Prague VII: Scribbling
ความจริงเราควรจะจบเรื่องเล่าตอนไปเที่ยวปรากได้แล้ว แต่พอดีมีเรื่องที่เขียนค้างเอาไว้ ที่ไม่ได้เอารวมกับตอนที่เล่าเรื่องสถานที่เที่ยวต่างๆ เลย เอามาเพิ่มเป็นอีกตอนหนึ่งเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (ที่ไร้ประโยชน์และยาวมากกกกก) เพราะไหนๆ ก็เสียแรงพิมพ์ไปแล้วอ่ะนะ

Time zone

สาธารณรัฐเช็คเวลาช้ากว่าเมืองไทย 6 ชั่วโมง แต่ช่วงที่เราไปอยู่ในช่วงที่เขาปรับมาใช้ "เวลาหน้าร้อน" ก็เลยช้ากว่าไทยแค่ 5 ชั่วโมง ซึ่งกว่าเราจะรู้ว่าต่างกัน 5 ชั่วโมงก็สับสนกันอยู่พักใหญ่ เพราะตอนที่ถึงสนามบินปรากวันแรกไม่มีใครเปลี่ยนนาฬิกาเป็นเวลาท้องถิ่น (ปกติเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศแบบที่ต้องมีการต่อเครื่อง เราจะอาศัยดูเวลาจากนาฬิกาในสนามบินเป็นหลัก เพื่อความชัวร์ เพราะเวลาของไฟลท์ตามหน้าตั๋วเขาก็ใช้เวลาท้องถิ่นอยู่แล้ว)

พอไปถึงโรงแรมเช็คอินเรียบร้อยก็งงๆ กันว่าตกลงมันกี่โมงกันแน่ เพราะคิดแต่ว่าเวลาที่เช็คช้ากว่าเมืองไทย 6 ชั่วโมง ซึ่งมันก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผล สุดท้ายเราต้องไปถามป้า Reception ว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว เขาก็งงๆ ว่านาฬิกาเธอก็มี มาถามฉันทำไม

ตลอดเวลาที่อยู่ที่ปรากเราไม่ได้เปลี่ยนนาฬิกาเป็นเวลาท้องถิ่น ถ้าไม่ดูเวลาจากนาฬิกาตามถนน ก็จะดูนาฬิกาตัวเองแล้วลบห้า ส่วนแม่เราพอรู้เวลาจากป้า Reception แล้วก็เปลี่ยนนาฬิกาไปเป็นเวลาในสาธารณรัฐเช็ค แต่ทุกครั้งที่ดูนาฬิกาก็จะต้องพูดว่า ตอนนี้ที่เมืองไทยกี่โมงแล้ว ทั้งๆที่เรากับเก๋พยายามจะบอกว่า ไม่ให้คิดถึงเวลาในเมืองไทย เพราะมันจะทำให้ปรับตัวไปเข้ากับเวลาท้องถิ่นได้ช้า

Getting Around in Prague

การเดินทางในปรากค่อนข้างสะดวก เพราะนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวจะอยู่ในรัศมีที่เดินถึงแล้ว เขาก็ยังมีบริการขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกันหมด ทั้งรถไฟใต้ดิน (Metro) และรถราง (Tram) และรถเมล์ ค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่เที่ยวละ 12 Kč ถ้าซื้อตั๋วที่สถานีเมโทรหรือตามร้านขายหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าซื้อกับคนขับรถเมล์จะราคา 15 Kč ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงแพงกว่า อาจจะเป็นค่าที่ทำให้คนขับต้องเสียเวลามั้ง?? ตั๋ว 12/15 Kč นี้วันธรรมดาจะใช้โดยสารบนรถทุกอย่างได้นาน 60 นาทีสำหรับช่วง 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ใช้ได้ 90 นาทีสำหรับช่วง 5 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า และวันเสาร์อาทิตย์ตั๋วใบเดียวใช้ได้ตลอดวัน

