Suriyothai - the love story

ไปดูสุริโยไทมาแล้วหละ หลังจากที่เข้าฉายไปเป็นเดือนแล้ว คนอื่นๆ คงได้ดูกันเกือบหมดแล้ว ก็เรามัวแต่ติดอ่านหนังสือสอบอยู่อ่ะสิ อาทิตย์ที่แล้วว่าจะไปดูก็เห็นคนยังเยอะอยู่ ขนาดอาทิตย์นี้วันที่เราไปดูคนก็ค่อนข้างเยอะ แสดงว่าคงจะยังฉายไปอีกพักใหญ่

หึๆ ขึ้นต้นมาแบบนี้ ก็คงจะต้องมีคนถามว่า ดูมาแล้วเป็นยังไง? (แต่ถึงไม่มีคนถามเราก็จะบอกอยู่ดี ฮ่าๆ) อืมม์… ต้องบอกว่า "ดีกว่าที่คิดไว้เยอะ" เราได้ยินคนที่ไปดูแรกๆ ออกมาบ่นกันเยอะว่า ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะตัวละครเยอะ และมีชื่อเรียกเปลี่ยนไปตามยศที่ได้รับ ดูแล้วงงไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก็เลยเป็นกังวลหน่อยๆ เหมือนกันว่าเราอาจจะดูไม่รู้เรื่องเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าดูจบเราก็ไม่เห็นว่าจะไม่รู้เรื่องเลยนี่นา เคยเจอหนังที่ดูไม่รู้เรื่องมากกว่านี้ตั้งเยอะ แต่ก็อย่างว่าหละนะ ว่าคนที่เขาบอกว่าดูไม่รู้เรื่องน่ะ เขาอาจจะต้องการเอาเรื่องเอาราวจริงจัง แต่เราน่ะไม่ใช่ ดูหนังเอาความบันเทิง อย่ามาถามเรานะว่า พี่นกฉัตรชัย เขามียศมีตำแหน่งเป็นอะไรบ้าง เราไม่ได้ดูเอาเรื่องขนาดนั้น ก็เราความจำสั้นจะตายไป

หนังขึ้นต้นมาเชย (Cliche) เล็กน้อย คือ ความที่เขาคิดว่าคนทั่วๆ ไปคงรู้เรื่องของพระสุริโยไทมาแล้วคร่าวๆ (ถึงไม่รู้มาก่อน แต่ช่วงที่เขาประโคมโหมโฆษณาอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ต้องได้รับรู้มั่งหละ) เขาก็เลยรีบเอาตอนจบมาสรุปให้ดูก่อน (ว่าพระสุริโยไทตัดสินใจไปออกรบ แล้วถูกฟันบนหลังช้าง) แล้วก็ Flashback กลับไป ตั้งแต่สมัยพระสุริโยไทยังเด็กๆ (ทรงพระเยาว์ ?? เฮ้อ.. ขอเขียนภาษาธรรมดาๆ ดีกว่านะ) เด็กคนที่เล่นเป็นพระสุริโยไทตอนเด็กน่าตาน่ารักดีนะ แล้วก็คล้ายกับคุณต้นที่เล่นเป็นพระสุริโยไทตอนโตมากเลย เลือกตัวแสดงได้ดีจริงๆ

ชอบการถ่ายทำในหนังเรื่องนี้ ชอบแสงดูที่มลังเมลืองเหลืองอร่ามในหลายๆ ฉาก Production ก็ดีจริง ดูแล้วก็เข้าใจว่าเงินร้อยๆ ล้านที่ลงทุนไป (รวมทั้งค่าตั๋วอีก ๒๐ บาทที่เราต้องจ่ายเพิ่ม) มันหายไปไหน ในเรื่องมีพิธีกรรมอะไรต่างๆ ที่เราว่าน่าจะได้มีการพูดถึงเพื่อให้ได้เป็นความรู้แก่คนรุ่นหลังๆ แต่เขาก็ไม่ได้พูด เขาคงเดาเอาว่ามันเป็นพิธีกรรมในประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรู้และเข้าใจกันดี อย่างการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา (ใช่เรียกอย่างนี้หรือเปล่านะ (:update: ปิบอกว่าเขาเรียกว่า "ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา" นะ พอดีเราเห็นในหนังเขาต้องดื่มน้ำน่ะ ก็เลยเขียนว่าดื่มซะเลย อิอิ)) ที่ตอนเด็กๆ เราได้เรียนว่า คนที่จะเข้ารับราชการในวังหลวงจะต้องมีการดื่มน้ำ (รู้สึกสมัยนี้ก็ยังจะมีอยู่นะ หรือเปล่า?) เขาจะบรรยายว่าน้ำที่ดื่มจะมีหอกดาบศาตราวุธแช่อยู่ (ถ้าใครผิดคำสัญญา ก็จะต้องเป็นอันตราย มีอันเป็นไปด้วยหอกดาบทิ่มแทง อะไรประมาณนั้น) เราได้มาเห็นเป็นภาพในหนังนี่เอง

