O -- The Power of Jealousy
O เราไปดูหนังเรื่อง “O” เป็นเรื่องรองสุดท้ายของปีที่แล้ว เรื่องสุดท้ายคือ Training Day เป็นเรื่องของตำรวจใหม่ ที่ไปทดลองงานกับตำรวจเก๋าในหน่วยปราบปรามยาเสพติด เราดูจบแล้วรู้สึกว่า Danzel Washington นี่สุดยอดจริงๆ ธรรมดาเล่นเป็นพระเอก ก็พระเอ๊ก... พระเอก เรื่องนี้เล่นเป็นตำรวจร้ายก็เลวระ-ำจริงๆ

“O” เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง Othello ของ Shakespeare โดยปรับเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน แบบที่พักหลังๆ หนังฮอลลีวู้ดมักจะชอบทำเวลาเอาบทประพันธ์เก่าๆมาทำใหม่ อย่าง Romeo Juliet ที่ Leonardo Di Caprio เล่นไว้ก่อนที่จะถึงจุดต่ำสุดของอาชีพการแสดง (ในบท Jack Dawson จาก Titanic) เขาทำเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ยังใช้ภาษาเดิมๆของ Shakespeare เราฟังไม่รู้เรื่องเลย ยังดีว่าเนื้อเรื่องมันเป็นที่รู้จักดีแล้วนะ ไม่งั้นคงดูไปงงไปเหมือนกัน หรืออย่าง Clueless ที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง Emma ของ Jane Austen ที่ทำให้ Alicia Silverstone ดังอยู่พักหนึ่ง

เราไม่เคยอ่าน Othello ฉบับจริง ก็เลยไม่กล้าฟันธงลงไปว่าเขาดัดแปลงมาเป็น O ได้ดีแค่ไหน (ที่จริงน่าจะพูดว่า ไม่เคยอ่านต้นฉบับจริงของ Shakespeare เลยซักเรื่องมากกว่า) แต่ถ้าวัดเอาจากความบันเทิงที่ได้รับเราก็ว่าเป็นหนังที่ไม่เลวเลย เผอิญเราชอบตัวแสดงนำเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็เลยดูได้เพลินๆ ตัวแสดงนำที่เราชอบก็คือ Julia Stiles ที่เล่นหนังวัยรุ่นมาหลายเรื่อง และมักจะได้บทเป็นเด็กผู้หญิงแข็งๆ ฉลาดๆ เป็นตัวของตัวเอง กับ Josh Harnett ที่เล่นหนังวัยรุ่นมาหลายเรื่องเหมือนกันแต่เพิ่งมาได้บทเด่นๆ ในเรื่อง Pearl Harbor (หมูเพื่อนเรากรี๊ด Josh Harnett มาก เราว่าเขาก็น่ารักดี คิ้วรกๆ ตาตกๆ ผมชี้ๆ น่าเอ็นดูแบบแปลกๆ ปิยธิดาก็เห็นด้วยว่าหน้าเขาแปลกๆ แต่มี Comment เพิ่มว่า “ตากับคิ้วเขาเหมือนเขาทราย” โอ๊ย... ว่าเขาเสียหมดหล่อเลยวุ้ย)

O เป็นเรื่องของความอิจฉาริษยาที่นำพาความหายนะมาสู่ชีวิตคน Josh เล่นเป็น Hugo เด็กนักเรียนโรงเรียนไฮสคูลเอกชนที่ เป็นลูกชายของโค้ชทีมบาสเกตบอล Hugo รู้สึกว่าถูกแย่งความสนใจและมีคนให้ความสำคัญเขาน้อยลง เพราะมี Odin (เรียกสั้นๆว่า O หรือ Othello ในบทประพันธ์เดิม) เข้ามา Odin เป็นเด็กยากจน แต่ได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ เพราะเล่นบาสเก่งมากๆ โรงเรียนเลยรับเข้ามาเรียนในฐานะนักเรียนทุน แต่ต้องเล่นบาสให้เป็นการแลกเปลี่ยน