นอกจากนี้ยังมีตั๋วระยะสั้นราคา 8 Kč ใช้ได้แค่ 15 นาทีและเปลี่ยนประเภทรถไม่ได้ เช่น ใช้ครั้งแรกขึ้นรถราง จะเปลี่ยนสายรถรางได้ภายใน 15 นาที แต่เปลี่ยนไปขึ้นเมโทรไม่ได้ เขาก็มีตั๋ววัน (ราคา 70 Kč) ตั๋วอาทิตย์และ ตั๋วเดือนขายด้วย แต่ถ้าไม่เป็นคนที่ขี้เกียจเดินสุดๆ หรือได้ที่พักอยู่นอกเมืองออกไปมากๆ ซื้อตั๋วเป็นเที่ยวๆ จะคุ้มกว่า เพราะส่วนใหญ่สถานที่ต่างๆ ในเมืองจะอยู่ในระยะเดินถึง

Honor System

ระบบขนส่งมวลชนของปรากดูเหมือนจะอาศัยระบบความซื่อสัตย์ เพราะบนรถไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร ที่ทางเข้าสถานีเมโทรก็ไม่มีประตูกั้น เวลาจะใช้บริการก็ซื้อตั๋ว แล้วเวลาจะเดินทางก็เอาตั๋วไปเสียบที่เครื่องตอกเวลา ซึ่งจะมีอยู่บนรถเมล์และรถรางและที่ทางเข้าของสถานีเมโทร ดูๆแล้วก็เหมือนกับว่าถึงไม่ซื้อตั๋วก็ขึ้นโดยสารรถได้ แต่… ถ้าพนักงานตรวจตั๋วมาตรวจแล้วเจอว่าเราไม่มีตั๋วหรือใช้ตั๋วเกินเวลา จะปรับทันที 400 Kč คิดเทียบกับราคาตั๋ว 10 กว่า Kč แล้วก็ไม่ค่อยคุ้มกับความเสี่ยงที่จะโกงซักเท่าไหร่ แต่ตลอด 5-6 วันที่เราใช้บริการก็ไม่เคยเจอพนักงานตรวจซักคน ก็เลยคิดว่าคนของเขาคงซื่อสัตย์ไม่มีการโกงค่ารถกัน

เราสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในปรากเนี่ยเขาจะมีนาฬิกาอยู่ทั่วไปหมดทั้งในสถานีเมโทรและตามถนนหนทาง ทั้งที่เป็นนาฬิกาเฉยๆ และที่เป็นป้ายประกาศบอกทั้งเวลา อุณหภูมิ และข่าวสารต่างๆ นาฬิกาพวกนี้ใช้การได้และเวลาตรงทั้งหมด (ไม่เหมือนในเมืองไทย แม้แต่หอนาฬิกาประจำจังหวัดยังเดินไม่ตรงเลย ไม่รู้ว่ามีเอาไว้เป็นอนุสาวรีย์หรืออะไร) เราเลยเอาไปโยงว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการที่เขากำหนดเวลาการใช้ตั๋วด้วยเหมือนกัน คือมีนาฬิกาทั่วไปหมดขนาดนี้ ถ้าโดนจับได้ว่าตั๋วหมดอายุก็คงจะมาโมเมบอกว่าไม่รู้เวลาก็คงไม่ได้ คงต้องโดนปรับไปตามระเบียบ

เก๋พี่สาวเราตั้งข้อสังเกตอีกอันหนึ่งว่า นอกจากไม่เห็นพนักงานตรวจตั๋วแล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นคนเอาตั๋วไปเสียบที่เครื่องตอกเวลาด้วยเหมือนกัน นอกจากพวกเราแล้ว นานๆ ถึงจะเห็นพวกที่เป็นนักท่องเที่ยวทำท่าเงอะงะเอาตั๋วไปเสียบซะทีหนึ่ง เก๋สงสัยว่าเป็นเพราะเขาเป็นคนท้องถิ่นที่เดินทางประจำเลยใช้ตั๋วเดือนตั๋วปีกันหมด หรือไม่อีกทีก็คือ พวกเขาไม่มีใครยอมซื้อตั๋ว แต่ขึ้นรถฟรีกันหมด มีแต่นักท่องเที่ยว (ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว) อย่างพวกเราเท่านั้นที่จ่ายค่าตั๋ว (อืมม์… น่าคิด)

The Ticket Machine

พูดเรื่องตั๋วแล้ว ต้องพูดเรื่องเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่สถานีเมโทรซะหน่อย เพราะเห็นมันสร้างความปวดหัวให้กับนักท่องเที่ยวได้พอสมควร