มีอีกหลายๆ ฉากที่เป็นแบบนี้ ถ้าดูแบบไม่ทันนึกก็ไม่มีอะไร แต่มาดูดีๆ เราว่าเขาเก็บรายละเอียดอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นความรู้ไว้พอสมควร แต่มานึกอีกทีเราว่าเขาก็ทำถูกแล้วเหมือนกัน ที่ไม่ได้นำประเด็นพวกนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าทำอย่างงั้นหนังเรื่องนี้อาจกลายเป็นสารคดีอิงประวัติศาสตร์ไป ไม่ใช่หนัง

ถ้าไม่ได้นึกว่านี่คือหนังอิงประวัติศาตร์ เราว่า สุริโยไทเป็นหนังรักโรแมนติกหละ ก็พระสุริโยไทนะหลงรักชอบพออยู่กับขุนพิเรนทรเทพ (ที่แสดงโดยพี่นก ฉัตรชัย … กรี๊ด… เอ้า เก๋ช่วยกรี๊ดหน่อย นิจยังจำได้นะว่า ตอนเรียนมัธยมเก๋พยายามจะแนะนำตัวเองว่า หนู..พีระดา "เปล่ง" พานิช ฮ่ะ) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องเห็นกันมาแต่เล็กๆ ถึงขนาดขุนพิเรนฯสัญญาว่า ถ้าพระสุริโยไทต้องการอะไรก็จะบากบั่นดั้นด้นหามาให้ ขอให้บอกมาเถิด

แต่พระสุริโยไทจำใจต้องมาแต่งงานกับพระเฑียรราชา (พี่ตั้วศรัญญูเล่นบทนี้ได้ดีที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพราะเราว่าเขาเล่นเรื่องไหนๆ บทไหนๆ ก็ไม่ยอมทิ้งความเป็นตัวเอง คล้ายๆ กับแจ็ค นิโคลสันอ่ะนะ เล่นเรื่องไหนๆ ก็ยังมีบุคลิกของตัวเองตามไปทุกเรื่อง) ที่เป็นลูกของกษัตริย์ ตอนแรกพระสุริโยไทก็ถึงขนาดไม่ชอบหน้า ไม่ยอมมาออกมาพบ แต่คงเป็นเพราะความผูกพันธ์ บวกกับความเชื่อคิดของผู้หญิงสมัยก่อน ที่มักจะถูกปลูกฝังกันมาว่า ผู้หญิงแต่งงานไปก็กลายเป็นสมบัติของผู้ชาย (คำว่า สามี แปลว่า เจ้าของ นะ) จะเกลียดจะชังกันไปได้นานสักเท่าไหร่ และความที่พระเฑียรฯก็เป็นคนดีมีคุณธรรม อยู่กันนานความผูกพันธ์ก็กลายเป็นความรักไปได้

