Visit Korach
เมื่อวันอาทิตย์เราได้ไปโคราชเป็นครั้งแรกในชีวิต... ด้วยความบังเอิญ คือ แม่ของพี่แป้น(พี่ที่ทำงาน)เขาเสีย เพื่อนๆ (และน้องๆ) ร่วมงานก็เลยชวนกันไปเคารพศพ เขามาชวนเราเราก็ไป นัดกันที่ออฟฟิศตอนสิบเอ็ดโมง เพราะมีคนหนึ่งเขาติดธุระตอนเช้า แต่กว่าจะได้ออกรถจริงๆ ก็เกือบสิบเอ็ดครึ่ง มีคนไปทั้งหมด ๑๐ คน เช่ารถตู้กันไป ค่ารถ ๑,๘๐๐ บาท รถเราเป็นรถวีไอพีด้วยนะ มีทีวีคาราโอเกะด้วย (ว้าว...) แต่พวกเราไม่ได้ร้องเพลงหรอก ตอนแรกเปิดหนัง ก็ไม่ค่อยได้ดูกันเท่าไร พอตอนหลังเขาเปิดวิดีโอตลก พวกเราหลับกันหมดเลย เพราะเป็นตลกพูดภาษาอีสาน ฟังไม่รู้เรื่องเลยไม่ขำ

จากกรุงเทพฯไปโคราชรู้สึกว่าจะประมาณ ๓๐๐ กิโล พวกเราไปถึงประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ ก่อนเข้าตัวเมืองโคราช เหลือบไปเห็นโรงงานของซีเกทด้วยหละ ใหญ่โตทีเดียว ที่เอ่ยถึงซีเกทก็เพราะนอกจากเก๋จะทำงานที่ซีเกทแล้ว เพื่อนรุ่นน้องเราที่เรียนที่ลาดกระบังก็ทำงานที่ซีเกทด้วยเหมือนกัน แต่ทำที่โรงงานที่สมุทรปราการ รุ่นน้องเราเขาบอกว่าบริษัทให้เลือกว่าอยากจะไปทำงานที่โรงงานที่โคราชหรือเปล่า เขาคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วก็อาจจะสนใจไป เราพอนั่งรถผ่านก็เลยนึกถึง

พวกเราก็ต้องโทรหาพี่แป้นถามทางไปวัดโพธิ์ แต่พี่เขาบอกให้ไปที่บ้านเขาก่อน เพราะยังไม่มีใครไปที่วัด พอดีหนึ่งในคนที่ไปด้วยกันเป็นคนโคราช (พี่นุช) ก็เลยให้เป็นคนฟังอธิบายทางไปบ้านพี่แป้น เราได้ยินว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ คลัง ก็นึกว่าคงเป็นคลังที่เก็บเงิน ปรากฏว่าเขาหมายถึง คลังพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของโคราช รถเราเลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่เข้ามาถนนเลียบคูเมือง ทางเท้าด้านที่ติดคูเมืองเขาปลูกต้นคูนที่กำลังออกดอกเหลืองพราว มีคนเดินกันขวักไขว่ น้ำในคูเมืองก็ดูสะอาดดี เราผ่านอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมกับ “ซุ้มประตู” (โอย... จำชื่อซุ้มไม่ได้ นี่ขนาดอ่านแล้วว่าจะจำให้ได้นะเนี่ย)

