Winter Returns...and I Dream of Lychees..

หน้าหนาวท่าทางจะกลับมาอีกรอบหนึ่งแล้ว เราอยากให้อากาศหนาวๆ เพราะอยากกินลิ้นจี่ ฟังดูมันไม่น่าจะเกี่ยวกันแต่มันก็เกี่ยว คือแถวบ้านเราที่จังหวัดสมุทรสงครามเนี่ยมีสวนลิ้นจี่กับเขาด้วยเหมือนกัน เป็นลิ้นจี่คนละพันธุ์กับที่เขาปลูกกันทางเหนือนะ (อันนั้นรู้สึกจะเป็นพันธ์ฮงฮวย มาจากเมืองจีนหรือไงเนี่ยแหละ) อำเภอที่ปลูกลิ้นจี่กันมากๆ คืออำเภออัมพวา บางทีเขาก็เลยเรียกว่า ลิ้นจี่อัมพวา

แล้วที่ว่าไม่เหมือนกัน จะดูยังไงล่ะว่าอันไหนลิ้นจี่เหนือ อันไหนลิ้นจี่อัมพวา?? ก็ง่ายๆ ถ้าดูลักษณะภายนอก ลิ้นจี่อัมพวาจะลูกเล็กกว่า เปลือกจะสีเข้มกว่าออกแดงเข้มอมดำ และที่สำคัญหนามจะแหลมกว่า ลิ้นจี่ทางเหนือนี่แทบจะไม่มีหนามเลยใช่มะ แต่ลิ้นจี่อัมพวามีหนาม ถ้าวัดกันที่รสชาติ ลิ้นจี่อัมพวจะมีรสจะออกอมเปรี้ยวกว่า เนื้อจะแห้งกว่า เวลาแกะออกมาจะไม่มีน้ำหยดๆ ให้เหนียวมือ

อีกอย่างหนึ่งที่ลิ้นจี่อัมพวาต่างจากลิ้นจี่ทางเหนือ คือ เขานับลูกขาย ไม่ได้ชั่งตามน้ำหนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเวลาเขาเก็บลิ้นจี่ เขาจะเก็บเป็นช่อใหญ่ๆ มีก้านยาวๆ มีใบติดมาด้วยเยอะแยะ แบบว่ามันดูสวยดีไง ถ้าจะชั่งตามน้ำหนักทั้งก้านทั้งใบก็จะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เขาก็เลยนับลูกขาย ปกติก็จะขายกันเป็นร้อยๆ บางคนอาจจะบอกว่า แล้วจะเชื่อได้เหรอว่าเขานับให้ครบร้อยจริงๆ ก็ต้องบอกว่า ชาวสวนสมัยก่อนเขาไม่โกงกันหรอก

ส่วนใหญ่ที่บอกว่านับขายเป็นร้อย พอเอาเข้าจริงๆ เขาก็จะมัดใส่ถุงให้เกินร้อยลูกอยู่แล้ว เผื่อว่ามันมีร่วงๆ จากช่อไปบ้าง แล้วก็แถมๆ ไปบ้าง แต่ถ้าอยากจะเช็คเขาก็จะใช้ชั่งน้ำหนักแล้วกะๆ เอา คือปกติลิ้นจี่ร้อยลูกนี่ ถ้าเป็นขนาดกลางๆ มาตรฐานทั่วๆ ไป ชั่งรวมกิ่งก้านใบก็จะประมาณ ๑ กิโลครึ่ง ถ้าลูกใหญ่กว่าก็อาจหนักขึ้นไปกิโลกับ ๗ ขีด หรือสองกิโล สมมติว่าาเราซื้อลิ้นจี่จากสวนเดียวกันซักห้าหกร้อยลูก เราก็นับแค่ร้อยเดียว เอาอันที่นับมาชั่งกิโล แล้วก็ชั่งอันที่ไม่ได้นับ แค่นี้ก็รู้คร่าวๆ แล้วว่า โกงหรือไม่โกง (ก็ต้องใช้วิธีชั่งอยู่ดีเนาะ)

