One hell of a week
หายไปหลายวัน อยากมาเขียนมากๆ เลยนะ เพราะมีเรื่องเล่าหลายเรื่องเลย แต่ไม่มีแรงจริงๆ งานกระหน่ำมากจนพี่ที่เป็นคนให้งานเราบอกว่า “นิจ ทำโอฯได้เลยนะ” ความหมายของแกคือ ทำโอเวอร์ไทม์ แต่เราว่ามันเป็นโอเวอร์เวิร์คมากกว่า แบบว่าทำงานมากเกินไปหนะ ไม่ใช่ทำงานล่วงเวลา

งานที่ว่ากระหน่ำมากนี่ต้องเรียกว่าเป็น “ส้มหล่น“ จริงๆ แถมเป็นส้มเน่าอีกตะหาก คือ บริษัทเราไปได้งานที่สิงคโปร์ เป็นงาน EPC คือทำทั้ง Engineering (ออกแบบ) Procurement (ซื้อของ) และ Construction (ก่อสร้าง) ความจริงงานนี้ใกล้เสร็จแล้วหละ คนที่ Kansas เป็นคนทำ Engineering ทั้งหมด เป็นโปรเจ็คต์ที่มั่วสุดๆ เพราะเจ้าของดันระบุว่าต้องการให้ทำเอกสารและเรียกชื่อ ID ของอุปกรณ์ทั้งหมดตามระบบ KKS ซึ่งเป็นระบบการทำแบบและเอกสารต่างๆ ตามแบบเยอรมัน

ปกติงานทั่วๆ ไปที่บริษัทเรารับ เจ้าของมักจะไม่ระบุระบบ เราก็จะใช้ระบบที่บริษัทคิดขึ้นมาเอง พอต้องมาใช้ระบบ KKS ก็เลยโกลาหลไปกันใหญ่ เพราะไม่มีใครแม่น KKS ซักคนหนึ่ง ความจริงจะว่าไปแล้ว เท่าที่เราได้ยินมาก็ยังหาคนที่แม่น KKS จริงๆ ยากมาก จำได้ว่าเมื่อประมาณเกือบ ๒ ปีก่อนมีงาน PowerGen ซึ่งเป็นงานที่จัดสำหรับคนที่อยู่ในวงการการออกแบบโรงไฟฟ้า ให้ทั้งคนขายอุปกรณ์ คนออกแบบ เจ้าของ ฯลฯ มาเจอกัน มีคนพยายามจะมาขายระบบที่จัดการเอกสารและสร้างแบบ ในระบบ KKS เราก็เข้าไปคุยๆ อีตาคนที่มาพรีเซนต์พูดจาชื่นชม KKS มากว่าเป็นระบบที่ใช้ง่าย และ น่าจะเป็นที่แพร่หลาย จากที่ใช้กันมากในยุโรป น่าจะไปทั่วโลก เราก็งงๆ แบบว่ามันจะเป็นได้ไงฟะ เรารู้สึกว่ามันเป็นระบบที่ทำความเข้าใจได้ยากมาก ปรากฏว่าคุยไปคุยมาพักหนึ่งถึงได้ความว่า ตานี่แกเป็นหนึ่งในคนที่คิด KKS เลยถึงบางอ้อ ก็แหม ใครจะว่าลูกตัวเองไม่ดีหละ ยังไงๆ ก็ต้องบอกว่าดีไปโม้ด ถึงไปยิงคนอื่นยังบอกว่า “ปื๊ดทำ” ได้เลย ฉันใดก็ฉันนั้น อ้าว ออกนอกเรื่องไปอีก แล้ว กลับเข้าเรื่องเราดีกว่า

