Little Tree

ไม่รู้ว่าคนอื่นๆเลือกซื้อหนังสือกันยังไงนะ ตอนสมัยเรายังเรียนมัธยม เราอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะ ที่หน้าโรงเรียนมีร้านหนังสือที่เราเรียกว่า ร้านพี่เบิ้ม เราก็ไปยืนๆอ่านที่นั่น เล่มไหนน่าอ่านก็ซื้อ เล่มไหนพออ่านได้ แต่ไม่ติดใจมากก็แค่ยืนๆอ่านจนจบ ไม่ต้องซื้อ พี่เบิ้มเขาใจดี ปล่อยให้ยืนอ่านได้ ไม่ว่ากัน (ที่จริงพี่เบิ้มใจดีกว่านั้น เขาเคยจะให้เรายืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่ได้ยืมซักที)

พอโตๆ ขึ้นมา (หรือที่จริงต้องเปลี่ยนเป็น “พอแก่ๆ” ได้แล้ว) เรามีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง แรกๆก็ยังซื้อหนังสือเยอะเหมือนเดิม ด้วยความคิดว่า ซื้อเก็บไว้ก่อน พอมีเวลาก็จะเอามาอ่าน แต่หลังๆก็มีหนังสือที่ซื้อมาแล้วยังไม่ได้อ่านเยอะมาก หลังๆนี้ก็เลยเลิกนิสัยเดิม หันมาเลือกซื้อเฉพาะหนังสือที่คิดว่าอยากจะอ่านจริงๆหรือจะอ่านได้จบมากกว่า แล้วก็เลยกลายเป็นว่า พักหลังๆนี้ไม่ค่อยได้ซื้อหนังสือเลย จะเป็นแบบไปยืนเปิดๆที่ร้านหนังสือ รู้สึกว่าหนังสือน่าอ่าน อยากอ่านแต่ไม่ซื้อซักที แต่เราซื้อ “ลิตเติ้ลทรี” แบบ Impulse Buying ชัดๆเลย หยิบมาพลิกๆดู เห็นที่ปกหลังเขาตัดตอนมา ๓-๔ ตอน เราอ่านแล้วหยิบมาจ่ายตังค์เลย

ย่าบอกว่า ถ้าเราใช้จิตใจไปในทางโลภโมโทสันหรือเลวทราม ถ้าเราชอบทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอ และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ ... จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท
ย่าบอกว่า เรารู้ได้ไม่ยากว่าใครเป็นคนตาย ... เมื่อเขามองผู้หญิง เขาไม่เห็นอะไรนอกจากคิดสกปรก ... เมื่อเขามองต้นไม้ เขาไม่เห็นอะไรนอกจากไม้ซุงและผลกำไร มิใช่ความงาม ย่าบอกว่าพวกนี้แหละคือคนตายที่ยังเดินอยู่ทั่วๆไป
ย่าว่าจิตวิญญาณเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ ... ถ้าเรายิ่งใช้มัน มันก็จะใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น ย่าบอกว่าทางเดียวที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็โดยใช้จิตวิญญาณไปในการทำความเข้าใจ
ย่าว่าโดยธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน ... ผมจึงเข้าใจว่า ผมจะต้องเริ่มจากพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง เพราะแน่นอนว่าผมไม่อยากให้จิตวิญญาณเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท

ลิตเติ้ลทรีเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอินเดียแดงเผ่าเชโรกี เป็นเรื่องของเด็ก (ชื่อลิตเติ้ลทรีไง) ที่พ่อแม่ตาย ก็เลยได้ไปอยู่กับปู่-ย่าที่เป็นอินเดียแดง เขาบอกเล่าเรื่องราวว่าพวกเชโรกีใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างไร เขามีความรัก (ซึ่งเขาย้ำอยู่หลายๆครั้งมากว่าหมายถึงความเข้าใจ) และเคารพจิตวิญญาณของธรรมชาติมากมายแค่ไหน เราเพิ่งอ่าน ลิตเติ้ลทรี จบตอนไปดำน้ำนี่เอง หลังจากอ่านมานานเป็นเดือน ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดีหรืออ่านไม่สนุกหรอกนะ หนังสือดีมากๆ ไม่เสียดายเลยที่ตัดสินใจซื้อแค่การอ่านจากปก แต่เป็นเพราะเราไม่ค่อยมีเวลา มัวแต่เอาเวลาไปทำโน่นทำนี่ไร้สาระเสียหมด