ไม่รู้ว่าเคยได้ยินกันหรือเปล่าว่าซุ้มประตูที่อนุสาวรีย์ย่าโมนี่เขาเชื่อกันว่า คนที่ลอดซุ้มนี้จะได้เป็นเขยเป็นสะใภ้คนโคราช เราจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยอ่านหนังสือ คนเขียนเขาเป็นคนโคราช เขาหลอกพาแฟนไปลอดซุ้มโดยไม่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เขาคาดว่าถ้าเล่า แฟนก็คงไม่ยอมลอดซุ้มด้วย ไม่รู้ว่าจะเป็นที่ความศักดิ์สิทธิ์ของซุ้มหรือเป็นที่อะไรก็ตามแต่ คนเขียนเขาก็ลงเอยกับแฟนคนที่พาไปลอดซุ้มนี้นั่นแหละ พอเราได้ยินว่าจะผ่านอนุสาวรีย์ย่าโม ก็คอยมองหาซุ้มนี่ก่อนเลย เป็นสิ่งที่แรกที่แวบเข้ามาในสมอง เห็นแล้วก็อยากจะไปลองลอดซุ้มดู ดูสิว่าจะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือเปล่า (อิอิ) แต่อย่าว่าแต่ลอดซุ้มประตูเลย แค่จะลงไปไหว้ย่าโมยังไม่ได้ไหว้เลย น่าเสียดายเหมือนกัน เพราะเหมือนไปไม่ถึงโคราช เราได้แต่ขับรถผ่านเสียหลายรอบ เพราะคนโคราชพาหลงทาง (พี่นุชเขาแก้ตัวว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวเมืองโคราช เขาเป็นคนบัวใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองโคราชไปอีกหลายสิบกิโล) แต่ที่จริงเป็นเพราะฟังกันไม่ละเอียดด้วย ที่พี่แป้นบอกว่าอยู่ใกล้คลังพลาซ่าน่ะ เขาลืมบอกไปว่าเป็น “คลังเก่า” หมายถึงคลังพลาซ่าที่เก่า ตอนแรกเราไปที่ “คลังใหม่” ที่อยู่ใกล้ๆ ถนนเลียบคูเมืองก็เลยหากันไม่เจอ

ตัวเมืองโคราชที่เราเห็นแบบผ่านๆ ก็ใหญ่โตพอดู มีร้านรวงทั่วไปหมด พี่ที่ไปด้วยเขาบอกว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่มีทหารอเมริกันมาซ้อมรบ เศรษฐกิจการค้าก็เลยเจริญ (โดยเฉพาะกิจการ “ค้าเนื้อสด” สังเกตได้จากชื่อที่บอกลักษณะของกิจการได้โดยไม่ต้องเห็นสภาพร้าน เช่น “กระดังงา” “เหมยฮัว” เป็นต้น) นอกจากนี้เรายังสังเกตเห็นธุรกิจอย่างอื่นที่ใช้ชื่อ “คลัง” ด้วย เช่น ร้านขายรถมอเตอร์ไซค์ แสดงว่าเจ้าของคลังคงเป็นเศรษฐีใหญ่ของเมือง และเป็นคนกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองด้วยเหมือนกัน

พวกเราไปแวะดื่มน้ำเข้าห้องน้ำกันที่บ้านพี่แป้นแล้วก็ไปที่วัด (บ้านพี่แป้นเป็นร้านอาหาร ชื่อร้านโภคภัณฑ์ รู้สึกจะเป็นร้านดังของโคราชเหมือนกัน เพราะนอกจากเป็นร้านอาหารแล้วยังรับจัดเลี้ยงอีกด้วย) เราไปถึงที่วัดประมาณสี่โมงยังไม่มีแขกมา มีแต่ญาติของพี่แป้น ๓ คน นั่งพับกระดาษเงินกระดาษทองที่คนจีนเอาไว้ไหว้บรรพบุรุษอยู่ พวกเราไปกราบศพแล้วก็มานั่งคุยกัน ตอนแรกๆ เราก็นั่งฟังนั่งคุยไปเรื่อยๆ แต่พอซักพักหนึ่งก็อยู่ไม่สุข เราเห็นว่าญาติพี่แป้นพับกระดาษเป็นรูปทองแท่งแบบที่เราเคยเห็นวางขายที่เยาวราช ก็เลยไปขอให้เขาสอนพับ กะว่าจะเอาไปสอนแม่ต่อ หลังๆ นี้แม่ไม่ค่อยมีอะไรทำ บางทีเขาก็จะเอากระดาษเงินกระดาษทองมาพับเก็บไว้ไหว้ตอนตรุษตอนสารท เวลาแม่ไปที่โรงเจ หรือไปที่สมาคมแล้วเจอคนพับกระดาษเป็นรูปแปลกๆ ก็จะไปขอหัดพับ เรารู้ว่าแม่ยังพับเป็นรูปทองแท่งแบบนี้นี่ไม่เป็น เลยว่าจะหัดแล้วเอาไปโชว์ซะหน่อย

