอบพอกัน แต่สมัยนี้คนเราห่างกันมาก ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องไม่มี ถ้าไม่ได้ผูกพันธ์กันด้วยผลประโยชน์ก็กลายเป็นคนอื่น เป็นวัตถุนิยมมากขึ้น การซื้อขายจับจ่ายแบบเดิมๆ ก็หมดไป ถูกแทนที่ดัวยการเปรียบเทียบราคาของที่เศษสตางค์

เฮ้อ… บ่นอีกแล้วเรา ไม่รู้จะบ่นให้มันได้อะไรขึ้นมา เราไม่ใช่ตำรวจสังคม ไม่ใช่ตำรวจโลก ความจริงโลกอย่างที่มันเป็นก็อาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์ เราเองต่างหากที่ไม่รู้จักปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับมัน กลายเป็นคนตกยุค โหยหาแต่อะไรเก่าๆ ที่มันสูญพันธุ์ไปแล้ว…



7 ก.ย.:: วันนี้ฟังวิทยุ เขาสำรวจอกกมาว่า แม่บ้าน ๘๓% ชอบซื้อของที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่



Reality is that which, when you stop believing in it, doesn't go away--Philip K. Dick