Wedding....
เราว่ามันเพิ่งไม่นานมานี้เองที่คนทั่วๆ ไปเริ่มให้ความสำคัญของการจัดงานเลี้ยงฉลองแต่งงานเอามากๆ คำว่า จัดงานแต่งงานสมัยก่อน น่าจะหมายถึงว่า มีการแห่ขันหมาก ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ รดน้ำสังข์ มากกว่า (หรือถ้าเป็นคนจีนก็เป็น การไหว้ฟ้าดิน ไหว้บรรพบุรุษ ให้คู่บ่าวสาวยกน้ำชาไหว้ญาติผู้ใหญ่) ส่วนงานเลี้ยงฉลอง คิดว่าน่าจะทำกันเพื่อให้ญาติสนิทมิตรสหายที่มาร่วมแสดงความยินดีได้มีข้าวปลาอาหารกินกันก่อนกลับบ้าน

สมัยนี้พอพูดถึงงานแต่งงาน ก็จะนึกไปถึงงานเลี้ยงที่จัดกันตามโรงแรม มีเจ้าบ่าวเจ้าสาวมายืนอยู่ที่ซุ้มดอกไม้หน้างานรอถ่ายรูปกับแขกที่มาร่วมอวยพรงานแต่งงาน ซึ่งแขกเหล่านี้ก็ที่เป็นใครต่อใครที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่รู้จัก ไล่กันไปตั้งแต่เพื่อนพ่อแม่คู่บ่าวสาว เพื่อนของพี่ป้าน้าอา เพื่อนของญาติห่างๆ เพื่อนที่ทำงานของเจ้าบ่าวเจ้าสาว (ซึ่งปกติในที่ทำงานก็คอยจะแข่งขันชิงดีกันตอลดเวลา) เพื่อนสมัยเรียนได้เจอกันมาเป็นสิบๆ ปี หลังจากถ่ายรูปหน้างานแล้วก็ต้องมีพิธีบนเวที เรียกแขกสำคัญขึ้นไปกล่าวอวยพรพร้อมเชิญแขกคนอื่นๆ ร่วมดื่มอวยพรให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ มีพิธีตัดเค้ก แล้วลงมาเดินถ่ายรูปกับแขกตามโต๊ะต่างๆ

เราว่าไอ้งานเลี้ยงแบบที่เราเพิ่งว่าไปนี้ คือ Wedding Party ซึ่งเราว่ามันเป็นส่วนที่มีสาระน้อยที่สุดในคำว่า "งานแต่งงาน" แต่คนก็จะให้ความสำคัญกับมันเหลือเกิน เวลาคนถามว่า “จัดงานแต่งงานหรือเปล่า” ที่จริงมันหมายถึง มีงานเลี้ยงใหญ่ๆ ที่มีใครต่อใครไม่รู้มาร่วมกินๆ ดื่มๆ นินทาเจ้าบ่าวเจ้าสาวหรือนินทาคนอื่นๆ ที่มาในงาน มากกว่าจะหมายความว่า มีส่วนที่เป็นพิธีการ (มีแห่ขันหมาก ทำบุญตักบาตรซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพิธีที่บ้าน หรือ Wedding Ceremony) เวลาเราได้รับเชิญไปงานแต่งงาน ก็จะหมายถึงเชิญไป Wedding Party มากกว่า ไม่ค่อยได้รับเชิญไป Wedding Ceremony ซักเท่าไหร่