คงมีคนสงสัยว่าระบบเก็บเอกสาร ระบบการเรียกชื่อมันมีความสำคัญยังไงกับงานโรงไฟฟ้า คร่าวๆ ก็คือว่า ตอนที่พวกเราทำงานออกแบบ ระบบพวกนี้ก็จะทำให้เราหาเอกสารได้ง่ายขึ้น การเขียนแบบก็ใช้อ้างด้วย ID Number ที่ระบุเพื่อให้รู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนเป็นชิ้นไหน ส่วนตอนที่โรงไฟฟ้าใช้งานแล้ว คนที่เป็นโอเปอร์เรเตอร์ (หมายถึงคนที่คอยดูแลการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้านะ ไม่ใช่พนักงานรับโทรศัพท์) ก็จะได้หาเอกสารได้ อ่านคู่มือแล้วรู้ว่าจะต้องทำอะไรกับอุปกรณ์ตัวไหน ปั๊มตัวที่ ๑ ตัวที่ ๒ อะไรเทือกนั้น ทีนี้การใช้การเรียกชื่อการจัดไฟล์คนละระบบกัน ก็คล้ายๆ กับการใช้คนละภาษาเพื่อเรียกมัน เปรียบง่ายๆ เหมือนกับระบบที่บริษัทเราคิดขึ้นมาเป็นภาษาไทย ส่วนระบบ KKS เป็นภาษาอังกฤษ เราก็จะชินกับการเรียกอะไร เป็นภาษาไทย พอมีคนกำหนดว่าให้เราเรียกอะไรต่ออะไรเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษ จำมันให้ได้ และใช้มันให้ถูก แทนที่จะต้องสนใจในเรื่องเนื้อหาทางเทคนิคของงานที่เราทำอย่างเดียว ก็กลายเป็นว่าต้องมาสนใจภาษา (คือระบบ KKS) อีกด้วย เรียกว่าต้องใช้ แรงงาน ใช้เวลามากกว่าทำงานปกติเยอะเลย

โปรเจ็คต์ที่สิงคโปร์นี่สร้างเสร็จแล้ว (ความจริงมีเรื่องเน่าๆ ในโปรเจ็คต์นี้อีกเยอะ เป็นต้นว่าโปรเจ็คต์นี้ขาดทุน ๔๐ ล้านเหรียญตั้งแต่บริษัทจรดปากกาเซ็นสัญญารับ EPC Contract คนที่เซ็นสัญญาโดนไล่ออกฟ้าผ่า แบบแจ้งให้ออกปุ๊บก็มียามมารอเชิญให้ออกจากบริษัทในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อ้อ...แล้วที่ว่าขาดทุน ๔๐ ล้านนี้ยังไม่รวมความเสี่ยงที่เกิดจากการทำอะไรที่เราไม่เคยทำเช่น KKS หรือการที่ต้อง Deal กับรัฐบาลสิงคโปร์ที่เขี้ยวสุดๆ) เมื่อปีที่แล้วเขาให้คนไทยไปช่วยงาน Construction ด้วยเหมือนกัน เราไม่ได้ไปเพราะเป็นโรคแพ้ Site แม้กระทั่งบริษัทจัดให้มี Site Visit ในเมืองไทย เราก็พยายามเลี่ยงสุดชีวิต แบบว่าเป็นคุณหนูชอบนั่งห้องแอร์ ไม่อยากไปลุยฝุ่นลุยแดดให้เหงื่อโทรม ผิวเสีย (อิอิ) พอมาถึงตอนนี้ก็เหลืองานสุดท้ายก่อนปิดโปรเจ็คต์ เขาเรียกว่างาน As-Built ชื่อก็บอกใบ้ให้หน่อยๆ แล้วว่า “เหมือนสร้าง” ก็คือการรวบรวมเอกสารทั้งหมดให้ลูกค้าครั้งสุดท้าย ซึ่งจะต้องทำการแก้ไขให้เหมือนกับที่เราสร้างให้เขาจริงๆ (วิศวกรที่ออฟฟิศอย่างเราก็ว่าเราออกแบบไปดีแล้ว ทำไม๊ ทำไม พอคนที่ Site เอาไปสร้างเขาไม่สร้างตามแบบก็ไม่รู้ ส่วนวิศวกรที่ไซต์ก็บอกว่า ที่ออฟฟิศมันออกแบบอะไรของมันวะสร้างไม่ได้ ต้องเปลี่ยนๆ สรุปว่าพอทำ As-built drawing บางทีมีการเปลี่ยนไปขนาดจำเค้าไม่ได้เลยก็มี)

