Mekhong Full Moon Party
ตอนแรกว่าจะเล่าเรื่องไปทำเลสิกตามที่ปุยถามมา แต่วันนี้ไปดูหนังมา อารมณ์กำลังสดๆ เลยขอแทรกมาเล่าก่อน :P

ไม่ได้ไปดูหนังที่เข้าฉายวันแรกมานานมากแล้ว เพราะไม่ชอบไปเบียดดูหนังกับคนเยอะๆ และหนังที่เข้าฉายวันแรกมักจะใช้บัตรลดไม่ได้ ด้วยความงกเราคิดว่ารอไปอาทิตย์สองอาทิตย์ก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่วันนี้เราไปดูหนังที่เข้าวันแรกด้วยความบังเอิญ คือตั้งใจจะไปดู Bourne Identity แต่รอบที่เราจะดูดันเป็นเก้าอี้พิเศษที่นั่งละร้อยห้าสิบและเหลือแค่ 3 แถวหน้า เราก็เลยเปลี่ยนไปดู “๑๕ ค่ำเดือน ๑๑” แทน

สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด เป็นหนังของ พี่เก้ง จิระ มะลิกุล เรียกชื่อเขาเสียราวกับเป็นคนสนิท ไม่ได้รู้จักอะไรเป็นการส่วนตัวหรอก แต่ว่าคนยุคเราน่าจะพอเคยได้ยินชื่อเขาบ้าง เขาเป็น “ครีเอทีฟ” คนแรกๆ ของวงการเพลงเมืองไทย เป็นคนอยู่เบื้องหลังทำมิวสิควิดีโอดีๆ ของค่ายเพลงที่ชื่อ “คีตา” (ถ้ามีบางคนจะไม่เคยได้ยินชื่อ มันเป็นสมัยที่นักร้องที่เป็นขวัญใจของเด็กวัยรุ่นคือ เฉลียง อุ้ยระวิวรรณ พี่ปั่นไพบูลเกียรติ เขียวแก้ว ฯลฯ) ตอนที่เห็นตัวอย่างหนังสิบห้าค่ำฯ เราก็ตั้งใจว่าจะต้องมาดู ก็เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ มีผลงานมิวสิควิดีโอดีๆ ก็หวังว่า น่าจะทำหนังได้ดีได้เหมือนกัน (พูดถึงคำว่า รุ่นใหม่ ก็อดขำปนสลดใจไม่ได้ เราคิดว่า อย่าง พี่เก้ง เนี่ย อายุน่าจะแก่กว่าเราซัก 6-7 ปี เแต่ถ้าเป็นสมัยก่อน เราเห็นคนอายุประมาณนี้ ต้องถูกจัดไปเข้าคนมีอายุแล้ว เพราะถ้าเอ่ยอายุกันคร่าวๆ ก็ต้องบอกว่าสามสิบกว่าใกล้สี่สิบ รุ่นไม่ใหม่แล้วหละ เฮ้อ...)

เวลาเราได้ดูหนังยุโรป หนังจีน หนังเกาหลี ที่เล่าเรื่องเล็กๆ ใกล้ๆ ตัว ไม่ต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล ไม่ต้องใช้เทคนิคตระการตา แต่ดูสนุกสนานประทับใจ เราก็อดคิดอยู่บ่อยๆ ไม่ได้ ว่าทำไมคนไทยทำหนังแบบนี้ไม่ได้ เวลาไปดูหนังไทย ปัญหาที่เราเจอ คือ “มันไม่สมจริงสมจัง” หนังที่ดูสนุกคือหนังที่ทำให้คนดูเชื่อ ไม่ได้หมายถึงให้เชื่อว่ามันเป็นความจริง แต่เชื่อในการเล่าเรื่องประเภทนั้นๆ เช่น เรื่องรัก ก็รู้สึกถึงอารมณ์รัก เรื่องผี ก็รู้สึกว่ามันน่ากลัว แต่หนังไทยส่วนใหญ่เนื้อเรื่องอ่อนบ้าง บทสนทนาไม่สมจริงบ้าง ผิดจังหวะไม่ราบรื่นบ้าง การเล่าเรื่องและจังหวะของภาพไม่สมจริงบ้าง หรือที่แย่มากๆ ก็ตัวละครเล่นแข็งทื่อไม่สมจริง นานๆ จะมีหนังไทยดีๆ ที่เรารู้สึกว่า ดูแล้วเชื่อ ดูแล้วสนุก หนังสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ดฯ ดูแล้วสนุก!! ดูจบแล้วนึกถึงเรื่อง Amelie ไม่ใช่อะไรหรอก มันได้ความรู้สึกเดียวกัน เพราะเป็นหนังที่เราต้องดูไปอ่านไปตลอดเรื่อง ก็หนังเขาเล่นพูดซาวน์แทร็คเสียงอีสานตลอด ความจริงเราก็พอจะฟังรู้เรื่องหรอกนะ พยายามฟังอย่างเดียวโดยไม่อ่านก็พอได้ แต่มันมีตัวหนังสืออยู่ ก็อดไม่ได้ที่จะไปอ่านมัน

สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ดเล่าเรื่องบั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ที่เกิดลูกไฟลอยขึ้นมาจากลำน้ำโขงขึ้นไปบนท้องฟ้า เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนมาชุมนุมที่ริมแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายในคืนวันออกพรรษาวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด เพื่อดูปรากฏการณ์ให้เห็นกับตา แต่จริงๆ แล้วหนังเป็นเรื่องของความเชื่อของคน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากพญานาคที่หลบอยู่ใต้ลำน้ำโขง ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการสะสมของกาซมีเทนจากเน่าเปื่อยของซากสัตว์ อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากฝีมือมนุษย์ นอกจากความเชื่อเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักแล้วก็มีความเชื่ออื่นๆ แทรกอยู่ตลอดเรื่องเป็นมุขให้กับคนดูได้ขำกันพอสมควร

เราชอบที่หนังทำได้จังหวะดี ไม่ยืดเยื้อ ดูแล้วรู้สึกว่าคนทำหนังเป็นคนฉลาด ฉลาดในการเล่าเรื่อง (การอธิบายด้วยการยกตัวอย่างด้วยภาพแถมสอดแทรกมุข คนเข้าใจง่ายแล้วยังขำอีกตะหาก) ฉลาดในการสอดแทรกมุขต่างๆ เข้าไปในบทสนทนาโดยยังสามารถคอนโทรลประเด็นของหนังเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังฉลาดในการทำ Product Placement เสียด้วย

ความจริงเรื่อง Product Placement หรือการเอาสินค้าเข้ามา “แอบโฆษณา” ในหนังนี่ฝรั่งเขาทำกันมานานแล้ว (อย่างเรื่องล่าสุดที่นึกออกก็ Minority Report นั่นไง โฆษณาเพียบเลย ทั้งรถ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของกิน) หนังไทยละครไทยก็หันมาทำกันเยอะขึ้น แต่เท่าที่เห็นยังไม่ค่อยแนบเนียน อย่างเช่น ในละครเวลาตัวละครเข้าโรงพยาบาลทีไร จะต้องมีป้ายชื่อโรงพยาบาลติดหราที่หัวเตียง ไม่รู้ว่ามีแต่เราคนเดียวหรือเปล่าที่รำคาญมัน หรืออย่างละครของเอ็กแซคท์ที่ฉายช่อง 5 วันเสาร์อาทิตย์ช่วงนี้ ก็ไม่แนบเนียนสุดๆ แบบว่าเอาสินค้าต่างๆ มาวางอย่างจงใจ ไม่ว่าจะเป็นครีมบำรุงผิวหน้า ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ วางตามโต๊ะตู้เตียงเปรอะไปหมด อ้าว... ออกทะเลไปไกลอีกแล้ว จะบอกว่า Product Placement ของสิบห้าค่ำฯ เขาทำเนียนดี คงไม่มีใครสะดุดใจที่เห็นกล่องกระดาษพะยี่ห้อ “แม่โขง” ได้ยินพระเอกเอ่ยถึง “โทรศัพท์มือถือของนายก” หรือเห็น “ดัชมิลล์” ในหนัง

อันสุดท้ายที่ชอบหนังเรื่องนี้ก็คือ หนังจบได้พอดี หนังหลายๆ เรื่องปูมาดีหมด ทำทุกอย่างถูกหมด แต่มาตายตอนจบ เราแอบลุ้นเล็กๆ ต้อนใกล้ๆ จบเหมือนกัน กลัวพี่เก้งพาหนังไปผิดทาง(จากที่เราอยากให้เป็น) ปรากฏว่าแกไปไม่ผิด หนังจบอยากจะลุกขึ้นมายืนปรบมือชื่นชม โชคดีที่ยั้งมือไว้ทัน :P รู้สึกดีใจที่มีหนังไทยดีๆ ให้เราได้ดู การทำมิวสิควิดีโอยาว 5-6 นาทีกับทำหนังชั่วโมงกว่าๆ สองชั่วโมงมันต่างกันเยอะ เราต้องยอมรับว่าพี่เก้งทำได้ดีทั้งสองอย่าง...

ปล. ก่อนที่จะรีบไปดูหนังเรื่องนี้เพราะเชื่อที่เราชื่นชม ต้องบอกก่อนว่าเราเข้าไปด้วยความคาดหวังที่ค่อนข้างต่ำ เพราะไม่อยากผิดหวัง เพราะฉะนั้นถ้าไปดูกันมาแล้วรู้สึกว่าไม่สนุก ไม่เห็นดีอย่างที่เราบอก อย่าโทษเรานะ โทษ “ความคาดหวัง” ของตัวเองไปซะดีๆ :)