Case Study: VPN
วันก่อนบอกว่าจะเล่าเรื่องที่ที่ออฟฟิศเราเขาเปลี่ยน Network เป็น VPN เพราะคิดว่าจะเล่าเอาไว้เป็นประสบการณ์สำหรับคนที่คิดจะทำอะไรเกี่ยวกับ IT หรืออินเตอร์เน็ตในเมืองไทย (และที่อื่นๆ ด้วย) จะบอกว่ามันไม่ง่ายเพราะมีตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก

เดิมทีออฟฟิศเราเขาใช้ Network เป็น Leased Line ที่เช่าโดยตรงจากกสท. อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ (ตามประสาวิศวกรเครื่องกลโม้เรื่องคอมพิวเตอร์) มันก็จะเหมือนกับการเช่าคู่สายโทรศัพท์ที่ต่อตรงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงระหว่างออฟฟิศที่กรุงเทพฯ กับออฟฟิศที่แคนซัสซิตี้ เขาจ่ายค่าเช่าแบบเหมาจ่ายเดือนหนึ่งก็หลายพันเหรียญอยู่ (ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะประมาณ ๘,๐๐๐ เหรียญ) แต่ที่เขายอมจ่ายแพงๆ แบบนี้ก็เพราะว่าออฟฟิศเราต้องมีการเรียกใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ที่แคนซัสซิตี้เกือบตลอดเวลา เพราะงานส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เขาส่งมาให้ทำ และเป็นงานที่ต้องทำร่วมกันกับคนที่โน่น ข้อมูลที่ใช้ก็เลยต้องมีการแชร์กันตลอดเวลา

ขอนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง จะเล่าว่าสมัยก่อนตอนที่เราเรียนที่ Warwick เราลงเรียนวิชา IT ยุคแรกๆ (เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีที่แล้ว) เขาพูดว่า IT และอินเตอร์เน็ตจะทำให้ คนที่อยู่คนละมุมโลกสามารถทำงานร่วมกันและช่วยกันทำงานได้ ปัญหาของเวลาที่แตกต่างกันจะกลายข้อได้เปรียบในการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง สมัยที่เราเรียนวิชา IT ที่ลาดกระบังเมื่อไม่กี่เทอมที่ผ่านมา เขาก็ยังพูดถึงความยอดเยี่ยมของ IT อินเตอร์เน็ตในแง่เดิมๆ นี่แหละ แต่ไม่เห็นมีใครในชั้นเรียนเราได้เห็นว่ามันจะได้การจริงๆ อย่างที่คุย แต่เราจะบอกว่ามันทำได้จริงๆ ยืนยันได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ทุกวันนี้เราสามารถจะทำงานของเราให้เสร็จเวลาห้าโมงเย็น แล้วส่งอีเมล์ไปบอกคนที่แคนซัสซิตี้ ความที่เวลาเราต่างกันประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ของเราห้าโมงที่แคนซัสก็ตีห้า พออีกแป๊บก็แปดโมง คนที่โน่นก็เริ่มทำงานต่อจากที่เราทำไว้ได้ทันที นั่นคือในระหว่างกลางคืนของเราเขาก็ทำงานไป พอเลิกงานของเขาก็ใกล้จะเช้าที่เมืองไทย เหมือนกับมีคนทำงาน ๒ กะต่อเนื่องไปเรื่อย แม้ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้ผลแบบที่ว่านี่ ๑๐๐% แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากปัญหาในการบริหารจัดการ มากกว่าจะเป็นปัญหาทางเทคนิค เราก็เขียนออกไปนอกเรื่องเสียไกล แค่อยากจะบอกว่ามันยังมีโอกาสอีกเยอะในการเอา IT กับอินเตอร์เน็ตมาช่วยทำงานโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปคิดในเรื่องของเทคนิคซับซ้อนมากมาย แต่เน้นที่การจัดการที่มีประสิทภาพ (ซึ่งจะว่าไปมันก็เหมือนๆ กับทุกๆอย่างในชีวิตนั่นแหละ)