ราคาขายของลิ้นจี่แต่ละปีก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับดีมานด์กับซัพพลาย ปีไหนมีลิ้นจี่เยอะๆ อาจจะลูกละบาท เขาก็ใส่ถุงขายร้อยละร้อย (ราคาจะมีการเบี่ยงเบนไปจากนี้เล็กน้อยตามขนาดและรสชาติ) ปีไหนลิ้นจี่น้อยๆ ก็ราคาดีอาจจะลูกละสองสามบาท (ฟังแล้วเหมือนแพงเนอะ กินเข้าไปลูกหนึ่งก็สองบาท แต่คนชอบกินลิ้นจี่อย่างที่บ้านเราไม่ค่อยยั่น เพราะมีคนเอามาให้กินเป็นประจำอยู่แล้ว.. เฮ้ย… ไม่ใช่… เพราะมันมีให้กินแค่ช่วงเดียว เป็นของหายากก็ต้องยอมทุ่มทุนกันบ้าง) แต่หลังๆ มานี้ พอเริ่มมีการส่งลิ้นจี่ไปขายที่อื่นๆ หรือมีคนจากที่อื่นๆ มาซื้อมากขึ้น ชาวสวนเขาก็ต้องเปลี่ยนไปขายขายตามน้ำหนักเหมือนผลไม้อื่นๆ ทีนี้ก็ต้องแล้วแต่ความจริงใจของคนขายอ่ะนะ ถ้าจริงใจมากก็ชั่งให้เกินกิโลไปเล็กน้อย เพราะเขาก็ยังคิดกันอยู่ดีว่ามันต้องมีก้านยาวๆ มีใบเยอะๆ หน่อยถึงจะสวย

ความจริงที่เรียกว่าลิ้นจี่อัมพวาๆ แต่มันก็ยังมีแยกออกไปเป็นหลายพันธุ์นะ อย่างพันธุ์ “ค่อม” “กะโหลก” “สำเภาแก้ว” “สำเภาทอง” สองพันธุ์หลังนี่ ลูกใหญ่มากๆ สีชมพูสวย แต่ไม่ค่อยมีคนปลูก ทั้งที่ราคาแพงมาก (ราคาขายอาจไปถึงลูกละห้าหกบาท) เพราะรสชาติอร่อยสู้พันธุ์ค่อมไม่ได้ คนก็เลยไม่ค่อยนิยมซื้อกินกัน (ประมาณว่า Condition ต่างๆ มันไม่เอื้อให้ สำภาแก้วกับสำเภาทองเป็นที่นิยม เพราะรสชาติไม่ค่อยดี คนไม่นิยมกิน ชาวสวนปลูกน้อย ผลผลิตน้อย ราคาก็เลยแพง คนก็เลยไม่ซื้อ ก็เลยไม่ค่อยมีคนปลูก ของมีน้อยเลยยิ่งแพงขึ้นไปอีก วนกันไปเป็นลูกโซ่ จนชักงงๆ ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล) ประมาณว่าทั้งสวนนี่อาจจะปลูกลิ้นจี่สำเภาแก้ว สำเภาทอง สักต้นสองต้น พอเป็นพิธีหรือเอาไว้ประกวด

ลิ้นจี่ที่ชาวสวนปลูกเป็นหลักและให้รายได้เป็นกอบเป็นกำจะมาจากพันธุ์ค่อมกับกะโหลกมากกว่า สมัยก่อนๆ โน้นจะเป็นพันธ์กะโหลก (ไม่รู้ว่าทำไมถึงเรียกว่า กะโหลกนะ เดาเอาว่าลักษณะลูกมันคล้ายกะโหลก แต่เรามีโอกาสเดาผิดถึง ๑๐๐%) เพิ่งจะมาตอนที่เราเริ่มจำความได้ ที่ชาวสวนเขาก็คิดพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ เรียกว่า พันธุ์ค่อม คือเรียกตามลักษณะของต้นที่ค่อนข้างเตี้ย (คำเดียวกับ “คนหลังค่อม” ไง) ผลมีเปลือกบางกว่าพันธุ์กะโหลก รสชาติแตกต่างไปเล็กน้อย (ไม่อยากพูดว่าพันธุ์ไหนอร่อยกว่า เพราะอันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมความชอบ) ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นที่นิยมสำหรับชาวสวน เพราะต้นเตี้ยจะปลูกง่าย ดูแลง่าย เก็บผลง่าย และความที่เปลือกบางคนกินก็ชอบด้วย แต่พันธุ์กะโหลก็ยังมีปลูกอยู่เหมือนกัน เพราะเขาว่ากันว่ามีกลิ่นหอมกว่า

