American, Wars, and Propaganda
วันนี้โมโหเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์อีกแล้ว เราตั้งใจจะไปดู Spider-Man เขาก็บอกว่าใช้บัตรลดไม่ได้ เดี๋ยวนี้เขาใช้มุขนี้ตลอดเลย คือหนัง Blockbuster เนี่ย เขาจะไม่ยอมให้ใช้บัตรลด ต้องซื้อราคาเต็มไปประมาณ ๒ หรือ ๓ อาทิตย์แรกที่หนังเข้าฉาย ด้วยความงกเราก็เลยเปลี่ยนไปดู We Were Soldiers แทน (คิดผิดมากๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตกกระไดพลอยโจนดูหนังสงครามโดยไม่ได้ตั้งใจ อาทิตย์ก่อนตั้งใจจะไปดู Flawless แต่เขาเปลี่ยนโรงฉายไปแล้ว เราเลยดู Hart's War แทน กว่าจะดูจบสุดรันทด แต่ก็ไม่จำ)

ตอนแรกเราถามพนักงานขายว่า Spider-Man รอบทุ่มห้าสิบเลิกกี่โมง เขาบอกว่าสี่ทุ่มกว่าๆ เราถามว่า We Were Soldiers รอบทุ่มห้าสิบเลิกกี่โมง เขาบอกว่าสี่ทุ่มกว่าๆ เราก็งง ถามเขาว่าเลิกพร้อมกันเลยเหรอ (เรารู้สึกว่า We Were Soldiers น่าจะยาวกว่า ตามสไตล์หนังสงคราม และไม่คิดว่าหนัง ๒ เรื่องจะเลิกพร้อมๆ กันเป๊ะถึงแม้หนังรอบต่อไปจะโชว์ว่าเริ่มเวลาเดียวกันก็ตาม) ตกลงหนังยาวกี่นาที เขาบอกว่าเขาไม่รู้ พูดแต่ว่านี่ไงๆ หนังรอบต่อไปเริ่มสี่ทุ่มสี่สิบทั้งคู่เลย พูดเจื้อยแจ้วซ้ำไปซ้ำมาเหมือนกับว่าเราโง่เสียเต็มประดา เซ็งมากเลย เราว่าไม่มีพนักงานที่ไหนห่วยเท่าเมเจอร์อีกแล้ว ถามอะไรเกี่ยวกับหนังไม่เคยตอบได้เลย เขาจ้างให้มาขายตั๋วอย่างเดียวไง (อ้อ... For the record สไปเดอร์แมนยาว ๑๒๑ นาที We Were Soldiers ยาว ๑๓๘ นาที)

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยาเป็นต้นมา อเมริกาดูจะพยายามสร้างสปิริตให้กับคนในชาติโดยหันมาสร้างหนังที่ยกย่องวีรบุรุษสงครามกันยกใหญ่ มีหนังสงครามคล้ายๆ กันออกมา ๒ เรื่อง คือ Black Hawk Down กับ We Were Soldiers คือ ทหารอเมริกันไปตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายตรงกันข้ามและโดนถล่มซะยับเยิน แต่ทหารแต่ละคนก็สู้กันสุดใจ ยอมตายเพื่อชาติยอม รบเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่ทิ้งกัน ถ้าเราเป็นคนอเมริกัน เราก็คงดูด้วยความรู้สึกรักชาติ ภูมิใจในเกียรติยศและความเสียสละของทหารเหล่านั้นมากๆ แต่เผอิญเราเป็นคนไทย เรากลับรู้สึกสลดใจเอามากๆ มากกว่า เพราะเราไม่เข้าใจว่าจะรบกันไปหาอะไร ท้ายที่สุดก็เหลือแต่ซากปรักหักพังกับร่างไร้ชีวิต

อเมริกาเขาคงคิดว่าเขารบเพื่อความถูกต้อง แต่เราก็ยังสงสัยอยู่ว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนกำหนดว่า ความถูกต้องคืออะไร ใครเป็นคนตัดสินว่า คอมมิวนิสต์เวียดนามฆ่าเพื่อนร่วมชาติไม่ได้ แต่อเมริกันฆ่าคอมมิวนิสต์ได้ ใครเป็นคนตัดสินว่ารัฐบาลทหารโซมาเลียฆ่าเพื่อนร่วมชาติไม่ได้ แต่ทหารอเมริกันฆ่าทหารโซมาเลียได้ แต่อย่างว่าหละความเห็นของเรามันก็เป็นแค่ความเห็นของคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

ตั้งแต่ Steven Speilberg ทำ Saving Private Ryan แล้วเปิดเรื่องด้วยฉากการยิงถล่มใส่กันสุดเครียดนานเป็นสิบนาทีไม่หยุด ทหารตายกันเป็นเบือ มีภาพให้เห็นว่าโดนยิงยังไง โดนระเบิดยังไง แขนขาขาดกระเด็นยังไง สมจริงสมจังสุดๆ (ฉากแบบนี้ที่หวาดเสียว เห็นกันจะๆ แบบนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า "graphic" นะ The opening fighting scene in Saving Private Ryan was too graphic คือเห็นกันจะๆ เกินไป ไม่เหมาะกับเด็กและสตรีมีครรภ์) หนังสงครามเรื่องหลังๆ เขาก็ดูเหมือนจะเดินตามรอยกันเป็นแถบๆ ทั้ง Black Hawk Down ทั้ง We Were Soldiers นี่ก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเขาจะกลัวหรือไงว่าถ้าไม่โชว์ให้เห็นกันจะๆ คนดูจะรู้สึกว่าสร้างไม่สมจริงสมจัง หรือกลัวคนดูจะไม่รู้สึกสลดใจมากพอ สงครามมันยังไม่โหดร้ายพอหรือไงเนี่ย เฮ้อ...

