Summer Break
ตอนนี้ปิดเทอมแล้ว นึกถึงตอนเด็กๆ สมัยที่ยังอยู่บ้านที่โรงไม้ บ้านโรงไม้เป็นบ้านหลังแรกของเรา จะว่าเป็นบ้านก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะตัวบ้านจะเป็นเหมือนตึกแถวมากกว่า คือเป็นห้อง สี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ ลึกๆ เข้าไป เป็นบ้านสองชั้นทำด้วยไม้ อยู่ริมคลองแควอ้อม ซึ่งเป็นคลองที่แยกออกมาจากแม่น้ำแม่กลอง ที่เรียกว่าบ้านโรงไม้เพราะบ้านเราขายไม้ สมัยก่อนเขาส่งไม้กันทางเรือ เรือบรรทุกไม้ลำใหญ่ๆ จะล่องมาจากทางเหนือตามแม่น้ำ ร้านขายไม้สมัยก่อนก็เลยต้องอยู่ติดริมแม่น้ำ

หน้าบ้านเราเป็นคลอง ข้างหลังเป็นสวนมะพร้าว สวนกล้วย สวนหมาก ฯลฯ พอตอนปิดเทอมจะมีกิจกรรมที่เราชอบมาก คือ ไปครอบจั๊กจั่น สมาชิกก็จะมีเรา เก๋ (พี่สาวเรา) ไอ้แอ๊ว (คนที่เรียกเราว่า นิจจัน ไง ความจริงเขาแก่กว่า เก๋ ประมาณ ๒ ปี แต่ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมเราถึงเรียกเขาว่า ไอ้แอ๊ว มีบางทีที่เรียกชื่อเฉยๆ แต่ก็จะไม่เรียกพี่ แม่เราไม่ค่อยชอบให้เรียกคนอื่นว่า ไอ้ หรอก แต่ว่าใครๆ เขาก็เรียกกันแบบนี้นี่นา) เล็ก (เพื่อนเก๋ ซึ่งที่จริงพวกเราก็เรียกกันว่า ไอ้เล็ก ตลกดีที่เราเรียกเด็กผู้หญิงว่า "ไอ้" ได้ ไม่ใช่คำหยาบ แต่เรียก "อี" ไม่ได้นะ หยาบคาย) และ บางทีก็จะมีอี๊ดพี่ชายของแอ๊วมาเป็นคนนำขบวนด้วย

พวกเราจะไปครอบจั๊กจั่นกันตอนปิดเทอมใหญ่ช่วงเดือนเมษาพฤษภา ซึ่งเป็นหน้าร้อน ในสวนจะมีจั๊กจั่นเยอะแยะ ส่งเสียงร้องจั่นๆๆๆๆ ดังลั่นไปหมด อุปกรณ์ที่จะต้องมีคือไม้ครอบจั๊กจั่น ที่พวกเราทำเองกันเอง โดยเอาลวดสีดำๆ ที่ที่บ้านเรามีขาย มาร้อยรอบๆ ปากถุงพลาสติกใบย่อมๆ ทำให้ตรงถุงมันโป่งๆ เหมือนกับตะกร้อสอยผลไม้ (ไม่รู้คนกรุงเทพฯ จะรู้จักตะกร้อสอยผลไม้กันหรือเปล่า หรือว่ารู้จักแต่ตะกร้อที่เอาไว้เตะกับตะกร้อที่เอาไว้ครอบปาก...) แล้วก็เอาถุงเนี่ยไปติดกับปลายไม้ยาวๆ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้รวกที่เก็บมาจากแถวๆ หลังบ้าน หรือเก็บจากที่มันลอยมาตามน้ำหน้าบ้าน

มีไม้ครอบจั๊กจั่นแล้วก็พร้อมเดินทาง เราจะเดินกันไปทางสวนหลังบ้าน ตอนแรกๆ ก็จะเดินตามทางถนนดินไปก่อน แล้วก็จะเลี้ยวเข้าไปตามท้องร่องสวน เราไม่รู้หรอกว่าต้องไปทางไหน คนที่โตๆ กว่าเขานำไปทางไหนก็ไปกับเขา พอเข้าสวนแล้วก็ต้องมีการข้ามท้องร่อง บางสวนเขาใช้ต้นมะพร้าวหรือไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ ทำสะพานข้าม ก็เดินง่ายหน่อย แต่บางสวนใช้ต้นหมาก หรือลำไม้ไผ่ทำสะพาน ก็ต้องใช้ฝีมือ (ที่จริงคือฝีเท้าหรือเปล่า) บวกกับความสามารถในการรักษาสมดุล

