Bomb?!?!
เก๋เคยเขียนเรื่องสมัครบัตรเครดิตเพราะชอบของแถม เราก็เพิ่งได้ของแถมจากการสมัครบัตรซิตี้แบงก์ เพราะเรายกเลิกบัตรใบเก่าที่เป็น Co-Brand (Siam Discovery กับซิตี้แบงก์) เพราะเราว่าโปรแกรมสะสมแต้มมันไม่ค่อยเหมาะกับเรา คือของที่ให้แลกส่วนใหญ่เป็นบัตรกำนัลของร้านค้าหรือร้านอาหารที่ Siam Discovery ไอ้เราก็ปีหนึ่งจะไปที่นั่นซักครั้งหนึ่ง เลยคิดว่าไม่เวิร์คเลย เปลี่ยนเป็นบัตรซิตี้แบงก์ธรรมดาดีกว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาซิตี้แบงก์เขามีโปรโมชั่นว่า ถ้าสมัครทางอินเตอร์เน็ตจะได้นาฬิกาปลุก เจ้าแม่อินเตอร์เน็ตอย่างเรามีหรือจะพลาด

แต่เราได้บัตรมาใช้ตั้งเดือนกว่าๆ แล้ว แต่เรายังไม่ได้รับนาฬิกาปลุกตามที่เห็นในโฆษณาเสียที ก็ยังนึกๆ ว่าสงสัยโดนซิตี้แบงก์เบี้ยวแน่ๆ เลย พอดีเซลส์ของซิตี้แบงก์เขาโทรมาถามเราเรื่องบัตรใบอื่น เราก็เลยบ่นๆ กับเขาว่ายังไม่ได้รับนาฬิกาปลุกเลย เราไม่รู้ว่าเขาได้ไปตามเรื่องให้เราหรือเปล่า แต่หลังจากที่เราคุยกับเขาได้ไม่กี่วัน เราก็ได้รับนาฬิกาปลุก ส่งมาให้ทางไปรษณีย์ แถมได้ตั้งง ๒ เรือนแหนะ คงเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคอะไรแน่ๆ เลย แต่ความที่เราได้ประโยชน์ เราก็เลยไม่บ่นอะไร ^_^

ปกติของที่ส่งมาที่คอนโดเราเนี่ย ถ้าเป็นจดหมายหรือซองขนาดไม่ใหญ่ เขาจะเอาใส่ตู้จดหมายให้ แต่ถ้าพัสดุเป็นกล่องๆ หรือจดหมายลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ของตึกเขาจะเป็นคนรับไว้ให้แทน แล้วเขาจะเขียนกระดาษใส่ไว้ในตู้จดหมาย เราก็เอากระดาษใบนี้ไปรับของจากเขาอีกที ถ้าเรากลับมาดึกๆ เจ้าหน้าที่กลับไปแล้วก็จะมียามมานั่งเฝ้าแทน แล้วยามเนี่ยเขาจะไม่ได้ประจำตลอด เขาก็เลยจะไม่ค่อยรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เวลาต้องรับพัสดุหรือจดหมายลงทะเบียนเขาจะค่อยๆ หา ค่อยๆ ดู

วันที่เราได้นาฬิกาจากซิตี้แบงก์ เราก็เอากระดาษที่เขียนว่าให้ไปรับพัสดุไปให้ยาม เขาก็รื้อๆ อยู่แป๊บหนึ่งแล้วก็หยิบกล่องสีน้ำตาลมาออกมากล่องหนึ่ง แล้วก็บ่นพึมพำๆ แบบไม่แน่ใจ เราเพ่งไปที่กล่องก็เห็นชื่อเราเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เราก็บอกว่า กล่องนี้หละใช่แล้วๆ เขาก็เอากระดาษไปเทียบกับกล่อง เราก็เลยเดาได้ว่าเพราะมันเป็นภาษาอังกฤษแน่ๆ เลย เขาคงไม่ค่อยคล่อง ก็เลยปล่อยให้เขาเทียบชื่อจนพอใจก่อน แล้วเขาก็หยิบกล่องส่งให้เรา แล้วก็เอากระดาษกับปากกามาให้เราเซ็นชื่อรับของ