อเมริกาเป็นที่ที่แปลกกว่าประเทศอื่นๆอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่ทุกคนดูจะให้ความสำคัญกับเด็กที่เล่นกีฬาเก่งๆมากกว่าเด็กที่เรียนเก่งๆ เด็กที่เรียนดีไม่เป็นที่ชื่นชมมาก แต่เด็กที่เล่นกีฬาเก่งๆครูบาอาจารย์ก็ชื่นชม สาวๆก็ตามกรี๊ดกันตรึม เป็นฮีโร่ของโรงเรียน บางทีเด็กเล่นกีฬาเก่งๆมีโอกาสได้ทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าเด็กเรียนดีเสียอีก ในหนัง O นี่ใครก็ชื่นชม O ไม่มีใครรังเกียจว่าเขาจน หรือเป็นคนดำ เพราะเขาเล่นบาสเก่ง

นอกจากจะโดนแย่งความสนใจจากคนอื่นๆไปแล้ว ที่ร้ายที่สุดก็คือ แม้แต่พ่อของ Hugo ก็ดูเหมือนจะรักและสนใจ Odin มากกว่าเขาซึ่งเป็นลูกในไส้ (พ่อเขาประกาศต่อหน้าทุกๆคนในโรงเรียน ในงานมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่นว่า เขากล้าพูดได้อย่างไม่อายเลยว่า เขารัก Odin เหมือนเป็นลูกของเขาเอง ตรงนี้เองที่เป็นตอนที่จุดไฟความอิจฉาของ Hugo ให้ลุกโพลง) ความอิจฉาริษยาทำให้ Hugo วางแผนต่างๆนานาที่จะทำลาย Odin เริ่มจากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Odin กับเพื่อนสนิทคลอนแคลน ความสัมพันธ์กับแฟนพังทลาย ไปจนสุดท้ายถึงทำลายชีวิตของ Odin

เราดูจบหนังแล้วก็รู้สึกว่า ความอิจฉานี่ต้องควบคุมมันให้ดีนะ เพราะมันมีอำนาจทำลายล้างมหาศาลเกินคาด ความอิจฉามันเกิดจากความที่เราอยากเหมือน(หรือดีกว่า)ใครซักคน (อยากเก่ง, อยากรวย, อยากหล่อ, อยากสวย, อยากเป็นที่รักของทุกๆคน ฯลฯ) แต่เราเป็นไม่ได้ หรือไม่ก็เกิดตอนที่คนอื่นได้อะไรต่ออะไรที่เราไม่ได้ แบบว่าอิจฉาที่คนอื่นได้ดีกว่าเราน่ะนะ

เราต้องพยายามไม่ให้ความอิจฉานำหน้าความรู้ผิดชอบชั่วดี เราควรจะคิดให้ได้ว่า ถ้าไม่เราพยายามให้สุดแรงที่จะทำให้ตัวเราเป็นเหมือน(หรือดีกว่า)คนที่เราอยากเป็น เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า เขาดีกว่าเราจริงๆ (เราได้ทุกอย่างไม่ได้ “We win some, we lose some” บางทีเราก็โชคร้าย ชีวิตมันเป็นแบบนั้น) แต่อย่าง Hugo ในหนังนี่ เขาคิดแบบนั้นไม่ได้ ทำใจไม่ได้ ปล่อยให้ความอิจฉาซึ่งเป็นอารมณ์ทางลบไปเดินนำหน้าสมอง แทนที่เขาจะพยายามเอาชนะด้วยการพัฒนาตัวเอง (ยกระดับตัวเราให้ขึ้นไปเท่าเขา) เขากลับคิดกลั่นแกล้งหรือทำลายคนอื่นแทน (ดึงเขาให้ต่ำลงมาเท่าเรา)

