The Old Days - เด็กวัดแก้ว
วันก่อนขับๆ รถไปแล้วก็นึกถึงเรื่องวันเก่าๆ ความสุขเกิดทุกครั้งที่นึกถึง เราคงตอบยากถ้าให้เลือกว่า ตอนไหนที่มีความสุขที่สุด เราว่าทุกช่วงเวลาในชีวิตของเราเป็นช่วงที่มีความสุขตลอดมา แต่แล้วแต่ว่าจะสุขแบบไหน ถึงมีบางตอนที่เศร้าหรือเครียดหรือทุกข์ แต่พอมองย้อนกลับไปมันก็กลายเป็นความสุขอยู่ดี สุขที่เราผ่านมันมาได้ สุขที่เรามีประสบการณ์มากขึ้น โตขึ้น ฉลาดขึ้น (นิยาม: ฉลาด = รู้มากว่าที่เคยรู้ เห็นมากกว่าที่เคยเห็น) เป็นประสบการณ์ที่ดี อย่างตอนเด็กๆ เลยที่ยังอยู่บ้านโรงไม้ที่วัดแก้ว ก็สุขแบบเฮฮา จำอะไรไม่ได้มาก แต่รู้ว่าสบายดี ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก สิ่งดีๆ ที่เราจำได้ คือ ได้เล่นตามสวน กระโดดน้ำคลองไปวันๆ ขี่จักรยานเล่น (ที่บ้านเรามีจักรยานสวยๆ เป็นคนแรกของแถวๆ นั้น เตี่ยซื้อให้เก๋ แต่ให้แบ่งๆ กันขี่ ยี่ห้อเฟสสัน ขี่ไปดีดกระดิ่งกริ๊งๆ ไป เท่ห์ซะ)

เราไม่ต้องทำงานบ้านอย่างหุงข้าวทำกับข้าว กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า เพราะมีแม่ครัวทำให้ หรือไม่แม่ก็เป็นคนทำเอง (ที่ต้องมีแม่ครัวไม่ได้ว่าหรูหราร่ำรวยอะไรหรอก แต่เพราะสมัยก่อนที่บ้านเราทำกับข้าวมื้อกลางวันเลี้ยงคนงานด้วย แม่ครัวคนแรกที่เราจำได้ ชื่อเจ๊เยาว์ นอกจากทำกับข้าว ทำงานบ้านแล้ว ก็เป็นคนเลี้ยงเราด้วย แบบว่า all-in-one หนะ) แต่เราต้องรับผิดชอบตัวเอง อย่างกินข้าวแล้วต้องเอาจานไปเก็บให้เรียบร้อย เสื้อผ้าใส่แล้วต้องเอาไปใส่ในตะกร้า ของใช้ตัวเองต้องเก็บให้เรียบร้อย ของเล่นต้องไม่วางเกะกะรกบ้าน แล้วก็รับผิดชอบเรื่องเรียน ทำการบ้านอ่านหนังสือตามสมควร เราไม่ใช่เด็กเรียน แล้วโชคดีที่แม่กับเตี่ยก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่ไปเรียนทุกวัน สอบผ่านได้ขึ้นชั้นทุกปีก็พอแล้ว (ยุคสมัยหนึ่งเขายังมีคำว่า "สอบตกซ้ำชั้น" อยู่นะ ไม่ใช่สอบตกแล้วสอบซ่อมก็ขึ้นชั้นได้แบบสมัยนี้) เราก็เลยเรียนเล่นไปตามประสา (แต่ขอโทษตอนเด็กๆ สอบได้ที่ ๑ ที่ ๒ ตลอด ฮี่ๆ)

