สนามหญ้า (Sa-nam-ya)
ช่วงวันหยุดสงกรานต์เก๋ไปเฝ้าบ้านที่แม่กลองเป็นเพื่อนเรา (ต้องระบุว่าบ้านที่ไหน เพราะมีบ้านหลายหลัง) แล้วเก๋ก็ชวนเราไป “สนามหญ้า” บอกว่าอยากกินบะหมี่ สนามหญ้า คือ ตลาดโต้รุ่งของราชบุรี อยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง ตรงข้ามกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง เป็นลานปูนซีเมนต์กว้างๆ มีหอนาฬิกากับน้ำพุ (รู้สึกว่าน้ำพุนี่จะมาสร้างทีหลัง) และมีร้านค้าอยู่เต็มลาน ตอนกลางวันมีร้านขายของใช้จิปาถะเปิดขายอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีคนไปซื้อกันเท่าไหร่ แต่พอตกเย็นจะมีร้านอาหารเยอะแยะ คนเดินกันคึกคักหาซื้อของกลับไปกินที่บ้าน ที่เรียกว่า สนามหญ้า เพราะเขาเล่าว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็น สนามหญ้า แต่ตั้งแต่เราจำความได้ เราก็เห็นว่ามันเป็นลานปูซีเมนต์แล้ว

ตั้งแต่ตอนที่เราอยู่ที่วัดแก้วเราก็รู้จักสนามหญ้าแล้ว ตอนนั้นการไปสนามหญ้าดูจะเป็นเรื่องพิเศษที่ไม่ได้ทำบ่อยๆ เพราะต้องขับรถจากวัดแก้วมาราชบุรีเวลากลางคืน (ระยะทางประมาณ ๑๕ กม.) ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้ไปสนามหญ้าหรอก จะเป็นเตี่ยหรือก๊อเล็กมากกว่าที่เป็นคนไป เราจะได้ไปสนามหญ้าด้วยก็ตอนที่เราไม่สบายต้องไปหาหมอที่คลินิกที่ราชบุรี (หมอที่รักษาเราตอนเด็กๆ ชื่อหมอสัมพันธ์) เพราะเราจะไปหาหมอตอนเย็นๆ หาหมอเสร็จแล้วก็จะแวะไปซื้ออะไรกินที่สนามหญ้าก่อนกลับบ้าน ที่กินกันประจำก็คือบะหมี่กับไอติม บางทีก็กินที่ร้านเลยบางทีก็ซื้อกลับมากินที่บ้าน พอตอนที่เรามาอยู่บ้านที่ราชบุรี การไปสนามหญ้าไม่ใช่เรื่องพิเศษมากๆ แล้วหละ เพราะแค่ขี่จักรยานหรือรถเครื่องไปไม่กี่นาทีก็ถึง แต่เราก็ชอบไปสนามหญ้าอยู่ดี ตอนหลังๆ ที่เราย้ายมาอยู่ที่แม่กลองแล้ว และกลับบ้านเฉพาะเสาร์อาทิตย์เราไม่ค่อยได้ไปสนามหญ้า นี่ก็เลยเป็นเหตุให้เก๋คิดว่าช่วงสงกรานต์นี้จะต้องหาโอกาสไปสนามหญ้าให้ได้

