Discrimination
วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศดีกว่า หยุดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานอันแสนน่าเบื่อของเราเอาไว้ก่อน เราไปอ่านไดอะรี่อังกฤษของปิฯวันก่อน ที่เขียนเรื่อง American History X (ยูสเซ่อเนมกะพาสเวิร์ดดูในไดฯไทยของปินะ) แล้วก็บอกว่าปิไปว่าเรามีเรื่องจะเขียนถึงในหัวข้อนี้เหมือนกัน แต่ยังไม่ทันได้ลงมือเขียนปิก็ มาว่าต่อในไดอะรี่ไทยถึง 2 ตอน เราก็เลยไม่เขียนไม่ได้แล้ว

ในไดอะรี่อังกฤษปิฯ พูดถึงการเหยียดคนผิวดำ อาการไม่ค่อยสบายใจเวลาที่ต้องไปในย่านคนดำ เรากลับมีความคิดที่ค่อนข้างจะต่างออกไป ซึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์ของเราต่างกัน ตอนที่เราไปเรียนที่ Sheffield เรามีเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนผิวดำ 2 คน ทั้งดำทั้งมัน (หมายถึงผิวอ่ะนะ) คนหนึ่งมาจากประเทศ Botswana (อ่านประมาณว่า โบทซัวน่า/บอทซัวน่า เราได้ยินชื่อประเทศนี้ครั้งแรกก็ตอนที่ได้ยินจากปากเพื่อนคนนี้นั่นแหละ เป็นประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาอ่ะนะ) เขาเป็นผู้ชายได้ทุนมาเรียน นิสัยค่อนข้างเรียบร้อยและเป็นคนง่ายๆ ใจดี

เพื่อนผิวดำอีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายเหมือนกัน มาจากประเทศเอธิโอเปีย ตอนที่ได้ยินว่ามาจากเอธิโอเปียก็นึกโฆษณาเด็กกินดินที่ฉายทางโทรทัศน์ในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนขึ้นมาทันที แต่เพื่อนเราคนนี้เขาห่างไกลจากเด็กกินดินมากนัก เพราะเขาเป็นลูกของคนที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในประเทศ ตัวเขามาเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก จนสามารถจะขอสมัครเปลี่ยนสัญชาติเป็นอังกฤษได้แล้ว (อังกฤษเขามีนโยบายว่า ถ้าชาวต่างชาติใช้เวลาเรียนในประเทศอังกฤษติดต่อกันเกิน 10 ปี -- เราจำจำนวนปีไม่ได้แน่ชัด -- ด้วยทุนของตัวเอง จะสามารถขอเปลี่ยนสัญชาติได้ ซึ่งเพื่อนเอธิโอเปียคนนี้อธิบายให้เราฟังว่า เป็นการมองการไกลของอังกฤษ คือ เขาเห็นว่าคนที่มาเรียนในระบบการศึกษาของอังกฤษนานเกิน 10 ปี ก็จะเป็นคนที่มีการศึกษา มีคุณภาพ ก็จะยอมให้เป็นสัญชาติอังกฤษได้ เป็นนโยบายการดูดสมองเข้าประเทศ -- ตรงข้ามกับสถานการณ์สมองไหลที่ประเทศไทยประสบอยู่ -- ไม่ยอมให้คนต่างชาติเหล่านี้กลับไปเป็นมันสมอง ไปพัฒนาประเทศของตัวเอง) จากการคบกับ 2 คนนี้ เขานิสัยดีทั้งคู่ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะมีความแตกต่างไปจากคนผิวอื่นๆ และไม่รู้สึกว่าเขาทำตัวแปลกแยกแตกต่างอะไร ไม่รู้สึกว่าเขาจะเป็นอันตรายกับเรา

เรารู้สึกว่าที่อังกฤษก็ไม่ได้มีคนผิวดำอยู่มากจนกลายเป็นย่านเป็น Community เหมือนที่อเมริกา คนผิวเหลืองและคนเอเชียยังน่าจะมีปริมาณมากกว่าคนผิวดำเสียอีก (ที่อังกฤษ ถ้าบอกว่า คนเอเชีย จะหมายถึง คนที่มาจากแถบอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ฯลฯ คือกลุ่มคนที่คนไทยเรียกรวมๆ ว่า แขก นั่นเอง) และคนอังกฤษดูจะไม่เหยียดคนผิวดำมากเท่าเหยียดคนผิวเหลืองและเอเชีย มันก็คงเป็นเพราะความที่เขารู้สึกว่าคนเอเชีย คนผิวเหลืองมาแย่งงานเขาทำ หรือมาเป็นภาระของประเทศเขา ก็คงเป็นความรู้สึกคล้ายๆ กับที่คนอเมริกันรู้สึกกับคนผิวดำ