พอดีเราอ่านที่ ปิยธิดาเขียนเรื่อง ต้นคริสต์มาส ก็เลยนึกถึง ลิตเติ้ลทรี ขึ้นมา คือ เมื่อก่อนเราเห็นต้นคริสต์มาสก็ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่า อืมม์... สวยดี มันดูรื่นเริงเป็นงานเทศกาลดีจัง แต่ในลิตเติ้ลทรี ตอนใกล้ๆจะจบลิตเติ้ลทรีถูกให้มาอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะทางราชการเขาบอกว่า ปู่กับย่าของลิตเติ้ลทรี ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงลิตเติ้ลทรี พอดีกับเป็นตอนหน้าหนาวช่วงคริสต์มาส มีคนเอาต้นสนมาให้ บอกว่า เอาต้นคริสต์มาสมาให้ สวยไหม สวยไหม เจ้าหน้าที่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็สอนให้เด็กๆตอบว่า สวยจริงๆ แต่ลิตเติ้ลทรีไม่ทำ เขาว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปตัดต้นไม้ ต้นสนที่เขาเอามาให้เป็นผู้ชาย แล้วเขาก็ยืนตายอย่างช้าๆในห้องโถงของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า อ่านแล้วเศร้าเลยอ่ะ

อินเดียแดง

พอดีพูดถึงอินเดียแดง แล้วเลยนึกถึงเรื่องจี้ๆอันหนึ่งขึ้นมาได้ สมัยที่เราไปทำงานที่แคนซัส (เราพูดถึงอยู่บ่อยๆ บางคนอาจจะสงสัยว่าไปทำอะไร คือบริษัทที่เราทำงานเนี่ยเขามีบริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา แคนซัสซิตี้ แคนซัส แคนซัสซิตี้เนี่ยเป็นเมืองสองรัฐ คืออยู่ระหว่างรัฐแคนซัสกับมิสซูรี่ มีถนนที่ชื่อว่า State Line เป็นเส้นแบ่ง ด้านตะวันออกของ State Line เป็น แคนซัสซิตี้ มิสซูรี่ ด้านตะวันตกของ State Line เป็นแคนซัสซิตี้ แคนซัส ช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตก คนในบริษัทอยู่ในสภาพว่างงานเกือบ ๑๐๐% เขาเลยให้เลือกว่า จะโดนเลย์ออฟหรือจะยอมไปเป็นกะเหรี่ยงทำงานที่แคนซัส พอดีเราก็อยากรู้อยู่แล้วว่าอเมริกามันดียังไง ทำไมใครๆเขาก็อยากไปกันนักกันหนา ก็เลยอาสาว่าไปค่ะๆ มีคนอื่นๆไปด้วยอีกเพียบ ประมาณว่ายกกันไปเกือบทั้งออฟฟิซ เราไปทำงานอยู่ที่โน่น ๑๘ เดือน ทนไม่ไหวก็ขอกลับ คิดว่ เลย์เป็นเลย์ ตายเป็นตาย ฉันไม่อยู่แล้ว)

อ้าว... เท้าความไกลไปหน่อย กลับมาเรื่องอินเดียแดงต่อดีกว่า คือ พอดีตอนที่ไปทำงาน มีพี่คนหนึ่งเขาไปเห็นรูปหัวหน้าเผ่าอินเดียแดงที่บ้านฝรั่งที่ทำงานด้วยกันที่โน่น ประมาณว่าเป็นรูปวาด Portrait ของอินเดียแดงผู้ชายหน้าเข้มที่ใส่เครื่องประดับผมที่เป็นขนนกใหญ่ๆ ที่บานออกรอบๆหัวอ่ะนะ (พยายามนึกตามหน่อยก็ดี) เขาก็อยากได้รูปทำนองนั้นมาเป็นของที่ระลึก วันหนึ่งเขาก็ไปที่ตลาดนัดที่ดาวน์ทาวน์ ไปเห็นมีคนเอารูปมาวางขายเยอะแยะ ก็เลยคิดว่าน่าจะมีรูปอินเดียแดงแน่ๆเลย เขาก็เลยเร่เข้าไปถามคนขาย

พี่ที่ทำงานเรา : Hi… Do you have India daeng picture?
คนขาย (ทำหน้างงๆ) : Eh? What picture?
พี่ที่ทำงานเรา (เริ่มทำหน้างงๆบ้าง): India daeng picture! You know... India daeng… India daeng picture…
คนขาย (ทำหน้างงหนักยิ่งขึ้น) : India daeng? No. No. No. (ส่ายหัวประกอบ)