เราต้องช่วยงานเบ็ดเตล็ดที่บ้านนิดหน่อย ที่บ้านเราขายไม้แปรรูปกับอุปกรณ์ก่อสร้าง แม่ก็เลยให้เราช่วยทำโน่นนี่ เล็กๆ น้อยๆ ที่พอพอทำได้อย่างชั่งตะปูขาย (เวลาห่อตะปู จะเอากระดาษนสพ. ทำเป็นกรวยก่อน แล้วตักตะปูใส่ แล้วก็ห่อเหมือนขนมเทียน แต่ใหญ่ๆ อ่ะนะ เราก็จะพยายามห่อให้กรวยแหลมเปี๊ยบ ยิ่งแหลมยิ่งภูมิใจ) บางทีก็เรียงน็อตใส่ชั้นตามขนาด (ไม่ชอบเลย เพราะเขาจะใส่น้ำมันที่น็อตเพื่อกันสนิม เวลาเราเรียง มือจะเลอะมาก ดำๆ เหนียวๆ แต่ก็ต้องทำ เพราะแม่ให้ทำ ตอนเด็กๆ เรากลัวแม่มาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยโดนตี แค่แม่มองๆ เราก็หนาวแล้ว) หรือนับตะปูที่ยึดกระเบื้องใส่ถุง (เราเรียกว่า ตะปูควง ไม่รู้ทำไมถึงเรียกอย่างนั้น แต่บางคนเวลามาซื้อเขาจะบอกว่า ซื้อตะปูเกลียว เราขายถุงละร้อยตัว แต่เวลาซื้อมันมาเป็นกระสอบ ก็เลยต้องมาแพ็คใส่ถุงเอง ตอนเด็กๆ อะฮั้นอยู่ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์-Packaging- ฮ่ะ) บางทีก็พับถุงกระดาษ เอาไว้ใส่ของ (ถุงกระดาษที่บ้านเราไม่ได้ทำด้วยนสพ. แต่ทำด้วยถุงปูซีเมนต์ที่เป็นกระดาษหนาๆ สีน้ำตาลอ่อนๆ เวลาแกะออกมาฝุ่นปูนคลุ้งเลย แต่แม่จะเป็นคนแกะ แล้วก็ตัดให้ได้ขนาด เราพับอย่างเดียว) หรือไม่ก็ไปซื้อของเล็กๆน้อยๆ อย่างไปซื้อไข่ไง

ตอนเด็กๆ เราก็ทำๆ ไปตามที่แม่ให้ทำ ไม่ได้คิดว่ามันยากลำบากหรืออะไร (ความจริงบางอย่างที่เราต้องทำออกจะสนุกด้วยซ้ำ) อย่างหนึ่งคงเป็นเพราะเตี่ยกับแม่เราก็ทำอะไรๆ ตลอด ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำงาน มาตอนนี้มองย้อนไปมันเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างคาแร็คเตอร์ (building character) นะ สิ่งที่เราทำมันอาจจะเล็กน้อย ไม่ได้เป็นแบบวัลลีลูกกตัญญู แต่มันก็เป็นหน้าที่ที่ตกลงร่วมกัน เราจะไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เรารู้ เราเห็น เราเป็น เราทำ ในวันเก่าๆ เราเสียดายที่ไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในหลานๆ เราแล้ว พวกนั้นเขาเป็นลูกเศรษฐีนะ ไม่ใช่แค่ไม่ต้องช่วยทำงานบ้านนะ แต่แค่รับผิดชอบตัวเองก็ไม่ต้องแล้ว จะกินข้าวก็มีคนเอามาให้ กินเสร็จก็มีคนตามเก็บ แม้แต่เรื่องการเรียนที่เป็น "หน้าที่" ของเด็กๆ บางทีก็ดูเหมือนกับจะต้อง "ขอร้อง" ให้ตั้งใจ พวกพี่ๆ ของเราเขาคงอยากให้ลูกๆ เขาสบาย แต่บางทีเราอดคิดไม่ได้ว่าามันเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน"

เมื่อไม่นานมานี้ เราเคยถามแม่ว่า ทำไมแม่ให้เรากับเก๋ (พี่สาว)ไปซื้อไข่ เดินไปตั้งไกล ไม่สงสารลูกเหรอ แล้วเราก็ยังเด็กๆ อยู่ด้วย ไม่กลัวเราหลงทาง ถูกจับไปเรียกค่าไถ่เหรอ แม่ก็งงๆ ว่าเราถามอะไรฟะ เรื่องตั้งเก่าแล้ว แม่นึกไม่ออก แต่พอเราเซ้าซี้มาก แม่ก็บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน ก็คิดว่าไปซื้อได้ ถ้าเราไม่ไปแล้วใครจะไป คนอื่นๆ เขาก็มีงานทำกันทั้งนั้น พอเจอคำตอบแบบตัดบทแบบนี้เราก็เลยเลิกถามต่อ มาตอนนี้เรารู้สึกว่า ทุกๆ อย่างที่แม่ทำให้เรา เลี้ยงเรา สอนเรา แม่หาเหตุผลไม่ได้ซักอย่าง แม่คงทำไปตามสัญชาติญาณ สัญชาติญาณของความเป็นแม่ ที่คิดว่าทำแบบนี้แล้วดีกับลูกไง เราโชคดีที่แม่มีสัญชาติญาณดี และไม่สงสารลูกเกินเหตุ