แต่ที่ลำบากสุดก็คือการข้ามท้องร่องที่ไม่มีสะพาน ต้องกระโดดข้ามเอา ถ้าร่องไม่กว้างมาก เราพอกระโดดข้ามได้เอง แต่บางสวนก็ร่องกว้างมาก (สำหรับเด็กอายุ ๖-๗ ขวบ เรามานึกว่า ที่บางสวนเขาไม่มีสะพานข้ามคงเป็นเพราะท้องร่องมันไม่กว้างมากสำหรับผู้ใหญ่ เขากระโดดข้ามกันได้สบายๆ) ก็ต้องมองหาว่าจะไปกระโดดตรงช่วงไหนที่จะเป็นทำเลดีๆ ข้ามได้ง่าย เช่น เป็นช่วงที่แคบที่สุด มีที่ราบให้ตั้งหลักในการวิ่งก่อนกระโดดข้าม หรือ เป็นช่วงที่มีตลิ่งต่ำ เวลาข้ามไปแล้วสามารถเกาะตรงตลิ่งแล้วปีนขึ้นไปได้ ทุลักทุเลกันพอดู ส่วนใหญ่ก็ข้ามกันไปได้ แต่ถ้าเห็นท่าว่าจะกระโดดข้ามกันไม่ไหว ก็เดินย้อนกลับหรือเปลี่ยนเส้นทาง เพราะเราก็ไม่ได้มีกำหนดกฏเกณฑ์อะไรว่าต้องไปทางไหนๆ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เรากระโดดพลาด ตกลงไปในท้องร่อง เสื้อผ้าเปียกหมดเลย แต่ที่ร้ายที่สุด คือ เราดันใส่รองเท้าแตะฟองน้ำแบบคีบๆ อยู่ด้วย ก้นท้องร่องมันจะเป็นโคลนเละๆ เท้าของเราพร้อมรองเท้าเจ้ากรรมก็จมลงไปในโคลน เราพยายามยกเท้าขึ้นมาเท่าไหร่ๆ ก็ไม่สำเร็จเพราะโคลนมันดูดรองเท้าไว้แน่น ในที่สุดพุทธิปัญญาก็บังเกิด ว่าต้องเอาเท้าออกจากรองเท้าก่อน แล้วก็ค่อยๆ เอามือลงไปควานๆ แล้วดึงรองเท้าขึ้นมา กว่าจะดึงทึ้งขึ้นมาได้ หูรองเท้าเกือบขาด วันนั้นมอมแมมกลับบ้าน แต่ไม่ได้บอกใครว่าที่มอมแมมขนาดนั้นไม่ใช่เพราะตกท้องร่อง แต่เป็นเพราะต้องงมเอารองเท้าขึ้นมา ได้บทเรียนว่า เวลาจะกระโดดข้ามท้องร่องให้ถอดรองเท้าออก แล้วโยนข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยโดด ถ้าพลาดท่าตกลงไป จะได้ไม่ต้องงมรองเท้า

ในระหว่างเดินไปก็จะมองหาจั๊กจั่นตามต้นไม้ จั๊กจั่นตัวผู้จะเป็นที่ต้องการมากกว่าตัวเมีย เพราะมันมีเสียงดัง ตัวเมียจะไม่มีเสียง ดูยังไงว่าตัวไหนตัวผู้ตัวไหนตัวเมียเหรอ ตัวผู้เนี่ยตัวมันจะป้อมๆ และก้นทู่ๆ (ถ้าเราบีบๆ ที่ก้นมันก็จะมีเสียงจั่นๆๆ ออกมา แต่ปกติเวลาที่มันส่งเสียงเองตามปกติ มันทำได้ยังไงก็ไม่รู้ เพราะไม่เห็นมีใครไปบีบก้นมัน) หน้ามันก็จะทู่ๆ ตาโปนๆ ส่วนตัวเมียตัวจะผอมๆ เรียวๆ และก้นแหลมๆ บีบก้นแล้วไม่มีเสียงดัง