ตอนที่เรากำลังจะเซ็นเขาก็พึมพำขึ้นมาอีกว่า เอ.. มันมี ๒ กล่องนะ แล้วเขาก็ก้มไปหยิบอีกกล่องหนึ่งขึ้นมา ตอนแรกเราก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอเราเหลือบตาไปดูอีกกล่องที่อยู่ในมือยาม เอ๊ะ... อีกกล่องหนึ่งนั่นมันก็ชื่อเรานี่หว่า เราก็เลยบอกว่า อ้าว กล่องนั้นก็เป็นของเราด้วยนะ ดูสิชื่อกับบ้านเลขที่เหมือนกันเลย เขาก็เอากระดาษไปเทียบชื่อดูอีกรอบ แล้วเขาก็เอากระดาษคืนมาให้ บอกว่าให้เราเซ็นรับของทั้ง ๒ กล่องเลย

ตอนเรากำลังเซ็นชื่อรอบสองเขาก็เอากล่องที่ยังอยู่ที่เขามาเขย่าๆ เบาๆ แถมเอาไปใกล้ๆ หู เขย่าไปฟังไปแบบอยากรู้อยากเห็น แล้วก็พึมพำๆ “เอ... มันอะไรเนี่ย...” แล้วก็เขย่าๆ อีก “อืมม์... ระเบิด???….” แล้วเขาก็ยื่นกล่องมาให้เรา พอดีวันนั้นเราก็เบลอๆ ด้วยเลยไม่ได้ตอบอะไรก็รับกล่องมาเฉยๆ ไม่มีปฏิกริยาตอบสนอง เราก็ขึ้นลิฟท์มาจนถึงห้องแล้วก็เพิ่งมานึกได้ เอ๊ะ... ตกลงพี่ยามแกตั้งใจจะเล่นมุขกับเราหรือเปล่าหวา? เราก็ไม่ทันได้รับมุขแก ป่านนี้อาจจะเสียใจพร้อมแอบบ่นว่า คนอะไรฟะ ความรู้สึกช้าจริงๆ เลย….

เจ้าแม่อินเตอร์เน็ต

จากที่เคยเล่าให้ฟังถึงความเป็นคนยุคบุกเบิกของอินเตอร์เน็ตไป เราถูกกลืนเข้าไปอยู่ในวังวนของอินเตอร์เน็ตเต็มตัว (และเต็มใจ) แต่คำว่าเจ้าแม่อินเตอร์เน็ตนี่ เราได้มาตอนที่ไปทำงานที่แคนซัส เพราะเพื่อนเราว่าเราว่า เราทำทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งออกจะเกินความจริงไปซักเล็กน้อย แต่ยอมรับว่าช่วงนั้นเราก็ใช้อินเตอร์เน็ตทำอะไรต่ออะไรเยอะแยะเหมือนกัน อย่างเวลาไปเที่ยวก็จะซื้อตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมทางอินเตอร์เน็ต (ก็จะไปซื้อตั๋วปกติทำไมล่ะ ในเมื่อทางอินเตอร์เน็ตมีโปรโมชั่นดีๆ อย่างจองตั๋วเครื่องบินบนอินเตอร์เน็ตของ Southwest ได้ Double Mileage เราได้บินฟรีก็เพราะซื้อตั๋วทางอินเตอร์เน็ตนี่หละ หรือบางทีก็มีตั๋วราคาถูกมากๆ ด้วย) หาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจากอินเตอร์เน็ต สั่งหนังสือ เช็คสภาพอากาศ หาร้านขายของแถวๆ บ้าน ฯลฯ เอาเป็นว่ามีอะไรที่ทำได้ทางอินเตอร์เน็ตเราก็ทำ (เป็นโรคขี้เกียจสื่อสารกับมนุษย์)

พอกลับมาเมืองไทยความเป็นเจ้าแม่อินเตอร์เน็ตก็ระงับไปชั่วคราวเพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยทำอะไรทางอินเตอร์เน็ตกัน ความจริงกระแสของ E-Commerce ก็ดูเหมือนจะแรงในเมืองไทย มีคนอยากทำเยอะเพราะว่า คิดว่าปัญหาธุรกิจย่ำแย่จะดีขึ้นถ้าเป็น E-Commerce (คิดผิด!! ถ้ามันไม่เวิร์คอยู่แล้ว ยิ่งเป็น E-commerce ยิ่งเจ๊งไวขึ้น) หรืออยากทำเพราะมันเป็นภาพพจน์ขององค์กร เป็น E-Commerce แล้วมันโก้ดี ทันสมัยดี แต่จริงๆ แล้วมันเวิร์คยากมาก ส่วนใหญ่ที่ทำขึ้นมาก็เป็นได้แค่โชว์รูมหรือแคตตาลอกสินค้ามากว่า ยังทำการซื้อขายกันโดยใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา Infrastructure (อย่างระบบการชำระเงิน หรือการส่งของพัสดุภัณฑ์) มากกว่า นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปัญหาความเชื่อหรือความเคยชินของคน ที่ไม่อยากซื้อของที่ไม่ได้เห็นหรือจับต้อง หรือไม่เชื่อใจการสั่งของแบบที่ต้องจ่ายเงินไปก่อน ฯลฯ