แต่ความรักความผูกพันธ์ของพระสุริโยไทกับขุนพิเรนฯ ก็ไม่ได้จบสิ้นไปเสียทีเดียวหรอกนะ ความเอื้ออาทรกันก็ยังมีอยู่ ขุนพิเรนฯน่ะทำใจลำบากเพราะต้องตัดใจ แต่ตอนหลังที่มีการฆ่าฟันแย่งบัลลังก์กันไม่จบสิ้น พระสุริโยไทก็ต้องส่งคนไปขอให้ขุนพิเรนฯ มาช่วยปกป้องพระเฑียรฯ โห… อารมณ์นั้นน่ะนะ ใจขุนพิเรนฯจะคิดยังไง ใจหนึ่งก็ยังนึกถึงความรักผูกพันธ์ อีกใจก็แบบว่าไม่อยากมาเห็นหน้าเพราะต้องตัดใจแถม ต้องมาช่วยคนที่แย่งคนรักไปอีก แต่ความรักน่ะนะ นานแค่ไหนก็ยังคงอยู่ ยิ่งโดนเอาคำสัญญามาย้อนให้ฟังดัวย ก็เลยต้องมาช่วยจนได้ (เขียนมาเป็นวรรคเป็นเวร อาจจะมีคนบ่นว่ามีแต่นิจวรรณคนเดียวที่อินขนาดนี้ อันนี้ก็ต่างมองต่างมุมนะคะ เผอิญเราไม่ค่อยจะรู้สึกจะบันเทิงกับการรบราฆ่าแกงกันในหนัง ก็เลยมาจับประเด็นโรแมนติกที่เข้ากับบุคคลิกของเราดีกว่า =ฮา=)

อืมม์... ว่าแต่พระสุริโยไทนี่สุดยอดแห่งสตรีเลย ดูแลการบ้านการเรือนทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งยังมีความฉลาดเฉลียวในเข้าใจเรื่องของการศึกการรบของพวกผู้ชายด้วย กล้าที่จะให้คำปรึกษากับสามี ในขณะเดียวกันก็มีความเคารพและให้เกียรติในการตัดสินใจพระเฑียรฯผู้เป็นสามีด้วย เราว่าผู้หญิงที่เป็นสุดยอดต้องมีตรงนี้นะ จะเก่งกล้าสามารถอย่างไร ต้องรู้จักให้เกียรติกัน จะได้ส่งเสริมกันให้เจริญรุ่งเรืองทั้งคู่ (ผู้หญิงที่ฉลาดที่สุด คือผู้หญิงที่รู้ว่าตอนไหนจะต้องแกล้งโง่ ตอนไหนจะต้องยอมปล่อยวาง พวก Feminist สมัยนี้ที่มีปัญหากันรุนแรง หย่าร้างกันโครมๆ ก็เพราะตรงนี้หละ ยอมไม่ได้ หารู้ไม่ว่าความจริงถ้ารู้จักยอมแล้ว ผู้หญิงสามารถ "ใช้" ประโยชน์จากผู้ชายได้สารพัด) แต่นอกจากพระสุริโยทัยแล้ว ผู้หญิงอื่นๆ ในเรื่องดูเหมือนจะเป็นตัวร้ายก่อปัญหามากกว่า ทำให้ผู้ชายหลงมัวเมาในความงามจนขาดสติ ขาดความคิดผิดชอบชั่วดี (นี่ก็เป็นการ "ใช้" ผู้ชายเหมือนกัน แต่ใช้ในทางที่ผิด)

เราว่าหนังดีกว่าที่เราคิดเยอะ แต่กว่าจะดูจบก็แทบแย่เหมือนกัน หนังยาวเหลือเกิน แถมตลอดทั้งเรื่องมีคนตายกันดาดดื่น ก็เพราะคนฆ่าคนกันได้อย่างเลือดเย็น เพียงต้องการอำนาจ ขนาดฆ่าแกงกันได้แม้ญาติพี่น้องร่วมสายเลือด ฆ่าคนหนึ่งไป เพื่อที่จะเป็นใหญ่ และรอให้มีคนอื่นมาฆ่ากันอีกทอดหนึ่ง เป็นอย่างนี้ไม่จบสิ้น ยังดีที่ตอนใกล้จบยังสร้างความรู้สึกที่ดีว่า แผ่นดินสยามจะไม่มีการฆ่ากันเองเพื่อแย่งบัลลังก์อีกต่อไป แต่ก็ยังต่อด้วยการรบที่เกิดจากความต้องการแย่งชิงดินแดนอาณาเขต คนเป็นร้อยๆ พันๆ เข้ารบพุ่งตะลุมบอน ตายกันเป็นเบือ สงครามสมัยไหนๆ ก็เลวร้ายไม่ต่างกัน ท้ายที่สุดก็มีแต่ความเสียหาย ทำไม่เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์กันบ้างเลยหนอ