กลับมาเรื่อง VPN ของเราต่อดีกว่า ที่บริษัทเราที่แคนซัสซิตี้เขามีแผนก IT ที่ใหญ่โตมากจนแตกออกไปเป็นอีกบริษัทหนึ่ง (ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางบัญชีและภาษี) พอดีมีคนที่แผนก IT คนหนึ่งที่รับผิดชอบออฟฟิศต่างๆ ในแถบเอเชียเนี่ย เขาแนะนำว่าออฟฟิศเราน่าจะเปลี่ยนจาก Leased Line ไปใช้เป็น VPN ดีกว่า เพราะจะประหยัดเงินได้ประมาณหนึ่งในสามของที่จ่ายอยู่ตอนนี้ VPN มันเป็นชื่อย่อๆ ของระบบที่เรียกว่า Virtual Private Network ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเครือข่ายส่วนตัวแบบเสมือน นั่นก็คือมันไม่ใช่เครือข่ายส่วนตัวจริงๆ (ไม่เหมือน Leased Line) แต่เป็นเครือข่ายเดียวกับอินเตอร์เน็ต พูดง่ายๆ (ตามประสาวิศวกรเครื่องกลโม้เรื่องคอมพิวเตอร์อีกนั่นแหละ) มันก็เหมือนกับเราเลือกต่ออินเตอร์เน็ตกับ ISP ที่รับประกันว่า เราจะส่งข้อมูลได้ความเร็วสูง และ มีความปลอดภัยสูง นั่นเอง

คนแผนก IT เขาบอกว่า ทดลองให้หลายๆ ออฟฟิศลองใช้ VPN ดูแล้ว การทำงานยังเหมือนเดิมทุกอย่าง เขาเชื่อว่าออฟฟิศที่กรุงเทพฯก็น่าจะใช้ได้ และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นายใหญ่เราไม่ค่อยเชื่อพวกคนของแผนก IT อยู่แล้ว ก็เลยบอกไปว่า จะต้องมีการเทสต์ก่อนที่จะเปลี่ยน และจะยอมเปลี่ยนก็ต่อเมื่อ ออฟฟิศเรายังสามารถใช้งานโปรแกรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม และสามารถเรียกใช้ข้อมูลที่อยู่ที่แคนซัสได้เร็วเท่าเดิมหรือเร็วกว่า (ห้ามช้ากว่าเดิม) คนแผนก IT เขามั่นใจมาก ก็บอกว่าได้เลยๆ (เขาเชื่อว่าจะเร็วกว่าเดิมด้วยซ้ำ) เขาก็วางแผนไว้ ๒ ขั้น ขั้นแรกคือ ให้ตัวแทนจากแต่ละแผนกลองเปลี่ยนไปใช้ VPN ชั่วคราวแล้วลองจับเวลาดู ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็เป็นขั้นใช้งานจริง

เราเป็นตัวแทนของแผนกเรา (อะไรๆ ที่เป็นงานขยะๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานออกแบบวิศวกรรม และไม่มีใครอยากทำมักไม่พ้นนิจวรรณหรอก) ตอนขั้นทดลอง เรามีปัญหามากกับการใช้ VPN แต่ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับงานเลย (เป็นต้นว่า ใช้ ICQ ไม่ได้ ใช้ FTP ไม่ได้ ตอนนั้นกำลังจะอัพเกรดเว็บบอร์ด เราจะใช้ FTP ก็ใช้ไม่ได้ เซ็งเลย) เราก็เลยเอาไปบ่นให้นายฟังไม่ได้ ในเรื่องความเร็วที่นายเราสนใจ เราดูแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร ความเร็วไม่ต่างจาก Leased Line ที่เราใช้อยู่เดิม เราทดลองใช้ VPN อยู่วันเดียวก็เปลี่ยนกลับมาเป็น Leased Line เหมือนเดิม (เพราะอึดอัดเรื่อง ICQ, FTP) แล้วก็รอดูว่าคนจากแผนกอื่นๆ เขาทดสอบได้ผลออกมาเป็นยังไง

ประมาณเดือนหนึ่งผ่านไป คนแผนก IT ของเราที่กรุงเทพฯ เขาก็อีเมล์แจ้งมาว่าตกลงออฟฟิศจะเปลี่ยนไปใช้ VPN แล้ว (แสดงว่าทุกคนที่ทดสอบไม่เจอปัญหาอะไร) เขาต้องเซ็ตค่าต่างๆ ในเครื่องของพวกเรา แต่เขาจะทำช่วงเสาร์อาทิตย์จะได้ไม่รบกวนการทำงานปกติของพวกเรา แล้วเขาก็จัดการเปลี่ยนไปเมื่อเสาร์อาทิตย์ก่อนโน้น (๑๖-๑๗ มี.ค.) พอเช้าวันจันทร์ เริ่มงานมาเราก็รู้เลยว่านรกมีจริง เรามีงานต้องทำให้เสร็จวันที่ ๒๐ ซึ่งเป็นเส้นตายเดียวกับคนอีกเป็นสิบในออฟฟิศ ทุกคนต้องเรียกข้อมูลพิมพ์รายงานกันจ้าละหวั่น ปรากฏว่า Printer ตายไป ๒ ตัว เพราะยังเซ็ต Configuration ใหม่ไม่ได้ เราเรียกโปรแกรมแล้วนิ่งไปประมาณสิบห้านาที… ครึ่งชั่วโมง… จนเราทนไม่ไหวต้องปิดมันไป (ยังดีที่ใช้ Windows NT เลยไม่ต้อง Boot เครื่องใหม่ทุกครั้งที่โปรแกรมแฮงก์)

