My memory is like a box of jigsaw puzzle...
เราเป็นคนความจำไม่ค่อยดี (ที่จริงต้องจัดในประเภท"ขี้ลืมมากๆ" มากกว่า) แต่ก็มีเรื่องบางเรื่องที่เราจำได้แม่นยำ มีบางเรื่องที่เราจำได้แว๊บๆ พอมีอะไรมากระตุ้นก็จะนึกออกในไม่ช้า แล้วก็มีบางเรื่องที่เราจำได้ว่าเคยรู้เคยได้ยินเคยอ่าน แต่ต้องใช้เวลานึกนานมากๆ บางทีถึงขนาดต้องไปค้นตามที่ต่างๆ (หนังสือ ไดอะรี่ หรือตอนนี้พยายามกระโดดให้ทันกระแสไฮเทค ก็ต้องอินเตอร์เน็ต) เราเคยได้ยินคนที่เขามีความจำดีมากๆ เขาอธิบายเทคนิคการจำของเขาว่า เขาจำเรื่องต่างๆ ในลักษณะของรูปภาพ และเก็บมันไว้เหมือนการเก็บไฟล์ในตู้ไฟล์ คือแบ่งเป็นช่องๆ ชั้นๆ เวลาจะนึกถึงเรื่องอะไรไล่หาไปตามช่องๆ ชั้นๆ นี้ แล้วก็หยิบมันออกมาใช้ ฟังเขาบรรยายแล้วก็ให้สงสัยว่าสมองเขามันทำด้วยอะไร ถึงได้สามารถจัดการระบบความจำได้ยังกะระบบการจัดเอกสาร (Filing System) อยากจะทำให้ได้อย่างเขามั่ง แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะทำยังไง

เรารู้สึกว่าถ้าการจัดการระบบความจำของคนที่เราเล่าไปเปรียบได้กับ Filing System ระบบความจำของเราคงเปรียบได้กับการต่อภาพจิ๊กซอว์ คือ เวลาเล่นจิ๊กซอว์ เราจะเทตัวจิ๊กซอว์ทั้งหมดออกมา สแกนดูรูปร่างหน้าตามันเร็วๆ เพื่อหาตัวที่มันมีสีหรือลายโดดเด่นออกมาเป็น แยกเป็นกองๆ กระจัดกระจายไปทั่ว (เวลาต่อจิ๊กซอว์เราจะต้องการที่เยอะมาก และแม่เราจะเบื่อมาก เพราะเราจะไม่อยากให้ใครมายุ่งวุ่นวายในอาณาบริเวณนั้น) เราก็จะพยายามต่อๆ ตัวพวกที่แยกออกมานี่ก่อน ซึ่งก็จะทำให้จิ๊กซอว์ของเราเริ่มปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่างได้ส่วนหนึ่ง แล้วก็จะมีบางส่วนที่ต่อไม่ได้ เราก็โยนมันกลับเข้าไปในกองกลางเหมือนเดิมก่อน แล้วก็เริ่มสแกนเร็วๆ รอบใหม่ ตอนที่เราสแกนเราจะได้ดูรูปลายต่างๆ ของจิ๊กซอว์แต่ละตัวทุกตัวแบบผ่านๆ ตัวไหนน่าสนใจหรือลายที่มีโอกาสจะต่อได้กับส่วนที่ต่อไปแล้วก็จะถูกแยกออกมา เอามาลองต่อกับส่วนที่ต่อไปแล้ว แต่พอตัวที่ถูกแยกออกมามันมากๆ ขึ้นแต่ยังเอาไปต่อกับส่วนอื่นๆ ของภาพไม่ได้ ซักพักหนึ่งเราก็จะล้างไพ่ (คือโยนมันกลับไปรวมกับกองกลาง) ซะทีหนึ่ง