เราเพิ่งจะได้รู้สึกถึงกระแสการเหยียดคนผิวดำจริงๆ ก็ตอนที่ไปทำงานที่อเมริกา แล้วมีคนเตือนว่าย่านบางย่านของเมืองเป็นย่านที่ไม่ควรย่างกรายไปเพราะเป็นย่านคนดำ ไม่ปลอดภัย ใจเราก็ยังมีความรู้สึกเดิมๆ ว่า จะเป็นไรไป เขาก็คนเหมือนกัน แต่พอได้ไปแถบนั้นจริงๆ ก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่ปิฯพูดถึง มันเป็นความรู้สึกปนๆ กันระหว่างความหวาดระแวง หวาดเสียว หนาวสันหลังหน่อยๆ ไม่ค่อยปลอดภัยอ่ะนะ ความรู้สึกของเราที่มีต่อคนผิวดำโดยรวมๆ ไม่ได้เปลี่ยนไป ไม่ได้กลัว ไม่ได้คิดว่าเขาจะอันตรายมากกว่าคนผิวสีอื่น แต่เราชักรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับการต้องย่างกรายไปในย่านคนดำเล็กน้อย

เรารู้สึกว่าความจริงตอนนี้ปัญหาของการที่คนผิวขาวเหยียดคนผิวดำในอเมริกาค่อนข้างจะน้อยลงไปมาก อันนี้ไม่ได้พูดถึงสิทธิหรือสถานะต่างๆ ในสังคมที่คนผิวดำยังจะด้อยกว่าคนผิวขาวนะ (เช่น คนผิวดำมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานน้อยกว่าคนผิวขาว หรือเลื่อนตำแหน่งไปได้ไม่สูงเท่า อันนี้มันเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมในสังคมที่ไม่มีวันจะหมดไป ถึงไม่เหยียดกันด้วยผิว ก็อาจจะเหยียดกันด้วยเพศ ด้วยสถาบันการศึกษา หรืออื่นๆ มากมายแล้วแต่จะสรรหามากีดกันกัน) แต่ที่เราพูดถึง คือ ความรู้สึกของคน ที่มองคนด้วยกันมากกว่า เรารู้สึกว่าคนผิวขาวรู้สึกไม่อยากจะคบค้าสมาคมกับคนผิวดำ หรือรังเกียจคนผิวดำน้อยลงมากแล้ว

แต่ปัญหาที่มีตอนนี้คือ คนผิวดำกลับเริ่มที่จะเหยียดคนผิวอื่นๆ แทน คนผิวดำกลับพยายามจะคบค้าสมาคมกันเอง มีท่าทีไม่เป็นมิตรกับคนผิวสีอื่นๆ เช่น อย่างเวลาที่เราขับรถหลงเข้าไปในย่านคนผิวดำ จะเจอคนที่เดินตามถนนมองตามแบบเหลียวหลังด้วยสายตาไม่ค่อยเป็นมิตร ด้วยอารมณ์ว่า เธอเข้ามาในเขตของฉันทำไม ไม่ใช่แค่คนเดียวสองคน แต่ทุกคนดูเหมือนจะมีปฏิกิริยาทำนองเดียวกันไปหมด แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนผิวดำขับรถไปในย่านคนขาว กลับไม่มีใครสนใจ เรายกตัวอย่างแบบนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์และไม่ค่อยได้ความเท่าไหร่ เพราะย่านที่คนดำอยู่เป็นส่วนน้อย แต่ประเด็นที่เราอยากจะพูดคือ ทำไมคนผิวดำถึงจะต้องแบ่งแยกว่าย่านนี้เป็นย่านของคนดำที่คนสีอื่นๆ กลายเป็น Outsider การที่เขาทำแบบนั้น ก็คือการที่เขาเหยียดผิวคนอื่นเหมือนกัน

เราเข้าใจได้ว่าความรู้สึกแบบนี้ มันคงเป็นผลมาจากความเครียด ความทุกข์ ความยากลำบาก ที่เกิดจากการถูกเหยียดผิวมาปีแล้วปีเล่า ถ้าเขาไม่ถูกเหยียดผิวแต่แรกเขาก็คงไม่เป็นแบบนี้ เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกลับ ยิ่งเขาโดนกระทำแรงเท่าไหร่ เขายิ่งมีแรงตอบสนองกลับแรงเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วการที่การเหยียดผิวมันจะหมดไปได้ ก็จะต้องเกิดจากการที่คนเลิกที่จะ Hold the grudge คือ ยึดมั่น ยึดติดกับความรู้สึกคั่งแค้นไม่พอใจเก่าๆ แล้วให้อภัยกัน อโหสิให้กัน แต่เราว่ามันคงอีกนาน คงไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราแน่ๆ

เรื่องนี้ยังไม่จบหรอกนะ ยังมีเรื่องที่จะเขียนต่อจากเรื่อง Stereotype และเรื่องการเกลียดคนชาติต่างๆ (แบบเหมายกเข่งไม่แยกแยะ) อีก แต่ต้องขอติดไว้ก่อน