ถามว่า ทำไมคนให้ความสำคัญกับงานเลี้ยงฉลองมากกว่าพิธีการแต่งงาน เราว่าคงเป็นเพราะว่าเดี๋ยวนี้ งานเลี้ยงฉลองมันเปลี่ยนฟังก์ชันไปแล้ว ไม่ใช่แค่การให้ญาติพี่น้องได้กินอาหารร่วมกัน แต่กลายเป็นกิจกรรมทางสังคม ที่เป็นสัญญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวและพ่อแม่ญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวเจ้าสาวกับสังคม ว่าพวกเขาเป็นที่รู้จักกว้างขวางแค่ไหน เป็นที่ยอมรับหรือต้องการการยอมรับจากสังคมมากแค่ไหน คนยิ่งดัง ยิ่งมีคนรู้จักมาก งานเลี้ยงยิ่งใหญ่โต เชิญแขกเป็นร้อยเป็นพัน (เพราะกว้างขวางมาก) แต่บางคนใหญ่โต โด่งดังอาจจะจัดงานเลี้ยงเล็กๆ เพราะเขาไม่อยากจะเปิดรับให้สังคมเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของเขาก็เป็นได้

เราคิดว่า ถ้าจะจัดงานแต่งงานควรจะต้องมี พิธีการ (Wedding Ceremony) เพราะรู้สึกว่าอย่างน้อยจะใช้ชีวิตร่วมกัน ก็น่าจะมีอะไรที่มันเป็นเครื่องหมายของจุดเริ่มต้น และการจัดพิธีมันก็ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นศิริมงคลดีเหมือนกัน ไอ้จะให้ตัดสินใจจะร่วมชีวิตกันแล้วก็หิ้วกระเป๋าย้ายเข้าไปอยู่บ้านเดียวกัน มันก็ดูเหมือนเป็นคนที่ไม่มีวัฒนธรรมยังไงชอบกล เอาเป็นว่าจัดพิธีการเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยและเรียกขวัญกำลังใจไปด้วยในตัว

ส่วนที่ว่าจำเป็นจะต้องมีงานเลี้ยงฉลอง (Wedding Party) หรือไม่ จะมีใหญ่มีเล็กแค่ไหน สำหรับเราไม่ได้ซีเรียสอะไรมากมาย เพราะตัวเราก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือต้องการการยอมรับจากสังคมมากซักเท่าไหร่ แต่ถ้าถามความเห็นของคนที่เป็นผู้ใหญ่เป็นพ่อเป็นแม่ เขาก็อาจจะมีความคิดต่างไป คนบางคนอาจจะคิดว่า จัดงานเลี้ยงใหญ่โตเชิญแขกมากมาย ก็ไม่ได้การันตีว่าจะอยู่กันยืดยาวมีความสุข แต่ก็อย่างที่บอกว่า ฟังก์ชันของงานเลี้ยงมันไม่ใช่เพื่อการนั้น เรายังจำได้ถึงสีหน้าของเตี่ยกับแม่เราตอนงานแต่งงานเก๋ จำได้ถึงสีหน้าของพ่อกับแม่พรตอนที่เราไปงานแต่งงานพรที่เพชรบุรี มันเป็นความปลาบปลื้มดีใจภูมิใจ ที่ได้เห็นลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา และได้แชร์ความปลาบปลื้มนั้นกับญาติๆ เพื่อนๆ ที่เชิญมาร่วมงาน

ถามว่าคนที่มาร่วมงานเลี้ยงแต่งงานเขาจะสนใจไหมว่า คู่แต่งงานจะอยู่กันไปกี่ปี ก็คงไม่สนใจหรอก แต่ถามว่า เราจะสนใจไหม ถ้าเขาจะไม่สนใจ เราก็ไม่สนเหมือนกัน ที่เราสนคือว่า คนที่เรารักครอบครัวของเรา เขารู้สึกดีก็แค่นี้มันก็เป็นเหตุผลพอแล้ว ที่คิดว่าจะมี Wedding Party

เขียนมาซะยาว เล่ามาซะเป็นคุ้งเป็นแคว คงเป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่า เพราะโอกาสในการที่เราจะได้จัด Wedding Ceremony หรือ Wedding Party คงมีมากพอๆ กับโอกาสที่เมืองไทยจะมีนักการเมืองที่ไม่โกงไม่กิน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว....

