Fuel Cell Part 2 and Mozilla
วันนี้ตื่นขึ้นมาก็ยังไม่หายปวดท้อง เพราะเมื่อวานเย็นเราไปกินข้าวกับพี่ที่ออฟฟิศที่ร้าน ”ตาน้อย” มา อยากจะเล่าให้ฟังว่าร้านตาน้อยมีอาหารอร่อยยังไง แต่ก็กลัวว่าจะมีคนมาโวยวายกับเราอีกว่าชอบเขียนเรื่องอาหารยั่วน้ำลายคนที่อยู่เมืองไกล... เราไม่เล่าก็ได้ฟะ แต่จะบอกว่าที่ปวดท้องเป็นเพราะกินเยอะมากเกินไปมาก คิดดูละกันว่าอาหารอร่อยแค่ไหน อิอิ

วันก่อนปิยธิดาพูดถึงเรื่องรถไฮบริด แล้วก็พูดไปถึง Fuel Cell ว่าคงยังอีกนานพอดูกว่าจะได้เอามาใช้เป็น Sole Fuel ในรถยนต์ ทำให้เรานึกถึงบทความคอลัมน์เทคโนโลยีที่เราเคยอ่านใน Time เมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับโอกาสของการใช้ Fuel Cell ในด้านอื่น จำไม่ได้แล้วว่าเราเคยเล่าไปก่อนหน้านี้หรือเปล่า ว่า Fuel Cell ถูกเอาไปใช้งานจริงๆ แล้วและประสบความสำเร็จอย่างมากในยานอวกาศ บนยานอวกาศเขาต้องการพลังงานที่สะอาด นำกลับมาใช้ได้ใหม่ และไม่สนใจว่าต้นทุนในการทำเครื่องกำเนิดพลังงานนั้นเท่าไหร่ ซึ่ง Fuel cells “fit the bill” (ใครยังไม่รู้จักสำนวนนี้แสดงว่าเชย อิอิ)

บทความในที่เราอ่านเขาพูดถึงการพยายามจะนำ Fuel Cell มาใช้แทนแบตเตอรี่ในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เราไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง แต่เราคิดว่าในบรรดาอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ที่ใช้ในวงการสื่อสารและคอมพิวเตอร์เนี่ย สิ่งที่น่าจะถูกปรับปรุงมากที่สุดคือแบตเตอรี่ เราว่าด้านอื่นๆ เขาพัฒนาไปค่อนข้างไกลจนเกินความต้องการจริงๆ ของผู้บริโภคไปนานแล้ว (โทรศัพท์มือถืออันจิ๋วที่เล่น MP3 ได้ หรือทำงานได้พอๆ กับ PDA มี WAP ฯลฯ) จริงอยู่ที่แบตเตอรี่เดี๋ยวนี้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น และเก็บไฟได้นานขึ้นกว่าเดิมมาก แต่พอใช้ๆ ไปไม่นานมันก็ออกอาการแบตเสื่อมขึ้นมา ก็ต้องซื้อก้อนใหม่กันอีก (แล้วขยะแบตเตอรี่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสุดยอดของขยะกำจัดยากอีกอันหนึ่ง ว่าแล้วเราก็เคยคิดว่า คนสมัยนี้เขาเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันเป็นว่าเล่น เขาทำยังไงกับอันเก่าของเขา อยากให้มีสุสานโทรศัพท์มือถือขึ้นมา ให้คนเอาโทรศัพท์เก่าไปทิ้ง คงจะกองใหญ่พะเนินเทินทึก จะได้รู้สำนึกกันว่า ประเทศเราต้องเสียเงินให้ต่างชาติมากมายขนาดไหนไปกับสินค้าไฮเทคพวกนี้)

ใน Time เขาบอกว่า Fuel Cell ที่จะเอามาใช้ในโน้ตบุ๊คจะตัดปัญหาแบตเสื่อมไปได้ และทำให้สามารถเอาไปใช้ในที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงได้ (คือไม่ต้องใช้ที่ชาร์จแบตไง) เขาใช้ไฮโดรเจนกระป๋องเติมเข้าไปในชุด Fuel Cell ที่ต่อกับโน้ตบุ๊ค มันก็จะทำปฏิกริยาสร้างเป็นไฟฟ้าขึ้นมา ขนาดของมันก็ไม่ใหญ่โตเกินไป และราคาก็ไม่แพงเท่าไหร่ (ความจริงแบตเตอรี่ของพวกโทรศัพท์หรือโน้ตบุ๊คก็แพงจะตาย Fuel Cell คงไม่ได้แพงกว่า) เราฟังแล้วก็นึกในใจว่า “ว้าว ความฝันของเราใกล้เป็นความจริงแล้ว” แต่ปรากฏว่า เขาบอกว่า ยังเป็นแค่การทดลอง เพราะการจะเอามาใช้จริงยังมีปัญหาที่ต้องขบคิดกันอีกเยอะ เช่น สายการจะบินยอมให้เอา Fuel Cell และไฮโดรเจนสำรองขึ้นเครื่องบินหรือเปล่า (ท้ายที่สุดแล้ว คนอเมริกันเขามองว่าตลาดโน้ตบุ๊คก็คือ บรรดาพนักงานคนทำงานที่ต้องเดินทางตลอดเวลา และส่วนใหญ่ก็คือเดินทางโดยเครื่องบิน) เพราะไฮโดรเจนระเบิดได้ ยิ่งเพิ่งมีเรื่องของวินาศกรรมที่ตึกเวิร์ลด์เทรด ก็ยิ่งทำให้สายการบินจะเข้มงวดมากขึ้น สรุปว่าความฝันของเราคงต้องรอต่อไปจนกว่าเขาจะคิดได้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะป้องกันคนส่วนน้อยที่นิสัยไม่ดีและอยากจะสร้างความเดือดร้อนให้คนดีส่วนใหญ่ได้