เท่าที่เราสังเกต ตู้ขายตั๋วจะมีสีแดงกับสีเหลือง เราเดาเอาว่า อันหนึ่งเป็นตู้ที่ทอนเงินได้ อีกอันทอนเงินไม่ได้ แต่บังเอิญเราหยอดเหรียญพอดีกับค่าตั๋วทุกครั้ง ก็เลยไม่รู้ว่าที่เดานี่ถูกหรือเปล่า ที่ตู้จะมีหน้าจอเล็กๆ บอกขั้นตอนการซื้อตั๋วเป็นภาษาเช็ค (และถ้าดูให้ดีๆ สักนิดจะเห็นว่ามีปุ่มให้เลือกภาษาอื่นๆ ด้วย) มีปุ่มให้กดเลือกตั๋วที่ต้องการ (ตั๋วปกติ-เด็ก/ผู้ใหญ่ ตั๋วระยะสั้น-เด็ก/ผู้ใหญ่ ฯลฯ) จากการลองผิดลองถูกเราพบว่าถ้าอยากได้ตั๋วมากกว่า 1 ใบหรือตั๋วราคาอื่นๆ ก็กดปุ่มเพิ่มขึ้นไป แล้วก็หยอดเงินตามจำนวนที่ขึ้นที่หน้าจอ พอหยอดเงินครบ เครื่องก็จะพิมพ์ตั๋วออก เวลาจะขึ้นรถก็เอาตั๋วไปเสียบที่เครื่องตอกเวลาอย่างที่บอกไปแล้ว ตั๋วที่ซื้อจากเครื่องนี้ถ้ายังไม่เอาไปเสียบที่เครื่องตอกเวลาก็จะเก็บไว้ใช้วันอื่นๆ ได้ (ตั๋วที่ซื้อจากที่อื่นๆ ก็เก็บไว้ใช้วันอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน)

หลังจากที่งมๆ กับการซื้อตั๋วในครั้งแรกไปแล้ว ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก แต่แทบทุกครั้งที่เราไปซื้อตั๋วที่เครื่องขายตั๋วจะเจอคนทำท่าเงอะงะ บางทีเห็นมุงกันอยู่รอบเครื่องตั้งห้าหกคน แต่หาวิธีเอาตั๋วออกมาไม่ได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเจอคนกลุ่มหนึ่งมากันประมาณ 10 คน แต่กดซื้อตั๋วทีละใบ เราก็เลยบอกเขาไปว่า เขากดซื้อตั๋วทีละหลายๆ ใบได้นะ อยากได้กี่ใบก็กดปุ่มเท่านั้นครั้ง เขาก็ขอบใจเราแล้วบอกว่าเขาไม่รู้ภาษาเช็ค (เลยไม่รู้ว่าจะทำยังไง) เราตอบเขาไปว่า เราก็ไม่รู้ภาษาเช็คเหมือนกัน (แต่ในใจพูดต่อว่า ก็เขามีให้เลือกภาษาอื่นด้วย ทำไมไม่เลือกล่ะ) เขาตอบว่า แต่เราก็ยังรู้มากกว่าเขา เราว่าบางทีถ้าลองใช้ common senseสักนิดหนึ่ง ก็จะสามารถเข้าใจได้ถึงแม้มันจะไม่ใช่ภาษาที่เรารู้ก็ตาม

Czech Food

อาหารประจำชาติของเช็คคืออะไรไม่รู้อ่ะ เพราะตลอด 1 อาทิตย์ที่อยู่ที่ปรากเรากินอาหารจีนตลอด (มื้อเช้ากินอาหารเช้าของโรงแรม) ด้วยความที่เรากลัวว่าเตี่ยจะกินอาหารฝรั่งไม่ได้ ก่อนไปเราก็เสิร์ชหาชื่อร้านอาหารจีน-อาหารไทยมาจากอินเตอร์เน็ต ได้ลิสต์มาหลายร้าน แต่ปรากฏว่าพอเอาเข้าจริงๆ เราก็ดันหาร้านที่เสิร์ชมาได้ไม่ค่อยเจอ (บางทีเดินหาจนเหนื่อย แม่กับเตี่ยพาลจะโมโหเมื่อย โมโหหิว เรางี้เครียดเลย) แต่ไปเดินเจอร้านอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์แทน