พวกเราตั้งใจกันไว้แล้วว่าจะไม่อยู่ฟังพระสวด เพราะจะกลับถึงกรุงเทพฯดึกมากเกินไป ก็เลยออกจากวัดประมาณหกโมง พี่นุชแนะนำว่าควรจะไปกินข้าวเย็นกันที่ร้านเล่าชื้อ ประมาณว่าเป็นร้านดังอีกร้านหนึ่ง เขามี “ทอดมันสามจอ” เป็นอาหารจานเด็ดได้ออกรายการทีวี หน้าตา(และรสชาติ)ก็เป็นทอดมันปลากรายธรรมดานี่หละ เรากินแล้วก็ว่าอร่อยดี แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามัน “พิเศษมาก” อาหารอื่นๆ ที่สั่งมาก็รสชาติดี (แต่ก็ไม่ได้ “พิเศษมาก” อีกหละ) กินเสร็จก็กลับกรุงเทพฯ ออกจากโคราชประมาณทุ่มหนึ่ง กลับมาถึงออฟฟิศสามทุ่มครึ่ง ขากลับทำเวลาได้ดีกว่าขาไป คาดว่าคนขับคงอยากถึงบ้านเร็วๆ เลยซิ่งเป็นพิเศษ

เรากลับมาบ้านก็อาบน้ำเข้านอนตอนห้าทุ่ม สงสัยว่าคงจะเหนื่อย (ไม่รู้ว่ามันจะเหนื่อยอะไร แค่นั่งๆ อยู่ในรถ) ฝันเป็นตุเป็นตะว่า กำลังทำงานแล้วมีซองมาติดที่หน้าบูธ หยิบมาดูปรากฏว่าเป็นจดหมายแจ้งเรื่องโบนัส เขียนว่าปีนี้นิจวรรณได้โบนัส 0.95 เดือน เห็นแล้วร้องจ๊ากในใจ (ในฝัน) เพราะปกติที่บริษัทเรา “อัตราพาร์” คือได้โบนัส 1 เดือน ถ้า Performance ดีก็อาจจะได้ 1.5 เดือน ถ้าไม่ดีก็อาจจะได้ 0.75 เดือน เห็น 0.95 ก็ต้องร้องจ๊ากเป็นธรรมดาเพราะหมายถึงต่ำกว่าเกณฑ์ พออ่านบรรทัดต่อๆ มามีบอกอีกว่า คิดเป็นอันดับที่ 3 ของแผนก (คือ มีคนอื่นที่ได้โบนัสมากกว่าเรา 2 คน) แหม่... เหมือนประกาศคะแนนสอบเลยวุ้ย (แบบ 90-percentile คุณเป็น Top 10% อะไรทำนองนั้นอ่ะ) ยังไม่ทันได้บ่นให้ใครฟัง หรือสอบถามว่าคนอื่นๆ ได้กันคนละเท่าไหร่ก็ตื่นเสียก่อน

ช่วงนี้คงต้องฝันถึงโบนัสไปก่อน เพราะโบนัสจะออกจริงๆ วันที่ ๑๐ เมษายน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนต้นคิดที่ย้ายวันจ่ายโบนัสมาเป็นก่อนสงกรานต์ ที่เมืองนอกเขาจ่ายโบนัสประมาณเดือนมีนา (สิ้นควอเตอร์แรกของปี) แต่ของเมืองไทยเป็นเดือนเมษา รู้สึกนายเราเขามีความคิดแปลกๆ ว่าจะได้ถือเป็นของขวัญฉลองปีใหม่ไทยไปด้วย คือเขาพยายามจะทำอะไรๆ ให้มันดูมีเอกลักษณ์ไทยๆ ปนอยู่ คิดว่าคนไทยจะรู้สึกดี แต่เรารู้สึกว่าคนไทยไม่เห็นสนเลย เราว่าใครๆ ก็อยากได้เงินเร็วๆ มากกว่า ตอนแรกๆ ที่เราเข้ามาทำงานได้โบนัสตอนสิ้นปี มาเปลี่ยนแบบนี้พวกเราเสียประโยชน์ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์ เขาว่าเงินในอนาคตมีค่าน้อยกว่าเงินในปัจจุบัน นี่เราได้เงินช้าไปตั้ง ๓ เดือน... แต่เราไม่ไปบ่นให้นายฟังหรอก เพราะได้ช้าก็ดีกว่าไม่ได้เลยอ่ะนะ