งาน As-built เป็นงานที่ใครๆ ก็ไม่อยากทำ เพราะมันน่าเบื่อ เป็นงานเอกสารที่ดูไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่ ต้องมาไล่แก้ปัญหางี่เง่าๆ ที่บางทีก็ไม่จำเป็นอะไรเลย เพราะตัว Plant สร้างเสร็จไปแล้ว แต่มันก็เป็นงานที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ส่งเอกสารพวกนี้ ลูกค้าที่เป็นเจ้าของ Plant เขาก็ไม่จ่ายเงินงวดสุดท้าย ลองนึกดูว่าพวกฝรั่งเขาจะทำยังไง เขาก็โยนมาให้คนไทยทำนะสิ เพราะ ค่าแรงถูก แถมคนไทยไม่ค่อยมีทางเลือกมาก เลือกว่าจะนั่งเฉยๆ ไม่มีงานทำ (และเสี่ยงต่อการที่บริษัทจะโดนยุบหรือโดนไล่ออก) กับเลือกทำงาน As-built น่าเบื่อๆ แต่มีเงินเข้าบริษัท นายเราเขาเลือกเอาอย่างหลัง

ว่ามาเสียยาวก็มาถึงไอ้งานส้มเน่าที่ว่า เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานโปรเจ็คต์นี้มาก่อนเลย เรามีงานอื่นๆ ทำอยู่แล้ว แต่เผอิญในระหว่างที่เขาทำเอกสารต่างๆ นานากัน ก็มีการต้องพิมพ์รายงานชุดใหญ่ที่เป็นรายการทั้งหมดของอุปกรณ์ที่มีใน Plant ปกติโปรเจ็คต์ทั่วๆ ไปรายงานพวกนี้ก็หนาๆ ขนาดเป็นแฟ้มๆ อยู่แล้ว ยิ่งพอมาใช้ KKS ก็ยิ่งเยอะเป็นทวีคูณ พี่คนที่เขามีหน้าที่พิมพ์รายงานเขากลัวพลาด ก็เลยมาขอให้เราช่วย เพราะ เราเป็นกูรู (Guru ที่เราอยากจะแปลเป็นไทยว่า “กูรู้”) ในด้านการสั่งพิมพ์รายงาน เราก็คิดว่ามันไม่หนักหนาอะไรก็รับมา ปรากฏว่าที่ไหนได้ รายงานมีเกือบสองพันแผ่น (เรานั่งพิมพ์จนเบลออย่างที่เคยเล่าไปแล้ว) แต่ต่อมาเราก็ดันพลาดปากไปถามพี่ที่เป็นหัวหน้าเกี่ยวกับรายงานที่ว่านี้ หลังจากนั้นแกก็เลยนึกว่าเราต้องเป็นคนทำทุกอย่างเกี่ยวกับรายงานนี้ไปเลย ไอ้เราก็พูดไม่ออก คนหนึ่งก็หัวหน้า คนหนึ่งก็อาวุโสกว่าเรา และเราคิดว่าสุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีใครซักคนหนึ่งที่ทำมันให้เสร็จ พองานล้นมือเดี๋ยวสุดท้ายมันก็มาลงที่เราอยู่ดี เพราะฉะนั้นก็รับๆ ทำมันไปให้รู้แล้วรู้รอดไป