อาหารจีนที่ปรากไม่ค่อยแพงเท่าไหร่ กินกัน 4 คนก็ตกมื้อหนึ่งประมาณ 300-700 Kč ตอนแรกๆ พวกเราไม่รู้ว่าอาหารจะจานใหญ่แค่ไหน มื้อแรกสั่งมาแล้วกินไม่หมด ตอนหลังๆ ก็ใช้สั่งมาดูเชิงทีละ 2 จานก่อน ถ้าไม่พอแล้วค่อยสั่งเพิ่ม ส่วนใหญ่จะสั่งเป็นข้าวผัดหรือบะหมี่ผัด 2 จาน ซึ่งจะแบ่งกันได้ 4 คน แล้วก็อาจจะมีกับข้าวอีกอย่างหนึ่ง มีซุปบ้าง ปอเปี๊ยะบ้าง แล้วแต่ว่าอยากกินอะไร ถามว่ารสชาติอาหารจีนเป็นอย่างไร เราก็ว่าเหมือนร้านอาหารจีนทั่วๆไปที่ไม่ใช้ร้านอาหารจีนในเมืองไทย คือ รสชาติจะเค็มๆ เป็นหลัก แล้วก็ใช้น้ำมันค่อนข้างเยอะผัดด้วยไฟแรงๆ คนที่ไม่ค่อยชอบอาหารมันๆ อาจจะต้องอาศัยพริกน้ำมัน (Chili Oil) ที่คล้ายๆ กับน้ำพริกเผาช่วยจะทำให้ไม่รู้สึกเลี่ยน

พวกเราไปอุดหนุนร้านอาหารจีนในปรากมา 5-6 ร้าน สรุปว่าร้านที่รสชาติดีและราคาย่อมเยา คือร้านใกล้ๆกับโรงแรมที่เราไปพัก ชื่อร้าน New Peking (ถนน Radimova) ตอนแรกดูจากหน้าร้านก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะอร่อย เพราะดูจะโทรมๆ และเงียบๆ แต่พวกเราก็เข้าไปลองซะตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง แล้วก็ได้ฝากท้องไปหลายมื้อจนถึงวันสุดท้าย พนักงานเขารู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก เตี่ยกับแม่เราก็พูดภาษาจีนกลางได้แค่นิดๆหน่อยๆ (ที่บ้านเป็นคนจีนแคะ) ยังดีที่เมนูมีภาษาอังกฤษกำกับก็เลยพอเดาๆ ได้ เวลาสั่งก็เลยต้องพูดอังกฤษบ้างจีนบ้าง ดีที่พนักงานเขาอัธยาศัยดี ไม่หงุดหงิดเวลาที่เราใช้เวลาเลือกอาหารนานๆ วันสุดท้ายที่เราไปกิน แม่บอกพนักงานว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะกลับบ้านแล้วนะ เขาก็ยังบอกว่า ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ประมาณว่ากินกันจนคุ้นเคย

ร้านอื่นๆ ที่ไปกินส่วนใหญ่รสชาติโอเค มีที่แย่ๆ หน่อยก็คือร้านแถวๆ Charles Bridge เพราะนอกจากจะรสชาติไม่ค่อยดีและอาหารจานเล็กแล้ว ก็ราคาก็ยังแพงกว่าร้านในย่านอื่นๆ ด้วย สงสัยเขาถือว่าอยู่ในทำเลดีอยู่แล้ว ถึงรสชาติไม่ดีมากยังไงก็ขายดี