เราจะสแกนตัวจิ๊กซอว์ทีละตัวเร็วๆ แยกกลุ่ม ทดลองต่อ ฯลฯ ซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ บางครั้งเราต่อๆ ไปแล้วจำได้ว่าเคยผ่านตาไอ้เจ้าตัวจิ๊กซอว์ที่น่าจะต่อตรงช่องโหว่ได้พอดี แต่ไม่แน่ใจว่าเราแยกมันออกมาหรือเปล่า หรือว่าโยนมันกลับเข้ากองกลางไปแล้ว เราก็จะไปไล่หาตัวจิ๊กซอว์ตัวนั้นเป็นการเฉพาะเจาะจง บางทีก็หาเจอ บางทีก็ไม่เจอตอนครั้งแรกที่หา แต่มาเจอตอนสแกนรอบใหม่หรือตอนกำลังไล่หาตัวอื่นๆ บางทีเราเห็นรูปเล็กๆ บนจิ๊กซอว์ชิ้นเดียว เราไม่รู้ว่ามันเป็นรูปอะไร หรือคาดเดาว่ามันน่าจะเป็นรูปอะไรไปทางหนึ่ง ปรากฏว่าพอเอามันไปต่อกับจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นแล้วถึงจะรู้ว่ามันคืออะไร หลายๆ ครั้งเราก็เดามันผิดไป จิ๊กซอว์บางตัวก็ดูแล้วไม่น่าจะไปต่อกับชิ้นอื่นได้แต่มันก็ต่อได้ ในขณะที่บางตัวน่าจะต่อได้ ก็ต่อไม่ได้

ทุกวันนี้เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ เข้ามาจากหลายๆ ทิศทาง ทั้งจากพูดคุยกับคน การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ท่องอินเตอร์เน็ต ฯลฯ แล้วเราก็จะเก็บมันไว้จำมันไว้กระจัดกระจายในสมองอย่าไร้ระบบ อะไรที่มันดูเหมือนกับจะมีประโยชน์ หรือเป็นเรื่องที่เราสนใจมาก เราก็จะจำมันได้ดี เหมือนกับเราแยกมันออกมาเก็บในส่วนที่เป็นภาพที่เด่นชัดของภาพจิ๊กซอว์ คือเรารู้ว่ามันจะไป fit ตรงไหนในภาพใหญ่รวมๆ ของชีวิตเรา แต่อะไรที่ไม่ค่อยน่าสนใจเราก็รับมันผ่านๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันมาก เก็บไว้ตรงไหนก็ไม่รู้

บางทีเรื่องราวที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยน่าสนใจในเวลาหนึ่ง พอผ่านไปกลับกลายเป็นสิ่งที่เราต้องกลับไปค้นหา (พยายามจะระลึกให้ได้ ว่าเราเอามันไปเก็บไว้ตรงไหนใน memory) เพราะมันเป็นส่วนที่จะเติมเต็มในเรื่องราวที่เราต้องเจอ มีบางทีเรื่องราวที่เราเห็นหรือรับรู้แล้วรู้สึกว่า มันดูไม่มีเหตุผล ไม่มีความหมาย แต่ตอนหลังได้มันมารวมกับอีกเรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังเพิ่มเติม มันก็กลับสมเหตุสมผลขึ้นมา หรือไม่ก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่เคยคาดคิดไปได้

ระบบความจำของเราจะต่างกับจิ๊กซอว์อยู่อย่างหนึ่งก็ตรงที่ว่า ภาพต่อจิ๊กซอว์มันมีมีจำนวนจำกัดและมีวันต่อเสร็จ ทุกๆ ตัวของจิ๊กซอว์มีที่อยู่ที่แน่นอนในภาพรวมที่สำเร็จแล้ว แต่การเก็บเรื่องราวต่างๆ ในความทรงจำของเราเก็บไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบ บางเรื่องมันก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับภาพใหญ่รวมๆ เลยแม้แต่น้อย บางทีมันก็มีช่องว่างอยู่กลางภาพที่เราไม่สามารถเติมมันให้เต็มได้ ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเราเคยผ่านตามันมาก่อน เพราะเราลืมเลือนมันไปไม่สามารถค้นมันเจอ บางทีมันก็ไม่สามารถเติมเต็มได้เพราะมันยังไม่ผ่านเข้ามาหาเรา