ช่วงที่มีลิ้นจี่ให้กินคือหน้าร้อน ประมาณเดือนมีนาเมษา สมัยก่อนตอนเราเด็กๆ เวลาปิดเทอมหน้าร้อน แทบทุกวัดแถวๆ นั้นเขาจะจัด "งานลิ้นจี่" ผลัดกันไปที่ละ ๓-๔ วันหรือหนึ่งอาทิตย์ เรียกว่าไล่กันไปจนกว่าจะหมดหน้าลิ้นจี่ (ประมาณเดือนหนึ่ง) ซึ่งเราจะชอบมาก เพราะว่าชาวสวนเขาจะเอาลิ้นจี่มาวางขายเยอะแยะ แล้วเขาก็มีให้ชิมฟรีด้วย เราชอบไปเดินไล่ชิมไปเรื่อยๆ ทุกร้าน (กินกันพุงกางไปเลย ^_^) ที่งานลิ้นจี่นี่นอกจากจะให้ชาวสวนเอาลิ้นจี่มาขายแล้ว เขายังมี "การประกวดลิ้นจี่" กันด้วย ซึ่งก็มีการประกวดกันทุกพันธุ์ ประกวดทั้งรสชาติและความสวยงาม (คุณสมบัติที่ดีของลิ้นจี่ก็เช่น รสหวานกลมกล่อม ไม่ฝาด ลูกโต เปลือกสีสวย เปลือกบางแกะง่าย เนื้อหนา เม็ดเล็ก) สวนไหนที่ได้รางวัลก็จะมีคนไปมุงไปขอชิมมากเป็นพิเศษ

แต่จะว่าไปเรารู้สึกว่าที่เขาประกวดๆ ลิ้นจี่กันเนี่ย มันเป็นแค่การสร้างความคึกคักเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วรสชาติลิ้นจี่มันใกล้เคียงกันมาก ส่วนใหญ่จะไปชนะกันที่รูปกายภายนอกเท่านั้น (เหมือนการประกวดนางสาวไทยสมัยก่อน) ถ้าสวนไหนลูกใหญ่สีสวยแล้ว แค่รสชาติใช้ได้ก็ชนะแล้ว แล้วมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติอ่ะนะ ลิ้นจี่มันออกผลไม่พร้อมกัน สุกไม่พร้อมกัน อย่างมีสวนหนึ่งเขาสุกแก่จัดตอนช่วงแรกๆ ของหน้าลิ้นจี่ แต่สวนอื่นๆ ยังไม่ได้ที่ เขาไปประกวดช่วงนั้นก็ชนะแน่นอน อะไรประมาณนั้นอ่ะนะ เอาเป็นว่าคนก็ไม่ค่อยจะซีเรียสกับผลประกวดเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เวลาซื้อก็จะไปเดินๆ ชิม ถูกใจของใครก็ซื้อมากกว่า

หลังๆ นี้ตามวัดต่างๆ เขาไม่ค่อยจัดงานลิ้นจี่กันแล้ว เราจำได้เลาๆ (แต่ไม่แน่ใจ) ว่ามันเริ่มน้อยๆ ไปตอนช่วงที่ผลผลิตลิ้นจี่ไม่ค่อยดีเมื่อซักสิบกว่าปีก่อน ประมาณว่ามีน้ำเค็มหนุนเขามาตามสวน ต้นลิ้นจี่ตายหมด แล้วก็มีบางสวนที่เขาเลิกปลูกกันไป เพราะลูกหลานเข้ามาทำงานในกรุงเทพกันหมด เลยไม่มีลิ้นจี่มาขายมาประกวดกัน ชาวสวนเพิ่งกลับมาปลูกลิ้นจี่กันมากอีกก็เมื่อซักห้าหกปีก่อน งานลิ้นจี่ก็เลยกลับมาอีก แต่คราวนี้ย้ายมาจัดกันที่ศาลากลางจังหวัดเป็นหลักแทน คงเป็นเพราะมันมีกระแสของการสนับสนุนพวก "ของดีประจำจังหวัด" หรือการท่องเที่ยวประจำจังหวัดอะไรเทือกนั้น อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าสมัยนี้เขาไม่กระจายกันไปจัดตามวัดต่างๆ เพราะสมัยนี้การคมนาคมมันสะดวกกว่าสมัยก่อน ขับรถแป๊บเดียวก็ถึงศาลากลางจังหวัดแล้ว สมัยก่อนไม่มีรถต้องพายเรือกันนาน เขาก็เลยจัดงานกันที่วัดใกล้บ้าน ใครใกล้วัดไหนก็เอาไปขายวัดนั้น