พี่คนนั้นก็เลยผิดหวังกลับมา แล้วก็มาเล่าให้พวกเราฟังว่า เนี่ยวันนี้อุตส่าห์ไปเจอเขาขายรูป แต่ไม่มีรูปอินเดียแดงที่อยากได้ สงสัยคนขายฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง แต่พอเขาเล่าให้ฟังว่าไปถามว่ายังไง คนฟังก็ขำกลิ้ง บอกพี่เขาไปว่า พี่ๆ ฝรั่งมันไม่รู้จัก อินเดียแดงพิคเจอร์ของพี่หรอก เพราะมันอินเดียแดงมันเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษเขาต้องบอกว่า Red Indian อ่ะนะ พี่แกเลยถึงบางอ้อ (ทั้งๆที่ตัวยังอยู่ที่แคนซัส) ถึงว่าสิ มันส่ายหัวดิก บอกว่าม่ายมี๊ ม่ายมี

Update: 14 Dec 2001

พอดีปิยธิดาทักว่าไม่ค่อยเคยได้ยินคนอเมริกันเรียกอินเดียนแดงว่า Red Indian เขามักจะใช้ว่า Native Indian หรือ American Indian ซึ่งก็จริง คือจริงๆตอนแรกคนอเมริกันเขาก็คงเรียกคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่เคยอยู่ในแผ่นดินอเมริกาว่า Indian เฉยๆนี่แหละ (ด้วยความซื่อบื้อของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่ตอนเดินทางมาเจออเมริกา แล้วนึกว่า มาถึง India) แต่ทีนี้พอนานไปมันก็ชักจะสับสนกับคนอินเดียจริงๆที่อยู่ประเทศอินเดีย เลยต้องเติม Native เข้าไปหน้า India กันความสับสน

ส่วนคำว่า American Indian นี่ เราเดาเอาน่าจะมาจากกระแสของ Political Correctness คือแบบว่าคนอเมริกันไปแย่งที่คนที่เขาเคยอยู่มาก่อน แล้วนึกได้ว่า เฮ้ย... ที่จริงเขาตะหากที่เป็นเจ้าของประเทศมาก่อน เลยอาจเกิดความละอาย ต้องเติมคำว่า American เข้าไปข้างหน้า เป็นการบอกว่า เขาก็เป็นชาวอเมริกันเหมือนกัน (แต่ก็นั่นหละ ไม่วายกีดกันกันว่าเป็นคนละอเมริกันอยู่ดี)

ส่วนที่เราใช้ว่า Red Indian ข้างบนโน้น เพราะมันเป็นคำพูดที่คนที่เขาฟังพี่คนนั้นเล่าทีแรก เขาทักน่ะ เขามาเล่าให้เราฟัง แล้วเราเอามาเล่าต่ออีกที ... ที่จริง รู้สึกว่า Red Indian เนี่ย จะเป็นเผ่าหนึ่งของ Indian คือ Red Indian เนี่ยมัน Specific แต่ Indian มัน Generic แต่ดูเหมือนว่าเวลาคนไทยเอามาใช้ ถ้าพูดว่าอินเดียแดงเนี่ยมันกลายเป็น Generic นะ อ่านแล้วรู้สึกว่างงงง... ไหมเนี่ย

นิยามรัก

ตอนขับรถกลับบ้าน ฟังวิทยุ มีคนโทรไปบอกดีเจว่า “พี่ๆ ไม่รู้ทำไมเวลาเราอกหัก ฟังเพลงอะไรๆ มันก็โดนไปหมด แม้แต่เพลงคุณลำไย” ฟังแล้วก็จี้ดี แต่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า เพราะเราไม่เคยอกหัก เคยแต่หักอกคนอื่น!! อ่านแล้วอย่าเพิ่งแหวะ จะเล่าให้ฟังว่าทำไม

คือ เราไปอ่านที่ไหนมาไม่รู้เขานิยามความหมายของคำว่า อกหัก ไว้ ว่ามันหมายถึงว่า เราไปหลงรักใคร แล้วแบบว่าโดนเขาปฏิเสธ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม) แต่ถ้าความรักไม่สมหวังเพราะไปแอบรักเขาอยู่เงียบๆข้างเดียว เขาไม่เรียกว่า อกหัก เขาเรียกว่า ตกม้า คือแบบว่ายังไม่ทันได้ออกวิ่ง ออกไปแสดงตัวแข่งขันกับใคร ก็ตกม้าเสียแล้ว มันจบตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นซะอีกนะ

จากนิยามที่ว่านี้ เราก็บอกได้เลยว่า “หนูไม่เคยอกหักฮ่ะ” เพราะไม่เคยไปสารภาพรักกับหนุ่มที่ไหน แล้วโดนเขาปฏิเสธกลับมาซักครั้ง แต่อย่าถามนะว่าเราตกม้าไปกี่ครั้ง เรื่องแบบนี้ เราไม่บอกให้ยากหรอก... เอิ๊กๆๆ