ความจริงเราคิดว่างานที่เราต้องทำมันเสร็จไปตั้งนานแล้ว เพราะพี่คนที่มาให้เราทำเขาก็ไม่สั่งอะไรเราต่อ ปรากฏว่า พอเมื่อปลายอาทิตย์ที่แล้ว เขาเพิ่งจะมาบอกเราว่าเราต้องทำโน่นทำนี่อีกเยอะ ต้องมีใบปะหน้าไปกับเอกสารทุกชุด และทุกอย่างต้องเสร็จเอกสารส่งถึงสิงคโปร์วันที่ ๒๐ เราก็งงอะไรฟะ เวลามีตั้งนานไม่บอก เพิ่งมาบอกอะไรตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้จะบ่นยังไง ยังมองโลกในแง่ดีว่า เหลือเวลาพอควร น่าจะทำได้ทัน ปรากฏว่าคนที่สั่งงานเราเขาก็ไม่ค่อยรู้อะไร พอเราขุดๆ ลงไปจริงถึงรู้ว่าไอ้รายงานที่เราพิมพ์มาตั้งเป็นวันๆ (ไม่นับต้นไม้อีกกี่ต้นที่ถูกเอามาทำกระดาษ เขาต้องทำกอปปี้ อีก ๕ ชุดด้วยนะ เปลืองกระดาษสุดๆ) ใช้ไม่ได้เลย เราต้องสั่งพิมพ์ใหม่หมด อันนี้นี่มารู้ตอนวันศุกร์แล้ว

พอมาวันจันทร์เราก็ต้องรีบตั้งหน้าตั้งตาจัดการเกี่ยวกับรายงานและเอกสารต่างๆ ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่อง Network อีก เพราะเขาตัดสินใจเปลี่ยนจากระบบ Leased Line เป็น VPN ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (อันนี้ก็มีเรื่องเล่าอีก แต่คงต้องเป็นตอนต่อไป) Network อัพบ้าง ดาวน์บ้างตลอดเวลา ทำให้เราทำงานไม่ได้เร็วเท่าที่เราตั้งใจ สุดท้ายนายใหญ่สุดเห็นท่าไม่ดีเลยส่งอีเมล์ไปบอก Project Manager ของโปรเจ็คต์สิงคโปร์ว่า ทำงานให้ไม่ทันจริงๆ ด้วยเหตุผลทางเทคนิค แต่ยังไงๆ เราก็ต้องลุยงานต่อไปอยู่ดี ปรากฏว่า วันจันทร์เราทำงานไปเกือบสิบชั่วโมง วันอังคารสิบสองชั่วโมง วันพุธทำแค่เก้าชั่วโมงเพราะมีงานเลี้ยงตอนเย็น Service Award คือบริษัทเขาเลี้ยงคนที่ทำงานมาครบ ๕ ปี (อันนี้ก็มีเรื่องเล่าอีก แต่ติดไว้ก่อน) อาทิตย์นี้ทั้งอาทิตย์กลับถึงบ้านก็อาบน้ำแล้วก็พุ่งหาเตียงนอน แบบว่าหมดแรงจริงๆ สงสัยจะเป็นอย่างที่พี่ปุ๊กว่า แก่แล้วเลยไม่อึดเหมือนก่อน เมื่อก่อนเราเคยทำงานวันละสิบชั่วโมงเป็นเดือนๆ ก็เฉยๆ เลิกงานยังมีการไปดูหนังได้อีก ตอนนี้แค่จะเขียนไดอะรี่สั้นๆ ยังไม่ไหวเลย

อืมม์วันนี้พอก่อนดีกว่า เขียนยาวมากๆ คงอ่านกันจนอ้วกไปเลย พี่ปุ๊กมาแย็บๆ ว่าให้เราเขียนเรื่องที่ไปดูตัวมาเมื่อวันอาทิตย์ ยืนยันว่าไปดูตัวมาจริงๆ แต่ไม่เขียนหรอก มันไม่มีอะไรตื่นเต้นหนะ ใครอยากรู้ไปอ่านเรื่องตอนเก่าดีกว่านะ คราวนี้ก็คล้ายๆ เดิมนั่นแหละ