เราไม่ค่อยได้ไปงานลิ้นจี่ที่ศาลากลาง เพราะเบื่อคนเยอะ และลิ้นจี่ที่เอามาขายในงานก็จะราคาค่อนข้างแพง คนส่วนใหญ่ที่ไปที่งานลิ้นจี่จะเป็นคนต่างถิ่นมากกว่า (แถวบ้านเราเขาเรียกเหมาไปว่า "คนกรุงเทพฯ" แต่ที่จริงคนจากจังหวัดอื่นก็คงมี) เราชอบไปซื้อที่สวนมากกว่า พูดถึงไปซื้อลิ้นจี่ที่สวนนี่ สมัยเราเด็กๆ เราชอบมากกกก… สมัยก่อนสวนลิ้นจี่จะอยู่ลึกๆ เข้าไปในสวน (อ่านแล้วงงๆ ไหม สวนมันก็ต้องอยู่ในสวนสิเนอะ แต่ที่จริงไอ้คำที่ว่า "ในสวน" เนี่ยมันจะหมายความว่า "รถเข้าไม่ถึง ต้องนั่งเรือไป" อะไรทำนองนั้นอ่ะนะ) เวลาหน้าลิ้นจี่ที่บ้านเราจะซื้อลิ้นจี่ไปแจกพวกญาติๆ บ้างหรือก๊อใหญ่ (พี่ชายเรา) ที่ตอนนั้นเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ พาเพื่อนมาเที่ยวบ้านแล้วพาไปซื้อลิ้นจี่บ้าง เราก็จะได้ไปสวนลิ้นจี่ ก็จะนั่งเรือเมล์ไปบ้าง ยืมเรือของคนข้างบ้านไปบ้าง ไปถึงที่สวนนี่ก็จะเห็นต้นลิ้นจี่เต็มไปหมด แต่ละต้นก็มีลูกแดงเต็มต้นไปหมด เจ้าของสวนเขาจะให้เราชิมฟรีได้ไม่จำกัด จะไปเลือกเด็ดจากต้นเลยก็ได้ ชิมจนหนำใจแล้วค่อยซื้อกลับบ้าน เวลาซื้อเขาก็จะนับมาเกินๆ แถมให้ไง

แต่หลังๆ นี้มันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว (อีกแล้ว… อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไปตามเวลานะ เราไม่ชอบตรงเรารู้สึกว่ามัน เจริญลง มากกว่า เจริญขึ้น แต่คนอื่นเขาหาว่าเราหลงอยู่กับอดีต) สมัยนี้เราไปซื้อลิ้นจี่ที่สวนมันก็ถูกกว่าที่เขาเอามาขายตามตลาดหรือตามงานลิ้นจี่ แต่ถ้าไม่ได้เป็นสวนที่รู้จักกัน เขาก็ไม่ได้ใจดีขนาดให้ชิมไม่อั้น ไม่ได้แถมเยอะๆ เหมือนเดิม ความสัมพันธ์มันห่างเหินกว่าสมัยก่อนอ่ะนะ เป็นการค้าขายมากกว่าเดิม เพราะคนซื้อคนขายไม่รู้จักกัน แม่บอกว่า ความจริงเขาก็อาจจะให้ชิมได้ไม่อั้น แต่เราก็คงไม่กล้าไปชิมของเขามาก ก็สมัยนี้อะไรๆ ก็เป็นของซื้อของขาย เป็นเงินเป็นทองไปหมด เราก็ต้องเข้าใจ…