เราชอบอ่านคอลัมน์เทคโนโลยีใน Time เพราะมักจะมีเรื่องใหม่ๆ ที่ทำให้เราทันโลกไม่ตกยุค บางทีเขาก็จะแนะนำอะไรใหม่ๆ ดีๆ ให้ใช้ เราได้รู้จัก Google และใช้มันอยู่หลายเดือนก่อนที่มันจะเริ่มฮิตติดตลาด และกลายเป็น Engine ที่ Yahoo! เอาไปใช้ ก็เพราะเราอ่านจาก Time นี่แหละ สัปดาห์ที่ผ่านมาเขาเขียนถึง Mozilla เป็น Browser ตัวใหม่ (ที่จริงน่าจะบอกว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ มากกว่า เพราะมันเป็นผลผลิตของทีมที่ทำ Netscape นั่นเอง) ที่จะมาล้มความเป็น Monopoly ของ Microsoft’s Internet Explorer (IE)

ความจริงเราเห็นชื่อ Mozilla แวบๆ มาพักหนึ่งแล้ว แต่ด้วยความขี้เกียจ ก็เลยไม่สนใจจะหาว่ามันคืออะไร คิดว่ามันคือ Web server เหมือน Apache เพิ่งมาถึงบางอ้อตอนนี้เอง เขาบอกว่าในปัจจุบันนี้ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ Web Surfer ใช้ IE แย่งส่วนแบ่งจาก Netscape มาเรื่อยๆ จนทีม Netscape ต้องตั้งสติใหม่ ตั้ง Non-Profit Organisation ขึ้นมาพัฒนา Mozilla ในลักษณะ Open Source คือยอมให้คนทั่วๆ ไปสามารถ Download code ไปใช้ ไปดู ไปล้วงแคะแกะเกาได้ตามใจชอบ ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้พวกบรรดา Computer Geek ทั้งหลาย ได้ลองใช้และบอกว่ามีอะไรที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง ทำให้มีการทำงานที่ดีกว่า IE ในหลายๆ ด้าน (แต่เขาก็เตือนว่า บางทีมันอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ Technology-challenged เท่าไหร่ เพราะมันยังไม่มี Technical Support ถ้าเจอปัญหาอะไรก็ต้องแก้เอาเอง เหมือนพวกของฟรีๆ ทั่วๆ ไป)

คนเขียนบทความท่าทางจะเชียร์ Mozilla อยู่พอดู (เหมือนกับพวกคนที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีทั้งหลาย ที่พร้อมจะอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับไมโครซอฟท์ตลอดเวลา) เขาบอกว่า Mozilla ควรจะได้มีโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดของ IE ไปบ้าง เพราะตอนนี้เรากำลังปล่อยให้ไมโครซอฟท์เป็นคนควบคุมการที่พวกเราได้เห็นหน้าตาอินเตอร์เน็ตของคนทั้งโลก เราว่าจริงมากๆ เลย เพราะถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าบรรดาเว็บไซต์ออกแบบหน้าตาให้เหมาะกับการแสดงผลบน IE เป็น Default คนส่วนน้อยที่ไม่ได้ใช้ IE อาจจะเจอปัญหาว่าหน้าตาเว็บมันดูประหลาดๆ แล้วก็ทำให้คนไม่อยากออกแบบหน้าตาหรือเนื้อหาของเว็บไซต์ที่ IE ไม่สามารถแสดงได้ (หลักการของ Web browser คือการแปลงผลสำหรับ Presentation จะทำที่ฝั่งคนอ่าน เพราะฉะนั้น คนอ่านแต่ละคนจะเห็นเอกสารฉบับเดียวกัน ได้ทั้งเหมือนกันหรือต่างกันไปจากคนอ่านคนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะอ่านมันด้วย Browser อะไรและมีความสามารถมากแค่ไหน) มันเป็นการควบคุมสถานการณ์ไว้โดยที่ผู้บริโภคอย่างเราไม่ทันได้นึก มารู้ตัวอีกทีหนึ่งแทบจะสายเกินไปแล้ว ก็ต้องลองดูกันต่อไปว่า Mozilla จะทำได้ดีแค่ไหนในการทอนอำนาจ Monopoly ของไมโครซอฟท์บนอินเตอร์เน็ต