คราวนี้ที่เราไปสนามหญ้า ความตั้งใจหลักคือจะไปกินบะหมี่กัน (ร้านราชาบะหมี่ นายสมบัติ เราก็เพิ่งจะอ่านชื่อร้านเขาก็คราวนี้นี่เอง เพราะกะว่าจะเอามาเล่าให้ฟัง) ก็เป็นบะหมี่หมูแดงปูธรรมดานี่แหละ แต่เราเรียกว่า “บะหมี่สนามหญ้า” เป็นบะหมี่ที่ไม่เหมือนบะหมี่เจ้าอื่นๆ ตรงที่เขาทำเส้นบะหมี่เอง ไม่ใช่เส้นบะหมี่ที่โรงงานทำมาขาย บะหมี่สนามหญ้าจะเส้นเล็กกว่าและเส้นสีไข่ไก่ (ไม่ใช่สีเหลืองอ๋อย) เวลาลวกแล้วไม่อืดไม่เละ ขนาดซื้อกลับมาบ้าน เก็บใส่ตู้เย็นไว้แล้วเอามาอุ่นกินทีหลังก็ยังอร่อยเลย เพราะฉะนั้นแทบทุกครั้งที่มากิน นอกจากสั่งกินที่ร้านแล้วเราก็จะซื้อใส่ห่อกลับบ้านด้วยห้าห่อบ้างสิบห่อบ้างแล้วแต่ เมื่อก่อนบะหมี่สนามหญ้าที่ว่านี้มีขาย ๒ ร้าน (ขายดีทั้งคู่) คือร้านนายสมบัติที่เราเพิ่งไปกินมา กับอีกร้านหนึ่งที่เราเรียกว่าร้านคนผอม (เพราะคนขายเป็นผู้หญิงและผอมมากๆ เขาจะแต่งหน้าเยอะๆ หน่อย คือ ทารองพื้นหน้าขาวจั๊วและทาปากแดง) สองร้านนี้เขาไม่ค่อยถูกกัน ซึ่งเดาว่าเป็นเพราะเขาเป็นคู่แข่งกัน ตอนนี้ร้านคนผอมเขาไม่ขายแล้ว (ไม่รู้ว่าเลิกขายไปหรือย้ายไปที่อื่น) เหลือร้านนายสมบัติเจ้าเดียว เขาเลยยิ่งขายดีไปกันใหญ่ ส่วนใหญ่จะซื้อใส่ห่อกัน สั่งทีละสิบห่อยี่สิบห่อ ทำกันมือเป็นระวิงเลย

กินบะหมี่แล้วก็เดินสำรวจของอร่อยอื่นๆ ที่เคยจำได้ ร้านไอศครีมเด่นไทยยังอยู่ที่เดิม เขาขายไอติมทำเองกับน้ำปั่นต่างๆ ปกติเวลาสั่งไอติมเขาจะใส่มันเชื่อมตัดเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าชิ้นเล็กๆ หรือลูกชิดให้ด้วย (เป็น default) แต่ถ้าจะใส่เครื่องอย่างอื่นอย่างถั่วแดงฝอยทองก็ได้เหมือนกัน ตอนเด็กๆ เราจะชอบกินไอติม “สามสหาย” (ไอติม ๓ ลูก วานิลา สตรอเบอรรี่ ช็อกโกแลต) แต่พอโตๆ แล้วไม่ค่อยได้กินไอติมที่ร้านนี้ซักเท่าไหร่จะกินน้ำปั่นมากกว่า น้ำปั่นที่เป็นที่นิยมของร้านนี้ คือ โซดาปั่น เขาจะเอาโซดา น้ำหวานสีเขียว และไอติมกะทิมาปั่นรวมกัน ได้เป็นน้ำปั่นหวานๆ ซ่าๆ อร่อยดี (จะให้เขาเติมไอติมลงไปในโซดาปั่นก็ได้ ก็จะเป็นเหมือนโซดาปั่นโฟลทนั่นเอง หรือจะลองสั่ง “โซดาไม่ปั่นใส่ไอติม” ดูก็ได้ เขาจะเอาโซดาผสมกับน้ำหวานสีเขียว แล้วใส่ไอติมลงไปหนึ่งก้อน รสชาติเหมือนแฟนต้าน้ำเขียวโฟลท เราว่าก็อร่อยไปอีกแบบ) น้ำปั่นอื่นๆ ที่เขาขายก็มี มะนาวปั่น ส้มปั่น กาแฟปั่น โอวัลตินปั่น ฯลฯ