คงมีคนชักเริ่มสงสัยแล้วว่าอ่านมาตั้งนาน ก็ไม่เห็นว่าลิ้นจี่มันจะเกี่ยวอะไรกับหน้าหนาว เห็นบ่นโน่นบ่นนี่ซะยืดยาว บอกว่าเกี่ยวก็เกี่ยวสิ แต่ Introduction ยาวไปหน่อยเท่านั้นเอง ^_^ เอาๆ เข้าเรื่องแล้วก็ได้ ลิ้นจี่เกี่ยวกับหน้าหนาว เพราะถึงมันจะออกผลตอนหน้าร้อน แต่มันออกดอกตอนหน้าหนาว และถ้าอากาศไม่หนาวมันจะไม่ออกดอก ถ้ามันไม่ออกดอกตอนหน้าร้อนก็ไม่มีลิ้นจี่ให้กิน (แค่เนี้ยเองหละ เขียนมาได้เป็นหน้าๆ หลอกให้อ่านไง)

สมัยก่อนเมืองไทยยังเป็นเมืองที่มี ๓ ฤดู มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีหน้าร้อนหน้าหนาวตามปกติ ลิ้นจี่ก็จะออกดอกทุกปีๆ (แต่ก็ใช่ว่าจะมีลิ้นจี่ให้กินทุกปีนะ ถ้ามีน้ำเค็มหนุนเข้ามา ต้นลิ้นจี่ก็อาจจะตายอย่างที่ว่าไปแล้ว หรือบางทีถ้ามันหนาวๆ ลิ้นจี่ออกดอก แต่มีหมอกหรือแมลงลง ดอกมันก็อาจจะร่วงหมด ก็ไม่มีผลได้เหมือนกัน) แต่หลังๆ นี่ตั้งแต่เมืองไทยกลายเป็นเมือง ๒ ฤดู คือ "ฤดูร้อน" กับ "ฤดูร้อนอิ๊บอ๋าย" ความร้อนจะกลายเป็นศัตรูหลักของลิ้นจี่ ทำให้ช่วงเดือนพฤศจิกาธันวามกราเป็นช่วงที่เราต้องลุ้นว่า หนาวหน่อยเถอะ หนาวหน่อยเถอะ คนที่จะมีอารมณ์ร่วมกับเราอีกกลุ่มหนึ่งก็คงเป็น ชาวสวนลิ้นจี่นั่นเอง ก็เขาก็ตอ้งอยากมีลิ้นจี่มาขายได้เงินไง

แม่เราบอกว่าลิ้นจี่ต้องการให้อากาศหนาวแค่ซักอาทิตย์เดียวก็พอ ซึ่งก็คงจริงเพราะเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกาที่เราบอกว่า หนาวแล้วๆ แต่พอช่วงวันหยุดวันเฉลิมวันรัฐธรรมนูญ คนอุตส่าห์จัดทริปขึ้นเหนือหวังเจออากาศหนาว ดูน้ำค้างแข็งบนยอดหญ้า ก็ผิดหวังไปตามๆกัน เพราะมันเลิกหนาวไปแล้ว (แต่เราดีใจ เพราะช่วงนั้นเราลงใต้ ไปดำน้ำ ไม่อยากให้หนาว) มันหนาวได้แค่อาทิตย์เดียวเอง

แต่ลิ้นจี่ไม่ว่าอะไร หนาวอาทิตย์เดียวก็เกินพอ เมื่ออาทิตย์ก่อนเรากลับบ้านไป แม่รีบบอกว่า "ตอนนี้ลิ้นจี่มีดอกเต็มเลย" เราก็ "จริงเหรอๆ" ไม่ได้คิดว่าแม่จะโกหกหรอกนะ แต่มันดีใจจนไม่รู้จะพูดอะไรที่มันฉลาดกว่านั้นอ่ะ พอเราได้ขับรถผ่านเข้าไปตามถนนที่มีสวนลิ้นจี่ ก็เห็นจริงตามที่แม่บอก ต้นลิ้นจี่มีดอกพราวเต็มต้นไปหมด เราดูไปก็ยิ้มไป นี่แค่คิดว่าจะมีลิ้นจี่ให้กินเยอะๆ ก็น้ำลายจะไหลแล้ว