วันก่อนเราพูดถึงว่าเราชอบอ่านคอลัมน์เทคโนโลยีใน Time แล้วปิฯก็บอกว่าชอบอ่านเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่ชอบ Time เพราะมีแต่ข่าวสงคราม เราเห็นด้วยอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่า Time จะเป็นนิตยสารเกี่ยวกับ Current Affair ที่เน้นด้านการเมืองการทหารมากค่อนข้างมาก แต่เรากลับอ่านมันเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี รายงานใหม่ๆ ทางการแพทย์ หรือแม้แต่ข่าวสังคมดารามากกว่า (แต่จะว่าไปแล้วที่จริงเหตุผลแรกสุดที่สมัครสมาชิก คือจะอ่านเอาภาษาอังกฤษอ่ะนะ)

เราไม่ชอบอ่านเรื่องการเมืองใน Time เพราะเท่าที่เราสังเกตเรารู้สึกว่า Time เหมือนเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความเสียหายของสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการก่อการร้ายอย่างละเอียดลออ (แต่เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองและประชาชนในเมืองที่สหรัฐเอาระเบิดใส่เครื่องบินไปถล่ม???) เราจำได้ว่าก่อนที่รัฐบาลจะสั่งให้ถล่มอัฟกานิสถาน ใน Time มีบทความเกี่ยวกับการที่ทหารอัฟกานิสถานกดขี่ทารุณผู้หญิงและเด็กออกมามากมาย แล้วก็จะมีข่าวออกมาตามสื่อต่างๆ อีกเป็นระลอกๆ ต่อเนื่องกันไป พอหลังจากสหรัฐถล่มอัฟกานิสถานไปแล้ว ก็มีบทความเกี่ยวกับชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิง เป็นต้นว่าสามารถไปร้านทำผมได้ ฯลฯ เราว่าการนำเสนอข่าวแบบนี้ เป็นการเสนอข่าวด้านเดียว เป็น Propaganda เพื่อสร้างกระแสความชอบธรรมในเหตุการณ์ที่สหรัฐตัดสินใจทำ เป็นการหว่านล้อมความรู้สึกของคนทั่วโลกให้รู้สึกสนับสนุนอเมริกา

กลับมาเรื่องหนังที่เราดูอีกหน่อยหนึ่ง หนังสงครามที่สหรัฐสร้างขึ้นมาพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Propaganda ไม่น้อยไปกว่าข่าวสงครามทางทีวีหรือนิตยสารเหมือนกัน เขามาเล่าเราฟังว่าสหรัฐต้องเผชิญอะไรหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่ไม่ได้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามสหรัฐเผชิญอะไรหนักหนาแค่ไหน เสียหายแค่ไหน เจ็บปวดแค่ไหน (เราไม่ได้จะบอกว่าเราเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับสหรัฐหรอกนะ แต่เราแค่คิดว่าเรื่องทุกเรื่องมี The other side of the story...)

ถามว่าสิ่งที่สหรัฐทำเป็นเรื่องผิดปกติไหม เราก็ว่าไม่ผิดปกติ การยึดเอาสื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือประกาศโฆษณาชวนเชื่อมันมีอยู่ทั่วไปทุกแห่งทุกหน เพียงแต่กรณีของสหรัฐมันกินอาณาเขตกว้างกว่า คือไปทั่วทุกสื่อและทั่วทุกประเทศ นอกจากนี้แล้วการทำแบบนี้ (สร้างกระแสความเชื่อ) มันไม่ได้มีแต่ในทางการเมืองการทหาร แม้แต่ในทางธุรกิจก็มี (และอาจจะเป็นดีกรีที่แรงกว่า และเรารู้ตัวน้อยกว่า) ดูอย่างการสร้างความนิยมในการบริโภคก็แล้วกัน เรามีค่านิยมความเชื่อว่ากางเกงยีนส์ลีวาย กระเป๋าหลุยส์วิตตอง นาฬิกาโรเล็กซ์ ฯลฯ เป็นของดีน่านิยมกว่ายี่ห้อโนแบรนด์ ก็เพราะโฆษณาแฝงทางสื่อมวลชนเหมือนกัน เป็นการล้างสมองได้เหมือนกัน

คนตัวเล็กๆ อย่างเรา (และประเทศเล็กอย่างประเทศไทย) ไม่มีสิทธิ์จะไปต่อกรหรือยื้อแย่งเอาอำนาจสื่อเหล่านั้นมาประกาศ Propaganda ของเรา แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยเราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพยายามจะยัดเยียดให้เราก็แล้วกัน