Cheaters
๘๐% ของเด็กนักเรียนไฮสคูลยอมรับว่าเคยโกงข้อสอบ

๕๐% ไม่เห็นว่าการโกงข้อสอบเป็นเรื่องผิด

เมื่อวันก่อนที่เราไปดู Lord of the Rings กลับถึงบ้าน (สี่ทุ่มหน่อยๆ) ก็ว่าจะเข้านอนแต่หัววัน เพราะรู้สึกว่าอาการไม่ค่อยดีคล้ายกับจะเป็นหวัด แต่ด้วยสัญชาติญาณถึงบ้านก็เปิดทีวี กดไปเจอหนังทางช่อง HBO เรื่อง Cheaters ไม่น่าเลยจริงๆ เพราะหลังจากดูไปได้หน่อยหนึ่ง เราก็รากงอกนั่งดูไปจนจบ เข้านอนหลังเที่ยงคืนอีกแล้ว

Cheaters เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูกับเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปสอบแข่งขันทางวิชาการที่เรียกว่า Math Decathlon (คำว่า Decathlon แปลว่า ทศกรีฑา หรือการแข่งกีฬา ๑๐ อย่าง เพราะฉะนั้นการสอบที่ว่านี่ก็เป็นการสอบความรู้ทางวิชาการ ๑๐ วิชานั่นเอง) ความที่เด็กพวกนี้มาจากโรงเรียนรัฐบาลธรรมดาๆ ไม่เด่นไม่ดัง งบที่จะสนับสนุนในการช่วยเด็กๆเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมี (ต่างจากงบของชมรมกีฬา ก็อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่า ที่อเมริกานี่เขาชื่นชมคนเล่นกีฬามากว่าคนเรียนเก่ง) แถมทุกๆคนก็รู้ว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะชนะทีมที่มาจากโรงเรียนดังครองแชมป์ยาวนานหลายปี แต่ทั้งเด็กทั้งครูก็ตั้งใจกันสุดฤทธิ์

ตอนไปแข่งระดับเขตก็ยังทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี แต่เด็กกลุ่มนี้ก็ยังโชคดีได้ที่ห้า ได้เป็นหนึ่งในห้าของทีมที่จะได้ไปแข่งในระดับรัฐ (ในขณะที่ทีมที่ได้ที่ ๑ ก็เป็นทีมแชมป์เก่าตามความคาดหมาย) ปรากฏว่าก่อนการแข่งระดับรัฐ มีเด็กคนหนึ่งในทีมบังเอิญไปได้ข้อสอบที่จะใช้ในการแข่งขันระดับรัฐมา ก็เลยเอามาให้อาจารย์ แล้วเลยเป็นเรื่องที่ชั่งใจกันว่าจะโกงดี หรือจะรักษาคุณธรรมกันดี ความที่หนังชื่อเรื่อง Cheaters ก็น่าจะเดากันได้ ว่าทุกคนตัดสินใจว่าจะโกง ก็เลยแบ่งกันไปคนละวิชา หาคำตอบได้แล้วก็เอามาเฉลยแล้วก็ให้ทุกคนจำคำตอบเข้าไป

ปรากฏว่าเด็กทีมนี้ก็คะแนนเยอะมากๆ ได้ที่ ๑ ในการแข่งระดับรัฐไปทั้งในรายวิชาและคะแนนรวม ทำเอาทีมที่ได้ที่ ๑ ถึงกับงงและแค้นมาก แอบใช้เส้นให้เจ้าหน้าที่จัดการสอบเอาคำตอบมาตรวจสอบหาสถิติ (คนอเมริกันบ้าตัวเลข จะพิสูจน์อะไรต้องเอาตัวเลขมาขู่) แล้วสรุปได้ว่าเด็กพวกนี้น่าจะโกงข้อสอบ (ปกติเด็กที่สอบในระดับเขตจะได้คะแนนในการสอบระดับรัฐน้อยลง แต่เด็กทีมนี้ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ได้เกือบเต็ม เทียบกับข้อมูลเก่าๆแล้วโอกาสที่จะเป็นไปได้แทบเป็นศูนย์ มีข้อสอบบ้างข้อที่ยากมากๆ มีคนทำถูกไม่กี่คน แต่เด็กจากโรงเรียนนี้ทำถูกทกคน ตัวอย่างความผิดปกติเพียบ) ก็เลยมีการสอบสวนกันยกใหญ่ จะให้มีการสอบใหม่ หรือไม่ก็ริบรางวัลคืน