แต่ช่วงปีสองปีหลังนี่ เริ่มมีการบริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ตให้เราได้ลองใช้มากขึ้น ที่เราใช้มาแล้วรู้สึกว่าใช้การได้ ก็มี SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ทำให้เราสามารถจ่ายค่าบริการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ (แต่ก็ยังไม่ Perfect เพราะเราเข้าไปใช้งานตอนห้าทุ่มทีไรใช้ไม่ได้ทุกที ประมาณว่าเขาคงปิด Transaction ตอนนั้นพอดี เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาไม่ทำ Server ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งมารับ Transaction ไว้แล้วเอาอีกตัวหนึ่งทำงานอยู่ข้างหลัง ทำ Transaction ของวันนั้นไป) เรามีบัญชีของธนาคารเอเชีย ก็เลยไปใช้ “Cyber Banking” ของเขาดู ปรากฏว่าไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าเอาไว้เช็ค Balance เพราะจะเอาไปจ่ายค่าบริการก็ไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยมีใครยอมให้จ่ายกับธนาคารเอเชีย เราไม่มีบัญชีธนาคารกสิกร เลยไม่รู้ว่า Internet banking เขาไปถึงไหนแล้ว

เมื่อวันก่อนพอดีเรียนวิชา Hypermedia แล้วอาจารย์แกก็โปรโมทเว็บไซท์ของดอกหญ้าซะจังเลย (คงเนื่องมาจากแกมีโฆษณาอยู่ที่เว็บไซท์ของดอกหญ้า และรู้สึกว่าหนังสือที่แกเขียนหรือแปลขาย จะวางขายที่ดอกหญ้าเป็นหลัก) แกชักชวนโน้นนี้อยู่นั่นแล้วให้ลองไปสั่งหนังสือดู (ความจริงตอนนี้มีร้านหนังสือออนไลน์อยู่หลายที่ แต่เท่าที่เรารู้ ส่วนใหญ่ต้องให้โอนเงินเข้าบัญชี หรือต้องเซ็นบัตรเครดิตแล้วแฟกซ์ไป ซึ่งมันยุ่งยากซับซ้อนกว่าการไปซื้อที่ร้านมาก เราก็เลยไม่สนใจ) เราก็เลยไปลองสั่งดู เราสั่งหนังสือไปวันพฤหัสตอนเย็น ได้รับหนังสือวันอังคาร ซึ่งนับว่าไม่เลวเลย แถมเราสามารถจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตได้โดยที่มีต้องแฟกซ์ไป

ระบบรับชำระเงินที่ดอกหญ้าใช้นี่น่าสนใจนะ คือเผอิญเรามีความรู้งูๆ ปลาๆ เกี่ยวกับระบบการจ่ายเงินบนอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง พอเห็นระบบที่ดอกหญ้าเลือกใช้ ก็รู้สึกทึ่งเล็กน้อย คือ ระบบชำระเงินทางอินเตอร์เน็ตที่เราเห็นทั่วๆ ไปเนี่ย จะเป็นแบบที่เราบอกเบอร์บัตรเครดิตให้กับเว็บไซท์ที่เราซื้อของ เว็บไซท์จะเอาเบอร์บัตรไปติดต่อกับธนาคารเพื่อตรวจสอบ ถ้าเบอร์บัตรถูกต้องสามารถหักเงินได้ เขาก็จะตอบรับการซื้อของเรา แล้วก็ส่งของ วิธีนี้เบอร์บัตรเครดิตเราอยู่กับเว็บไซท์ที่เราซื้อของ ถ้ามีคนเข้ามาแฮ็คเครื่องได้ ก็เอาเบอร์บัตรเครดิตไปใช้ได้ หรือแม้แต่ถ้าเจ้าของเว็บไซท์จะโกง เอาไปใช้เองก็ย่อมได้