ที่ร้านไอศครีมเด่นไทยนี้ นอกจากน้ำปั่นอร่อยแล้ว สมัยก่อนเขาจะมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ คนขายเขาจะชอบทะเลาะกันเป็นประจำ เขาจะมีคนขายผู้ชายที่เป็นคนตักไอติมกับทำน้ำปั่น กับคนขายผู้หญิง ๒ คน คนหนึ่งเป็นคนเทน้ำปั่นใส่แก้ว (ร้านนี้เขาจะปั่นน้ำปั่นทีละเต็มโหลของเครื่องปั่นแล้วเทใส่กระป๋องไว้ พอใครสั่งน้ำอะไรเขาก็จะเท่ใส่แก้วหรือใส่ถุง) ตักไอติมเสิร์ฟในร้าน อีกคนอยู่หน้าร้านเทน้ำปั่นใส่ถุง มัดถุงไอติมสำหรับคนที่ไม่ได้กินที่ร้าน (สำหรับ To go อ่ะนะ) อีตาผู้ชายเขาเป็นคนใจร้อน จะทำอะไรเร็วๆ พึ่บพั่บตลอดเวลา ก็จะไปชนกับผู้หญิงอีกคนที่ตักไอติมอยู่ด้านในประจำ แล้วก็จะโมโหโวยวาย หรือไม่เขาก็จะเอะอะกับผู้หญิงที่อยู่หน้าร้าน เพราะสั่งกันไม่รู้เรื่องบ้าง ยังดีที่เขาไม่มาโมโหใส่อารมณ์กับลูกค้า (ไม่งั้นคงเจ๊งไปแล้ว) เวลาเขาหันมาพูดกับลูกค้าก็พูดธรรมดาๆ เสร็จแล้วก็หันไปด่าๆ กันต่อได้ ส่วนใหญ่ลูกค้าเห็นเขาทะเลาะกันก็จะจ๋อยๆ ยืนมองเขาด่ากันตาปริบๆ แต่วันที่เราเพิ่งไปกินมานี่คนขายผู้ชายเขาไม่อยู่ คนผู้หญิงไปเป็นคนปั่นแทน เลยไม่มีการทะเลาะกันให้เห็น รู้สึกเหมือนขาดๆ อะไรไปเหมือนกัน

เยื้องๆ กับร้านไอศครีมเด่นไทย เป็นร้านข้าวต้มซุ่ยฮ้อ ก็ยังขายอยู่เหมือนเดิมแต่มีการเติมท้ายชื่อร้านเล็กน้อย ตอนนี้กลายเป็น "ซุ่ยฮ้อ ข้าวต้มไฮเทค" ไปแล้ว คาดว่าเป็นการทำตามกระแสร้านข้าวต้มไฮเทคที่เคยฮิตๆ กันอยู่พักหนึ่ง ร้านซุ่ยฮ้อเขาขายข้าวต้มกุ๊ยกับกับข้าวตามสั่ง ประเภทผัดผักบุ้งไฟแดง แกงจืดเต้าหู้หมูสับอะไรเทือกนั้น ติดกับร้านซุ่ยฮ้อก็ยังเป็นร้านขายโจ๊กเหมือนเดิม เราจำได้ว่าเขาทำโจ๊กอร่อยดี แต่คราวนี้ไม่ได้ลองเลยไม่รู้ว่ายังเป็นเจ้าเก่ารสชาติอร่อยเหมือนเดิมหรือเปล่า

อาหารอร่อยอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมที่สนามหญ้าก็มี ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ที่เขาจะผัดทีละกระทะใหญ่ๆ แล้วเวลาขายก็จะหยิบใส่ห่อใบตอง ไม่ใส่ไข่ห่อละ ๑๐ บาท ใส่ไข่ ๑๒ บาท อย่าแปลกใจว่าทำไมเขาขายถูกจัง เพรามันเป็นผัดไทยที่ไม่มีอะไรเลยแต่ก็ขายดีจริงๆ (มีแต่เส้นเส้นก๋วยเตี๋ยวถั่วงอก ต้นกุ๋ยไช่ แล้วก็เต้าหู้) เยื้องๆ กับร้านผัดไทยก็มีร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูที่เรากับเตี่ยมักจะไปกินเวลาที่ไม่อยากกินบะหมี่ คนขายก็ยังเป็นคนเดิมกับที่เราเคยกินเมื่อสิบกว่าปีก่อน

สรุปว่าร้านอาหารที่สนามหญ้าวันนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่ รสชาติอาหารก็น่าจะยังคงอร่อยเหมือนเดิม (อันนี้วัดจากบะหมี่ที่ไปกินและซื้อใส่ห่อกลับมากินที่บ้านด้วย) เพราะเท่าที่ดูๆ คนขายก็ยังเป็นคนเดิมกับที่เคยขายเมื่อสิบปียี่สิบปีก่อน (เราไม่ได้ไปซะนาน คนขายดูแก่ไปเยอะเหมือนกัน อย่างคนขายบะหมี่น่ะผมหงอกแล้วหละ รู้สึกว่าเป็นการตอกย้ำว่า ตัวเราเองก็ต้องแก่ไปเยอะเหมือนกัน เฮ้อ) ใครผ่านไปจังหวัดราชบุรี อย่าลืมหาโอกาสแวะไปสนามหญ้าหาของอร่อยกินนะ