ตอนบ่ายสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เราเริ่มตาเหลือก รีบไปบอกหัวหน้าเราว่า Network มีปัญหาทำงานไม่ได้ ตอนใกล้ๆ เลิกงานเราเห็นอีเมล์บินว่อนไปว่อนมาระหว่างนายใหญ่กับคน IT ที่กรุงเทพฯและที่แคนซัส นายเราโวยว่า ไหนบอกว่า VPN จะใช้งานได้เหมือน Leased Line แต่นี่มันช้ามาก เรารีบกระโดดลงไปแจม (ด้วยผลประโยชน์แอบแฝงของการที่จะเอา ICQ กับ FTP คืนมา!) เราบอกว่าคำว่า ช้ามาก มันยังน้อยไป แต่นี่โปรแกรมมันใช้งานไม่ได้เลย ทำให้เราต้องทำงานซ้ำซ้อน บลา บลา บลา นายเราเลยทุบเปรี้ยงลงไปว่า ถ้าวันอังคารก่อนเที่ยงที่แคนซัสยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เขาต้องเปลี่ยนเรากลับมาเป็น Leased Line เหมือนเดิม เพราะเงินที่ว่าจะประหยัดมันไม่คุ้มกับการที่การทำงานถูกขัดจังหวะแบบนี้

เช้าวันอังคารเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้น นายใหญ่เราบอกว่าเขาได้คุยกับคนที่แคนซัสตอนกลางคืน (ของเมืองไทย คือ ตอนเช้าของที่โน่น) เขาบอกว่าปัญหาเกิดจาก ISP ที่ให้บริการ VPN ในเมืองไทย (Internet Thailand หรือ Inet ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นไปเมื่อไม่นานมานี้) ที่ไม่สามารถให้การเชื่อมต่อที่ Stable ได้ เขาดูสถิติของการรับส่งข้อมูลแล้วพบว่า มีอัตราการสูญหายของข้อมูลประมาณ ๒๐% เกือบตลอดเวลา (กรณีปกติ Loss ซัก ๕% ก็แย่แล้วนะ) เขาให้คน IT ที่กรุงเทพฯ ติดต่อให้ Inet มาแก้ปัญหา และให้รอดูถึงสิบเอ็ดโมง ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ เขาจะเปลี่ยนกลับไปเป็น Leased Line ปรากฏว่า Inet แก้ปัญหาไม่ได้ พอช่วงพักกลางวันเขาก็เลยเปลี่ยนกลับมาเป็น Leased Line เหมือนเดิม

เรากลับจากพักเที่ยงมา ลองเซิร์ฟอินเตอร์เน็ตดู โอ้โห.. เร็วสุดๆ เลยหวะ (ที่จริงคือมันก็เร็วเท่ากับก่อนหน้าที่เราจะไปใช้ VPN นั่นแหละ แต่ตอนนั้นไม่ได้ Appreciate มันขนาดนั้น) พอลองทำงานดูก็ทำได้ไม่มีติดขัด ไม่แฮงก์ โห… ตื่นเต้นดีใจใหญ่เลย นี่แหละนึกถึงสำนวนที่เขาว่า แกงจืดจึงรู้คุณเกลือเลย แบบว่ามีเน็ตเวิร์คเร็วๆ ก็ไม่ได้รู้คุณค่ามันเท่าไหร่ พอไม่มีมันแล้วถึงจะรู้สึก [โปรดสังเกตว่า แทนที่จะทดลองทำงานก่อน เรากลับทดลองเซิร์ฟก่อน ก็มันต้องเป็นไปตาม Priority นี่นะ เรื่องงานสำคัญ (น้อย) ที่สุด อิอิ]