ส่วนใหญ่จั๊กจั่นมักจะเกาะอยู่บนกิ่งไม้ที่ค่อนข้างสูง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีไม้ครอบจั๊กจั่น พอเจอเป้าหมาย เราก็จะเอาค่อยๆ เอาที่ครอบจั๊กจั่นครอบไป มันจะบินหนี ซึ่งจะเข้าไปในถุงพลาสติกพอดี ก็เสร็จเรา เราจะรีบสาวไม้ลงมา แล้วก็ค่อยๆ จับมันออกมา ถ้าเป็นตัวผู้ เราก็จะเก็บในถุงพลาสติกที่เตรียมไปด้วย พอกลับมาบ้านก็จะเอาด้ายยาวๆ มาผูกตัวมันไว้ แล้วปล่อยให้มันบินๆ เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยง แต่พอซักพักก็เบื่อก็จะปล่อยมันไป (มานึกๆ ดู เรานี่ทำบาปตั้งแต่เด็กๆ เลยอ่ะ)

ความจริงความสนุกของการไปครอบจั๊กจั่นมันคงไม่ได้อยู่ที่การจับมันกลับมาบ้านซักเท่าไหร่หรอก บางทีเราครอบมันลงมาจากต้นไม้ได้ หยิบมาดูว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ถ้าเป็นตัวผู้บีบก้นให้มันร้องจั่นๆๆ อาจจะเก็บไว้ซักพักแล้วก็ปล่อยมันไป ความสนุกมันน่าจะอยู่ที่การได้ใช้ฝีมือ สอดส่ายสายตาหา พอเจอก็ค่อยๆ ย่อง ค่อยๆ เอาไม้เข้าไปใกล้ ครอบมันให้ได้โดยไม่ให้มันบินหนีไปก่อน มากกว่า

ความที่เราเป็นเด็กที่สุดในกลุ่ม ก็จะครอบจั๊กจั่นไม่เก่งเท่าคนอื่น บางทีมันก็อยู่สูงเกินไป เอื้อมไม่ถึง หรือไม่เขาก็กลัวเราทำมันหนีไป เราก็จะคอยลุ้นคนอื่นอยู่ห่างๆ แต่เราก็มีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ การเก็บคราบจั๊กจั่น คือจั๊กจั่นเนี่ยมันจะลอกคราบทิ้งไว้ตามต้นไม้ คราบจั๊กจั่นจะเป็นเปลือกบางๆ สีน้ำตาลอมส้ม หน้าตาเหมือนตัวจั๊กจั่นอ่ะแหละ แต่มันจะมีแต่โครงข้างนอก แล้วก็มีรอยแยกตรงหลัง (เอ.. หรือว่าตรงท้อง? ชักไม่แน่ใจ) คือเป็นรอยที่ตัวจั๊กจั่นมันออกจากคราบไปตอนที่มันลอกคราบน่ะ เราก็จะเก็บใส่ถุง เอาไว้เล่นขายของ

มีคนบอกว่าคราบของจั๊กจั่นเอาไปทำยาได้ (แก้อะไรไม่รู้นะ) ถ้าเราเก็บได้เยอะก็เอาไปขายได้สตางค์ แต่ดูเหมือนกับว่าเขาจะรับซื้อกันเป็นกิโล กว่าจะได้กิโลนึงเราคงต้องเก็บคราบจั๊กจั่นทุกสวนทั่วทั้งตำบล ไม่ไหวแน่ๆ สู้เก็บเอาไปเล่นขายของดีกว่า เวลาเล่นก็จะเอามันไปบดๆ ในกะลาให้มันแหลกๆ ก็จะใช้เป็นหมูสับ ใส่ในก๋วยเตี๋ยว ซึ่งทำจากใบพู่ระหง (หรือว่าที่จริงมันคือใบของต้นชบากันแน่ เรารู้สึกว่าเราคงเรียก ๒ ต้นนี้สลับกัน ที่เราเอามาใช้ทำก๋วยเตี๋ยว คือ ต้นที่ดอกมันมีกลีบชั้นเดียวอ่ะนะ ไม่ใช่ต้นที่ดอกมีกลีบซ้อนๆ กัน) พอเอามาหั่นๆ เป็นเส้นๆ มันก็จะมีน้ำเหนียวๆ ออกมา ก็เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ โรยหน้าด้วยหมูสับคราบจั๊กจั่น หรือบางทีถ้าเก็บมาได้เยอะๆ เราก็จะเอามาบดๆ จนเต็มชาม (กะลา) ใช้เป็นข้าว มีกับข้าวเป็นใบพู่ระหง (อีกแล้ว)