ความที่วิธีแรกมันโกงกันได้ง่าย เขาก็เลยคิดการชำระเงินอีกวิธีหนึ่งขึ้นมา คือ แทนที่เราจะบอกเบอร์บัตรเครดิตของเราให้กับเว็บไซท์ที่เราซื้อของ เว็บไซท์นั้นเขาจะติดต่อกับธนาคารเอาไว้ เวลาเราจะจ่ายเงิน เราจะต้องบอกเบอร์บัตรเครดิตให้กับธนาคาร ธนาคารจะเป็นคนตรวจสอบบัตรและทำการหักเงินจากบัตรเครดิตของเรา ถ้าเขาหักเงินได้ เขาจะไปบอกเว็บไซท์ที่เราซื้อของว่าหักเงินได้เรียบร้อยแล้ว เว็บไซท์ก็จะส่งของให้เรา แบบนี้ปลอดภัยกว่า เพราะเบอร์บัตรเครดิตของเราจะถูกส่งไปให้ธนาคาร ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยดีกว่าเว็บไซท์ทั่วๆ ไป คนจะเข้ามาแฮ็คได้ยาก ข้อมูลของเราจะค่อนข้างปลอดภัย (ที่เราเรียกว่าธนาคาร มันก็ไม่ถูกซะทีเดียว ที่จริงคือ Financial Institute ที่ไว้ใจได้และมีการหักบัญชีข้ามกันในหลายๆ ธนาคารได้ ไม่ได้หมายถึงธนาคารใดธนาคารหนึ่งโดยเฉพาะ) แล้วเว็บไซท์ที่เราซื้อของเขาก็ไม่มีข้อมูลบัตรเครดิตของเรา เขาจะแอบเอาไปโกงใช้ก็ไม่ได้

ดอกหญ้าเขาเลือกใช้วิธีการชำระเงินแบบหลัง ซึ่งพอเราเห็นปุ๊บก็รู้สึกมั่นใจและรู้สึกดีกับการสั่งซื้อหนังสือจากดอกหญ้าขึ้นมาเล็กน้อย แต่เขาก็อดจะมีเรื่องให้เราติไม่ได้ คือตอนที่เราใส่เบอร์บัตรเครดิตไปรอบแรกมันเกิด Error เราก็เลยต้องใส่เข้าไปใหม่อีกรอบ ซึ่งเราดูแล้วก็เหมือนกับว่าเรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร (เราได้อีเมล์ Confirm จากธนาคารที่ดอกหญ้าเขาใช้) แต่หน้าจอมันไม่ยอมแสดงว่าเราสั่งสินค้าและจ่ายเงินเรียบร้อย เราหาแทบตายว่ามีตรงไหนให้เราเช็ค Status ของการสั่งซื้อบ้าง ก็ปรากฏว่าไม่มี เราก็เลยส่งอีเมล์ไปถามตามอีเมล์ที่เขาให้ไว้ ปรากฏว่าเขาก็เงียบไปไม่ตอบอีเมล์เรา จนในที่สุดวันรุ่งขึ้นเราต้องโทรไปถาม (อืมม์... อุตส่าห์สั่งทางอินเตอร์เน็ตนะเนี่ย) เจ้าหน้าที่เขาก็ตอบว่าไม่มีปัญหาอะไรครับ หนังสือส่งไปแล้ว เราก็เลยบ่นต่อว่าแล้วทำไมไม่มีคนตอบอีเมล์เรา เขาบอกว่าเป็นเพราะเจ้าหน้ามัวแต่ไปแพ็คหนังสือเตรียมส่งอยู่ (อ้าว..!?!?)

จากประสบการณ์การเป็นเจ้าแม่อินเตอร์เน็ต เราก็เลยสรุปได้ว่า ที่เว็บไซท์ของดอกหญ้านี่ยังขาดฟังก์ชันที่จะให้ลูกค้าเช็คสถานะของการสั่งซื้อ และควรต้องมี Auto Reply เวลาที่มี E-mail ส่งไป ถึงจะไม่สามารถตอบคำถามที่เราถามได้ทันที แต่อย่างน้อยก็ควรจะต้องมีตอบกลับมาว่าได้รับอีเมล์แล้ว จะหาคำตอบให้ได้ภายใน ๒๔ หรือ ๔๘ ชั่วโมงก็ว่าไป

พอลองสั่งหนังสือที่ดอกหญ้าแล้วค่อนข้างพอใจ ก็เลยอยากจะไปลองสั่งที่มติชนดูบ้าง เดี๋ยวถ้าได้ไปลองแล้ว ดีไม่ดียังไงจะมาเล่าให้ฟังอีกที