เราเคยเห็นและได้ยินว่ามีการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ทำกันขนาดที่เราไม่อยากเชื่อว่าจะคนมีการศึกษาเขาจะทำกัน (เขียนบัตรสนเท่ห์ ทำลายข้าวของ เขียนด่าหยาบๆคายๆ ฯลฯ) ตอนแรกก็สงสัยว่าคนเราจะเกลียดชังอะไรกันนักหนาถึงทำกันได้ขนาดนั้น แต่สุดท้ายเราสรุปได้ว่ามันไม่ใช่ความเกลียดชังแต่เป็นความอิจฉาริษยา ทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นดีกว่า

หลังจากดู O ไปไม่กี่วัน ก็มีเหตุการณ์มาท้าทายความรู้ผิดชอบชั่วดีของเรา คือมันมีเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ”คนอื่น” ได้ดีกว่าเรา เรายังไม่ได้ถึงกับอิจฉาคนคนนั้นเสียทีเดียวหรอกนะ แต่เราไม่ได้รู้สึก “ยินดีด้วย” กับสิ่งที่เขาได้รับ เราคงไม่ไปคิดร้ายทำลายเขาหรืออยากจะเห็นเขาตกต่ำลงไปหรอก แต่ความรู้สึกของเรามันไปอยู่ในแดนลบ (ฟังแล้วคล้ายๆ ภาษาตลาดหุ้นไหม แดนลบ-แดนบวก) เราคิดว่ามันไม่แฟร์ เราคิดว่าเขาไม่ค่อยจะสมควรได้ในสิ่งที่เขาได้ (เอ๊ะ… แบบนี้มันก็เข้าข่ายอิจฉาแล้วหละเนอะ) มันเหมือนมีเมฆดำๆ มาปกคลุมจิตใจ เรารู้ว่าเป็นแบบนี้มันดี มันไม่ Healthy เลย ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ เพราะคิดว่าถ้ายังกำจัดความคิดนี้ออกไปไม่ได้ จิตใจเราคงหดลงเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท…

เคยได้ยินคนบางคนบอกว่า “เราจะรู้ว่าใครเพื่อนแท้ก็ต่อเมื่อเราลำบาก คนคนนั้นจะช่วยเหลือเรา ไม่ซ้ำเติมเรา” แต่เรากลับมองว่า คนที่เป็นเพื่อนแท้คือ คนที่ “ยินดีด้วย” กับเรา เวลาที่เราได้ดี สัญชาติญาณของคนมักไม่อยากเห็นคนอื่นดีกว่าตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราได้ดี ถ้ามีใครซักคนที่เขายินดีกับเรา"ด้วยความจริงใจ" คนคนนั้นหละเขารักเราจริงๆ ดูอย่างพ่อแม่ของเราสิ เขาอยากให้เราได้แต่สิ่งดีๆ ยิ่งดีเท่าไหร่ยิ่งยินดี ไม่มีการอิจฉา

แต่ถ้าเวลาที่เราตกต่ำแล้วมีคนมาช่วยเหลือเรา ไม่เหยียบย่ำเรา กลับบอกได้ยากว่าเขาจะเป็นคนที่รักเราจริงๆ หรือเป็นเพื่อนแท้ของเราหรือเปล่า เขาอาจจะทำไปเพราะ “มารยาทสังคม” ก็ได้ ในสังคมที่มีความศรีวิไลพอสมควร ถ้าเห็นว่ามีใครคนหนึ่งกำลังลำบาก อาการอัตโนมัติของคนทั่วๆไป (ที่ไม่ได้เอียงไปข้าง “รัก” หรือ “เกลียด”) คือ สงสาร และช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้ แต่ถ้าใครที่ไม่ช่วยแล้วยังเหยียบย่ำจะถูกสังคมประณาม (เขาแย่ขนาดนั้นแล้ว ไปเหยียบเขาซ้ำก็”หมา”แล้ว) เพราะฉะนั้นคนที่เกลียดกันก็อาจจะรักษามารยาท แล้วก็แสดงความสงสารหรือช่วยเหลือไปด้วย