นอกจากการจับจั๊กจั่น เก็บคราบจั๊กจั่น ก็จะมีการมองหาของกินบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝรั่งขี้นก ที่สมัยนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว (นอกจากตามเกสต์เฮ้าส์แถวตรอกข้าวสาร) จะเป็นฝรั่งลูกเล็กๆ เม็ดเยอะๆ เนื้อแข็งๆ รสฝาดๆ กินไม่อร่อยเลย แต่เวลาเจอต้นฝรั่ง ก็จะเก็บมากินกันอยู่เรื่อย ไม่รู้ทำไม แล้วถ้าโชคดีก็จะเจอมะปราง แต่มะปรางมันมักจะออกลูกอยู่สูงๆ ถ้ามีแต่พวกเราผู้หญิงๆ ไปกัน ก็มักจะไม่มีใครปีนขึ้นไปเก็บได้ ได้แต่แหงนหน้ามอง ตาปริบๆ แต่ถ้าอี๊ดไปด้วย เขาก็จะปีนขึ้นไปเก็บให้

ความจริงเราว่ามะปรางเนี่ยมันไม่ได้รสชาติเอร็ดอร่อยอะไรหรอกนะ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นมะปรางเปรี้ยวจี๊ด เก็บลงมาแบ่งกันคนละลูก ๒ ลูก กัดเข้าไปแล้วก็ทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวกัน แต่ตั้งอกตั้งใจกินกัน เวลาสมัยนี้เห็นมะปรางก็นึกไปถึงสมัยก่อน ที่กว่าจะได้มายากลำบากเหลือเกิน ยิ่งเป็นมะปรางหวานด้วยนะ ต้องฟลุคจริงๆ เราก็จะจำกันไว้ว่ามะปรางสวนนี้ต้นนี้หวาน ถ้าคราวหน้ามาทางนี้อีก ก็จะมองหา ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจำกันได้จริงๆ หรือเปล่า แต่เราน่ะจำไม่ได้หรอก แค่เดินไปในสวนแล้วกลับมาถึงบ้านได้ก็บุญแล้ว

เราจำไม่ได้ว่าเก็บผลไม้อะไรอย่างอื่นอีก แต่ดูเหมือนกับว่าเราจะไม่เก็บอะไรที่เขาจะเอาไปขายได้ อย่างมะม่วง มะละกอ ดูเหมือนกับมีคุณธรรมเล็กน้อย แต่ที่จริงอาจเป็นเพราะมันกินเลยไม่ได้ ต้องเอามีดปอก แล้วก็มีความเสี่ยงในการที่กำลังเก็บๆ อยู่แล้วเจ้าของสวนเขามาเจอแล้วโดนด่า แต่ก็มีบางทีที่เราเดินผ่านไปเจอเจ้าของสวนพอดี แล้วเขาบอกพวกเราว่า ผลไม้สวนนี้กินไม่ได้ เพราะเขาฉีดยาไว้

เราก็จะนึกภาพเลย ว่าเขาเอาเข็มฉีดยาจิ้มเข้าไปในลูกมะม่วงทีละลูก ทีละลูก แล้วฉีดยาเข้าไป เพิ่งมารู้ทีหลังว่าการฉีดยาผลไม้ คือการพ่นยาฆ่าแมลงตะหาก แต่จะฉีดยาแบบหมอรักษาโรคหรือแบบพ่นยาฆ่าแมลง ที่เราเข้าใจได้ถูกต้องคือว่ามันกินไม่ได้ ถ้ากินเข้าไปจะทำให้ตาย บางทีพวกเราก็รู้สึกว่า เจ้าของสวนเขาไม่ได้ฉีดยาจริงๆ หรอก แต่ต้องการจะขู่ไม่ให้พวกเราขโมยเก็บผลไม้เขากิน แต่ก็ไม่เห็นมีใครกล้าเสี่ยงลองเก็บมากินซักที