การที่อากาศหนาวรอบสองนี้ก็เป็นเรื่องดีสำหรับชาวสวนลิ้นจี่อีกเหมือนกัน เพราะช่วงที่แล้วมันหนาวแค่แผล็บเดียว ยังมีต้นลิ้นจี่บางต้นที่มันไม่ทันได้ออกดอก ไม่ใช่ว่ามันความรู้สึกช้าหรอกนะ แต่เป็นเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มันกำลังแตกใบอ่อนพอดี ถึงอากาศหนาวมันก็ออกดอกไม่ได้ (ไม่รู้ว่าทำไมนะ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้คงต้องไปถามแม่เราหรือไปถามชาวสวนลิ้นจี่กันเอาเอง) พอมาหนาวระลอกสองนี่เจ้าต้นที่ไม่ทันได้ออกดอกคราวที่แล้วก็จะได้ออกดอกบ้าง

แม่บอกว่า ปีนี้นิจวรรณเตรียมตัวไว้ได้เลย เพราะท่าทางจะมีลิ้นจี่ให้กินจนสะใจไปเลย แถมจะมีให้กินถึง ๒ ระลอกอีกด้วย ที่ว่าต้องเตรียมตัวก็เพราะว่าลิ้นจี่จัดเป็นของร้อน (คนละพวกกับของโจรนะ) กินแล้วมันจะทำให้ร้อนใน เราชอบกินตั้งใจไว้ทุกปีว่าจะกินให้เพียบเลย แต่บางปีก็แห้วเพราะไม่มีลิ้นจี่ให้กิน แต่บางปีก็ชวด กินไปได้ไม่กี่กิโล (สังเกตหน่วยที่กิน เป็น"กิโล"ค่ะ) ก็เกิดอาการร้อนใน คออักเสบ กว่าจะหาหมอกินยาให้หาย ก็หมดหน้าลิ้นจี่พอดี ปีนี้คงต้องฟิตร่างกายไม่ให้เป็นหวัด ไม่ให้เจ็บคอ นิจวรรณสู้ตายค่ะ

ผลจากหน้าหนาว

วันก่อนฟังข่าว เขาบอกว่า การที่อากาศหนาวเย็นทำให้การท่องเที่ยวทางเหนือบูม ที่พักถูกจองเต็มหมด แม้กระทั่งวัดต่างๆ ก็เต็ม แต่ปีนี้มีโรงพยาบาลหัวใส ปรับตัวรับเศรษฐกิจ เปิดห้องในโรงพยาบาลให้เป็นห้องพักนักท่องเที่ยว คิดค่าพักคืนละ ๘๐๐ บาท จำไม่ได้ว่าเป็นโรงพยาบาลอะไร ประมาณว่าอยู่ที่เชียงใหม่หรือเชียงรายนี่หละ เราว่าเขาก็ไอเดียดี คือรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างรายได้ เพราะเดี๋ยวนี้ห้องพักในโรงพยาบาลเอกชน ก็สะดวกสบาย มีโทรทัศน์ ตู้เย็น บางห้อง มีครัวมีห้องรับแขกด้วยซ้ำ จะว่าไปก็ไม่ต่างจากโรงแรม แต่ไอ้ความรู้สึกคนที่จะเข้าไปพักนี่สิ ไม่รู้ว่าจะคิดกันยังไง ลองนึกๆ ดูนะ

A: นี่ๆ วันหยุดนี้เราจะไปเที่ยวเชียงใหม่หละ
B: โห.. น่าอิจฉาจัง เราอยากไปเที่ยวเหมือนกัน ว่าแต่ไปกี่วัน แล้วไปพักกันที่ไหนล่ะ
A: ไป ๓ วัน ๒ คืน ไปพักกันที่โรงพยาบาลเชียงใหม่

ฟังแล้วมันทะแม่งๆ มะ แต่เราว่าไม่แน่ ต่อไปคนก็อาจจะชิน กลายเป็นช่องทางการหารายได้ของโรงพยาบาลอีกทางหนึ่งก็ได้เนาะ

Belated Christmas

เมื่อวานอัพเดทไดอะรี่ไปแล้วถึงได้นึกได้ว่าเป็นวันคริสต์มาส เลยไปหาการ์ดคริสต์มาสที่ Hallmark ได้การ์ดจี้ๆ มา ๒ อัน คลิกไปดูกันได้นะ
It's a groovy season!!!
Santa Groove