ไดอะรี่คุณแม่มือใหม่... ตอนที่ 2 (โดยน้องสาวคุณแม่ เจ้าเก่า)

เก๋ไปฝากท้องที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ บอกว่า ชอบหมอคนนี้มาก เพราะไม่เรื่องมาก ไม่ห้ามโน่นห้ามนี่ อย่างเวลาเก๋เดินเยอะๆ หิ้วของเอง จะชอบมีคนบอกว่า อย่าทำๆ กำลังท้องกำลังไส้ พอไปถามหมอ หมอบอกว่า ถ้าไม่หนักหนาเกินกำลัง ก็ทำได้ ดูพวกคนงานก่อสร้างผู้หญิงสิ ขนาดท้องโตๆ ยังยกของ ปีนที่สูงๆ อยู่เฉิบๆ คือ อันนี้ก็เกินไป แต่หมอก็บอกเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ว่า คนท้องใช่ว่า ป่วยหรือพิการ ยังมีสิทธิมีความสามารถทำอะไรๆ ได้ระดับหนึ่ง

พอท้องได้ระยะหนึ่ง ก็จะมีคนถามว่า เก๋ได้ทำอัลตราซาวน์หรือเปล่า เก๋กับพี่เธียรไม่อยากทำ เพราะไม่ได้อยากดูว่า ลูกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ไปถามหมอว่าจำเป็นต้องทำหรือเปล่า หมอบอกว่า ตามใจ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เก๋ก็เลยไม่ได้ทำ แต่ก็มาบอกกับเราว่า ใจหนึ่งก็คิดๆ ว่าอยากดูเหมือนกันว่าลูกจะครบสมบูรณ์หรือเปล่า เราก็เลยถามไปว่า แล้วถ้าทำอัลตราซาวน์ แล้วเจอว่าลูกพิการ หรือไม่ครบสามสิบสอง จะทำยังไงล่ะ จะเอาเขาออกเหรอ เก๋บอกว่า พี่เธียรก็ว่าอย่างงั้นเหมือนกัน ถ้าเขาไม่สมบูรณ์ เราก็คงทำแท้งไม่ลงอยู่ดี ก็เลยได้ข้อยุติ ไม่ต้องทำอัลตราซาวน์

เราจำได้ว่า ตอนวันคลอด คำแรกที่เก๋ถาม พี่เธียร ตอนกลับมาที่ห้อง คือ ประมาณว่า ลูกปกติดี ครบถ้วนสามสิบสองใช่ไหม ตอนแรกคนเป็นแม่ก็หวังแค่นี้เองหละ ลูกไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องสวย ไม่ต้องฉลาด ขอแค่ครบสามสิบสองก็พอ แต่พอตอนหลังก็หวังมากขึ้น (พอได้คืบจะเอาศอก) อย่างตอนหลังที่เราไปเยี่ยม เก๋ก็จะเริ่มสังเกตอาการลูกว่า ทำเสียงดังแล้ว มันตกใจ หรือหันมามองหรือเปล่า แบบว่า กลัวลูกจะหูหนวก (แม่ก็เคยเล่าให้เราฟัง ว่า ตอนสมัยที่เรายังพูดไม่ได้ แม่ก็เคยแบบว่า แกล้งมาตะโกนดังๆ ข้างหลังเรา พอเห็นว่า เราหันไปดู ก็ดีใจแล้วว่า ลูกหูไม่หนวก)