จากเหตุการณ์นี้เราสรุปสิ่งที่ได้และสิ่งที่เสียไป สิ่งที่เสียไป แน่นอนคือเวลาและเงิน เวลาที่คนทั้งออฟฟิศต้องอยู่เฉยๆ ทำงานไม่ได้ ประมาณ คนละวันกว่าๆ เวลาที่เสียไปกับการแก้ไข Error ที่เกิดจากโปรแกรมแฮงก์ แถมยังมีเวลาที่คนแผนก IT เสียไปตอนแรกในการวางแผนและจัดการเปลี่ยนระบบ และตอนหลังในการแก้ไขปัญหา (ทำงานกับฝรั่งเขาตีเวลาออกมาเป็นเงินโดยเอาเงินเดือนพนักงานหารออกมาเป็นชั่วโมง แล้วคูณกับชั่วโมงที่เสียไป นึกถึงคนทั้งออฟฟิศทำงานไม่ได้ ตีออกมาเป็นเงินแล้วก็อึ้งเหมือนกันนะ) เสียเงินไปเป็นค่าเช่าค่าทำสัญญาที่จ่ายให้ Inet (อันนี้เราเดาเอา แต่ไม่แน่อาจจะไม่ต้องเสีย หรือเสียน้อยมาก เพราะ Inet ไม่สามารถจัดการกับเน็ตเวิร์คให้ได้ตามที่ตกลงไว้) สิ่งที่ได้มา คือบทเรียนของการจะทำอะไรกับระบบ IT จำไว้เลยว่าไม่มี Magic Solution ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การที่สิ่งที่ใช้ได้ดีประสบความสำเร็จกับที่หนึ่งไม่จำเป็นจะต้องประสบความสำเร็จกับอีกที่หนึ่ง

คนที่แคนซัสเขาบอกว่าสาเหตุของความล้มเหลวของการเอา VPN เป็นเพราะ Inet ไม่สามารถให้บริการ VPN ที่ Stable ได้ เรายอมรับว่านั่นเป็นสาเหตุหลัก แต่ที่จริงมีสาเหตุรองลงมาที่เขาไม่พูดถึง (มันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาปล่อยให้มันผ่านมาถึงขั้นที่ใช้งานจริงแล้ว Fail) นั่นคือเขาไม่ได้คิดถึง Work Load จริงๆ ที่จะเกิดขึ้น เขาให้ตัวแทนแต่ละแผนกทดลองใช้งาน VPN ทดลองยังไงก็ไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของ Work Load จริงที่ระบบจะต้องเจอ ถ้าเขาลองจำลองการทำงานที่ใกล้เคียงกับการทำงานจริงขึ้นมาก่อน เขาน่ารู้ได้ตั้งแต่ตอนที่ทดสอบแล้วว่ามันจะไม่เวิร์ค แต่ก็นั่นแหละ อาจารย์ที่สอนวิชา Software Engineering เคยพูดไว้ว่า ตอนที่โปรเจ็คต์ยังไม่เจ๊งก็ไม่เห็นมีใครจะมองเห็นเลยว่าอะไรมันเป็นปัญหา แต่พอมันเจ๊งลงไปจริงใครๆ ก็พูดกันได้เป็นคุ้งเป็นแควว่านั่นไม่ควรทำ นี่ไม่ถูกต้อง ถ้ามันรู้กันได้ก่อนล่วงหน้าก็คงไม่มีใครทำอะไรแล้วเจ๊งสิเนอะ

ปล. ในวิชา Software Engineering (ที่เราเคยเล่าว่า อาจารย์ที่สอนเราเขาให้นิยามวิชานี้ไว้ว่า “ทำยังไงไม่ให้เจ๊ง”) วันแรกที่เรียนอาจารย์บอกว่าจากสถิติของการทำโปรเจ็คต์เกี่ยวกับ Software หรือ Information System พบว่า ๕๐% ของโปรเจ็คต์ทำไม่สำเร็จ อีก ๓๐% ทำสำเร็จ แต่เกินงบที่ตั้งไว้หรือเสร็จช้ากว่ากำหนด และมีแค่ ๒๐% เท่านั้นที่ทำเสร็จทันภายในเวลาและในงบที่ตั้งไว้ สรุปว่า ๘๐% ของโปรเจ็คต์เจ๊ง ไม่รู้ว่าจะเอาตัวเลขนี้มาปลอบใจตัวเองดีไหมว่า ไอ้ที่จะพยายามเอา VPN มาใช้แล้วเจ๊งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนอื่นๆ เขาก็เจ๊งกันตั้งเยอะ!!