Cost of Living & Shopping

ในฐานะนักท่องเที่ยว เรารู้สึกว่าค่าครองชีพในปรากค่อนข้างจะต่ำเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในยุโรป ค่าอาหารในร้านอาหารระดับปานกลางมื้อหนึ่งจะตกประมาณ 100-200 Kč (150-250 บาท ถ้าเป็นประเทศอื่นจะกินได้แค่อาหารฟาสต์ฟูด) ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 100 Kč ค่ารถก็ไม่แพงมาก จะมีก็ค่าแท็กซี่นี่แหละที่รู้สึกว่าแพงหน่อย แต่ก็พอรับได้ (เรานั่งแท็กซี่จาก Wenceslas Square กลับโรงแรมก็ประมาณ 400 Kč) แต่ถ้าเมื่อไหร่สาธารณรัฐเช็คเข้าร่วมกับอียูค่าครองชีพต่างๆ น่าจะพุ่งพรวดไปเท่าๆ กับประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะไปเที่ยวปรากหรือเช็คก็น่าจะรีบๆ เสียตอนนี้ ก่อนที่เช็คจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเหมือนยุโรปชาติอื่นๆ

ของฝากจากสาธารณรัฐเช็คที่เห็นขายๆ กันก็มีพวกเครื่องแก้ว คริสตัล ตุ๊กตารัสเซีย (ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ตัวเล็กจิ๋วๆ ไล่ขึ้นมา 6-7 ขนาดจนถึงตัวใหญ่ๆ) หุ่นเชิด (Marionette หรือ Puppet) และงานฝีมือสไตล์โบฮีเมียต่างๆ นอกจากของฝากพวกนี้แล้ว บรรดานักช็อปคงไม่ค่อยชอบปรากสักเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่ศูนย์กลางแฟชั่นเครื่องประดับเครื่องสำอางค์อย่างเมืองหลวงอื่นๆในยุโรป ของที่มีขายก็รูปแบบออกจะเชยๆ และมีแบบให้เลือกไม่มาก ของที่เป็นแบรนด์เนมก็จะราคาค่อนข้างแพง (ถูกกว่าเมืองไทยไม่เท่าไหร่) คงเป็นเพราะประเทศเขาเพิ่งจะพ้นจากการเป็นคอมมิวนิสต์และแยกตัวออกจากเช็คโกสโลวาเกียมาเป็นสาธารณรัฐเช็คได้ไม่นาน (ประมาณ 7 ปี)

เราไม่ได้ซื้อของฝากที่เป็นงานฝีมือหรือคริสตัล เพราะประสบการณ์สอนว่าของพวกนี้จะกลายเป็นสมบัติบ้าที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เพราะที่บ้านไม่มีตู้โชว์ เราได้แต่ซื้อขนมซื้อช็อคโกแล็ต (ของเยอรมัน) มาฝากคนที่บ้านและที่ออฟฟิศ ซื้อของกระจุกกระจิกเล็กน้อย ใช้เงินช็อปปิ้งไปน้อยมาก

The Damages

ค่าใช้จ่ายสำหรับการไปเที่ยวปราก 1 อาทิตย์ ค่าวีซ่า ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมจ่ายเป็นเงินไทย (ค่าวีซ่า+ค่าดำเนินการ คนละ 1,400 บาท ค่าตั๋วเครื่องบิน 38,400 ค่าโรงแรมคืนละ 3,600 (ต่อ 2 คน) เราพักทั้งหมด 6 คืน) ตอนอยู่ในปรากแลกเงินไป 1,100 USD (เป็นค่าทริป 4 ทริป Prague Castle 750 Kč ต่อคน ทริปล่องเรือแม่น้ำวัลตาวา 440 Kč ทริปไปคาร์ลชเทน 800 Kč ทริปไปคุทนาโฮรา 800 Kč ที่เหลือเป็นค่าอาหารและช็อปปิ้งเล็กน้อย) สรุปทริปนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 61,000 บาท

The Pictures

เราไม่ค่อยได้ถ่ายรูปในปรากมาซักเท่าไหร่ เลยไปท่องเว็บหาเว็บไซต์ที่มีรูปเมืองปรากมาฝาก เราเลือกมา 2-3 ที่ ให้ลองคลิกไปดูเล่นๆ

ที่ www.czechsite.com เป็นเว็บไซต์นำเที่ยวสาธราณรัฐเช็ค มีทั้งรูปธรรมดาให้ดู และที่เป็น Virtual Reality Tour ด้วย

ส่วนเว็บนี้มีรูปในปราก แยกเป็นย่านต่างๆ เช่น Prague Castle, Old Town Square, Charles Bridge, Jewish Town

อันนี้เป็นเว็บไซต์แบบ Virtual tour เหมือนกัน