Ring the Bell & Translation Language

ฟังโฆษณาทางวิทยุชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีบ้านแล้วไปกดกริ่งบ้านคนอื่นเล่น รู้สึกว่าจะเป็นโฆษณาให้กู้เงินซื้อบ้านหรือไงเนี่ยแหละ คือให้มากู้เงินจากเขาไปซื้อบ้าน จะได้ไม่ต้องเที่ยวไปกดกริ่งบ้านคนอื่น ฟังแล้วก็นึกถึงตอนสมัยเด็กๆ เคยไปแอบกดกริ่งบ้านคนอื่นเล่นเหมือนกัน บ้านเราอยู่ริมแม่น้ำ ไม่มีรั้ว มานึกๆ ดูบ้านแถวๆ นั้นก็ไม่มีรั้วกันทั้งนั้น เวลาจะปิดบ้านก็คือปิดประตูหน้าต่าง ไม่มีรั้ว ถ้าประตูบ้านปิด ตะโกนเรียกก็ได้ยิน เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีกริ่ง เราเกือบจะลืมเรื่องที่ไปกดกริ่งนี้ไปแล้วถ้าเก๋พี่สาวเราไม่พูดขึ้นมา

เรื่องมันเกิดขึ้นตอนที่แม่ใช้ให้เรากับเก๋ไปซื้อไข่ไก่ สองคนพี่น้องก็หิ้วตะกร้าหวาย เดินไปบ้านที่ขายไข่ไก่ รู้สึกว่าเขาจะเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ ระยะทางที่ต้องเดินก็ไกลพอดู แต่สมัยก่อนมันไม่มีรถรามากมายเหมือนสมัยนี้ แม่ก็เลยคงคิดว่าเรากับเก๋คงจะเดินไปได้อย่างปลอดภัย

ระหว่างทางที่เดินไปก็จะผ่านบ้านหลังหนึ่งที่เขามีรั้วและกริ่งติดอยู่ที่ประตู ไม่รู้เป็นไอเดียใครระหว่างเก๋กับเรา แต่ก็ตัดสินใจกันว่าจะกดกริ่งบ้านนี้หละ ก็บ้านเราไม่มีนี่นา กดๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ก็เลยเดินต่อ ต้องไปซื้อไข่ไก่นี่นา แม่สั่งให้ซื้อไข่ ๕๐ ฟอง ก็หนักพอดู ขากลับต้องช่วยกันค่อยๆ หิ้วตะกร้า ต้องค่อยๆ เดินด้วย ไม่งั้นไข่แตกหมด พอผ่านหน้าบ้านหลังที่มีกริ่ง อืมม์ ยังไม่หนำใจเลย สองคนวางตะกร้าไข่ แล้วไปกดกริ่งอีกรอบ ปรากฏว่าคราวนี้เจ้าของบ้านเขาเปิดประตูออกมาเจอเรา ๒ คน เขาถามว่า มากดกริ่งหรือเปล่า เราสองคนทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ ตอบว่า เปล่า เขาถามว่าเห็นใครแถวๆ นี้ไหม เราตอบว่า ไม่เห็น เขาก็บ่นๆ ว่า เอ… ใครมากดกริ่งนะ เนี่ยตะกี้ก็มากดทีหนึ่งแล้ว ออกมาดูก็ไม่เห็นมีใคร พูดจบแล้วเขาก็กลับเข้าบ้านไป

มานึกตอนนี้แล้วก็ขำๆ ดี ตอนที่เจ้าของบ้านเขาเปิดประตูออกมา เราสองคนตกใจกันน่าดูเหมือนกัน แต่ความที่กลัวเขาจะเอ็ดเอา ก็เลยไม่กล้ารับว่าเราเป็นคนกดกริ่งเล่น เลยเพิ่มความผิดฐานโกหกเข้าไปอีกกระทงหนึ่ง


Update: 22 Oct:: มาแก้ตัวน่ะ จะบอกว่าตอนที่ไปแอบกดกริ่งบ้านคนอื่นเนี่ย นิจวรรณอยู่ป.เตรียมหรือป. ๑ หรือเนี่ยหละ ๖ ขวบเองมั้ง ส่วนเก๋แก่กว่านิจ ๒ ปี ก็คือยังเด็กอยู่อ่ะนะ อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น หลังจากเหตุการณ์นี้แล้วก็ไม่ได้ไปซนเที่ยวกดกริ่งบ้านใครๆ เล่นอีกเลย... เข็ดอ่ะ :-)

อืมม์ เพิ่งนึกได้ว่าเมื่อวันก่อนก็มีคนมากดกริ่งบ้านเรา กดหลายๆ ครั้งด้วยนะ แต่พอเราออกไปเปิดประตู ก็ไม่เห็นมีใคร แต่เห็นหลังไวๆ ว่ามีคนเดินไปทางห้องที่ทิ้งขยะ สงสัยหน่อยๆ เหมือนกันว่าจะเขาจะมากดกริ่งบ้านเราเล่น แต่คิดอีกทีก็รู้สึกว่ามันตลกไร้สาระไปหน่อย (กดกริ่งมันจะสนุกอะไร โรคจิตหรือเปล่า) ก็เลยไม่สนใจเข้ากลับบ้านมาดูโทรทัศน์ต่อ ตอนนี้ชักนึกได้ว่าสงสัยคงเป็นการชดใช้กับความผิดที่เราทำไว้ตอนเด็กๆ แน่ๆ เลย... ที่เขาว่า กรรมตามทัน นี่มันเรื่องจริงนะเนี่ย :-)