เรื่องราวมันคงจะไม่เลวร้ายอลวน ถ้าไม่บังเอิญมีเด็กคนหนึ่งในทีมที่ไม่ได้เข้าแข่งขันในระดับรัฐ (เพราะเขาจำกัดจำนวนนักเรียนที่เข้าแข่งในทีม) เกิดอิจฉาที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมในชื่อเสียงและความสำเร็จ (ที่ไปโกงเขามา) ก็เลยไปปูดเรื่องให้นักข่าวฟัง ต่อจากนั้นมันก็มีการสืบสวนคดีฟ้องร้องประโคมข่าวกันวุ่นวาย สุดท้ายกลายเป็นการต่อสู้กันในเรื่องความชอบธรรมในสังคมในหลายๆประเด็น (ความไม่ยุติธรรมในสังคม เช่น ครูบอกว่า ถ้าเป็นทีมที่เคยได้ที่ ๑ มาก่อนทำคะแนนได้ดีมากๆ จะไม่มีการสอบสวน หรือความเท่าเทียมในสังคม เช่น โรงเรียนที่ดังกว่าได้รับความช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณการศึกษามากกว่า ฯลฯ) แต่สรุปสุดท้ายแล้วชีวิตของทุกคนทั้งครูทั้งเด็กนักเรียนก็พลิกผันกันไปหมด ครูต้องตกงานเพราะได้ชื่อว่าสอนให้เด็กโกงแทนที่จะห้ามหรือยืนยันในความถูกต้อง เด็กๆโดนริบรางวัลคืน

หนังเขาทำได้สนุกน่าติดตาม เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ตรง”สีเทาๆ” คือจะว่ามันผิดมันก็ผิด แต่เราก็ไม่ได้ประณามหยามเหยียดมันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ (ไม่เหมือนการฆ่าคน ขายยาบ้า แบบนั้นเราฟันธงได้ว่า เฮ้ย... ผิดชัวร์) เรารู้ทั้งรู้ว่าการโกงมันไม่ดี แต่สถานการณ์ในหนังก็ทำให้เราอดเห็นใจในความด้อยโอกาสของเด็กพวกนี้ไม่ได้ จริงอยู่ว่าการด้อยโอกาสไม่น่าจะเป็นข้ออ้างในการทำความผิดอย่างการโกงก็ตาม แต่ถ้าดูจากสถิติข้างบนที่เราจำมาจากท้ายเรื่องของหนัง เราว่าการโกงข้อสอบมันเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตการเรียน ถึงแม้สถิติจะเป็นของอเมริกัน แต่เราว่าของไทยหรือที่อื่นๆในโลกก็ไม่น่าจะไกลกันซักเท่าไหร่

ตอนสมัยเรียนมัธยมเราเองก็เคยโกงข้อสอบ ถึงแม้จะไม่ได้โกงเพื่อตัวเองแต่ก็อยู่ในขบวนการโกงเหมือนกัน (ใช้คำว่าขบวนการ เพราะร่วมใจกันทำทั้งห้อง) เขียนคำตอบใส่โพยแล้วโยนให้เพื่อน เขียนคำตอบตัวโตๆ แล้วห้อยกระดาษคำตอบลงมาเยอะๆให้คนข้างหลังดู แบกระดาษคำตอบโอ่โถงให้คนข้างๆดู เข้าสอบซ่อมแทนเพื่อน หรือแม้แต่กลโกงเขียนคำตอบบนกระดานโดยแต่งเรื่องเป็นการนัดกันไปเที่ยวเขาดิน ก็ทำกันมาแล้ว พวกเราไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเรารู้ว่าทุกคนโตพอที่จะรู้ผลลัพธ์ของการโกง พวกเพื่อนๆที่ลอกข้อสอบวิชาฟิสิกส์ ก็ต้องรู้ตัวเองว่า โกงแล้วสอบผ่านไปได้ก็จริง แต่ถึงเวลาเอ็นทรานซ์ถ้าจะเอ็นท์แผนกวิทย์ ก็ต้องมีปัญหาแน่ๆ หรืออย่างคนที่โกงวิชาชีวะ ก็ต้องรู้ว่าไปเอ็นทรานซ์เข้าคณะแพทย์ก็คงลำบาก พวกเราเป็นแค่เด็กนักเรียนที่ต้องการเอาตัวรอด (ถ้าไม่โกงคือไม่จบ) แต่พอสุดท้าย เรามีความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ได้มีสันดานโกงซักหน่อย

เราเคยคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ที่มีเด็กที่เขาสอนให้เพื่อนลอกข้อสอบ เขาซีเรียสกับมันมากและคิดจะปรับตกทั้งห้อง เขาให้เหตุผลว่า ขนาดเป็นนักเรียนก็ยังโกง แล้วถ้าต่อไปทำงานก็คงโกงด้วย เป็นใหญ่เป็นโตก็คงโกงต่อไป ถึงขั้นโกงบ้านโกงเมือง อันนี้ก็เป็นการมองอีกมุมหนึ่ง เราว่าท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนที่จะโกงหรือไม่โกง ควรรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ จะโกงอะไรก็โกงได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราเริ่มจะโกงตัวเองแล้ว เราว่านั่นแหละเป็นปัญหาที่น่ากลัวที่สุด