ตอนเด็กๆ เราชอบตามเตี่ยไปธนาคาร บ้านเราอยู่อำเภอบางคนทีไม่มีธนาคารอยู่ใกล้ๆ จะฝากเงินถอนเงินต้องไปที่ราชบุรี ขับรถไปประมาณสิบกว่ากิโล ถ้าไปกับเตี่ยก็ขับรถไปเอง (หมายถึงเตี่ยขับ แล้วเรานั่งอ่ะนะ ไม่ใช่เราขับเอง) เราเคยนั่งรถไปกับเตี่ยแล้วเตี่ยทำเราหายด้วย คือ ตอนขาไปเราก็เฮฮาตื่นเต้นดี แต่พอขากลับชักเหนื่อย ก็เลยนั่งหลับ ทีนี้เตี่ยขับรถแล้วเบรคอีท่าไหนไม่รู้ เราก็ร่วงผลุบลงไปกองที่พื้น (แต่ยังไม่ตื่นนะ ไม่รู้ตัวด้วย หลับต่ออีก) พอมาถึงบ้านเตี่ยก็หันมาดู ตกใจ… เฮ้ย… นิจวรรณหายไปไหนวะ มองหาใหญ่เลย แล้วถึงเหลือบไปเห็นที่พื้น… อ้าว ลงไปกองที่นั่นตั้งกะเมื่อไหร่ เตี่ยปลุกเราขึ้นมาแล้วก็เล่าให้เราฟัง บอกว่าตกใจนึกว่าทำนิจหายไปไหน ก็ขำๆ ดี

บางทีเราก็ไปธนาคารกับแม่ (สมัยก่อนเตี่ยกับแม่จะไม่ออกจากบ้านไปไหนพร้อมๆ กัน จะต้องมีคนหนึ่งเฝ้าบ้านเฝ้าร้านตลอด) ก็จะนั่งรถเมล์ หรือนั่งรถแท็กซี่ เพราะแม่ขับรถไม่เป็น จำได้เลาๆ ว่าเหมือนแม่เคยจะหัดขับรถอยู่หนหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าไม่สำเร็จหรือว่าแม่ฉลาดกันแน่ (เราว่าคนที่ขับรถไม่เป็นสุขภาพจิตดีกว่าคนขับรถเป็นเยอะ อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยคิดด่าทอเพื่อนร่วมถนน อีกอย่างก็คือ สบายออก มีคนขับรถให้นั่งตลอด) ถ้าไปรถเมล์นี่ก็ต้องเดินไปขึ้นในตลาดวัดแก้ว แล้วรถเมล์เขาก็จะขับไปจอดไป เลี้ยวเข้าไปตามวัดต่างๆ ตามรายทาง กว่าจะถึงราชบุรีก็ชั่วโมงหนึ่งได้ แต่ถ้าไปรถแท็กซี่ก็เร็วหน่อย ที่เรียกว่าแท็กซี่แต่อย่าไปเข้าใจผิดว่ามันจะเหมือนแท็กซี่มิเตอร์สมัยนี้นะ มันคล้ายๆ กับรถเมล์มากกว่า (เพียงแต่เป็นรถเก๋ง) เขาจะวิ่งให้บริการระหว่าง วัดแก้วกับราชบุรี กว่ารถจะออกได้ก็ต้องรอให้คนครบตามที่เขากำหนดก่อน (รู้สึกว่าจะ ๖ คน) แล้วก็จะจอดเฉพาะที่ที่ผู้โดยสารให้จอดเท่านั้น เวลาเราไปกับแม่ ถ้าไปถึงแล้วยังไม่มีคนเลย ขี้เกียจรอ เราก็จะไปรถเมล์แทน ถ้าไปธนาคารกับแม่ก็จะต้องไปจ่ายตลาดด้วย

โห… ความจริงวันนี้เราตั้งใจจะรำลึกถึงสมัยเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทย์นะ เนี่ยไหงเรื่องสมัยเด็กเป็น "เด็กวัดแก้ว" มันไหลเรื่อยออกมาขนาดนี้ ความจริงชีวิตช่วงนี้ยังมีเรื่องที่อยู่ในความทรงจำเราอีกเยอะ อย่างเรื่อง "เรือส่งไม้" หรือ "ตกน้ำ" หรือ "หัวแตก" ฯลฯ คงกลายเป็นนิยายร้อยตอนแน่ๆ กว่าจะไปถึงสมัยนิจวรรณเข้ากรุงเทพฯ :)