Information Technology
ตอนนี้เรากำลังเรียนปริญญาโทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ เขากำลังฮิตนะ เพราะสมัยนี้เป็นยุคของข่าวสารข้อมูล ใครมีข้อมูลคนนั้นมีอำนาจ (เขาว่ากันว่างั้นนะ เราเป็นพวกไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องเชื่อเขา) ใครๆก็เลยอยากจะทำไอ้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกันจังเลย แต่ถามๆว่าระบบที่ว่านี้มันคืออะไร ก็เห็นหลายๆคนทำหน้าไม่แน่ใจ แล้วก็บอกว่าระบบคอมพิวเตอร์ไง หรือเปล่า อืมม์… มันก็ใช่ แต่ไม่ทั้งหมด

คำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology (หรือ IT อ่านว่า ไอที ไม่ใช่ อิท ที่แปลว่า "มัน") อธิบายง่ายๆ(ตามใจเรา)ก็คือ การใช้เทคโนโลยีมาจัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่ว่านี้เป็นอะไรก็ได้ และเทคโนโลยีและวิธีการที่เอามาจัดการมันจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างสมุดจดเบอร์โทรศัพท์เล่มเล็กๆของเรา ก็จัดเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเหมือนกันนะ เพราะมันมีข้อมูล(คือชื่อเพื่อนๆของเรากับเบอร์โทรศัพท์) เทคโนโลยีที่เราใช้ออกจะเชยๆไปซักหน่อย เพราะมีแค่สมุดจดกับปากกาแต่พอถูๆไถไปได้ แล้วเราก็มีการจัดการข้อมูล นั่นคือ เราอาจจะเรียงชื่อเพื่อนๆ ตามลำดับตัวอักษร ตามความสนิทหรือรักใคร่ชอบพอ หรือแม้แต่ไม่เรียงลำดับอะไรเลย (การจดมั่วๆก็ถือเป็นการจัดการเหมือนกัน แต่เป็นการจัดการแบบห่วยๆ)

ทีนี้ทำไมสมัยนี้ใครๆถึงเข้าใจว่าเทคโนโลยีสารสนเทศคือคอมพิวเตอร์ล่ะ ก็คงเป็นเพราะเราเน้นการจัดการข้อมูล ว่าต้องทำให้ใช้ประโยชน์ได้ง่ายและสะดวก ความที่สมัยนี้มันมีข้อมูลเยอะมากขึ้น และคนขี้เกียจมากขึ้น ก็เลยมีการคิดเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยจัดการข้อมูล เพราะมันทำงานซ้ำๆได้ถูกต้องและรวดเร็วกว่าคนทำ

ลองย้อนกลับไปที่สมุดจดเบอร์โทรศัพท์กันอีกรอบ ถ้าเราอยากให้หาเบอร์ง่ายๆ เราก็ควรเรียงตามตัวอักษร ทีนี้จะเอาตามชื่อจริง หรือชื่อเล่นดีล่ะ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วใช่มะ ถ้าเลือกชื่อจริงแล้วบางคนเราจำได้แต่ชื่อเล่นล่ะ แถมเดี๋ยวนี้มีภาษาไทยภาษาอังกฤษอีกตะหาก จะเรียงตามอะไรก็เป็นปัญหาวุ่นวายพอสมควร แล้วถ้าเราจดเรียงติดต่อกันไปเรื่อยๆ แล้วเกิดมีเพื่อนใหม่ที่มีชื่อมาแทรกตรงกลางจะทำยังไงล่ะ มาแทรกหลายๆคนก็ชักไม่เรียงตามตัวอักษรอีกแล้ว คนที่มีการเปลี่ยนเบอร์ก็ต้องขูดลบขีดฆ่ากันเลอะเทอะไปหมด

อย่างของเรานี่พอผ่านไประยะหนึ่ง เราจะต้องเอาสมุดจดเบอร์โทรศัพท์มาลอกใหม่ ตัดเบอร์โทรที่ไม่อัพเดททิ้งไป ตัดคนที่เลิกคบทิ้งไปบ้าง (หรือเขาเลิกคบเรา… อะไรทำนองนั้น) เรียงลำดับใหม่ เสียเวลาเสียแรงเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น Address book ในคอมพิวเตอร์ เราจะเพิ่มชื่อ ลบชื่อ แก้ไขเบอร์โทร ก็ทำไปเลย จะให้เรียงตามชื่อเล่น ชื่อจริงก็ทำได้ง่าย เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์มันจัดการให้เราได้หมด