ภาษาไทยแปล

ฟังข่าวต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์สมัยนี้แล้วรู้สึกแปลกๆ วันก่อนได้ยินข่าวเรื่องจดหมายลึกลับที่มีผงสีขาวๆ ในสหรัฐ เขาบอกว่า มีคนเสียชีวิตแล้ว ๑ คน และมีอีกสิบกว่าคนที่ “ได้รับการทดสอบมีผลเป็นบวก” เรารู้สึกว่า คำพูดแบบนี้ไม่ใช่ภาษาปกติที่คนเขาพูดกัน แต่มันเป็นภาษาที่มาจากการแปลจากภาษาอังกฤษมากกว่า (“ได้รับการทดสอบมีผลเป็นบวก” = Have been tested positive)

จากที่ฟังข่าวกับการสังเกตการใช้ภาษาไทยตามหนังสือ นิตยสารต่างๆ เรารู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ภาษาไทย ๒ เวอร์ชัน คือ ภาษาไทยปกติที่เราใช้กัน ประโยคเรียงจากประธานตามด้วยกริยาและกรรม แปลความหมายจากหน้าไปหลัง โครงสร้างไม่ซับซ้อน กับอีกเวอร์ชันหนึ่งเป็นภาษาไทยแปล หรือ ภาษาอังกฤษในร่างไทย ซึ่งจะพบตามข่าวต่างประเทศ หนังสือแปลต่างๆ หรือนิตยสารต่างๆ ที่ชอบเอาข้อเขียนของต่างประเทศมาแปลลง

ภาษาอังกฤษในร่างไทย จะเป็นภาษาไทยที่ใช้โครงสร้างของภาษาอังกฤษ ประโยคเป็น Passive มากกว่า Active (เพราะภาษาเขียนในภาษาอังกฤษนิยมเขียนเป็น Passive) เป็นการแปลคำต่อคำจากอังกฤษเป็นไทย ประโยคก็เลยมีความซับซ้อน มีคำเชื่อมวุ่นวายไปหมด เวลาเราอ่านหรือได้ยินแล้ว อาจต้องมีการแปลไทยเป็นไทยอีกรอบหนึ่ง แล้วก็เป็นภาษาที่เราไม่ได้ใช้เป็นปกติ อย่างถ้าเราจะเอาเรื่องไปเล่าให้คนอื่นฟัง พนันได้เลยว่า เราไม่มีทางเอาคำที่เขาใช้ไปเล่าต่อ เพราะคนที่ได้ฟัง จะต้องว่าเราเพี้ยน

ความจริงเราอาจจะคิดมากไปเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทยแปล ความจริงการมีคนแปลเรื่องต่างๆ จากภาษาอังกฤษ(หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ) เป็นภาษาไทยเยอะๆ เป็นเรื่องดี เพราะทำให้เรามีโอกาสได้อ่านเรื่องต่างๆ เป็นภาษาไทย และมันก็คงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะแปลภาษาอื่นมาเป็นภาษาไทยโดยไม่ทิ้งกลิ่น ไม่ทิ้งเค้าความเป็นภาษาเดิมไว้เลย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ก็รู้สึกว่า ก็น่าจะมีการใช้ศิลปะกันบ้าง ไม่ใช่แปลมาดุ่ยๆ แบบเปิดพจนานุกรมแปลโดยไม่สนจะว่ามันจะขัดหูขัดตา ขัดกับภาษาของคนปกติ

เราว่าภาษาไทยแปลของพวกนิยายหรือเรื่องแต่งต่างๆ มักจะไม่ค่อยเลวร้ายมาก อาจเป็นเพราะคนแปลค่อนข้างมีศิลปะในการเขียน อาจจะมีขัดหูขัดตา แต่ก็สื่อสารกันได้เข้าใจ แต่ภาษาไทยแปลที่เลวร้ายมากๆ มักจะอยู่ในวงการวิชา พวกดอกเตอร์ที่จบจากเมืองนอก แล้วมาเป็นนักวิชาการหรือครูบาอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยนี่ตัวดีเลย สงสัยว่าเขาคงจะใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนานเกินไป จนระบบการคิดในสมองเขาเป็นภาษาต่างประเทศไปหมดแล้ว สังเกตว่าเวลาเขาพูดจาจะเขียนอะไรออกมา ภาษาเขาจะเป็นวิชาการมีแบบแผนมากเลยนะ แต่ขอโทษเถอะ สร้างความอึ้งขึ้นในจิตใจ แบบว่าต้องแปลไทยเป็นไทยอีกประมาณ ๓ รอบ ถึงจะเข้าใจ

เราคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้คนระดับดอกเตอร์หันมาหัดใช้ภาษาไทยปกติที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขาใช้กัน เพราะเขาอาจจะคิดว่าการที่เขาใช้ภาษาที่คนอื่นไม่เข้าใจ เป็นเครื่องแสดงว่าเขาฉลาดกว่าคนอื่น สงสัยคงต้องมีการบรรจุหลักสูตร “ภาษาไทยแปล” เข้าไว้ในวิชาภาษาไทยซะละมั้ง