เราคงจะทำใจให้ "ยินดีด้วยอย่างจริงใจ" กับ "คนอื่น" คนนั้นไม่ได้ (เพราะมันมีเรื่องราวความหลังอยู่อีกพอสมควร ที่เราควรจะตัดมันทิ้งจากความทรงจำ แต่ก็ยังทำไม่ได้เสียที) แต่คงต้องพยายามทำใจให้ไปอยู่อยู่ตรงกลางๆ ให้รู้สึกเฉยๆกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงไม่ยินดีกับเขาแต่ก็ต้องไม่ยินร้ายด้วย แต่ความที่เป็นคนนิสัยไม่ดียังมีความอิจฉาอยู่ ก็เลยยังอดไม่ได้ คงต้องพยายามต่อไป...

ดอย ภู เขา ควน ดอน โคก มาบ

ฟังพยากรณ์อากาศ เขาจะพูดประมาณว่า “ภาคเหนืออากาศเย็น ยอดดอยอากาศเย็นจัด... ฯลฯ” แล้วต่อว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออากาศเย็น ยอดภูอากาศเย็นจัด... ฯลฯ” สังเกตว่าเขาใช้ “ดอย” กับภาคเหนือ ใช้ “ภู” กับภาคอีสาน เราก็เลยมานึกๆ ดู ภาคเหนือก็มีแต่ดอยจริงๆ แฮะ ดอยอินทนนท์ ดอยแม่สลอง ดอยคำ ดอยตุง ฯลฯ ส่วนภาคอีสานก็มีแต่ภูจริงๆ อย่าง ภูกระดึง ภูหลวง ภูชี้ฟ้า

พอดีไปคุยกับพี่ที่ที่ทำงาน ก็มีคนหนึ่งเขาสังเกตการใช้ “ดอย/ภู” ในพยากรณ์อากาศเหมือนกัน ก็เลยคุยๆ กันเรื่องนี้ต่อ เราว่าถ้าภาคกลางมีอากาศต่างกันระหว่างพื้นราบกับที่สูง เขาจะพูดไหมว่า “ภาคกลางอากาศเย็น ยอดเขาอากาศเย็นจัด... ฯลฯ” เพราะภาคกลางมีแต่ “เขา” (เขาวัง เขาชะโงก เขาสามร้อยยอด) แล้วถ้าเป็นภาคใต้จะต้องพูดว่ายอดอะไร พี่เขาบอกว่าก็คงบอกว่า ยอดเขา นั่นแหละ เพราะทางใต้ก็เรียก เขา เหมือนภาคกลาง

แล้วก็มีคนถามต่อไปถึงคำว่า “ควน “ ว่าภาษาใต้ แปลว่า “ที่สูง” ไม่ใช่เหรอ จะใช้แทนคำว่าเขาได้ไหม แต่พี่คนเดิมบอกว่า “ควน” ไม่ใช่ภูเขาแต่เป็นแค่เนินๆ ขึ้นมา สูงกว่าที่ราบธรรมดาเล็กน้อย คือประมาณเหมือน “โคก” ในภาคอีสานมากกว่า เราก็บอกว่า อ้าวอย่างงี้ก็เหมือน ”ดอน” ในภาคกลางนะสิ เขาก็บอกว่า ใช่ๆ แล้วถ้าเป็นทางภาคตะวันออกก็เป็น “มาบ” ไง เราเพิ่งรู้ว่าความหมายของ อำเภอมาบตาพุด ก็วันนี้เอง

คุยวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องภาษาไทยกันขนาดนี้ เราขอบอกอีกที(กันลืม)ว่าที่ทำงานเราเป็นบริษัทที่ปรึกษาวิศวกรรม และคนที่คุยๆกันนี่ก็เป็นวิศวกรทั้งนั้นเลย แล้วขอโทษเถอะ...เวลาคุยกันเรื่องงานวิศวกรรม จะไม่มีการวิเคราะห์ในรายละเอียดแบบนี้หรอกนะ… (แป่ว!!)