วันที่เก๋คลอด เราถามพี่เธียรว่าจะให้ชื่ออะไร พี่เธียรก็บอกว่า เดี๋ยวต้องดูก่อน เพราะความที่ไม่ได้ทำอัลตร้าซาวน์ ก็เลยไม่รู้ว่าลูกจะเป็นเพศอะไรจนกระทั่งวันที่คลอด และความที่ตั้งใจว่าจะคลอดเอง ก็เลยไม่รู้ว่าจะคลอดวันไหน ไม่ได้ตั้งชื่อเตรียมไว้ เพราะประมาณว่าต้องดูว่า วันไหน ชื่ออะไรจะเป็นมงคล พอตอนหลังเราโทรไปถามเก๋ว่า ตกลงได้ชื่อหรือยัง เก๋บอกว่า แม่ตั้งชื่อเล่นให้ชื่อ ไอโกะ ชื่อเดียวกับลูกของเจ้าหญิงมาซาโกะ (เราจำเป็น มิชิโกะอยู่เรื่อย จนปุยต้องมาแก้ให้ ) ของญี่ปุ่น แม่บอกว่า อ่านในหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่า ไอโกะ แปลว่า ลูกรัก ทุกคนฟังแล้วก็ไม่ค่อยเชื่อแม่เท่าไหร่ บอกว่า แม่ต้องมั่วนิ่มแน่ๆ เลย แต่ชื่อ ไอโกะ ก็น่ารักดี ก็เลยโอเค

เราว่าแม่เรามักจะมีไอเดียแจ๋วๆ ในการตั้งชื่อเด็กๆ คราวก่อน แม่ตั้งชื่อลูกของญาติว่า เยาฮัน เราจำไม่ได้แน่ว่าเหตุผลคืออะไร แต่เป็นประมาณว่าเพราะ เยาฮัน เป็นห้างหรือกิจการที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากๆ ในญี่ปุ่น หรืออะไรทำนองนั้น ความจริงตอนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นแม่ไม่ชอบเลยนะ (ถามว่าไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกไหม แม่ตอบทันทีว่า ไม่ไป) แต่ทำไมชอบตั้งชื่อมาจากภาษาญี่ปุ่นได้ไม่รู้

วันก่อนเราไปถามปุยในเกสต์บุ๊คว่า ไอโกะ แปลว่าอะไร ปุยบอกว่า ไอแปลว่าความรัก ส่วนโกะเแปลว่า (เอาไว้ใช้เรียก) เด็กผู้หญิง ก็สรุปว่า ไอโกะแปลว่าลูกรักจริงๆ แม่ไม่ได้มั่วนิ่ม เก๋ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ตอนที่เราบอก แต่พอเราบอกว่า จำไม่ได้เหรอ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เราเอาให้อ่าน เรื่อง "ไอเลิฟยู หนูรักแม่" เด็กผู้หญิงในเรื่องก็ชื่อ ไอ เหมือนกัน เราชักนึกได้เลาๆ ว่า ในหนังสือเขาบอกว่า ไอ แปลว่า ความรัก เหมือนกัน เก๋ถึงได้เริ่มเชื่อ (ออกนอกเรื่องหน่อย จะบอกว่า หนังสือเล่มที่ว่า เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของเด็กที่มีแม่เป็นคนหูหนวก ต้องใช้ภาษามือกับแม่ตลอด ตอนแรกไอรู้สึกอายที่มีแม่เป็นคนหูหนวก เคยทะเลาะกับแม่จนถึงขั้นหนีออกจากบ้าน ไออายุประมาณห้าหกขวบเองมั้ง จำไม่ได้แน่ แต่หนังสือจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง และซาบซึ้งมาก เพราะเป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนนี่นะ)

ชื่อจริงของไอโกะ คือ กิ่งชบา เป็นชื่อที่พี่เธียรกับเก๋เป็นคนเลือก เราฟังแล้วก็แบบว่า หา!!! ชื่อกิ่งชบาจริงๆอ่ะ!!! แม่มันบอกว่า จริงสิ ทำไมเหรอ?!? เอาๆ... กิ่งชบาก็กิ่งชบา (วะ) เวลาคนเห็นหน้าน้องกิ่งชบาวงเล็บไอโกะ คงต้องงงแน่ๆ ชื่อจริงไท๊ย...ไทย ชื่อเล่นญี่ปุ๊น...ญี่ปุ่น หน้าตาจี๊น...จีน (ฮา)