สมุดจดโทรศัพท์เป็นตัวอย่างง่ายๆ ของการจัดการข้อมูล ถ้าอย่างในการทำธุรกิจก็อาจเป็นการเก็บข้อมูลเจ้าหนี้ลูกหนี้ เก็บจำนวนสินค้าในสต็อค การคำนวนรายรับรายจ่าย การทำงานแบบนี้ ถึงไม่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ทำงานได้ สมัยก่อนมีแค่กระดาษ ปากกา เครื่องคิดเลขก็ทำได้แล้ว แต่ใช้คอมพิวเตอร์มันก็สะดวกขึ้น ทำอะไรๆ ได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง

แต่ที่เราบอกว่าคอมพิวเตอร์จัดการให้ได้หมด ก็เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะถึงดูเหมือนว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะทำโน่นทำนี่ได้เยอะแยะ แต่จริงๆแล้วมันเป็นอุปกรณ์โง่ๆชิ้นหนึ่ง (ไม่ได้มีความฉลาดมากไปกว่าเครื่องปิ้งขนมปังหรือเตาอบไมรโครเวฟเลย) ก่อนที่มันจะทำงานอะไรต่ออะไรให้เราได้ เราต้องบอกขั้นตอนการทำให้มันก่อน ถ้าเราบอกวิธีการไปแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ที่ทำงานซ้ำซากๆ ได้ไม่เหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าเราเองยังไม่รู้ว่าจะทำงานยังไง เรายังบอกวิธีการให้มันไม่ได้หรือเราบอกวิธีการผิดๆไป มันก็จะทำไปทั้งผิดๆ

คนที่จะบอกคอมพิวเตอร์สั่งให้มันทำงานได้ ก็คือคนที่เขียนโปรแกรมได้ไง แต่คนส่วนใหญ่เขียนโปรแกรมไม่เป็น(เราก็เป็นหนึ่งในนั้น) ก็เลยมีคนที่เขียนโปรแกรมมาขาย ให้ทำงานต่างๆได้ตามที่คนอยากทำ ถ้าเป็นการใช้งานทั่วๆไป ก็มีคนเขียนโปรแกรมเอาไว้แล้ว แต่ถ้ามันเป็นงานเฉพาะอย่างก็ต้องมี "การพัฒนาระบบ" ขึ้นมา (ซึ่งอาจหมายถึงการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่หมด หรือเอาโปรแกรมที่มีอยู่แล้วมายำใหญ่ แต่งตัวใหม่ให้เหมาะกับความต้องการ)

นั่นก็เป็นที่มาของการที่ทำให้มีคนต้องมาเรียนวิชาไอทีกัน ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่ และพยายามเอามันไปใช้ในการจัดการข้อมูล ไอ้การเรียนรู้เทคโนโลยีนี่มันไม่ค่อยยากหรอกนะ แต่จะเอาไปใช้ยังไงให้ได้ตามความต้องการของเรานี่สิมันยาก มันเป็นศิลปะที่สอนกันไม่ค่อยได้ เราจึงเห็นโครงการไอทีมูลค่าพันแปดร้อยล้านในหลายๆองค์กรที่เจ๊งไม่เป็นท่า (คล้ายๆกับวิชาการจัดการอ่ะนะ เราเห็นผู้บริหารที่มีปริญญา MBA หรือเป็นถึงด็อกเตอร์ทางด้านการบริหาร บริหารงานเจ๊งไม่เป็นท่าก็เยอะ)

การพยายามเอาระบบไอทีมาใช้ในองค์กรแล้วเจ๊ง เพราะออกแบบไม่ดีนี่ยังพอแก้ได้ ก็ค่อยๆหาว่าตรงไหนไม่ดี ขั้นตอนไหนผิด ก็แก้กันไป แต่หลายๆครั้งที่เราเห็นว่าเจ๊ง เพราะความอยากทันสมัยแต่ไม่พัฒนาของคน อยากเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ เพราะมันโก้ดี สร้างพจน์ว่าเป็นองค์กรที่ทันสมัย แต่ไม่รู้ความต้องการของตัวเอง ไม่รู้ข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ คิดว่าคอมพิวเตอร์คือพระเจ้า ให้มันบันดาลอะไรได้ตามใจชอบ มันไม่ใช่

ตราบใดที่เบื้องหลังการทำงาน คนที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานยังไม่รู้ว่าจะสั่งมันยังไงดี คอมพิวเตอร์ก็เป็นเหมือนเครื่องย่อยขยะ รับขยะเข้ามาทางหนึ่ง แล้วก็พ่นขยะออกไปอีกทางหนึ่ง (เรียกว่าระบบ GIGO - Garbage In Garbage Out ก็คงได้ เลียนแบบระบบ FIFO - First In First Out เป็นชื่อเรียกการให้บริการในคิว ใครมาถึงก่อน ได้รับบริการก่อน) ถ้าระบบเจ๊งเพราะอย่างหลังนี่แก้ยาก ต้องรอให้โครงการ"การพัฒนาระบบมัน" (it อิท) สำเร็จเสียก่อนค่อยมาว่ากันใหม่